Last updated: 12 ธ.ค. 2560 | 1939 จำนวนผู้เข้าชม |
ศาล ปค.ยกคำร้อง สตง.ขอฟื้นคดีคลองด่านใหม่
ศาลปกครอง มีคำสั่งไม่รับคำร้อง สตง.ขอรื้อคดีคลองด่านใหม่ ชี้ สตง.ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสีย ถูกกระทบโดยตรงจากคดี ตาม ม.75 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ปี 42
เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2559 ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ นายประวัติ วิสัยกุล ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง เจ้าของสำนวน ขอรื้อคดีคลองด่านและองค์คณะ มีคำสั่งไม่รับคำร้องของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ที่ขอพิจารณาคดีใหม่ ในสำนวนที่ บริษัทวิจิตรภัณฑ์ ก่อสร้าง จำกัด, บริษัทสี่แสงการโยธา (1979) จำกัด, บริษัทประยูรวิศว์ จำกัด, บริษัทกรุงธน เอนยิเนียร์ จำกัด และบริษัทเกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด ที่เป็นคู่สัญญาจ้างออกแบบร่วมก่อสร้างระบบรวบรวม และบำบัดน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ จ.สมุทรปราการ (คลองด่าน) และบริษัทสมุทรปราการ ออพเปอร์เรทติ้ง จำกัด เป็นผู้ร้องที่1-6 ยื่นฟ้อง กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ให้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดคณะอนุญาโตตุลาการ ลงวันที่ 12 มกราคม 2554 ที่คณะอนุญาโตฯ ให้ คพ.ชำระเงินค่าจ้าง ค่าเสียหาย และดอกเบี้ย 4,983,342,383 บาท และจำนวน 31,035,780 เหรียญสหรัฐฯ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้คืนหนังสือค้ำประกันพร้อมค่าธรรมเนียม
โดยศาลปกครองกลางพิเคราะห์ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า คดีที่ บ.วิจิตรภัณฑ์ฯ กับพวกรวม 6 ราย ยื่นฟ้องให้ คพ. ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยคณะอนุญาโตฯนั้น ผลแห่งคดีถึงที่สุดแล้วเมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาวันที่ 10 ตุลาคม 2557 ยืนตามศาลปกครองชั้นต้นที่ให้ คพ.ชำระเงินกับ บ.วิจิตรภัณฑ์ฯ กับพวกรวม 6 ราย ตามคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตฯ ภายใน 90 วัน นับแต่คดีถึงที่สุด ผลของคำพิพากษานั้นก่อให้เกิดหน้าที่กับ คพ.ที่จะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา
การที่ สตง.ผู้ร้องขอพิจารณาคดีขึ้นใหม่ โดยอ้างว่าเป็นส่วนราชการ ที่เป็นองค์กรอิสระจัดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของการใช้เงินงบประมาณของส่วนราชการ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง (2) สตง.ผู้ร้องจึงเป็นตัวแทนของรัฐมีหน้าที่ดูแลเงินแผ่นดิน และมีส่วนได้ส่วนเสียในการชำระเงิน ของ คพ.ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำ 285-286/2556 โดยการขอพิจารณาคดีใหม่เนื่องจากมีพยานหลักฐานใหม่ที่ปรากฏตามคำพิพากษาศาลอาญา คดีหมายเลขดำ อ.1682/2557 รวมทั้งหลักฐานอื่นที่รับฟังเป็นที่ยุติแล้ว จะเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญของคำพิพากษา ประกอบกับการที่ศาลปกครองชั้นต้นกับศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดีได้รับฟังข้อเท็จจริงผิดพลาด โดยการที่ สตง.ขอให้ศาลปกครองกลางพิจารณากรณีนี้ใหม่เป็นการช่วยปกป้องคุ้มครองเงินทางราชการ ถือได้ว่าคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ส่วนรวมของรัฐนั้น
ศาลปกครองกลางก็เห็นว่า สตง.เป็นองค์กรอิสระจัดขึ้นตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2540 มีอำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง (2) ในการตรวจสอบเงินแผ่นดิน ดังนี้ (ก)ตรวจสอบการรับจ่าย การเก็บรักษา การใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินอื่นของหน่วยรับตรวจ หรือที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานรับตรวจ และแสดงความเห็นว่าเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีหรือไม่ และอาจตรวจสอบการใช้จ่ายเงิน การใช้จ่ายทรัพย์สินอื่น หรือการจัดซื้อจัดจ้างตามแผนงานหรืองาน โครงการของหน่วยรับตรวจและแสดงความเห็นว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ เป็นไปโดยประหยัด ได้ผลตามเป้าหมาย และมีผลคุ้มค่าหรือไม่ (ข) ตรวจสอบบัญชี และรายงานการรับจ่ายเงินประจำปีงบประมาณ และงบแสดงฐานะการเงินแผ่นดินประจำปีงบประมาณ และแสดงความเห็นว่าเป็นไปตามกฎหมายและตามความเป็นจริงหรือไม่ (ค)ตรวจสอบบัญชีทุนสำรองเงินตราประจำปี และแสดงความเห็นว่าเป็นไปตามกฎหมายและตามความเป็นจริงหรือไม่ (ง) ศึกษาและเสนอความเห็นเกี่ยวกับแผนงาน งานโครงการที่จะมีผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณ (จ) ตรวจสอบเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีอากร ค่าธรรมเนียมและรายได้อื่นของหน่วยรับตรวจ และแสดงความเห็นว่าเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีหรือไม่ กรณีนี้ให้มีอำนาจตรวจสอบการประเมินภาษีอากร การจัดเก็บค่าธรรมเนียม และรายได้อื่นที่หน่วยรับตรวจจัดเก็บด้วย และหน่วยรับตรวจต้องเปิดเผยข้อมูลที่ได้มาจากผู้เสียภาษีอากร ผู้ชำระค่าธรรมเนียมหรือเงินอื่นใดให้แก่ สตง.ตามที่ร้องขอด้วย และให้ถือว่าการให้ข้อมูลดังกล่าวเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
ตามกฎหมายจึงเห็นได้ว่า สตง.ผู้ร้องขอ เป็นหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญฯ มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการเงินของแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 ประกอบกับเหตุผลที่อ้างมาในคำร้อง ยังไม่อาจถือได้ว่า สตง.ผู้ร้องขอ เป็นบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสีย หรืออาจถูกกระทบโดยตรงจากผลแห่งคดี ที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาพิพากษา หรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีใหม่ ตามบทบัญญัติ มาตรา 75 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542ระบุว่า กรณีที่ศาลปกครอง มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองเสร็จเด็ดขาดแล้ว คู่กรณีหรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสีย หรืออาจถูกกระทบจากผลแห่งคดีนั้น อาจมีคำขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษา หรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองนั้นใหม่ได้
ทั้งนี้ นายสมชาย งามวงศ์ชน โฆษกศาลปกครอง กล่าวว่า จากที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำขอพิจารณาคดีที่ สตง.ยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีโครงการจัดการน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษคลองด่านใหม่นั้น คำสั่งของศาลปกครองกลางในชั้นนี้ยังไม่ถือว่าเป็นที่สิ้นสุด โดย สตง.ยังมีสิทธิที่จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่ง
ส่วนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ที่ศาลปกครองสูงสุด พิพากษายืนให้ คพ.เป็นผู้ชำระเงินกับบริษัททั้ง 6 นั้น นายสมชาย โฆษกศาลปกครอง กล่าวว่า ถ้าภายหลังศาลปกครองสูงสุด จะมีคำสั่งรับคำขอพิจารณาคดีขึ้นมาใหม่ คดีจะกลับเข้ามาสู่การพิจารณาคดีใหม่ของศาลปกครองชั้นต้น คำพิพากษาที่ให้ คพ.ชำระเงิน อาจจะขอทุเลาไปก่อนได้ แต่ตามหลักระหว่างนี้ จะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ให้ คพ. เป็นผู้ชำระเงินตามสัญญา หากยังดื้อแพ่งไม่ชำระภายหลัง จะต้องเสียค่าปรับการชำระล่าช้าได้