วุฒิสภาติดตามการทำงานของ บก.ปปป.พร้อมหารือแนวทางเพิ่มศักยภาพการปราบปรามการทุจริต

Last updated: 30 มี.ค. 2568  |  4071 จำนวนผู้เข้าชม  | 

วุฒิสภาติดตามการทำงานของ บก.ปปป.พร้อมหารือแนวทางเพิ่มศักยภาพการปราบปรามการทุจริต

คณะอนุกรรมาธิการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา ลงพื้นที่ติดตามการปฏิบัติงานกองบังคับการป้องกัน ปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป) โดยมี พลตำรวจตรี จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ให้เกียรติมาต้อนรับ พร้อมร่วมหารือแนะแนวทางเพิ่มศักยภาพการปราบปรามการทุจริต เพื่อประโยชน์แก่ประชาชน

          เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2568 เวลา 13.00 นาฬิกา นายสุทนต์ กล้าการขาย เลขานุการคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ การป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบ และการเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยนายเศก จุลเกษร รองประธานอนุคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง นางวาสนา ยศสอน รองประธานอนุคณะกรรมาธิการ คนที่สอง นายขจรศักดิ์ ศรีวิราช ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ พร้อมด้วยอนุกรรมาธิการฯ และที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ ลงพื้นที่ ณ กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ถนนพหลโยธิน แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวกับการทุจริตทั่วราชอาณาจักร เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แผนปฏิบัติการเชิงรุกเกี่ยวกับการปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ

          โดยมี พลตำรวจตรี ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ผบก.ปปป.) และคณะให้การต้อนรับ รวมถึงชี้แจงแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงาน โดยมีภารกิจปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ มีอำนาจบังคับใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ซึ่งเป็นหน่วยงานจับสดโดยตรง มุ่งเน้นการทำหน้าที่เป็นกลาง มืออาชีพ โดยผลงานสำคัญที่ผ่านมา เช่น จับกุมผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดมุกดาหาร จับกุมนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองหงส์ จังหวัดชลบุรี เรียกรับสินบน จับกุมผู้อำนวยการโรงพยาบาลเรียกรับประโยชน์จากผู้ประกอบการ และจับกุมเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทุจริตเงินผู้พิการกว่า 45 ล้านบาท เป็นต้น พร้อมทั้งยืนยันว่างบประมาณทุกอย่างใช้สำหรับการทำงาน ด้วยความซื่อสัตย์ไม่มีผู้ใดนำเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง ทั้งนี้ในการปฏิบัติหน้าที่จะมีการประเมินสถานการณ์ก่อนปฏิบัติการทุกครั้ง เพราะเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจในการจับสด จับซึ่งหน้า และกระทำอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างองค์กร

          จากนั้นคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้พบปะ พลตำรวจตรี จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง รักษาราชการแทนผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจทางหลวง และอดีต ผบก.ปปป. โดยกล่าวถึงข้อจำกัดของการปฏิบัติหน้าที่ของ บก.ปปป. ที่มีเจ้าหน้าที่เพียง 140 คน เเต่ต้องปฏิบัติงานปราบปรามการทุจริตทั่วประเทศ และบ่อยครั้งที่คดีส่งมาจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พบว่าใกล้หมดอายุความ ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัวกฎหมายเนื่องจากกระบวนการล่าช้า รวมถึงงบประมาณการบริหารงาน ที่ได้รับการจัดสรรจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับเพียงปีละ 7 ล้านบาท และได้รับงบประมาณบูรณาการจาก ป.ป.ช. ปีละ 14 ล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน และยอมรับว่าประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีระบบอุปถัมภ์ในองค์กร ทำให้เกิดการทุจริตสูง แต่การทุจริตไม่อาจหมดไปได้ในเร็ววัน แต่จะทำอย่างไรให้สังคมน่าอยู่ ดังนั้นการทำงานเชิงรุกของ บก.ปปป. จึงเป็นไปเพื่อทำลายวัฒนธรรมประเพณีในองค์กรที่ส่อให้เกิดการทุจริตให้ลดน้อยลง

          นอกจากนี้คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้สอบถามถึงการปฏิบัติงานที่ครอบคลุมไปถึงส่วนภูมิภาค โดยได้รับคำชี้แจงว่า บก.ปปป. แม้จะมีกองบังคับการอยู่ที่ส่วนกลาง แต่ได้จำแนกเป็น 6 กองกำกับการ ประจำอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เมื่อมีคดีความเกิดขึ้น จะต้องเดินทางลงไปในพื้นที่อย่างเร่งด่วนซึ่งยอมรับว่าขาดความคล่องตัวในการทำงาน อีกทั้งจากงบประมาณและทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดจึงมองว่าเป็นอุปสรรคขององค์กรที่ต้องการให้ได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามในประเด็นการเข้าถึงประชาชนนั้น บก.ปปป. มีช่องทางให้ประชาชนได้ร้องเรียนโดยตรง 3 ช่องทาง คือ การร้องทุกข์ โดยตรง ผ่านเจ้าหน้าที่สอบสวนของ บก.ปปป. การส่งจดหมายร้องทุกข์ และการแจ้งเรื่องร้องทุกข์ที่ส่งผ่านมาทางผู้บังคับบัญชาจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ป.ป.ช. เป็นต้น ทั้งนี้คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมไปยัง บก.ปปป. ว่าเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจ และศักยภาพในการกวาดล้างการทุจริตในภาครัฐ แต่ต้องการให้ขยายขอบเขตการดำเนินงานไปถึงนักธุรกิจรายใหญ่ ที่กระทำการทุจริต และอาจเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้แก่เยาวชนไปปฏิบัติตามได้ ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการฯ ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติยินดีที่จะให้ความร่วมมือ และสนับสนุนด้านกฎหมาย และประเด็นที่เกี่ยวข้องตามอำนาจและหน้าที่ต่อไป

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้