Last updated: 13 มิ.ย. 2565 | 4054 จำนวนผู้เข้าชม |
เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา แนะการพัฒนาองค์กรให้มีความเป็นเลิศด้วยหลักธรรมาภิบาล/บรรษัทภิบาลบนฐานหลักเศรษฐกิจพอเพียง ที่ได้เรียนรู้จากในหลวงรัชกาลที่ 9 ย้ำให้กับผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตร ”นักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง” นยปส. รุ่นที่ 13 ได้เข้าใจแก่นแท้ เพื่อการนำไปใช้กับตนเองและการบริหารองค์กร
วันที่ 10 มิถุนายน 2565 ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา วิทยากรบรรยาย หัวข้อ “ การพัฒนาองค์กรให้มีความเป็นเลิศด้วยหลักธรรมาภิบาล/บรรษัทภิบาลบนฐานหลักเศรษฐกิจพอเพียง” ให้กับผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตร “นักยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง” หรือ นยปส. รุ่นที่ 13 กล่าวว่า หลักธรรมาภิบาล หรือ Good Governance เป็นหลักที่ใช้กันทั่วไปในหลายประเทศ แต่ในมิติของประเทศไทย ในทางธรรมะมี 2 คำ คือ "ธรรมดา" และ "ธรรมชาติ" ซึ่งในหลักการแรกคือ ต้องรู้จักองค์กรของตัวเองก่อน เห็นการเข้าใจ เข้าถึง จึงจะพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน และพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรสู่ความเป็นเลิศได้ ทุกองค์กรจึงต้องกำหนดคุณธรรมและให้พนักงานทุกคนซักซ้อมทำความเข้าใจจริยธรรมซ้ำๆอย่างต่อเนื่อง หากเป็นผู้บริหารระดับสูงยิ่งต้องมองต่ำมาข้างล่าง มีแผนและหลักเกณฑ์ในการทำงาน มีการสื่อสารด้วยข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ไม่หวงความรู้ แต่ต้องนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ใส่ใจและให้คุณค่ากับบุคลากร ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มเติมความเป็นเลิศในลักษณะของการคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน
นอกจากนี้ผู้บริหารต้องมีจริยธรรม หรือ Code of Conduct โดยแต่ละหน่วยงานเป็นผู้กำหนดออกมา ซึ่งหลักธรรมาภิบาลที่ดีของผู้บริหารและผู้นำที่ดี ต้องใช้หลัก พรหมวิหาร 4, สังคหวัตถุ 4 , และอิทธิบาท 4 โดยมีเกณฑ์มาตราฐานการประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุรธรรม ตามพระราชบัญญัติมาตราฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 ดังนั้นผู้บริหารจึงต้องเป็นคนเก่ง คนดี และคนกล้า
เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ไม่ใช่ การบูชาความจน ตามที่มีการตีความกันอย่างผิดๆ แต่หมายถึง “เป็นปรัชญาที่ชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนา และบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆมาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม และซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุล และพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี”
การพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงต้องยึดทางสายกลางในการบริหารชีวิตบนความเข้าใจ รู้ทันโลก และยึดหลักคุณธรรมคือไม่โกง ซึ่งจะนำไปสู่ ชีวิต เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่สมดุล มั่นคง และยั่งยืน
:: เอกสารสำหรับดาวน์โหลดและไฟล์ที่เกี่ยวข้อง ::