Last updated: 2 มิ.ย. 2565 | 2186 จำนวนผู้เข้าชม |
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรอง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครในนามอิสระ หมายเลข 8 เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) คนที่ 17 แล้ว
วันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ที่ประชุม กกต. ที่มีนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นประธานการประชุม กกต. ผ่านระบบออนไลน์โปรแกรม Zoom Cloud Meeting ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาผลคะแนนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และสมาชิกกรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 หลังการประชุมวานนี้ สำนักงาน กกต.เสนอความเห็นต่อที่ประชุมว่ากรณีที่ นายชัชชาติ ถูกร้องเรียนเรื่องป้ายหาเสียงอาจเข้าข่ายทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรม จึงควรตรวจสอบเพื่อให้เกิดความรอบคอบ
ทั้งนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมาด้วยคะแนนสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 1,386,215 คะแนน
เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมา กกต. ได้เผยแพร่เอกสารข่าวที่ระบุว่า ที่ประชุม กกต. ยังได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) จำนวน 40 คน จากทั้งหมด 50 คน ประกอบด้วย ผู้สมัครจากพรรคพรรคเพื่อไทย 15 คน พรรคก้าวไกล 12 คน พรรคประชาธิปัตย์ 8 คน กลุ่มรักษ์กรุงเทพ 3 คน พรรคไทยสร้างไทย 1 คน และพรรคพลังประชารัฐ 1 คน
ขณะที่ ที่ประชุม กกต. วันนี้ (31 พฤษภาคม) ได้รับรองผลการเลือกตั้ง ส.ก. เพิ่มอีก 5 คน รวมเป็นทั้งหมดที่รับรองแล้ว 45 คน เหลือที่ยังต้องรอการพิจารณาอีก 5 คน
หลังจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ผ่านพ้นไป ได้มีการร้องเรียนต่อทั้งตัวนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และผู้สมัครรายอื่น ๆ รวมทั้ง ส.ก. อีกด้วย ซึ่งผู้ร้องเรียนคือ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย
สำหรับข้อร้องเรียนที่มีต่อนายชัชชาติ ประกอบด้วย 2 เรื่องที่ กกต. กทม. เตรียมนำเสนอให้ กกต. พิจารณา ประกอบด้วย
1. กรณีทำป้ายหาเสียงไปทำกระเป๋า เข้าข่ายสัญญาว่าจะให้หรือไม่ ?
เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม นายศรีสุวรรณ ได้ยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนสอบสวนนายชัชชาติ กรณีทำป้ายหาเสียงเป็นผ้าไวนิลมีเจตนาแฝงเพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถนำไปรีไซเคิลเพื่อทำ "กระเป๋า-ผ้ากันเปื้อน" อันเป็นการกระทำเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเองด้วยวิธีการ จัดทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้หรือไม่ อย่างไร
ทั้งนี้ นายศรีสุวรรณให้ความเห็นว่า การจัดทำแผ่นป้ายหาเสียงในลักษณะดังกล่าว อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเองด้วยวิธีการ จัดทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ อันเข้าข่ายการฝ่าฝืน ม.65(1) แห่ง พรบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 ซึ่งถ้า กกต.วินิจฉัยว่าเข้าข่ายก็อาจมีความผิดตาม ม.126 ของกฎหมายดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 - 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปีด้วย
2. เรื่องการพูดในลักษณะดูถูกระบบราชการ เป็นอีกหนึ่งในเรื่องร้องเรียนต่อนายชัชชาติ จากคำให้สัมภาษณ์ของนายสำราญ ตันพาณิชย์ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (กกต. กทม.) เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม นอกจากกรณีการจัดทำป้ายหาเสียงเข้าข่ายให้ เสนอให้ ประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้เพื่อจูงใจผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง
ทั้งนี้ นายสำราญยังเปิดเผยอีกว่า พบเรื่องร้องเรียนผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.และผู้สมัคร ส.ก. มีทั้งสิ้น 24 เรื่อง
อย่างไรก็ตาม นายสำราญ กล่าวว่า สำนวนร้องเรียนที่ กกต.กทม. เสนอไป กกต.กลางจะพิจารณาว่าเกี่ยวข้องทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรมหรือไม่ตามที่มาตรา 17 พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 กำหนด หากพบว่ามีผลทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรมก็จะยังไม่ประกาศผลการเลือกตั้งโดยจะต้องไปดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อไป ซึ่งมีเวลา 60 วันตามที่กฎหมายกำหนด แต่ถ้าเรื่องร้องเรียนพิจารณาแล้วไม่ได้ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตก็จะประกาศผลการเลือกตั้ง
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ยันไม่กังวลข้อร้องเรียน
ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนวันที่ 29 พฤษภาคม ถึงกรณีที่ กกต. จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง และจะมีการพิจารณาเรื่องข้อร้องเรียน ที่เกี่ยวข้องกับชัชชาติใน 2 ประเด็น ว่า เขาเคารพ กกต. และรอผลการตัดสิน และไม่มีความกังวล เนื่องจากเขาได้ชี้แจงข้อกล่าวหาทั้ง 2 ประเด็นไปหมดแล้ว
นอกจากข้อร้องเรียนดังกล่าว นายชัชชาติ ยังถูกร้องเรียนในกรณีไม่เก็บป้ายหาเสียงอีกด้วย
วันที่ 29 พฤษภาคม นายศรีสุวรรณ ได้เดินทางไปยัง สน.ลำผักชี สน.สุวินทวงศ์ และ สน.มีนบุรี เพื่อแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. และผู้สมัครผู้ว่าราชการ กทม.และผู้สมัคร ส.ก. ในพื้นที่ดังกล่าวซึ่งไม่ยอมเก็บป้ายหาเสียงของตนเองออกจากพื้นที่สาธารณะตามที่ กกต. กำหนดภายใน 3 วันหลังจากเลือกตั้ง อันถือได้ว่ามีความผิดฐานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน และมีความผิดตาม พรบ.รักษาความสะอาดฯ 2535 ต่อมาในวันที่ 30 พ.ค. เขาได้เดินทางไปยังสำนักงาน กกต. ไปร้องเรียนในเรื่องเดียวกันนี้ด้วย
การกระทำดังกล่าวของผู้สมัครทั้งหมดจึงมีความผิดตาม ม.39 แห่งพรบ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง 2535 ซึ่งเป็นโทษทางอาญา นอกจากนั้นยังเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.368 ฐานขัดคำสั่งของเจ้าพนักงาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 วัน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชนะด้วยคะแนนเสียงมากที่สุดในประวัติศาสตร์
ในค่ำคืนของวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา จากผลการนับคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. นายชัชชาติ ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 8 ได้สร้างสถิติใหม่ในการกวาดไปคะแนนเสียงไป 1,386,215 คะแนน ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากที่สุดนับแต่ที่มีการเลือกตั้งมา
คะแนนเสียงที่สนับสนุนนายชัชชาติ ได้ทำลายสถิติที่ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ทำไว้จากการเลือกตั้งปี 2556 ด้วยคะแนนเสียง 1,256,349 คะแนน และก่อนหน้านี้ คือ นายสมัคร สุนทรเวช ที่ชนะการเลือกตั้งปี 2543 ด้วยคะแนนเสียง 1,016,096 คะแนน
ขอบคุณภาพจาก Google