Last updated: 12 มี.ค. 2565 | 6822 จำนวนผู้เข้าชม |
นักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) รุ่นที่ 13 ถกกลโกงทุจริตที่ดินและโคมไฟประติมากรรม ซึ่งต่างเห็นว่า ในหลายกรณีของการทุจริตคอร์รัปชัน มาจากความร่วมมือกันของเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชน
เมื่อวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2565 ผู้เข้ารับการศึกษาหลักสูตร “นักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง” หรือ นยปส.รุ่นที่ 13 ฟังการถกแถลง หยิบยกกรณีที่อยู่ในความสนใจของสังคม มาแลกเปลี่ยน เรื่องปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบเกี่ยวกับที่ดิน : กลโกงทุจริตที่ดิน โดยนายสุทนต์ กล้าการขาย นายกสมาคมสื่อช่อสะอาด กล่าวว่าสถานการณ์และปัญหาการทุจริตด้านการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เกิดจากเหตุปัจจัยสำคัญคือ เจ้าหน้าที่มีเจตนาทุจริต การไม่ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดของเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ดูแลที่ดินของรัฐ และความไม่ชัดเจนของแนวเขตที่ดินของรัฐ จึงเป็นช่องทางที่เจ้าหน้าที่อาศัยเหตุดังกล่าวแสวงหาประโยชน์ ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
แนวทางการป้องกันการทุจริตด้านการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบด้วย กฎหมายในเชิงนโยบาย ควรใช้กระบวนการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมาย ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และด้านการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ มาเป็นแนวทางการป้องกันการทุจริต “พัฒนาระบบป้องกันเชิงรุก” การจัดทำฐานข้อมูลสารบบการบริหารงานที่ดินบนฐานข้อมูลเดียว และเผยแพร่บนระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์สารสนเทศ "Cloud Computing" ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล ได้แก่ กระบวนการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน ข้อมูลเอกสารสิทธิในที่ดินที่มีอยู่ในปัจจุบัน ผลการตรวจสอบการเพิกถอนแก้ไขเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายในแต่ละพื้นที่ ข้อมูลที่ดินของ รัฐทุกประเภท แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ เป็นต้น
ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน กำหนดให้มีการเปิดเผยและเผยแพร่ภาพถ่ายทางอากาศตั้งแต่อดีตจนถึง ปัจจุบันไปยังสาธารณะ เป็นข้อมูลประกอบในการตรวจสอบ การออกเอกสารสิทธิในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งการปลุกจิตสำนึกในการต่อต้านการทุจริตและการรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม
ขณะที่นายธนวัฒน์ สนิทศักดิ์ดี ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขต 1 สำนักงาน ป.ป.ท. กล่าวว่า การออกโฉนดที่ดินได้นั้น จะต้องเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ทำประโยชน์ตามสภาพท้องที่ และต้องเป็นที่ดินที่สามารถออกโฉนดได้ ไม่ใช่ที่สงวนหวงห้ามของรัฐ เช่น ที่ดิน สปก., นิคมสร้างตนเอง หรือที่ดินของอุทยาน กลโกงการทจริตมีทั้งการนำหนังสือครอบครองจากตำแหน่งหนึ่งไปออกโฉนดอีกตำแหน่งหนึ่ง มีการรวมที่ดินเพื่อออกเอกสารสิทธิ์ และมีการรายงานเท็จ เพื่อให้เข้าองค์ประกอบการออกเอกสารสิทธิ์ เช่น ที่จังหวัดนครราชสีมา ภูเก็ต นอกจากนี้ยังมียุทธการตัวแอล เริ่มตั้งแต่จังหวัดน่าน เขาค้อ เพชรบูรณ์ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ที่มีปัญหาการทับซ้อนที่ทำกินระหว่างอุทยาน กับที่ สปก.ของชาวบ้านที่ต้องเร่งแก้ไข โดยในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ที่เป็นพื้นที่ สปก. ครอบคลุมออกโฉนดไม่ได้ และเมื่อไม่นานมานี้พบว่ามีผู้ที่หลอกขายที่ดินในเขตพื้นที่ทหาร หนองตะกู อ.ปากช่อง ไร่ละ 5 แสนบาท ทั้งที่มีแค่เอกสาร ภบท.5 ซึ่งเรื่องนี้ต้องตรวจสอบและดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น โดยทุกกรณีหากตรวจสอบล่าช้าจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับประชาชน และยังสร้างความเสียหายกับรัฐ
ส่วนการถกแถลงเรื่อง “มุมมองการจัดซื้อเสาไฟประติมากรรม พร้อมโคมไฟโซล่าเซลล์ของ อปท.” ที่มีการจัดซื้อจัดจ้าง อบต.ราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยผู้ร่วมถกแถลง ได้แก่ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เห็นว่า เป็นเพียงศิลปกรรมไร้ค่าข้างถนน และส่อเจตนาหลายอย่าง ทั้งการประกวดราคา ความเหมาะสมในการติดตั้ง เมื่อเรื่องยังอยู่ระหว่างตรวจสอบก็ยังมีการประกาศจัดซื้อจัดจ้างอีก ทำให้เห็นว่าทุกวันนี้สังคมไทยเฉื่อยชาต่อปัญหาคอร์รัปชัน และตั้งคำถามว่าทำไมผู้บริหารท้องถิ่นจึงกล้าทำเช่นนี้
นางสาววริศรา รัตนสมัย ผู้อำนวยการสำนักมาตราการเชิงรุกและนวัตกรรม สำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวในปี 2564 และพบว่ามีค่าใช้จ่ายสูง มีการจัดซื้อจัดจ้างอย่างเร่งรีบ แม้ขั้นตอนจะถูกต้องแต่เป็นการแข่งขันไม่เป็นธรรม
นายสนธยา ยาพิณ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตาก เห็นว่า มีลักษณะของการล็อกสเป็ก หากมีการร่วมมือกันระหว่างนักการเมือง ข้าราชการ และเอกชน จะถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ
นายนริศ นิรามัยวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า การจัดทำโครงการต่างๆในหน่วยงานภายใต้กระทรวงมหาดไทย จะต้องมาจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นเมื่ออยู่ระหว่างการตรวจสอบ แม้ อปท. จะบอกว่าทำตามกระบวนการ แต่กระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่กำกับตามกฎหมายได้
นายอภิศักดิ์ ธนเศรษฐกร กรรมการบริหารบริษัทไทยนิวส์เน็ตเวิร์ค(ทีเอ็นเอ็น) จำกัด กล่าวว่า ปัญหาการทุจริตมาจากค่านิยมเดิมๆ ของสังคมไทยที่ฝังรากลึก สิ่งที่เป็นปัญหามากสุดคือการจัดซื้อจัดจ้างทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ สื่อมวลชนจึงมีความสำคัญอย่างมากที่จะต้องตรวจสอบ และให้ความรู้กับประชาชนผ่านสื่อทุกช่องทาง
นายกรมศักดิ์ ขันธ์ทอง ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า การติดตั้งแผงโซล่าเซล เสาไฟกินรี นั้นมีข้อดีคือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ข้อเสียคือการลงทุนสูงกว่าหลอดไฟปกติ และเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรม
ขณะที่ภาคบ่ายมีการแลกเปลี่ยนความรู้เรื่อง การทำวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตนั้น มีผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้ได้แก่ รศ.ดร.ประสิทธิ์ ลีระพันธ์ นักวิชาการอิสระ ,นายวันชัย รุจนวงศ์ อัยการอาวุโส และดร.จินตนา พลอยภัทรภิญโญ กรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต ซึ่งได้สะท้อนว่าสังคมไทยยังขาดนักวิจัยที่มีคุณภาพและมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณสนับสนุน ซึ่งการวิจัยนั้นมีความสำคัยอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน เพราะต้องศึกษาเจาะลึกให้รู้ต้นตอของปัญหา เพื่อแก้ไขได้อย่างตรงจุดและถูกต้อง
:: เอกสารสำหรับดาวน์โหลดและไฟล์ที่เกี่ยวข้อง ::