ศปถ.เตรียมพร้อม! วาง 5 มาตรการเฝ้าระวังอุบัติเหตุปีใหม่ สั่งใช้กฏหมายเข้ม

Last updated: 18 ธ.ค. 2563  |  2165 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ศปถ.เตรียมพร้อม! วาง 5 มาตรการเฝ้าระวังอุบัติเหตุปีใหม่ สั่งใช้กฏหมายเข้ม

5 มาตราการเฝ้าระวังอุบัติเหตุปีใหม่ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” มท1 ย้ำเข้มบังคับใช้กฎหมาย วอนประชาชนตระหนักความปลอดภัย

พล.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) ในฐานะประธานคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ที่ประชุมมีมติรับทราบตามที่ ศปถ. เสนอแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 เพื่อเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงาน มุ่งเน้นการบริหารจัดการในลักษณะยึดพื้นที่เป็นตัวตั้งควบคู่การดำเนินการตามมาตรการและแนวทางเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ด้วยการบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ ดำเนินงานอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง รวมทั้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ชุมชน หมู่บ้าน อาสาสมัครต่าง ๆ และประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยให้ อปท. เป็นเจ้าภาพการดำเนินการ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุให้เหลือน้อยที่สุดและดูแลความปลอดภัยการเดินทางของประขาชนครอบคลุมทุกมิติ

พล.อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนเดินทางอย่างสุขใจกับชีวิตวิถีใหม่ที่ห่างไกลจากอุบัติเหตุตลอดช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 และสอดคล้องตามแผนบูรณาการฯ ดังกล่าว จึงได้กำหนดการรณรงค์ภายใต้ชื่อ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” มีเป้าหมายลดจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ ให้เหลือน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับสถิติช่วงเทศกาลปีใหม่เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง และจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุในระดับจังหวัดและอำเภอเสี่ยงที่เป็นสีแดงลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยช่วงเดียวกันย้อนหลัง 3 ปี แบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ช่วง ดังนี้

ช่วงก่อนควบคุมเข้มข้น วันที่ 22 - 28 ธันวาคม 2563 ช่วงควบคุมเข้มข้น วันที่ 29 ธันวาคม 2563 - 4 มกราคม 2564 และช่วงหลังควบคุมเข้มข้น วันที่ 5-11 มกราคม 2564 โดยมีมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน 5 ด้าน ได้แก่

1. ด้านการบริหารจัดการ อาทิ จัดตั้งศูนย์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 ทั้งส่วนกลาง ระดับจังหวัดอำเภอ กทม. และอปท. การลดปัจจัยเสี่ยง โดยใช้กลไกท้องที่ควบคุมและดำเนินการมาตรการเชิงรุก “เคาะประตูบ้าน” เพื่อสอดส่องดูแล ป้องปราม และตักเตือนผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในพื้นที่

2. ด้านลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อม ด้วยการตรวจสอบลักษณะกายภาพถนน จุดเสี่ยง จุดอันตราย จุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จุดที่เกิดอุบัติเหตุใหญ่ และปรับปรุงแก้ไขให้มีความปลอดภัย และกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟให้มีความปลอดภัยในการสัญจร เป็นต้น

3. ด้านลดปัจจัยเสี่ยงด้านยานพาหนะ ด้วยการกำกับ ควบคุม ดูแลรถโดยสารสาธารณะ รถโดยสารไม่ประจำทาง พนักงานขับรถ และพนักงานประจำรถ ถือปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมายอย่างเคร่งครัด และขอความร่วมมือกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถบรรทุกหยุดประกอบกิจการหรือหลีกเลี่ยงการใช้รถบรรทุกในการประกอบกิจการช่วงเทศกาลปีใหม่

4. ด้านผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย ด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้ง “ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์” อย่างเข้มข้นภายใต้มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

5. ด้านการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ โดยจัดเตรียมความพร้อมโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล หน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน หน่วยกู้ชีพ กู้ภัย และแบ่งมอบพื้นที่ความรับผิดชอบ การติดต่อประสานงาน ให้พร้อมช่วยเหลือประชาชนทันที

"ได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้ความสำคัญในการดำเนินงานเชิงรุกและการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เคร่งครัดและต่อเนื่อง ควบคู่กับการสร้างจิตสำนึกและความตระหนักด้านความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนนและประชาชน เพื่อสร้างความปลอดภัยและสร้างความสุขให้กับพี่น้องประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564" รมว.มหาดไทย กล่าว

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้