Last updated: 3 ต.ค. 2563 | 2553 จำนวนผู้เข้าชม |
“กัลยา” ชี้ วิทยุชุมชนต้องปรับตัวในอนาคต แนะ ช่วยหาทางออกให้ผู้ประกอบการ ขณะที่ “เศรษฐพงค์” ชี้ ระบบดิจิทัลทำให้สัญญาณดีขึ้น ด้าน “นิคม” วอน หาทางช่วยผู้ทำวิทยุชุมชน
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 นางสาวกัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) กล่าวว่า ในการประชุม กมธ.ดีอีเอส เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีวาระพิจารณาเรื่องแนวทางการบริหารงานวิทยุชุมชนในอนาคต โดยได้เชิญตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เข้าชี้แจง ซึ่งเรื่องดังกล่าวตนเข้าใจว่าทุกอย่างจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ เหมือนที่หลายประเทศก็ใช้การออกอากาศวิทยุผ่านระบบดิจิทัล รวมทั้งประเทศไทยเองก็มีการใช้ทีวีดิจิทัลมาหลายปีแล้ว การจะนำมาใช้กับวิทยุก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะถ้าไม่ปรับตัวเราก็อยู่ไม่ได้ แต่ต้องมีการเปิดช่องทางให้ความรู้ หาทางออกให้คนที่ประกอบด้านวิทยุด้วย ต้องดูแลช่วยเหลือผลักดัน ตนจึงอยากฝากทาง กสทช. ช่วยหาวิธีการดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ด้วย
ขณะที่ พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะ รองประธาน กมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า ในปัจจุบันพฤติกรรมการรับฟังวิทยุของคนไทยรวมถึงคนทั้งโลกเปลี่ยนแปลงไป มีการรับฟังวิทยุผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่คนที่รับฟังวิทยุระบบอนาล็อกจะเน้นไปที่การรับฟังข่าวตอนขับรถ ซึ่งพบปัญหาหลายอย่างทั้งการถูกคลื่นรบกวน เสียงไม่ชัดเจน ซึ่งหากมีการปรับการออกอากาศเป็นระบบดิจิตอลน่าจะช่วยให้สัญญาณดีขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีมาตรการที่ชัดเจนในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ การประชาสัมพันธ์ช่องทางการรับฟัง เหมือนตอนที่เปลี่ยนจากทีวีอนาล็อกเป็นทีวีดิจิทัลด้วย
ด้านนายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังปวงชนไทย ในฐานะรองประธานกมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับการเปลี่ยนระบบกระจายเสียงวิทยุจากระบบอนาล็อก เป็นระบบดิจิทัล แต่อยากให้ทาง กสทช. มีการเตรียมความพร้อม และอยากให้การเปลี่ยนแปลงเกิดโดยธรรมชาติ และควรจะมีการดำเนินการควบคู่กันไปก่อนทั้งระบบอนาล็อกและระบบดิจิทัล ซึ่งตนเห็นใจผู้ประการกิจการวิทยุในปัจจุบัน กว่าจะสร้างกลุ่มลูกค้าหรือผู้ฟังได้ ต้องลงทุนลงแรงอย่างมหาศาลเพื่อให้ผู้ฟังได้จดจำและติดตามอย่างต่อเนื่อง แต่หากจะต้องเปลี่ยนเป็นระบบดิจิทัลปัญหาไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ต้องมีการสร้างแบรนด์ใหม่ เพราะผู้ฟังอาจจะไม่รู้ว่าเขาเปลี่ยนคลื่นไปอยู่ช่องไหน ตนอยากให้ กสทช.เข้าใจผู้ประกอบการด้วย ขอให้มองหลายๆ มุม และอยากให้ทาง กสทช. ประกาศให้ชัดเจนว่าจะมีการยกเลิกระบบอนาล็อกเมื่อไร หรือจะยกเลิกเลยหรือไม่ พวกเขาจะได้ไปทำธุรกิจอย่างอื่นแทน และจะมีการส่งเสริมแนวทางความรู้ มีการแนะนำและให้ผู้ประกอบการปรับตัวและสร้างแรงจูงใจอย่างไรบ้าง
ส่วนตัวแทนจาก กสทช. ชี้แจงว่า จากการสำรวจพฤติกรรมและแนวโน้มการรับฟังสื่อทางเสียงปี 2562 พบว่า วิทยุ FM ได้รับความนิยมสูงสุดทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่กลุ่มผู้มีอายุมากจะรับฟังรายการข่าว ส่วนผู้ที่มีอายุน้อยจะฟังรายการบันเทิง ส่วนการฟังเพลงออนไลน์และเพลงสตรีมมิ่งพบว่า โทรศัพท์มือถือเป็นช่องทางที่สำคัญมากที่สุด ซึ่งปัจจุบันประชาชนที่รับฟังวิทยุในระบบอนาล็อกส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดลง เพราะมีปัญหาจากสัญญาณรบกวน คุณภาพของเสียงต่ำและเสียงไม่ชัดเจน ซึ่งทาง กสทช. มีการทำวิเคราะห์ถึงจุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละระบบ รวมทั้งโอกาสและอุปสรรคด้วย รวมทั้งได้จัดทำร่างแผนพัฒนากิจการกระจายเสียง ฉบับที่ 1 พ.ศ.... รวมถึงวิเคราะห์ถึงทิศทางการพัฒนากิจการกระจายเสียง ซึ่งทั้งหมดนี้เราจะต้องรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนต่อไป ก่อนที่จะนำข้อมูลทั้งหมดมาพิจารณาอีกครั้ง
18 ส.ค. 2567