จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีการแพร่ระบาดในวงกว้างในปัจจุบัน ผู้สูงอายุ ถือเป็นประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคง่าย และอาจมีอาการอย่างรุนแรงมากกว่ากลุ่มวัยอื่น ซึ่งในที่พักอาศัยเป็นสถานที่ทุกคนในครอบครัวมาอยู่ร่วมกันและหากมีสมาชิกในครอบครัวหรือผู้สูงอายุที่เดินทางมาจากต่างประเทศพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อาจทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อโรคได้ ดังนั้น ผู้สูงอายุและบุคคลในครอบครัว ควรมีการปฏิบัติตน เพื่อการป้องกันการรับสัมผัสและแพร่กระจายเชื้อโรค ดังนี้
1. คำแนะนำสำหรับผู้สูงอายุ
- ล้างมืออย่างถูกวิธีด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าส้วม รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก
- ดูแลตัวเองด้วยการเลือกทานอาหารที่ร้อนหรือปรุงสุกใหม่ๆ หากทานอาหารร่วมกันให้ใช้ช้อนกลางออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ
- ดูแลส่งเสริมสุขภาพจิต หาวิธีผ่อนคลายความเครียดด้วยตนเอง เช่น การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสุขภาพ (เช่น รำมวยจีน โยคะ) ฟังเพลง ร้องเพลงหรือเล่นดนตรี ปลูกต้นไม้ ทำสวน จัดห้องตกแต่งบ้าน เล่นกับสัตว์เลี้ยง สวดมนต์ นั่งสมาธิ การฝึกหายใจคลายเครียด ทำบุญตักบาตร เป็นต้น
- หากมี อาการไอ จาม ให้ไอ จาม ใส่กระดาษทิชชูแล้วทิ้งทิชชูลงในถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้สนิทก่อนทิ้ง หรือใช้แขนเสื้อปิดปากจมูกเมื่อไอหรือจาม และทำความสะอาดมือด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์ทันทีหรือให้สวมหน้ากาก โดยปิดถึงคาง หลีกเลี่ยง/ไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ที่มีอาการหวัด มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก
- หลีกเลี่ยงออกจากบ้านในช่วงที่มีการะบาดของโรคหรือบริเวณที่มีคนหนาแน่น หากจำเป็นให้สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า โดยใช้เวลาน้อยที่สุด รักษาระยะห่างจากบุคคลอื่น 1 - 2 เมตรหรือ 6 ฟุต (Social Distancing) หลีกเลี่ยงการสวมกอด การอุ้ม หรือพูดคุยในระยะใกล้ชิดกับบุคคลอื่น และเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีในการติดต่อกับผู้อื่น เช่น คุยโทรศัพท์ สังคมออนไลน์ เป็นต้น
- หากมีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคมะเร็ง ผู้สูงอายุที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ เป็นต้น ควรจัดเตรียมยาสำรองสำหรับรักษาโรคประจำตัวของผู้สูงอายุไว้ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์หากจำเป็นให้ญาติไปพบแพทย์แทน
2. คำแนะนำสำหรับผู้ที่เดินทางกลับจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ต่างประเทศ หรือพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค
- ให้มีการแยกห้องนอนและห้องน้ำ สำหรับผู้ที่เดินทางกลับจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ต่างประเทศ หรือพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค และห่างจากผู้สูงอายุพักอาศัย กรณีห้องน้ำห้องส้วมแยกไม่ได้ ควรใช้ห้องน้ำห้องส้วมเป็นคนสุดท้าย และให้ทำความสะอาดทันทีหลังใช้เสร็จ ทั้งนี้ ให้ปิดฝาทุกครั้งก่อนกดชักโครกเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
- สังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก ให้สวมหน้ากากอนามัย หากมีอาการหอบ หรือหายใจลําบาก ควรรีบไปพบแพทย์พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง
- ควรหลีกเลี่ยงการออกไปในที่ชุมชน สาธารณะโดยไม่จำเป็น ไม่การใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำผ้าเช็ดตัว ช้อนส้อม เป็นต้น และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
- จัดให้มีน้ำดื่มแยกเฉพาะ แยกการรับประทานอาหาร ไม่รับประทานอาหารร่วมกับคนในครอบครัว ให้ดักแบ่งอาหารมารับประทานต่างหาก และเก็บล้างภาชนะด้วยน้ำยาล้างจาน ผึ่งให้แห้งและตากแดด
- ล้างมือเป็นประจำด้วยน้ำสะอาด พร้อมสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ก่อนรับประทานอาหาร หลังใช้ส้วมหรือหลังจากไอ จาม หรือหลังจากการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น
- ดูแลตัวเองด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ
3. คำแนะนำสำหรับสมาชิกในครอบครัวที่มีผู้สูงอายุและผู้ที่เดินทางกลับจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่างประเทศ หรือพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค
- ให้คำแนะนำแก่ผู้สูงอายุและผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง โดยรักษาระยะห่างจากผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง 1 - 2 เมตร หรือ 6 ฟุต
- อธิบายสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์และวิธีการปฏิบัติตัวจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ข้อมูล : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 25 มีนาคม 2563