Last updated: 21 ก.พ. 2563 | 2939 จำนวนผู้เข้าชม |
บทเรียน'ท่าซักโมเดล'ต้นแบบลดอุบัติเหตุ ชูลดอุบัติเหตุตายเป็นศูนย์
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) นำทัพสื่อศึกษาดูงานพื้นที่ต้นแบบลดอุบุัติเหตุทางถนน "ท่าซักโมดล" อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีนายเกรียงศักดิ์ ศรีไสย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าซัก พร้อมคณะผู้ใหญ่บ้าน อสม. อปพร. เจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับและบรรยายความเป็นมาของการดำเนินงานในพื้นที่ที่ร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยใช้มาตรการ 3 ด่าน คือ ด่านครอบครัว ด่านโรงเรียน ด่านชุมชน จนสามารถลดอุบัติเหตุทางถนน จากเดิมมีผู้เสียชีวิต 7 ราย แต่ปัจจุบันไม่มีผุู้เสียชีวิตเลยแม้แต่รายเดียว
มาตรการ 3 ด่าน คือ 1.ด่านครอบครัว โดยทีมพี่เลี้ยงและรพ.สต.,อสม. ร่วมสำรวจและแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มสีแดงคือไม่สวมหมวกนิรภัย กลุ่มสีเหลืองคือขับเร็วและเมา และกลุ่มสีเขียวคือบุคคลที่ขับขี่ปลอดภัย นอกจากนี้ลงเยี่ยมบ้านจะนำสติกเกอร์ด้วยรักจึงตักเตือนไปติดที่รถยนต์หรือรถจักรยนต์พร้อมเคาะประตูบ้านโดยนำผู้เคยประสบอุบัติเหตุไปเตือนใจ บอกเล่าประสบการณ์เพื่อลดความเสี่ยง 2.ด่านโรงเรียน นำโดยโรงเรียนวัดนาวง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช และขยายผลอีก 4 แห่งในพื้นที่ร่วมดำเนินการ บรรจุหลักสูตรการศึกษาวิชา พ.ร.บ.จราจรทางบก กำหนด 10 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษา นับเป็นแห่งแรกของประเทศไทย มีทีมพี่เลี้ยงหมุนเวียนเข้าไปสอนตามเนื้อหาวิชา เช่น การขับขี่ปลอดภัย เครื่องหมายจราจร การป้องกันอุบัติเหตุ ผลกระทบความสูญเสียจากอุบัติเหตุ การช่วยฟื้นคืนชีพ CPR เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี“นักข่าวจิ๋ว”คอยตักเตือน สนทนาหน้าเสาธง พูดคุยกระตุ้น ติดตามชื่นชม นักเรียน ผู้ปกครอง 3.ด่านชุมชน นำโดย อบต.ท่าซัก ผู้นำท้องถิ่นและภาคี ให้ความรู้ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งด่านแก่ ผู้นำชุมชน ใช้รณรงค์สร้างจิตสำนึก ให้ปฏิบัติตามกฎจราจร เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานทำให้การเสียชีวิตในปี 2561-2562 ลดลง โดยปี 2561 ตาย 7 ราย ปี 2562 จนถึง มกราคม 2563 ยังคงเป็น 0 ราย การป่วยจากอุบัติเหตุลดลงจาก ปี 2561 จำนวน 233 ราย ปี 2562 เหลือ 47 อัตราการสวมหมวกนิรภัยเพิ่มขึ้น ปี 2561 ประมาณ 15 % ปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 70.23 % ปัจจัยแห่งความสำเร็จ คือ ทุกคนร่วมกัน ด่านชุมชนเป็นมาตรการช่วยให้มีวินัยในการขับขี่ ด่านครอบครัวและด่านโรงเรียนช่วยปลูกจิตสำนึก สำคัญคือพี่เลี้ยงต้องสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาให้กับประชาชนต้องทำงานด้วยความรักและยึดประโยชน์ของชุมชนเป็นหลัก ผู้นำและชุมชนเข้าใจปัญหา มีการออกแบบวางระบบที่ดี ชุมชนร่วมกันพัฒนาต่อเนื่อง มีเป้าหมายเดียวกันคือชุมชนปลอดภัยอย่างยั่งยืน