ทำไมญี่ปุ่นถึงพร้อม ในวันที่ต้องเผชิญ "ไต้ฝุ่นฮากีบิส"

Last updated: 14 ต.ค. 2562  |  3647 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ทำไมญี่ปุ่นถึงพร้อม ในวันที่ต้องเผชิญ "ไต้ฝุ่นฮากีบิส"

"ญี่ปุ่น" ชัยภูมิที่ต้องเผชิญวิกฤตภัยพิบัติต่อเนื่อง จากร่องรอยความเสียหาย และความสูญเสีย ผลักดันให้นำเทคโนโลยีและข้อมูลเข้ามาช่วยวางแผนพัฒนาการรับมือภัยพิบัติอย่างเป็นระบบ เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

เหตุพายุไต้ฝุ่น "ฮากีบิส" ถล่มประเทศญี่ปุ่น ทำให้หลายคนรู้สึกว่าญี่ปุ่นได้รับผลกระทบน้อยกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ ซึ่งส่งผลให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการจัดการภัยพิบัติของญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี ทั้งการรายงานพยากรณ์อากาศที่แม่นยำของกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นอย่างมีแบบแผน โดยมีรายงานการคาดการณ์ตำแหน่งศูนย์กลางพายุไต้ฝุ่น ทิศทางและความเร็วในการเดินทาง ความดันส่วนกลาง ความเร็วลมสูงสุด และพื้นที่เตือนพายุในแต่ละช่วงเวลาตามที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งจะมีการพยากรณ์และรายงานแบบรายวัน (24 ชั่วโมง) ทุกวัน รายงานล่วงหน้าก่อนพายุไต้ฝุ่นจะเข้าถึงพื้นที่ทุก 3 ชั่วโมง ผ่านทางเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น เพื่อให้ประชาชนเข้าถึง และเตรียมตัวได้อย่างทันท่วงที

ภาพ : กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น

นอกจากการเตือนภัยที่แม่นยำแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่น ยังพัฒนาการบริการประชาชนเพิ่มมากขึ้นด้วยการจัดทำคู่มือ Free Wifi ในช่วงที่มีสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยใช้ชื่อ Wifi ว่า 00000JAPAN ที่สามารถใช้ได้กับโทรศัพท์มือถือทุกแบบที่รับสัญญาณ wifi ได้

อีกทั้งยังมีการติดตั้ง Live Camera รายงานสดและตรวจสอบสถานการณ์ไต้ฝุ่น "ฮากีบิส" แบบเรียลไทม์ ในทุกจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ และมีการจัดทำการรายงานสถานการณ์ภัยพิบัติในภาษาต่างๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถติดตามและวางแผนการเดินทางได้ง่าย https://www.data.jma.go.jp/multi/index.html?lang=th

นับว่าญี่ปุ่นนั้นมีการเตรียมพร้อมในทุกๆ ด้านเป็นอย่างดี จนอาจทำให้หลายคนสงสัยว่า เหตุใดญี่ปุ่นถึงพร้อมได้มากขนาดนี้ ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น แสดงให้เห็นถึงสถิติไต้ฝุ่นที่พัดถล่มประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1951 ที่ญี่ปุ่นเผชิญกับไต้ฝุ่นมาอย่างต่อเนื่อง โดยตลอดระยะเวลา 68 ปีที่ผ่านมา มีเพียง 4 ปีเท่านั้น ที่ไต้ฝุ่นไม่ได้เข้าโจมตีญี่ปุ่น นั่นคือปี 1984 1986 2000 และ 2008 โดยไต้ฝุ่นจะพัดถล่มญี่ปุ่นในช่วงเดือน มิ.ย.-ต.ค.ของทุกปี โดยพบมากสุดในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.  ขณะที่ปี 2004 มีไต้ฝุ่นพัดผ่านญี่ปุ่นมากถึง 10 ครั้ง 

โดย สำนักข่าว INDEPENDENT ให้ข้อมูลที่น่าสนใจไว้ว่า ญี่ปุ่นตั้งอยู่บนแถบมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งเป็นต้นกำเนิดไต้ฝุ่นและพายุหมุนเขตร้อนและวงแหวนแห่งแผ่นดินไหวซึ่งหมายความว่า ญี่ปุ่นจะเผชิญกับภัยธรรมชาติทุกชนิดมากกว่าประเทศอื่นๆ ทั้งแผ่นดินไหว สึนามิ ไต้ฝุ่น หรือแม้กระทั่งภูเขาไฟระเบิด 

ร่องรอยความเสียหายและความสูญเสียกลายเป็นบทเรียนที่ทำให้ญี่ปุ่นมีโอกาสได้วางแผนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ในอนาคตเพื่อความอยู่รอด โดยทุ่มลงทุนด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของอาคารให้ได้มาตรฐานและพร้อมรับกับทุกสถานการณ์

ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติของธนาคารโลก ระบุว่า ญี่ปุ่นเป็นผู้นำระดับโลกทั้งในด้านการเตรียมพร้อมและการตอบสนองเหตุฉุกเฉิน โดยต้องมั่นใจว่าโครงสร้างพื้นฐานและทรัพย์สินต่างๆ จะมีความยืดหยุ่นในการก่อสร้าง ขณะที่ถนนและอาคารสาธารณะในเมืองชายฝั่ง เช่น โอซาก้า ได้รับการออกแบบเพื่อให้น้ำและน้ำฝนส่วนเกินไหลออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีการป้องกันชายฝั่งให้สามารถลดผลกระทบจากการเกิดพายุได้

ใช้เทคโนโลยีทำนายภัยพิบัติแม่น - บริการรถไฟให้นานที่สุด

"เราไม่สามารถรู้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวเมื่อไหร่ แต่ด้วยรายงานสภาพอากาศเราสามารถพยากรณ์น้ำท่วมได้ในระดับหนึ่ง เพื่อที่จะอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยง และเราจะบริการรถไฟให้ได้นานที่สุด แต่หากถึงจุดวิกฤตเราพร้อมที่จะหยุดรถไฟและป้องกันภัยพิบัติ"

เว็บไซต์รัฐบาลญี่ปุ่น ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อรับมือภัยพิบัติ โดยทาเคชิ มาชิดะ ผู้จัดการแผนกป้องกันภัยพิบัติของโตเกียวเมโทร อธิบายถึงแผนการทำงานโดยนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ เพื่อทำให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัยว่าจะไม่ถูกปล่อยให้ติดค้างอยู่ไกลบ้าน ซึ่งการตัดสินใจในสถานการณ์เช่นนี้ขึ้นอยู่กับความแม่นยำของการพยากรณ์อากาศ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นผลักดันการวัดปริมาณน้ำฝนในระดับสากล (GPM) ซึ่งข้อมูลที่ได้รับจากดาวเทียมของประเทศต่างๆ จะถูกแบ่งปันในระดับโลก

ภาพ : https://www.japan.go.jp

โดยดาวเทียม GPM ที่เป็นแกนหลักของภารกิจนี้มีความถี่คู่ Precipitation Radar (DPR) เป็นหนึ่งในเครื่องมืออุตุนิยมวิทยาที่ทันสมัยที่พัฒนาโดย Japan Aerospace Exploration Agency ด้วยการปล่อยคลื่นวิทยุในสองความถี่ที่แตกต่างกัน DPR สามารถวัดการกระจายของฝนที่ตกลงมาในรูปแบบ 3 มิติ ทำให้สามารถจำลองสภาพอากาศและเพิ่มความแม่นยำของเทคโนโลยีการพยากรณ์จากแบบเดิมได้

ภาพ : https://www.japan.go.jp

นอกจากนี้ สถานีรถไฟใต้ดินยังถูกสร้างขึ้นใหม่ตามการออกแบบที่ป้องกันน้ำท่วมอย่างสมบูรณ์ซึ่งได้ติดตั้งประตูกันน้ำท่วมในทางเข้าอุโมงค์รางรถไฟเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าจากทุกจุดที่มีความเป็นไปได้ทั้งหมด ซึ่งแผนรับมือภัยพิบัติต่างๆ ได้เตรียมไว้เป็นลำดับ เพื่อพิจารณาว่ารถไฟขบวนใดควรหยุดให้บริการก่อน - หลัง เพื่อให้การอพยพผู้โดยสารเสร็จสมบูรณ์ 

กรมอุตุนิยมวิทยา กระชับพื้นที่แจ้งเตือนภัยประชาชน

แม้จะมีการทำนายที่แม่นยำเพิ่มมากขึ้น แต่การเข้าถึงประชาชนในส่วนการประกาศเตือนภัยก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่น ได้ออกประกาศเตือนภัยพิบัติแบบใหม่ ซึ่งมี 5 ระดับ เพื่อใช้สำหรับเหตุภัยพิบัติทั้งน้ำท่วมและดินถล่ม โดยระดับการเตือนภัยนี้ ถูกออกแบบมาเพื่อลดความซับซ้อนของระบบที่มีอยู่และลดจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยการเร่งการอพยพ นับเป็นครั้งแรกที่ระบบเตือนภัยมีคำแนะนำที่ชัดเจน และเชื่อมโยงกับตัวเลขเพื่อให้ชาวญี่ปุ่นทุกคนเข้าใจได้ง่าย เช่น ระดับ 4 หมายถึง ผู้อยู่อาศัยทุกคนต้องอพยพออกไป ในขณะที่ผู้สูงอายุและผู้ทุพพลภาพต้องอพยพไปตั้งแต่มีประกาศเตือนที่ระดับ 3

โดยกรมอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่น และรัฐบาลท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการออกคำแนะนำเกี่ยวกับการอพยพด้วยตนเอง พร้อมกับการแจ้งเตือนสภาพอากาศจากองค์กรต่างๆ เพื่อให้ผู้คนเข้าใจสถานการณ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

  • ระดับ 1 หมายถึง ข้อมูลเตือนภัยล่วงหน้าที่ออกโดยกรมอุตุนิยมวิทยา ประชาชนควรได้รับการแจ้งเตือนเมื่อมีการอัปเดทสภาพอากาศ
  • ระดับ 2 หมายถึง กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งเตือนฝนตกหนัก น้ำท่วม หรือพายุ โดยประชาชนจะต้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เช่น หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีภัยพิบัติเกิดขึ้น หรือตรวจสอบเส้นทางการอพยพและจุดนัดพบบนแผนที่เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากภัยพิบัติ
  • ระดับ 3 หมายถึง คำเตือนฝนตกหนัก หรือน้ำท่วม จากกรมอุตุนิยมวิทยา หรือ ข้อมูลการเตรียมการอพยพที่ออกโดยรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งผู้สูงอายุและผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจะต้องเริ่มอพยพทันที
  • ระดับ 4 หมายถึง ข้อมูลการแจ้งเตือนการอพยพที่ออกโดยกรมอุตุนิยมวิทยา หรือ คำสั่งการอพยพ ที่ออกโดยรัฐบาลท้องถิ่น ผู้พักอาศัยทุกคนต้องอพยพไปยังที่ปลอดภัยในทันที
  • ระดับ 5 เป็นคำเตือนที่รุนแรงที่สุด หมายถึง คำเตือนฉุกเฉินที่มีฝนตกหนัก ของกรมอุตุนิยมวิทยา ในระดับนี้อาจเป็นไปได้ว่าภัยพิบัติร้ายแรงได้เกิดขึ้นแล้ว ประชาชนควรพยายามทุกวิถีทางเพื่อช่วยตัวเองออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยทันที

 

 

สำนักข่าวเอ็นเอชเค รายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดที่อยู่เบื้องหลังระบบเตือนภัยใหม่นี้ คือ อุทกภัยครั้งใหญ่ที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงทางตะวันตกของญี่ปุ่น ในช่วงฤดูฝน ปี 2018  โดยมีฝนตกหนักถึง 1,000 มิลลิเมตรในบางพื้นที่ แม้ว่าหน่วยงานด้านสภาพอากาศจะเตือนถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดภัยพิบัติล่วงหน้าหลายวัน แต่ประชาชนกว่า 200 คน เสียชีวิตจากเหตุดินถล่มและน้ำท่วม

ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์เหตุการณ์ดังกล่าวว่า คนจำนวนมากไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำในการอพยพถึงแม้จะมีการออกคำเตือนก่อนเกิดภัยพิบัติหลายวัน ใน จ.ฮิโรชิมา ซึ่งเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมที่เลวร้ายที่สุดมีคนมากกว่า 2 ล้านคน ได้รับคำสั่งให้อพยพ แต่มีเพียง 17,000 คนเท่านั้นที่อพยพออกจากพื้นที่ ซึ่งคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.8 ของประชากรในพื้นที่

 

นักจิตวิทยา ระบุว่า ผู้คนมักจะประเมินความเป็นไปได้ของภัยพิบัติและผลกระทบต่ำเกินไป ซึ่งสามารถอ้างถึงแนวโน้มของมนุษย์ทั่วไปที่จะเชื่อในสิ่งต่างๆ ได้ดีไม่ว่าในสถานการณ์ใด โดยสภาวะทางจิตวิทยานี้ เรียกว่า "อคติสภาวะปกติ" อีกเหตุผลที่เป็นไปได้ คือ ระบบเตือนภัยที่ซับซ้อน กรมอุตุนิยมวิทยาออกคำเตือนสภาพอากาศ ในขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นออกคำสั่งอพยพหรือคำแนะนำ การมีแหล่งข้อมูลหลายแห่งอาจทำให้ผู้คนสับสนและทำให้พวกเขาไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเหมาะสม สิ่งเหล่านี้ถูกรวบรวมเป็นปัญหาเพื่อนำไปสู่การสร้างการแจ้งเตือนรูปแบบใหม่

อย่างไรก็ตาม นอกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการแล้ว แรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นสามารถนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการป้องกันภัยพิบัติได้นั้นมาจากนโยบายที่ดี โดยหัวเรือใหญ่อย่างรัฐบาล นำโดยนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีจะต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างจริงจัง จัดตั้งวอร์รูมที่สามารถรับมือกับภัยพิบัติได้ และรัฐบาลเองก็ยกระดับเรื่องเหล่านี้ให้เป็นส่วนหนึ่งของงานระดับประเทศ ในขณะที่ประชาชนก็จำเป็นต้องมีวินัย ให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ด้วย 

เพราะตอนนี้โลกกำลังเปลี่ยน ปัญหาภัยพิบัติเริ่มมากขึ้นจนหลายคนรู้สึกได้ การเห็นความสำคัญเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับภัยพิบัติอาจเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องเห็นแค่ภาพการรับบริจาค แต่ได้เห็นการป้องกันด้วยการรับมืออย่างเป็นระบบทั้งก่อน ระหว่าง และหลังภัยพิบัติ มากกว่าการตั้งรับและฟื้นฟูความเสียหายในภายหลัง

ที่มา : องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย https://news.thaipbs.or.th/content/285139

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้