สถาบันอิศรา จัดเสวนา "ถกบทบาทหน้าที่ ป.ป.ช. ตามกฎหมายใหม่"

Last updated: 5 ต.ค. 2561  |  2672 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สถาบันอิศรา จัดเสวนา "ถกบทบาทหน้าที่ ป.ป.ช. ตามกฎหมายใหม่"

6 เรื่องใหม่ในกฎหมาย ป.ป.ช. บนแรงเสียดทาน

วันที่ 5 ตุลาคม 2561 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนและให้ความรู้ “บทบาทและหน้าที่ของ ป.ป.ช. ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561” โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ,นายภูเทพ ทวีโชติธนากุล ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย ป.ป.ช. นายบรรเจิด สิงคะเนติ อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา

‘วรวิทย์’ ย้ำปีหน้าเร่งเคลียร์ 6 พันคดี

นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ประเทศไทยได้มีการพัฒนาการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จนกระทั่งมี ป.ป.ช.เมื่อปี 2540 ต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ ตั้งแต่เรื่องใหญ่จนถึงเรื่องเล็ก จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงก็คือในข้าราชการระดับเล็ก ให้ ป.ป.ท.เป็นผู้ดำเนินการ ส่วนระดับผู้อำนวยการกองขึ้นไป ป.ป.ช.เป็นผู้ดำเนินการ ต่อมาเมื่อปี 2560 มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอีกให้ ป.ป.ช.รับผิดชอบการทุจริตเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด โดยให้ ป.ป.ช.สามารถโอนถ่ายงานไปยังหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมรับผิดชอบได้

นายวรวิทย์ กล่าวว่า สำหรับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดนั้นมีการวางบทบาท ป.ป.ช.เอาไว้อีกว่า ให้ ป.ป.ช.มีหน้าที่ทั้งป้องกันการทุจริต โดยสามารถเสนอแนะมาตรการป้องกันการทุจริตกับหน่วยงานต่างๆที่ดำเนินการตรวจสอบการทุจริตที่เกิดขึ้นได้ โดยไม่ต้องรอให้เรื่องเข้ามาอยู่ในความรับผิดชอบของ ป.ป.ช.ก่อน นอกจากนี้ยังมีการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแลและปราบปรามการทุจริตมากขึ้นไปอีก

นายวรวิทย์กล่าวถึงงานด้านปราบปรามการทุจริตของ ป.ป.ช.ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหากรณี คดีหมดอายุความไปก่อน กฎหมายฉบับใหม่ มีการแก้ไขว่า งานของ ป.ป.ช.นั้นต้องดำเนินการให้เสร็จเป็นระยะเวลา 2 ปี ขยายเวลาได้อีก 1 ครั้ง เมื่อรวมการขยายเวลาแล้วก็เป็น 3 ปี ยกเว้นเรื่องที่ต้องมีการดำเนินการในต่างประเทศ ให้มีการขยายเวลาได้ตามความเหมาะสม โดยกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่นี้ได้เร่งรัดการทำงานของป.ป.ช. หากไม่ทำงานตามเวลา หรือทำคดีล้าช้า ให้มีการดำเนินการทางวินัย ซึ่งส่งผลทำให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ลาออกไปร่วมร้อยคน

สำหรับกรอบระยะเวลาทำงานตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 นายวรวิทย์ กล่าวว่า ยังส่งผลไปยังอัยการด้วย อัยการถูกบังคับระยะเวลาทำงานว่า จะต้องสั่งฟ้องให้ได้ภายใน 180 วัน เว้นแต่สำนวนที่อัยการรับมาจาก ป.ป.ช.นั้นไม่สมบูรณ์ก็ต้องมีการส่งเรื่องกลับมาให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตั้งคณะกรรมการร่วมกับอัยการเพื่อรวบรวมหลักฐานให้เสร็จภายใน 90 วัน หากยังหาข้อยุติไม่ได้ให้ ป.ป.ช. ฟ้องเองได้

นายวรวิทย์ กล่าวถึงภารกิจการตรวจสอบทรัพย์สิน ซึ่งเป็นมาตรการเสริมในด้านการปราบปรามการทุจริตถือว่าเป็นเครื่องมือช่วย ป.ป.ช. ทั้งด้านการปราบปรามและการป้องกัน เดิมที่นั้นการกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน เป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง แต่ตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลง ก็คือเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ได้มีการระบุว่าต้องมายื่นบัญชีทรัพย์สินกับ ป.ป.ช. ก็ให้ไปยื่นบัญชีทรัพย์สินกับหน่วยงานที่สังกัดอยู่

นอกจากนี้การยื่นบัญชีทรัพย์สินยังมีการเข้มข้นมากขึ้น จากเมื่อก่อนที่ให้ยื่นเฉพาะผู้ยื่นและคู่สมรส ก็เพิ่มขอบเขตว่า ผู้ที่อยู่กินกับผู้ยื่นบัญชีทรัพย์สินฉันสามี ภรรยา จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วย โดยผู้ที่ไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินนั้น ก็มีการลงโทษที่แรงขึ้น โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลที่อาจจะตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต หรือไม่ให้เข้าไปมีส่วนในการเลือกตั้งเป็นระยะเวลา 10 ปี

“ส่วนกรณีที่มีการวิจารณ์ว่า ป.ป.ช.มีการทำคดีที่ผ่านมาล่าช้าจนมีคดีคั่งค้างอยู่มากนั้น ต้องขอเรียนข้อเท็จจริงว่า ขณะนี้ ป.ป.ช.ยังมีคดีที่คั่งค้างอยู่ประมาณ 17,000 คดี ในจำนวนนี้มีประมาณ 14,000 คดี ที่ยังอยู่ในระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริง ซึ่งในปีที่ผ่านมา ป.ป.ช.ได้ดำเนินการสะสางคดีไปแล้วทั้งสิ้น 4,000 คดี และในปี 2562 ป.ป.ช.ก็ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะสะสางคดีที่ค้างจำนวน 6,000 คดี ให้เสร็จสิ้น”

ข้อดีกฎหมายให้คนนอกร่วมตรวจสอบทุจริต

ขณะที่นายภูเทพ ทวีโชติธนากุล ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักงาน ป.ป.ช.ได้กล่าวถึงการปราบปรามการทุจริตว่า ในปี 2561 มีการบัญญัติกรอบเวลาการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.เพื่อปราบการทุจริตอย่างชัดเจน และทำหน้าที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ โดยกฎหมายมีการเพิ่มประสิทธิภาพ สามารถแต่งตั้งให้คนนอกสามารถเข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้คดีที่ใหญ่ๆ และมีผลกระทบกับสังคมในวงกว้างได้ และเมื่อบุคคลภายนอกถูกแต่งตั้งให้เข้ามาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ก็จะสามารถเข้ามาสืบสวนได้กับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. และถ้าบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นที่ปรึกษาเข้ามาทำผิดเสียเองก็จะได้รับโทษ 2 เท่าเช่นเดียวกับกรณีเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.กระทำผิดกฎหมาย

นายภูเทพ กล่าวว่า นอกจากนี้ก็ยังมีมาตรการคุ้มครองผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้ามาทำหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. โดยมีบทคุ้มครองพยานให้กับประชาชนหรือสื่อมวลชนที่เข้ามาแจ้งเบาะแสได้ ถ้าพยานถูกฟ้องร้อง เขาก็สามารถอ้างกลับโดยยึดตามมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯได้

ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย ป.ป.ช. กล่าวต่อว่า ในส่วนของเครื่องมือการปราบการทุจริต กฎหมายฉบับนี้ยังมีเครื่องมืออำนวยความสะดวก โดยขอให้เอกชนดำเนินการตามที่ ป.ป.ช.ร้องขอได้ในแง่ของการส่งข้อมูล ถ้าเอกชนไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษตามมา นอกจากนี้ในกฎหมายยังระบุด้วยว่า ป.ป.ช.สามารถดึงเอาเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นมาร่วมกันสอบสวนกับ ป.ป.ช.ได้ ซึ่งถือว่าเป็นกลไกที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนการปราบการทุจริตโดยร่วมกันทุกหน่วยงาน

สำหรับกรณีการไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน นายภูเทพ กล่าวว่า ป.ป.ช.ก็สามารถส่งคำเตือนไปยังผู้ที่ไม่ยื่นได้เช่นกัน และถ้าหากพบว่ามีเจตนาปกปิดบัญชีทรัพย์สิน ป.ป.ช.จะส่งเรื่องฟ้องศาลได้ นี่คือสิ่งที่เพิ่มเข้ามาในกฎหมายใหม่ ป.ป.ช.ฉบับล่าสุด

นายภูเทพ กล่าวถึงการป้องกันการทุจริต มีการกำหนดบทคุ้มครอง เช่น เจ้าหน้าที่ระดับผู้น้อยถูกบังคับ กดดันให้ทำผิด ถูกครอบงำจากผู้บังคับบัญชาที่เหนือกว่า กฎหมายใหม่ก็คุ้มครองให้สามารถมายื่นหนังสือให้กับ ป.ป.ช.ภายในระยะเวลา 30 วัน บุคคลนั้นก็จะถูกกันตัวไว้เป็นพยานและไม่ต้องรับโทษ

ทั้งนี้ นายภูเทพ กล่าวด้วยว่า ในส่วนกรณีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่่นนั้น ถ้าหาก ป.ป.ช.รับเรื่องแล้วพิจารณาว่าอยู่ในหน้าที่ของหน่วยงานอื่น ป.ป.ช.สามารถส่งไปให้หน่วยงานอื่นด้วย และถ้าเป็นประเด็นคาบเกี่ยวที่เกี่ยวข้องกับทั้ง ป.ป.ช.และหน่วยงานอิสระอื่นๆ ตรงนี้ ป.ป.ช.และหน่วยงานนั้นๆ ต้องมีการหารือพูดคุยกัน ว่าจะดำเนินคดีในรูปแบบอย่างไร

‘บรรเจิด’ ชี้ 6 เรื่องใหม่ในกฎหมาย ป.ป.ช. หวั่นเจอแรงเสียดทานมหาศาล

ด้านนายบรรเจิด สิงคะเนติ อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มีเรื่องใหม่อยู่ 6 ประเด็นได้แก่

      1.เน้นการมีส่วนร่วมและป้องกันการทุจริต

      2.ทำให้ ป.ป.ช. โปร่งใส

      3. รวมศูนย์เรื่องทุจริตอยู่ที่ ป.ป.ช.

      4.มุ่งบูรณาการกับหน่วยงานที่ตรวจสอบ

      5. กระบวนการไต่ส่วนที่มีประสิทธิภาพ

    และ 6. ให้มีกองทุนฯ สำหรับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

“การป้องกันและปราบปรามการทุจริต ต้องให้น้ำหนักทั้งการป้องกัน ปราบปราม และการมีส่วนร่วมของประชาชนให้สมดุล”

นายบรรเจิด กล่าวยังขยายความถึงประเด็นการทำให้การทำหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โปร่งใสนั้น การเข้าชื่อของ ส.ส.และ ส.ว.เป็นของที่มีมาเดิม หากคณะกรรมการป.ป.ช. ดำเนินการขัดต่อกฎหมาย แต่สิ่งที่ต่างของเดิม เมื่อส.ส.และส.ว.เข้าชื่อและร้องไปที่ประธานศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ แต่ของใหม่ ให้ร้องไปที่ประธานรัฐสภา และหากประธานรัฐสภาเห็นว่า มีเหตุควรต้องสงสัยให้ส่งไปที่ศาลฯ ต่อได้

“จุดตรงนี้ คือ ประธานรัฐสภา จึงขึ้นอยู่กับภาคการเมืองต่อจากนี้ไปจะมีแรงเสียดทานหรือไม่ การให้ขึ้นอยู่กับความเห็นประธานรัฐสภา จากของเดิมไปที่ศาลฎีกา ไม่เกี่ยวกับการเมือง นี่คือกลไกใหม่ ที่เมื่อก่อนไม่มีตรงนี้”

นายบรรเจิด กล่าวถึงการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีประธานวุฒิสภาดูแล นี่คือสิ่งที่เน้นให้เห็นว่า ป.ป.ช.ตรวจสอบคนอื่น กรรมการก็ต้องแสดงความโปร่งใส ตรวจสอบได้ นี่คือจุดที่เปลี่ยนไปจากเดิม ส่วนการบูรณาการการทำงานนั้น ก็ถือเป็นเรื่องใหม่ โดยเฉพาะมาตรา 48 วรรค 4 หากผู้ว่า สตง.แจ้งมา ให้ป.ป.ช. ทำดำเนินการโดยพลัน เชื่อว่า กระบวนการทำงานจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“จัดทำงบประมาณแผ่นดิน มาตรา 144 วรรค 4 ของรัฐธรรมนูญ ให้มาที่ ป.ป.ช. จะเป็นอีกฐานหนึ่ง จุดตรงนี้ไม่เคยมีการเขียนมาก่อน จะเป็นแรงเสียดทานมหาศาล ที่ป.ป.ช.ต้องเผชิญกับฝ่ายบริหารทั้งชุด นับเป็นยาแรงมาก ถือเป็นภาระใหม่ของ ป.ป.ช.ด้วย ”

นอกจากนี้ นายบรรเจิด กล่าวถึงเรื่องกระบวนการไต่สวน คดีของ ป.ป.ช.ว่า จะต้องมีการกำกับ ดูแลในการดำเนินการให้เกิดความเหมาะสมเกิดขึ้น สำหรับกองทุนเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตนั้นที่จะใช้ทั้งในด้านการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.และกรรมการที่เกี่ยวข้องในการทำหน้าที่ ก็จะต้องมีความสอดคล้องกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนด้วย โดยจะต้องกำหนดเกณฑ์ที่ชัดเจนในการใช้กองทุน ว่าจะใช้อย่างไร มิเช่นนั้นเงินกองทุนจะไหลไปสู่วงเล็บอื่น ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์

“ในตอนนี้รัฐบาลได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.ดิจิทัลแล้ว ป.ป.ช.จึงไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้เลยที่จะทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมข้อมูลหรือ Big Data การทุจริต ดังนั้นถ้า ป.ป.ช.เข้ามามีส่วนตรงนี้ได้ก็จะเป็นเรื่องดีในการปราบทุจริต ส่วนในประเด็นเรื่องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ถ้าหากในอนาคตมีการลงทุนสร้างแอพพลิเคชั่นเพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริต ก็จะเป็นการสร้างมูลค่าในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้ได้มากขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง”

นอกจากนี้ นายบรรเจิด กล่าวถึงเรื่องกระบวนการไต่สวน คดีของ ป.ป.ช.ว่า จะต้องมีการกำกับ ดูแลในการดำเนินการให้เกิดความเหมาะสมเกิดขึ้น สำหรับกองทุนเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตนั้นที่จะใช้ทั้งในด้านการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.และกรรมการที่เกี่ยวข้องในการทำหน้าที่ ก็ต้องมีความสอดคล้องกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนด้วย โดยจะต้องกำหนดเกณฑ์ที่ชัดเจนในการใช้กองทุน ว่าจะใช้อย่างไร มิเช่นนั้นเงินกองทุนจะไหลไปสู่วงเล็บอื่น ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์

“ในตอนนี้รัฐบาลได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.ดิจิทัลแล้ว ป.ป.ช.จึงไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้เลยที่จะทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมข้อมูลหรือ Big Data การทุจริต ดังนั้นถ้า ป.ป.ช.เข้ามามีส่วนตรงนี้ได้ก็จะเป็นเรื่องดีในการปราบทุจริต ส่วนในประเด็นเรื่องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ถ้าหากในอนาคตมีการลงทุนสร้างแอพพลิเคชั่นเพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริต ก็จะเป็นการสร้างมูลค่าในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้ได้มากขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง”

ผอ.อิศรา ชี้ปราบทุจริตต้องเปิดข้อมูลให้ประชาชนมีส่วนร่วม

นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา กล่าวว่า ในกฎหมายใหม่ คุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็น ป.ป.ช. ถือว่าเข้มข้นมาก แต่อย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญก็คือว่า การไม่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำหน้าที่ ทั้งๆที่โลกเปลี่ยนไปมากแล้ว ดังนั้นผู้ที่เข้ามาเป็น ป.ป.ช.อาจจะตามโลกไม่ทันได้

ปัญหาอีกประการคือกระบวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. ที่ผ่านมามีการปล่อยให้คดีถูกปล่อยคั่งค้างถึง 13,000 คดี และยังมีคดีที่มีการร้องเรียนเป็นระยะเวลา 10 ปีขึ้นไป แต่อย่างไรก็ตามในกฎหมายใหม่นั้นระบุว่า คดีใดก็ตามที่ยังไม่หมดอายุความก็ให้มาเริ่มนับหนึ่งใหม่ และต้องให้เสร็จในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งก็คือ 2 ปี เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงว่าจะมีการเร่งรัดให้เสร็จสิ้นกันได้อย่างไร โดยเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาด้วย

“ถ้าหากทำไม่ทันแล้วเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ก็ต้องโดนสอบวินัย ดังนั้นเจ้าหน้าที่สอบสวนของ ป.ป.ช.จะมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง ถ้าหากทำคดีไม่ทันคือ 1.สรุปเป่าคดีเลย หรือ 2. รีบสรุปคดีแล้วไปว่ากันในชั้นอัยการ สรุปก็คือการเร่งรัดคดีในลักษณะแบบนี้นั้นมีข้อดีและไม่ดี ข้อดีก็คือดูเหมือนว่าเร็ว แต่ข้อเสียคือประสิทธิภาพในการทำคดีซึ่งจะไม่มี เรื่องนี้ต้องฝากไปยัง ป.ป.ช.ให้เป็นการบ้านด้วย”

นายประสงค์กล่าวถึงการให้ประชาชนและสื่อมวลชน เข้ามามีส่วนร่วมในการปราบทุจริต สิ่งสำคัญคือต้องเปิดเผยข้อมูล เพราะทั่วโลกระบุแล้วว่าการเปิดเผยข้อมูลนั้นทำให้เกิดความโปร่งใส โดยที่ไม่ต้องไปรณรงค์ให้เสียงบประมาณในการต่อต้านการทุจริตแต่อย่างใด โดยเมื่อเปิดข้อมูลแล้ว ประชาชนก็มีสิทธิ์จะเข้ามาดูและเร่งรัดให้เกิดการตรวจสอบมากขึ้น จนทำให้เกิดการปราบทุจริตเชิงรุก

ทั้งนี้การเปิดเผยข้อมูลจะต้องควบคู่ไปกับการมีระบบสารสนเทศที่ดีและทันสมัยตามมา อาทิ กรณีที่ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 มีคำพิพากษา จำคุก 5 ปี นางนุสรา แสนนาม ผู้อำนวยการ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเพชรบูรณ์ สังกัดกระทรวงยุติธรรม ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริตกรณีเอารถยนต์ส่วนกลางไปใช้ภารกิจส่วนตัว ถ้าหากมีระบบสารสนเทศที่ดี ให้ประชาชนเข้าไปสืบค้นข้อมูลได้นั้น ประชาชนก็จะรู้ได้เลยว่าเคยมีกรณีที่มีข้าราชการระดับสูงเอารถยนต์หลวงไปใช้กี่คดี มีกี่คดีที่ ป.ป.ช.ได้พิจารณาไปแล้ว แล้วกลไกต่อต้านทุจริตโดยภาคประชาชนก็จะเกิดขึ้นเอง

ในส่วนของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินให้ ป.ป.ช.นั้น นายประสงค์ กล่าวว่า ในมาตราที่ 106 ที่มีการกำหนดว่าสามารถเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินได้เพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่กลับมีการกำหนดต่อท้ายด้วยว่าการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินให้มีระยะเวลาที่แน่นอน ซึ่งสงสัยว่าระยะที่แน่นอนนั้นคือเท่าไร หากบัญชีทรัพย์สินฯ ถูกเอาลงจากเว็บไปก่อน ก็เป็นภาระของประชาชนที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเข้ามาตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินที่ ป.ป.ช.อีก ทั้งๆที่ในปัจจุบันนั้นเทคโนโลยีสารสนเทศก็ก้าวไกลไปมากแล้ว ทำให้สงสัยว่า ทำไมถึงไม่ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ในการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนทราบ เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาสืบค้นข้อมูลบัญชีทรัพย์สินแบบห้องสมุด อีกทั้งในกรณีการเปิดเผยข้อมูลคดีที่อยู่ในการพิจารณาของ ป.ป.ช. จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีการประสานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กับหน่วยงานอื่นด้วย เพื่อเปิดเผยบนหน้าเว็บไซต์เลยว่าคดีนั้นไปถึงไหนแล้ว

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้