Last updated: 12 ธ.ค. 2560 | 1782 จำนวนผู้เข้าชม |
วันที่ 3 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ซึ่งปีนี้คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป นำโดยนายเทพชัย หย่อง จัดกิจกรรมขึ้นภายใต้ความสนใจของสื่อมวลชนทุกแขนง รวมถึงนักวิชาการ และภาคประชาสังคม หลัก ๆ คือ การเคลื่อนไหวคัดค้าน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... ซึ่งเพิ่งผ่านการพิจารณาของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)
โดยมีข้อเรียกร้องสำคัญ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องยับยั้ง ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้โดยเร็ว เพราะมีเนื้อหาลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน รวมถึงประชาชนผู้ใช้สื่อในการแสดงความคิดเห็น ที่สำคัญ ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
(อ่านประกอบ: 30 องค์กรวิชาชีพ แถลงจี้รัฐบาลหยุดกฏหมายคุมสื่อ หนุนประชาชนตรวจสอบการทำหน้าที่)
ขณะที่ท่าทีของรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ได้ให้เจ้าหน้าที่วิเคราะห์เนื้อหา และจัดทำให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 หากยังไม่ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ซึ่งรัฐบาลจะเป็นผู้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายเอง โดยเชิญผู้แทนสื่อมวลชนร่วมให้ความคิดเห็น ก่อนเสนอต่อไปยังให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
(อ่านประกอบ: ‘วิษณุ’สั่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์กฏหมายคุมสื่อ ยันรับฟังความเห็นทุกฝ่าย-นายกฯพอใจได้หารือ)
ส่วนในเวทีเสวนา เสรีภาพสื่อกับอนาคตสังคมไทย ซึ่งจัดขึ้นในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มีผู้ร่วมเสวนา คือ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)
รัฐต้องการสื่อเป็นสุนัขเชื่อง ไม่ใช่สุนัข ‘ดุ’ เฝ้าบ้าน
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ ยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯ ไม่ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพียงแต่หยิบตัวปัญหาขึ้นมาเป็นโจทย์ตั้ง แต่กลับตัดเสื้อคนละแบบ กลายเป็นรูปร่างที่เข้าไปควบคุมเนื้อหาและจำกัดเสรีภาพมากขึ้น โดยไม่แก้ปัญหาจริยธรรมวิชาชีพ ซึ่งแทบไม่ถูกกล่าวถึง
คำถาม คือ รัฐหรือผู้อภิปรายในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งหลายคนอ้างว่าประชาชนถูกละเมิดสิทธิ แต่ปัญหาในหลายปีที่ผ่านมา ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นกลับไม่เคยเห็นรัฐแสดงท่าทีใด ๆ ยกเว้น เมื่อใดที่สื่อมวลชนนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐ นั่นจะทำให้รัฐแสดงท่าทีทันที
“ความจริงแล้วรัฐต้องการอะไร รัฐต้องการสื่อมวลชนที่อยู่ในกรอบจรรยาบรรณวิชาชีพ ไม่ละเมิดสิทธิประชาชน หรือรัฐต้องการให้สื่อมวลชนเป็นเด็กดี ว่านอนสอนง่าย” นักวิชาการ ม.หอการค้าไทย กล่าว และเปรียบเทียบว่า แท้จริงแล้วรัฐต้องการสื่อมวลชนทำหน้าที่เป็นสุนัขเชื่อง คอยเกาแข่งเกาขา ไม่ใช่สุนัขดุเฝ้าบ้าน เพราะบางครั้งเจ้าของบ้านจะทำผิด สุนัขจะเห่า
ความที่รัฐต้องการสุนัขว่านอนสอนง่าย เป็นปากเสียงประชาสัมพันธ์สิ่งที่รัฐบาลทำมากกว่า ดร.มานะ บอกว่า นั่นจึงเป็นเหตุให้เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯ ผิดเพี้ยนไปมาก จึงไม่แปลกใจสิ่งที่ต้องการจำกัดสื่อมวลชน ด้วยวิธีการเข้าไปดูแลควบคุม ไม่ว่าจะเป็นการออกใบอนุญาต หรือควบคุมเนื้อหา ส่วนอย่างอื่น เป็นแค่ข้ออ้าง
ส่วนอะไรที่เป็นหลักฐานรัฐต้องการให้สื่อเป็นดังสุนัขเชื่อง เกาแข้งเกาขา นักวิชาการ ม.หอการค้าไทย ระบุว่า ทุกอย่างสะท้อนออกมาจากคำพูดของเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้ยึดโมเดลของประเทศสิงคโปร์หรือประเทศอื่นมาใช้กำกับดูแลสื่อมวลชน เพื่อให้การเมืองนิ่ง สื่อมวลชนนิ่ง ทุกฝ่ายนิ่งทั้งหมด ยกเว้นรัฐทำได้ทุกอย่าง ไม่มีใครตรวจสอบ ทั้งนี้ หลายประเทศในโลกล้วนไม่อยากให้สื่อมวลชนตั้งคำถามหรือเห็นแย้งทั้งนั้น
‘สมชาย’ แนะสื่อจับเข่าคุยนายกฯ ทางการ-ยันต้องมีสภาวิชาชีพ
ด้าน นายสมชาย แสวงการ เป็นอีกหนึ่งบุคคลที่ยืนยันชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯ ฉบับ สปท. แต่ยังคงสนับสนุนให้มีสภาวิชาชีพเกิดขึ้น โดยให้สื่อมวลชนร่วมร่าง พ.ร.บ.หรือยกร่างเอง ในลักษณะส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่การควบคุม แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามกำกับดูแลกันเอง ซึ่งทำได้ดีในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่า ยังมีสื่อเทียม สื่อเสี้ยม แฝงตัวอยู่
ทั้งนี้ ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ.ฉบับ สปท. เปรียบกับรายงานชิ้นหนึ่ง ที่เสนอความคิดเห็นเท่านั้น ไม่ใช่กฎหมาย ฉะนั้นยังเหลืออีกหลายขั้นตอนมาก โดยเฉพาะการตรวจสอบว่า ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560มาตรา 35 หรือไม่ซึ่งบัญญัติว่า บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพฯ
รวมถึงมาตรา 77 วรรคสอง บัญญัติให้ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนํามาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอนฯ
ส่วนเรื่องใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพ นายสมชาย กล่าวว่า ยังไม่ต้องพูดถึง เพราะขั้นตอนยังอีกไกลมาก อย่างไรก็ตาม ยืนยันในหลักการจะต้องมีสภาวิชาชีพ เพราะที่ผ่านมาสื่อมวลชนกระจัดกระจาย มีหลากหลายสมาคม แต่เน้นย้ำว่า สภาวิชาชีพต้องเกิดขึ้นจากคนในวิชาชีพ ไม่ใช่จาก สปท. ที่สำคัญไม่เห็นด้วยให้มีบุคคลจากภาครัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง
“สิ่งที่ควรทำหลังจากนี้ คือ อยากให้สื่อมวลชนจับเข่าคุยกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย ว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะให้มีการยกร่าง พ.ร.บ.ร่วมกัน หรือร่างใหม่ หรือฉบับ สปท.มาปรับปรุง” สมาชิก สนช. ระบุทิ้งท้าย
จี้ชะลอร่าง กม.คุมสื่อ จนกว่าจะรับฟังความเห็นรอบด้าน
สุภิญญา กลางณรงค์ มองว่า ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯ มุ่งควบคุมการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ซึ่งไม่ตรงกับหลักการที่ต้องการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบันที่ไม่มีฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ฉะนั้นคนกลุ่มเดียวที่จะคอยตรวจสอบการทำหน้าที่ของรัฐ คือ สื่อมวลชน
“หากไม่มีสื่อมวลชน คิดสภาพว่า ไทยจะเป็นอย่างไร เพราะตอนนี้รัฐสกัดอำนาจอื่น พรรคการเมืองอ่อนแอ และกฎหมายที่เข้มงวดไม่สามารถเดินขบวนได้ เพราะฉะนั้นสื่อมวลชนจึงช่วยคานดุลอำนาจ และก่อกวนให้ผู้มีอำนาจรัฐไม่วางใจหรือสบายใจ สิ่งที่ต้องทำ คือ ทำอย่างไรที่จะเพิ่มความรับผิดชอบต่อสังคมให้แก่สื่อมวลชนได้” กรรมการ กสทช. กล่าว
ขณะที่ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เปิดเผยว่า ปัจจุบันประชาชนเกิดความชินชากับปัญหาคอร์รัปชัน ส่วนบุคคลที่ทำหน้าที่ต่อต้านคอร์รัปชันเริ่มเบื่อหน่ายที่จะทำ เพราะฉะนั้นความชินชาที่เกิดขึ้นจึงทำให้การแก้ไขปัญหายากขึ้น จึงอยากเห็นสื่อมวลชนนำเสนอข่าวที่ทำให้ประชาชนเห็นความสำคัญ
“จุดยืนขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน จึงไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯ” เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวในที่สุด
สุดท้าย นางอังคณา นีละไพจิตร กล่าวไม่เห็นด้วย ที่ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯ กำหนดให้ กสม.ร่วมเป็นกรรมการสภาวิชาชีพ เพราะเป็นองค์กรอิสระ ฉะนั้นเมื่อต้องตรวจสอบกับสื่อมวลชน หรือรับเรื่องร้องเรียนกับสื่อมวลชนกรณีที่ถูกละเมิด หากเข้าร่วมเป็นกรรมการสภาวิชาชีพ อาจกระทบต่อการทำหน้าที่เป็นธรรม ทั้งนี้ อยากให้รัฐชะลอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกไปก่อน จนกว่าจะมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง
สุดท้ายแล้ว ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลยับยั้งร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯ ฉบับ สปท. จะได้รับการตอบรับจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้นำรัฐนาวาหรือไม่ ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด! .
(อ่านประกอบ: ‘อลงกรณ์’ ลั่นลาออกจากรองประธาน สปท. หากร่างกฏหมายบังคับตีทะเบียนสื่อ)
ต้นฉบับ https://www.isranews.org/isranews/55945-freedom03305601.html