กสท.สรุปข้อปฏิบัติรายการทีวีใน 30 วันห้ามฉายเนื้อหาสร้างความแตกแยก

Last updated: 12 ธ.ค. 2560  |  3686 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กสท.สรุปข้อปฏิบัติรายการทีวีใน 30 วันห้ามฉายเนื้อหาสร้างความแตกแยก

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีมติในการประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 4/2559 วันที่ 26 ตุลาคม 2559 เกี่ยวกับข้อปฏิบัติในการนำเสนอรายการทางโทรทัศน์-วิทยุ หลังพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคต ดังนี้

การดำเนินการตั้งแต่ 15-30 วัน

1. รูปแบบการนำเสนอรายการทางสถานีโทรทัศน์ ให้ระมัดระวังและตรวจสอบการนำเสนอเนื้อหา การวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งแสดงถึงหรือกล่าวถึงความขัดแย้งในด้านต่าง ๆ ที่อาจนำไปสู่ความแตกแยกในสังคม โดยให้สถานีพิจารณาการนำเสนออย่างรอบคอบ และขอให้สถานีมุ่งเน้นการนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ พัฒนาคุณภาพประชาชน โดยเฉพาะการปลูกฝังวินัย และความรับผิดชอบต่อสังคม การถ่ายทำ หรือเผยแพร่ข่าว ภาพกิจกรรม ที่เกี่ยวกับการแสดงความไว้อาลัย ควรพิจารณาให้มีความเหมาะสม และคัดเลือกภาพที่มีความรัดกุมและสำรวม

2. การกล่าวถึงผู้สนับสนุนสามารถทำได้ กรณีรายการสารคดีเฉลิมพระเกียรติ แต่ควรนำเสนอตอนท้ายของรายการ ใช้เป็นโลโก้ได้ รวมถึงการใช้ภาษา ถ้อยคำให้มีความเหมาะสม ส่วนการโฆษณาอื่น ๆ ให้กระทำได้โดยอยู่ภายใต้แนวทางตามมติ กสท. นัดพิเศษครั้งที่ 1 และ 2 ไปจน 30 วัน หลังจากนั้นค่อย ๆ ผ่อนคลาย โดยมีการควบคุมเนื้อหาตามที่ควบคุมรายการไปอีก 7 วัน

3. การลดโทนสี ไม่ให้ฉูดฉาดจนเกินไป ไม่จำเป็นต้องเป็นขาวดำ ให้ใช้ช่อง 11 เป็นมาตรฐาน ให้สังเกตที่เป็นรายการปัจจุบัน ไม่ใช่สารคดี

การดำเนินการตั้งแต่ 30-100 วัน

1. ติดตามการถ่ายทอดสด และร่วมถ่ายทอดสดทุกครั้งที่มีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.)

2. ตั้งแต่วันที่ 31-37 สามารถนำรายการเด็ก รายการทั่วไป และรายการแนะนำเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ออกอากาศได้ โดยความควบคุมเนื้อหาพิเศษ ไม่ควรมีรายการตลก เฮฮา เน้นความรุนแรง (ตบตี) เรื่องทางเพศ ถ้อยคำหยาบคาย (คำไม่สุภาพด่ากัน) มีได้ตามบริบทนิดหน่อย แต่ไม่เน้นหรือไม่ย้ำ หรือไม่นานจนเกินไป

3. ตั้งแต่วันที่ 38-100 (อนุโลมให้เริ่มในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2559 ตั้งแต่เวลา 00.01 น.) สามารถนำรายการเด็ก รายการทั่วไป รายการแนะนำเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี และ 18 ปี ได้ แต่ไม่ควรมีเรื่องของความรุนแรง (ตบตี) เรื่องทางเพศ ถ้อยคำหยาบคาย (คำไม่สุภาพ)

4. รายการประเภทเฉพาะ ควรออกหลัง 100 วันไปแล้ว

5. หลัง 30 วัน สามารถออกสปอตโฆษณาได้ แต่ให้ควบคุมเหมือนกับเนื้อหาของรายการ ไปจนกว่าจะเลยไปอีก 7 วัน (อนุโลมให้เริ่มวัน 19 พ.ย. 2559 ตั้งแต่เวลา 00.01 น.)

6. การนำเสนอข่าวหลัง 30 วัน สามารถนำเสนอข่าวได้ตามปกติได้ทุกข่าว

7. การแต่งกายของพิธีกรผู้ดำเนินรายการ ควรแต่โทนขาวดำ โดยเน้นดำ รวมถึงผู้ร่วมรายการควรแต่งกายในโทนสีที่ไม่ฉูดฉาดจนเกินไป ระหว่าง 30-100 วัน แต่หากมีการบันทึกเทปไว้ล่วงหน้า ให้ขึ้นข้อความเพื่อบอกกล่าวแต่ผู้ชมให้ทราบว่า “รายการนี้บันทึกเทปไว้ก่อน เดือน ต.ค. 2559” หรือ “รายการนี้บันทึกเทปเมื่อวันที่ / เดือน / ปี” เป็นต้น ให้ขึ้นทุกเบรก เบรกละ 5-10 วินาที และใช้การลดค่าสีในการช่วยให้ดูไม่ฉูดฉาดจนเกินไป

8. ฉากของข่าวคุมโทนไว้อาลัยจนครบ 100 วัน

9. สรุปเรื่องการออกเสียงการอ่าน ชื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ดังนี้ “พระ-บาด-สม-เด็ด-พระ-ปะ-ระ-มิน-ทะ-ระ-มะ-หา-พู-มิ-พน-อะ-ดุน-ยะ-เดด” ตามการอ่านที่ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) แจ้ง

ทั้งนี้ภายหลังการประชุม พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. และประธานกรรมการ กสท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่อง การกำหนดแนวปฏิบัติสำหรับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กรณี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต เพิ่มเติม ครั้งที่ 4 โดยเห็นควรให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และผู้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการกระจายเสียงถือปฏิบัติเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ 

1. รูปแบบการนำเสนอรายการทางสถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุกระจายเสียง และสถานีผู้ทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ให้ระมัดระวังและตรวจสอบการนำเสนอเนื้อหา การวิพากษ์ หรือการวิจารณ์ ซึ่งแสดงถึงหรือกล่าวถึงความขัดแย้งในด้านต่าง ๆ ที่อาจนำไปสู่ความแตกแยกในสังคม โดยให้สถานีพิจารณาการนำเสนออย่างรอบคอบ ขอให้สถานีมุ่งเน้นการนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ พัฒนาคุณภาพประชาชน โดยเฉพาะปลูกฝังวินัย และความรับผิดชอบต่อสังคมการถ่ายทำ หรือเผยแพร่ภาพข่าว ภาพกิจกรรม ที่เกี่ยวกับการแสดงความไว้อาลัย ควรพิจารณาให้มีความเหมาะสม และคัดเลือกภาพที่มีความรัดกุมและสำรวม

2. การกล่าวถึงผู้สนับสนุนสามารถกระทำได้ ดังนี้ กรณีรายการสารคดีเฉลิมพระเกียรติ หากจะกล่าวถึงผู้สนับสนุน ควรนำเสนอตอนท้ายของรายการ ซึ่งอาจใช้ตราสัญลักษณ์ (logo) ของผู้สนับสนุนได้ ทั้งนี้ ขอให้ปรับโทนสี ขนาด รวมถึงการใช้ภาษา ถ้อยคำให้มีความเหมาะสม กรณีรายการอื่น ๆ ที่มิใช่รายการสารคดีเฉลิมพระเกียรติ สามารถแสดงสัญลักษณ์ (logo) ของผู้สนับสนุนได้ ทั้งนี้ ขอให้ปรับโทนสี ขนาด รวมถึงการใช้ภาษา ถ้อยคำให้มีความเหมาะสม
การสนับสนุน หรือการโฆษณากรณีที่มีการแสดงภาพพระบรมฉายาลักษณ์ และข้อความแสดงความไว้อาลัย การขึ้นข้อความเกี่ยวกับผู้ร่วมแสดงความไว้อาลัยให้ปรากฏเฉพาะชื่อของบริษัท ห้างร้าน หน่วยงาน คณะบุคคล หรือบุคคล และจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด

การโฆษณาอื่น ๆ ให้กระทำได้โดยอยู่ภายใต้แนวทางตามมติ กสท. นัดพิเศษ ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 (ให้งดการเผยแพร่รายการที่แสดงถึงความรื่นเริงเป็นเวลา 30 วัน และขอให้คำนึงถึงความเหมาะสม) และนัดพิเศษ ครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2559 (การนำเสนอรายการ และการโฆษณาของสถานีจะต้องไม่เป็นการแสดงถึงการบันเทิงใจ การเล่นเต้นรำทั้งปวง การสนุกรื่นเริง ล่อแหลม รุนแรง ตลอดจนแสดงถึงกริยาที่ไม่สำรวม แสดงอารมณ์เกินกว่าสมควร ซึ่งเกินกว่าความเหมาะสมภายใต้บริบทของความโศกเศร้าเสียใจของประชาชนชาวไทย ภาพ และสีที่ใช้ในการออกอากาศรายการของสถานีให้ปรับระดับของสีให้มีความเหมาะสมต่อการร่วมถวายความอาลัย)

หมายเหตุ : ขอบคุณภาพข่าวจากสำนักข่าวอิศรา และ www.nbtc.go.th

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้