Last updated: 28 ธ.ค. 2567 | 2260 จำนวนผู้เข้าชม |
รองนายกฯ อนุทิน เปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 เน้นย้ำสกัดกั้นสารตั้งต้น ดื่มไม่ขับ ขับไม่ดื่ม ลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน
วันที่ 25 ธันวาคม 2567 เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุม 1 ปภ. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีเปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 โดยมี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนกรมคุมประพฤติ ผู้แทนกระทรวงคมนาคม พร้อมผู้แทนหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหาร ปภ. เข้าร่วมประชุมฯ และประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด มุ่งเน้นการบูรณาการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ภายใต้แนวคิด “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” รวมถึงเตรียมพร้อมอำนวยความสะดวกในการเดินทางและดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน เพื่อสร้างการสัญจรที่ปลอดภัยห่างไกลอุบัติเหตุ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีนโยบายในการป้องกันและลดความสูญเสียอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุทางถนน ที่ครอบคลุมทั้งด้านการป้องกัน การบังคับใช้กฎหมาย การจัดการโครงส้างพื้นฐาน และการสร้างจิตสำนึกการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยให้แก่ประชาชน ซึ่งในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ใกล้จะถึงนี้ รัฐบาลมีความห่วงใยความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน เนื่องจากประชาชนมีการเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าช่วงปกติ จึงได้มอบหมายให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย บูรณาการทุกหน่วยงานในรูปแบบของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 เพื่อขับเคลื่อนการสร้างความปลอดภัยทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 ภายใต้แนวคิด “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” โดยได้กำหนดช่วงควบคุมเข้มข้น 10 วัน ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2567 – 5 มกราคม 2568 เพื่อให้สอดคล้องกับช่วงวันหยุดยาวในปีใหม่นี้ ซึ่งได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เตรียมความพร้อมบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 ให้เป็นไปตามแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาล และช่วงวันหยุด พ.ศ. 2568 ตามที่คณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในลักษณะ “ยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง (Area Approach)” เพื่อควบคุมและลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ทั้งด้านคน ถนน ยานพาหนะ และด้านสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งได้กำหนดมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 ไว้ 5 ด้าน ประกอบด้วย 1) ด้านการบริหารจัดการ โดยส่วนกลางได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนและกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ส่วนภูมิภาคให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนและทำแผนปฏิบัติการในพื้นที่ โดยในปีนี้ ได้ประสานให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมกับฝ่ายปกครองป้องปรามและแจ้งเตือนผู้ขับขี่บุคคลที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในชุมชน 2) ด้านลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อม ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการ แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุในบริเวณทางร่วม ทางแยก รวมถึงปรับปรุง ซ่อมแซมถนนให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ เพื่อให้ถนนมีความปลอดภัย 3) ด้านลดปัจจัยเสี่ยงด้านยานพาหนะ ให้มีการกำกับควบคุมดูแลรถโดยสารสาธารณะ พนักงานขับรถ พนักงานประจำรถให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด 4) ด้านผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย โดยให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรการทางกฎหมายและเน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น เพื่อบังคับใช้แก่ผู้ฝ่าฝืนกระทำความผิด และ 5) ด้านการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ โดยเตรียมความพร้อมโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล และหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน รวมถึงประสานงานและประชาสัมพันธ์ระบบการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุให้ได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวขอให้ทุกหน่วยงานนำไปใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการป้องกันและลดอุบัติเหตทางถนนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการเดินทางและดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน เพื่อสร้างการสัญจรที่ปลอดภัยห่างไกลอุบัติเหตุ
“จากสถิติอุบัติหตุทางถนนที่ผ่านมา พบว่า สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย เกิดจากพฤติกรรม “เร็ว เมา หมวก” คือ การขับรถเร็ว การดื่มแล้วขับ และการไม่สวมหมวกนิรภัยขณะขี่รถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ ประชาชนส่วนใหญ่มักมีการสังสรรค์เพื่อเฉลิมฉลองต้อนรับเข้าสู่ปีใหม่และมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งการดื่มแล้วขับถือเป็นสาเหตุหลักหรือเป็นสารตั้งต้นในการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ดังนั้นปีใหม่นี้เน้น “ดื่มไม่ขับ ขับต้องไม่ดื่ม” การบังคับใช้กฎหมายจำเป็นต้องเน้นหนักไปในเชิงการสกัดกั้นหรือป้องปรามผู้กระทำผิดทางกฎหมายดื่มแล้วขับ รวมไปถึงสถานประกอบการ สถานบันเทิงพื้นที่จัดงานเฉลิมฉลองปีใหม่ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่ผู้ประกอบการต้องมีใบอนุญาตจำหน่ายสุราตามกฎหมาย ไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี และจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลาที่กำหนด เพราะ “หนึ่งคนคือความสูญเสีย” ถ้าดีที่สุด คือ ทุกคนต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่เกิดจากความประมาท การดื่มแล้วขับ และความไม่พร้อมในการขับขี่ยานพาหนะ เพื่อลดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้ได้มากที่สุด” รองนายกฯ อนุทิน กล่าว
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 จะเป็นศูนย์กลางในการอำนวยการสั่งการและเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน กับศูนย์ปฏิบัติการฯ ระดับจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยตลอดช่วง 10 วัน ของการรณรงค์ความปลอดภัยทางถนน ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2567 – 5 มกราคม 2568 จะมีการประชุมร่วมกับศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด ติดตามสถานการณ์ วิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุในพื้นที่ เพื่อวางมาตรการและปรับแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในแต่ละพื้นที่ และจะมีการแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 เป็นประจำทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2567 – 6 มกราคม 2568 เพื่อให้ประชาชนรับทราบนโยบายและมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของรัฐบาล รวมถึงย้ำเตือนให้ผู้ใช้รถใช้ถนนตระหนักถึงความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนและมีจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนน