Last updated: 30 ม.ค. 2567 | 5030 จำนวนผู้เข้าชม |
ป.ป.ช. เผยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติประกาศผลดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ประจำปี 2566 ประเทศไทย ได้ 35 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 108 ของโลก
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 เวลา 13.01 น. ตามเวลาในประเทศไทย องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ได้เผยแพร่ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2566 โดยจากจำนวนประเทศ 180 ประเทศทั่วโลกนั้น ประเทศที่ได้คะแนนสูงที่สุดคือ 90 คะแนน จัดเป็นอันดับ 1 ของโลกคือ ประเทศเดนมาร์ก, อันดับ 2 ของโลกได้ 87 คะแนน คือ ประเทศฟินแลนด์ อันดับ 3 ของโลกได้ 85 คะแนน คือ ประเทศนิวซีแลนด์ ในขณะที่ประเทศไทย ได้ 35 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 108 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 4 ของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดคือประเทศสิงคโปร์ ได้ 83 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก
ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2566 นั้น เป็นการประเมินจากแหล่งข้อมูล 9 แหล่ง โดยประเทศไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้น 1 แหล่ง คือ PERC เพิ่มขึ้นจาก 35 คะแนนในปี 2565 เป็น 37 คะแนน
ลดลง 3 แหล่ง คือ BF(TI) ลดลงจาก 37 คะแนนในปี 2565 เป็น 33 คะแนน, WEF ลดลงจาก 45 คะแนนในปี 2565 เป็น 36 คะแนน, และ WJP ลดลงจาก 34 คะแนนในปี 2565 เป็น 33 คะแนน และคงที่ 5 แหล่ง คือ EIU, GI, IMD PRS และ V-DEM
แหล่งข้อมูลที่คะแนนเพิ่มขึ้น จำนวน 1 แหล่ง ได้แก่
1.แหล่งข้อมูล The Political and Economic Risk Consultancy (PERC) ได้ 37 คะแนน (ปี 2022 ได้ 35 คะแนน)
เนื่องจากมุมมองของผู้ตอบแบบสอบถามของแหล่งข้อมูลนี้ มองว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการทุจริต และปัญหาในกระบวนการยุติธรรม โดยกำหนดนโยบาย รวมทั้งมาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น การปรับปรุง ระเบียบ กฎหมาย การปรับปรุงกระบวนงานในการอนุมัติ อนุญาต การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ และการนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการทำงาน ตลอดจนสร้างจิตสำนึกและค่านิยมในการปฏิเสธไม่ยอมรับการทุจริต โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนและภาคีต่าง ๆ ร่วมมือกันในการป้องกันการทุจริต ทำให้ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม
แหล่งข้อมูลที่คะแนนคงที่ จำนวน 5 แหล่ง ได้แก่
1.แหล่งข้อมูล Economist Intelligence Unit Country Risk Ratings (EIU)
ได้ 37 คะแนน (ปี 2022 ได้ 37 คะแนน)
2.แหล่งข้อมูล Global Insight Country Risk Ratings (GI)
ได้ 35 คะแนน (ปี 2022 ได้ 35 คะแนน)
3.แหล่งข้อมูล IMD World Competitiveness Yearbook (IMD)
ได้ 43 คะแนน (ปี 2022 ได้ 43 คะแนน)
4.แหล่งข้อมูล PRS International Country Risk Guide (PRS)
ได้ 32 คะแนน (ปี 2022 ได้ 32 คะแนน)
5.แหล่งข้อมูล Varieties of Democracy Institute (V-DEM)
ได้ 26 คะแนน (ปี 2022 ได้ 26 คะแนน)
เนื่องจากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญและผู้ตอบแบบสอบถามในแหล่งข้อมูลดังกล่าว อาจเห็นว่า ถึงแม้ในปีที่ผ่านมาประเทศไทย จะได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการทุจริต โดยมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาการทุจริตต่าง ๆ เช่น มีการประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับระบบงบประมาณ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกในการอนุมัติ อนุญาต การผลักดันให้หน่วยงานของรัฐปรับปรุงกระบวนงานและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงาน การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ตลอดจนมีการลงโทษผู้ที่กระทำการทุจริต แต่ปัญหาการทุจริตต่าง ๆ ของประเทศไทย ยังคงมีอยู่ไม่แตกต่างจากปีที่ผ่าน ๆ มา ซึ่งผู้ประเมินเห็นว่าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
แหล่งข้อมูลที่คะแนนลดลง จำนวน 3 แหล่ง ได้แก่
1.แหล่งข้อมูล Bertelsmann Stiftung Transformation Index (BF (TI))
ได้ 33 คะแนน (ปี 2022 ได้ 37 คะแนน)
2.แหล่งข้อมูล World Economic Forum (WEF)
ได้ 36 คะแนน (ปี 2022 ได้ 45 คะแนน)
3.แหล่งข้อมูล World Justice Project (WJP)
ได้ 33 คะแนน (ปี 2022 ได้ 34 คะแนน)
ทั้งนี้ อาจมีสาเหตุมาจากมุมมองของผู้ตอบแบบสอบถาม และผู้เชี่ยวชาญในแหล่งข้อมูลดังกล่าว ที่รับรู้ว่ายังคงมีปัญหาการจ่ายเงินสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อแลกกับการได้รับการอนุมัติ/อนุญาต การอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ หรือเพื่อเพิ่มโอกาสและความได้เปรียบในการแข่งขัน ประกอบกับยังคงปรากฏกรณีที่เป็นข่าวเกี่ยวกับการทุจริตใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว การเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งการใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนตัวอยู่เป็นระยะ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
ถึงแม้ที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐจะมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย การพัฒนาการดำเนินงานโดยนำระบบเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนระยะเวลาในการติดต่อขอรับบริการจากหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะในเรื่องการอนุมัติ/อนุญาตต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ส่งผลต่อการรับรู้ของผู้ประเมิน รวมถึงการขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการตรวจสอบและการลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐ นอกจากนี้ ยังขาดการประชาสัมพันธ์ที่จริงจังของรัฐบาลที่ในการแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งส่งผลต่อการรับรู้ของผู้ประเมิน
ทั้งนี้ องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) ได้มีข้อเสนอแนะให้กับทุกประเทศว่า ควรเสริมสร้างให้กระบวนการยุติธรรมมีความเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซง รวมถึงส่งเสริมระบบคุณธรรมในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม สร้างความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใสในระบบศาลยุติธรรม การบังคับใช้กฎหมาย กระบวนการนิติบัญญัติ และระบบการบริหารจัดการ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคม เข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบได้ สร้างกลไกส่งเสริมความซื่อตรงและกลไกการตรวจสอบ การสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินคดีกับการทุจริตคอร์รัปชันที่สร้างความเสียหาย หรือมีผลกระทบในวงกว้าง
ในการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) นั้น รัฐบาลและภาคการเมืองต้องแสดงออกเพื่อให้สาธารณชนเห็นอย่างชัดแจ้งว่า รัฐบาลได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการทุจริต โดยเฉพาะการเน้นย้ำในเรื่องความเคร่งครัดเอาจริงเอาจังในการบังคับใช้กฎหมาย การแสดงเจตจำนงทางการเมืองที่มุ่งทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าการส่งเสริมให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐมีความสุจริต ปราศจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม โดยการสร้างความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจจริง
ในส่วนของสำนักงาน ป.ป.ช. ในฐานะที่องค์กรหลักในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พิจารณาแล้วเห็นว่าได้มีการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจที่อาจส่งผลต่อการยกระดับคะแนน CPI เช่น การดำเนินการเรื่องตรวจสอบและไต่สวนให้มีความเป็นระบบ และเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มาช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการด้านตรวจสอบทรัพย์สินให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ผ่านชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริต การจัดทำและพัฒนาหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา การจัดตั้งศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงาน ป.ป.ช. (Corruption Deterrence Center : CDC) ผลักดันให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน มีการพัฒนาการบริหารจัดการให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล มีคุณธรรมและความโปร่งใส รวมทั้งการเสนอมาตรการ ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต ตลอดจนการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการการดำเนินงานในการส่งเสริมการยกระดับคะแนน CPI ของประเทศไทยให้เป็นไปตามเป้าหมายต่อไป
คอร์รัปชันเฟื่องฟูไปทั่วโลก
องค์กรความโปร่งใสสากลหรือ Transparency International (TI) ได้จัดทำรายงานผลการจัดอันดับความโปร่งใส Corruption Perception Index(CPI)เป็นประจำทุกปีต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2538
CPI จัดอันดับ 180 ประเทศและเขตปกครองทั่วโลกตามระดับความโปร่งใสของภาครัฐ ด้วยคะแนน 0 (มีการทุจริตสูง)ถึง 100 (โปร่งใสมาก)
สำหรับรายงานผลการจัดอันดับความโปร่งใส Corruption Perception Index(CPI) 2023 หรือ ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันปี 2566 นั้น Transparency International ระบุว่า ดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ปี 2566 แสดงให้เห็นว่าการคอร์รัปชันกำลังเฟื่องฟูไปทั่วโลก
โดยมากกว่าสองในสามของประเทศมีคะแนนต่ำกว่า 50 จาก 100 คะแนนซึ่งบ่งชี้อย่างชัดเจนว่าประเทศเหล่านี้มีปัญหาคอร์รัปชั่นร้ายแรง ค่าเฉลี่ยทั่วโลกยังคงติดอยู่ที่ระดับ 43 ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ไม่มีความก้าวหน้าหรือลดลงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้น 23 ประเทศมีคะแนนลดลงมาที่ระดับต่ำสุดจนถึงปัจจุบันในปีนี้
ความอยุติธรรมและความยุ่งยากมาแรง
แนวโน้มระบบยุติธรรมที่อ่อนแอลงทั่วโลก มีผลให้ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐน้อยลง ซึ่งช่วยให้การคอร์รัปชันขยายตัวได้
ทั้งผู้นำเผด็จการและประชาธิปไตยกำลังบ่อนทำลายความยุติธรรม ซึ่งทำให้การที่ไม่ต้องรับโทษจากการคอร์รัปชันยิ่งเพิ่มขึ้นอีก และยังมีแรงหนุนจากการเก็บกวาดผลที่ตามมาสำหรับอาชญากรอีกด้วย การกระทำทุจริต เช่น การติดสินบนและการใช้อำนาจโดยมิชอบ กำลังแทรกซึมเข้าไปในศาลหลายแห่งและสถาบันยุติธรรมอื่นๆ ทั่วโลก ในที่ที่การคอร์รัปชันเป็นเรื่องปกติ ผู้ที่มีความเปราะบางจะถูกจำกัดการเข้าถึงความยุติธรรม ในขณะที่คนรวยและมีอำนาจยึดครองระบบยุติธรรมทั้งหมด และต้องแลกด้วยการที่ส่วนรวมสูญเสียผลประโยชน์
ประเทศที่มีติดอันดับดัชนี CPI สูงก็มีปัญหาการไม่ต้องรับโทษด้วยเช่นกัน แม้คะแนนจะไม่สะท้อนให้เห็นก็ตาม คดีทุจริตข้ามพรมแดนจำนวนมากเกี่ยวข้องกับบริษัทจากประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดซึ่งหันไปใช้วิธีติดสินบนเมื่อทำธุรกิจในต่างประเทศ คนอื่นๆ มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้เชี่ยวชาญที่ขายความลับหรือเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ทุจริตในต่างประเทศ แต่ประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดมักจะล้มเหลวในการตามล่าผู้กระทำความผิดในการคอร์รัปชันข้ามชาติและผู้ที่สนับสนุนพวกเขา
สถานการณ์ทั่วโลก
การพยายามลดคอร์รัปชันโดยรวมในทุกภูมิภาคต่างชะงักงันหรือมีสัญญานการลดลง อย่างไรก็ตาม มีบางประเทศที่มีคะแนนดีขึ้นอย่างมากในทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความก้าวหน้านั้นมีความเป็นไปได้ในทุกสภาพแวดล้อม
ขณะที่ยุโรปตะวันตกและสหภาพยุโรปยังคงเป็นภูมิภาคที่ได้คะแนนสูงสุด แต่คะแนนเฉลี่ยของภูมิภาคก็ลดลงเหลือ 65 ในปีนี้ เนื่องจากการตรวจสอบและถ่วงดุลอ่อนแอลง และความซื่อตรงทางการเมืองถดถอย แม้จะดีขึ้นในบางประเทศ แต่ภูมิภาคะแอฟริกาใต้ซาฮารา ยังคงค่าเฉลี่ยต่ำสุดที่ 33 โดยที่ประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมอยู่ภายใต้แรงกดดัน
ส่วนอื่นๆ ของโลกยังคงหยุดนิ่ง โดยภูมิภาคอื่นๆ ทั้งหมดที่มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่า 50 ยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางต้องต่อสู้กับหลักนิติธรรมที่บกพร่อง ระบอบอำนาจนิยมที่เพิ่มมากขึ้น และคอร์รัปชันเชิงระบบ
ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือดีขึ้นเล็กน้อย ซึ่งสะท้อนถึงการต่อสู้อย่างต่อเนื่องกับการคอร์รัปชั่นและความขัดแย้งทางการเมือง ส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกหยุดนิ่งมาเป็นเวลานาน แม้บางประเทศในอดีตที่อยู่ในระดับสูงสุดกลับถอยหลังก็ตาม ท้ายที่สุด การขาดความเป็นอิสระของตุลาการและหลักนิติธรรมที่อ่อนแอกำลังทำให้เกิดการไม่ต้องรับโทษอย่างกว้างขวางในอเมริกา