Last updated: 9 ต.ค. 2566 | 3023 จำนวนผู้เข้าชม |
4 กรรมการ กสทช. ส่งหนังสือถึง ‘ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์’ จี้ทบทวนปมเสนอบรรจุวาระให้ ‘บอร์ดดิจิทัล’ ไฟเขียวงบ กสทช. 5.2 พันล้าน เหตุไม่ได้มีการเสนอเรื่องให้ ‘บอร์ด กสทช.’ พิจารณาก่อน
เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 4 ราย ได้แก่ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ , รศ.ดร.พิรงรอง รามสูต , รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และ รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ได้ทำหนังสือบันทึกข้อความถึง ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. เรื่อง ขอให้ทบทวนการเสนอ เรื่อง การบรรจุวาระต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ของสำนักงาน กสทช. กรอบวงเงิน 5,282.50 ล้านบาท
โดยมีเนื้อหาว่า ด้วยสำนักงาน กสทช. ได้มีบันทึกข้อความ ด่วนที่สุด ที่ สทช 2101/ว746 ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2566 แจ้งให้ กสทช. ทราบว่า “ขณะนี้สำนักงาน กสทช. ได้นำส่งร่างงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2567 ต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาเรียบร้อยแล้วในวันที่ 27 กันยายน 2566” ในการนี้ขอเรียนดังนี้
1.การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสำนักงาน กสทช. นั้น พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม บัญญัติให้จัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีในรูปของงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสำนักงาน กสทช. เนื่องจาก กสทช. เป็นคณะบุคคล มิได้มีสถานะเป็นนิติบุคคลที่จะถือครองทรัพย์สินได้เอง
จึงต้องจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีในรูปของงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสำนักงาน กสทช. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนของ กสทช. คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) และสำนักงาน กสทช.
2.สำหรับขั้นตอนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้นแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี และขั้นตอนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ดังนี้
(1) ขั้นตอนการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พระราชบัญญัติองค์กรฯ มาตรา 57(2) บัญญัติให้ กสทช. เป็นผู้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสำนักงาน กสทช.
(2) ขั้นตอนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ร.บ.องค์กรฯ มาตรา 57 (2) บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของสำนักงาน กสทช. ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งงบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้น หมายความรวมถึงรายจ่ายใดๆ อันเกี่ยวกับการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ กสทช. กตป. และสำนักงาน กสทช. โดยการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า การประหยัด และประสิทธิภาพ
นอกจากนั้น มาตรา 57 วรรคสอง ยังได้กำหนดขั้นตอนก่อนที่ กสทช. จะพิจารณาอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพิ่มเติม คือ ต้องมีการเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปีไปยังคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้ความเห็นก่อน
อย่างไรก็ตาม การที่มาตรา 59 บัญญัติไว้เช่นนั้น มิได้หมายความว่า สำนักงาน กสทช. จะสามารถจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้เอง โดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบขั้นตอนที่ถูกต้อง เนื่องจาก มาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ.บัญญัติองค์กรฯ ได้บัญญัติให้ กสทช. มีอำนาจออกระเบียบเกี่ยวกับการงบประมาณของสำนักงาน กสทช. ได้ ดังนั้น สำนักงาน กสทช. ก็จะต้องปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวด้วย
เมื่อพิจารณาระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยงบประมาณของสำนักงาน กสทช. พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว (ระเบียบว่าด้วยการงบประมาณ) แม้ระเบียบดังกล่าวมิได้กำหนดให้สำนักงาน กสทช. จะต้องเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปีให้ กสทช. พิจารณาให้ความเห็นก่อนที่จะเสนอไปยังคณะกรรมการดิจิทัลฯ เนื่องจากเป็นอำนาจในชั้นที่สุดของ กสทช. อยู่แล้วในการพิจารณาอนุมัติงบประมาณ
อย่างไรก็ตาม ข้อ 11 ของระเบียบดังกล่าวกำหนดให้สำนักงาน กสทช. ต้องจัดทำงบประมาณโดยคำนึงถึงความคุ้มค่า ประหยัด และประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับนโยบายของ กสทช. รวมทั้งต้องจัดทำปฏิทินงบประมาณโดยความเห็นชอบของ กสทช. เพื่อเป็นกรอบระยะเวลาการดำเนินการด้วย
นอกจากนั้น ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสำนักงาน กสทช. หากสำนักงาน กสทช. ไม่เสนอให้ กสทช. พิจารณในเบื้องต้นก่อนที่จะเสนอไปยังคณะกรรมการดิจิทัลฯ ก็อาจทำให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้นไม่สอดคล้องกับนโยบายของ กสทช. และเมื่องบประมาณรายจ่ายประจำปีดังกล่าวผ่านการพิจารณาให้ความเห็นของคณะกรรมการดิจิทัลฯ และมีการเสนอต่อ กสทช. แล้ว
หากปรากฎว่า กสทช. เห็นว่างบประมาณไม่เป็นไปตามนโยบายของ กสทช. สำนักงาน กสทช. ก็จะต้องกลับไปจัดทำงบประมาณใหม่ และอาจมีประเด็นปัญหาต่อไปว่าต้องเสนอให้คณะกรรมการดิจิทัลฯ พิจารณาอีกหรือไม่ ซึ่งเป็นการก่อภาระอันไม่สมควร และอาจก่อให้เกิดความเสียหายจากการอนุมัติงบประมาณล่าช้า ทั้งที่มีแนวทางและแนวปฏิบัติในการดำเนินการเพื่อมีให้เกิดปัญหาดังกล่าวอยู่แล้ว ตามที่กำหนดไว้ในปฏิทินงบประมาณที่ กสทช. ได้ให้ความเห็นชอบซึ่งเป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการงบประมาณ
3.สำหรับการดำเนินการจัดทำร่างงบประมาณประจำปี 2567 นั้น กสทช. ได้มีมติเห็นชอบปฏิทินงบประมาณประจำปี 2557 เรียบร้อยแล้ว ในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 8/2566 วันที่ 5 เม.ย.2566 ซึ่งในเอกสารปฏิทินงบประมาณได้กำหนดขั้นตอนและกิจกรรมในขั้นตอนที่ 11 ว่า “คณะอนุกรรมการพิจารณางบประมาณ นำเสนอร่างงบประมาณรายจ่ายต่อ ประธาน กสทช. เพื่อนำเข้าที่ประชุม กสทช. พิจารณาเห็นชอบ นำส่งคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นตามขั้นตอนของระเบียบๆ ต่อไป”
ดังนั้น การที่สำนักงาน กสทช. ได้มีหนังสือตามที่อ้างถึง นำเสนอร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ต่อคณะกรรมการดิจิทัลฯ เพื่อพิจารณาให้ความเห็น โดยไม่ผ่านการพิจารณาของที่ประชุม กสทช. ทำให้กรรมการไม่ทราบรายละเอียดในการจัดทำร่างงบประมาณดังกล่าวว่าสอดคล้องกับนโยบายของ กสทช. หรือไม่ จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์และไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมาย ระเบียบ รวมทั้งไม่เป็นไปตามมติที่ประชุม กสทช. อีกด้วย
4.ทั้งนี้เมื่อปฏิทินงบประมาณซึ่งผ่านความเห็นชอบจาก กสทช. ตามระเบียบฯ แล้ว กำหนดให้สำนักงาน กสทช. เสนอร่างงบประมาณต่อ กสทช. ก่อนส่งให้คณะกรรมการดิจิทัลฯ สำนักงาน กสทช. จึงต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดในปฏิทินงบประมาณที่สำนักงาน กสทช. เป็นผู้จัดทำขึ้นและนำเสนอที่ประชุม กสทช. เอง แต่กลับละเลยไม่ปฏิบัติตามปฏิทินงบประมาณที่ตนเองจัดทำ
ย่อมมิใช่เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่เป็นเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงไม่เสนอร่างงบประมาณต่อที่ประชุม กสทช. อย่างชัดเจน โดยในเรื่องนี้ประธาน กสทช. ก็ไม่มีอำนาจมอบหมายหรือสั่งการให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการที่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ระเบียบ และมติที่ประชุม กสทช.
ดังนั้น ประธาน กสทช. ในฐานะกำกับดูแลสำนักงาน กสทช. ตามมาตรา 56 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรฯ ควรสั่งการให้สำนักงาน กสทช. ขอรับเรื่องการบรรจุวาระการประชุมคืนจากคณะกรรมการดิจิทัลฯ และดำเนินการให้ถูกต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายระเบียบ มติที่ประชุม กสทช. และแนวปฏิบัติที่ผ่านมา เพื่อให้การจัดทำงบประมาณของสำนักงาน กสทช. เป็นไปด้วยความรอบคอบ คุ้มค่า ประหยัด และมีประสิทธิภาพ และเป็นการจัดทำงบประมาณที่สอดคล้องกับนโยบายของ กสทช. ตามกฎหมายต่อไป
“อนึ่ง หากเกิดความเสียหายหรือล้าช้าจากการไม่ปฏิบัติตามข้อกฎหมายดังกล่าว ประธาน กสทช. และ สำนักงาน กสทช. ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าว กรรมการ 4 คน จะไม่ขอร่วมรับผิดชอบจากความเสียหายหรือล้าช้าที่เกิดขึ้น” หนังสือของกรรมการ กสทช. 4 ราย ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2566 ระบุ
ขณะที่แหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช. เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ในฐานะรักษาการเลขาธิการ กสทช. ได้เสนอร่างงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2567 ของสำนักงาน กสทช. ให้คณะกรรมการดิจิทัลฯให้ความเห็น โดยร่างงบประมาณรายจ่ายดังกล่าว ไม่มีการเสนอให้บอร์ด กสทช. พิจารณาก่อน เนื่องจาก ประธาน กสทช. อ้างว่า การดำเนินการในเรื่องดังกล่าวเป็นอำนาจของ ประธาน กสทช.
“การที่ประธาน กสทช. อ้างว่า เรื่องงบประมาณนั้น เป็นอำนาจของ ประธาน กสทช. โดยอ้างกฎหมายเพียงมาตราเดียว ไม่ดูมาตราอื่นประกอบนั้น พนักงานของสำนักงาน กสทช. ซึ่งรับผิดชอบดำเนินการในเรื่องงบประมาณมาโดยตลอด ได้ทำการทักท้วงแล้วไปว่า ขัดกับระเบียบและมติ กสทช. ที่ต้องให้ กสทช. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แต่ประธานฯ และ รักษาการเลขาธิการ กสทช. ไม่สนใจ ซึ่งเมื่อกรรมการ กสทช. เสียงข้างมาก ได้รับทราบเรื่องนี้ จึงได้ทำหนังสือทักท้วงประธาน กสทช.” แหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช. กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ สทช.2101/33289 เรื่อง การบรรจุวาระเพื่อพิจารณาร่างงบประมาณ ประจำปี 2567 ของสำนักงาน กสทช. เพื่อเสนอคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ลงวันที่ 22 กันยายน 2566 โดยร่างงบประมาณ ประจำปี 2567 ของสำนักงาน กสทช. มีกรอบวงเงินทั้งสิ้น 5,282.50 ล้านบาท
“สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) พิจารณาแล้ว เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงขอเสนอบรรจุวาระเพื่อพิจารณาให้ความเห็นร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ของสำนักงาน กสทช. จำนวนทั้งสิ้น 5,282.5046 ล้านบาท รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย” หนังสือด่วนที่สุด ที่ สทช.2101/33289 ระบุ
18 ส.ค. 2567