Last updated: 23 พ.ย. 2565 | 3870 จำนวนผู้เข้าชม |
จังหวัดนนทบุรี เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางและจัดทำผังนโยบายระดับจังหวัด จังหวัดนนทบุรี
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 เวลา 09.00 น. ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรัม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางและจัดทำผังนโยบายระดับจังหวัด เพื่อดำเนินการวางและจัดทำผังนโยบายระดับจังหวัด เป็นกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ของการพัฒนา และดำรงรักษาพื้นที่โดยรวมของจังหวัดในอนาคต ในด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน การพัฒนาเมืองและชนบท การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะ รวมทั้งการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีความเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายที่สำคัญของรัฐบาล และ แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด พร้อมพัฒนาพื้นที่จังหวัดนนทบุรีอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกับเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อเรื่อง “นนทบุรี 2580 อนาคตที่อยากเห็น” โดยมีผู้แทนภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ระบบการผังเมืองของประเทศจำเป็นต้องมีกรอบนโยบาย การใช้ประโยชน์พื้นที่ตั้งแต่ระดับประเทศ ระดับภาค และระดับจังหวัด เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาประเทศในด้านการใช้พื้นที่ให้เกิดเอกภาพ มีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้การพัฒนาประเทศสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ระบบการผังเมืองของประเทศจำเป็นต้องมีกรอบนโยบาย การใช้ประโยชน์พื้นที่ตั้งแต่ระดับประเทศ ระดับภาค และระดับจังหวัด เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาประเทศในด้านการใช้พื้นที่ให้เกิดเอกภาพ มีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้การพัฒนาประเทศสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยต้องมีการวางแผน การพัฒนาทั้งพื้นที่เมืองและชนบท การถ่ายทอดยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาประเทศลงสู่ท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการพัฒนาเมืองหรือ สร้างเมือง ให้มีสุขลักษณะ มีความสะดวกและปลอดภัย ส่งเสริม การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ควบคู่ไปกับการดำรงรักษาและบูรณะ สิ่งที่มีคุณค่าทางศิลปกรรม ประวัติศาสตร์ และทรัพยากรธรรมชาติ ให้เกิดสมดุลอย่างความยั่งยืนในทุกระดับ
พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 มาตรา 18 จึงได้มี การกำหนดให้กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการวางและจัดทำ ผังนโยบายระดับจังหวัด เพื่อให้หน่วยงานรัฐใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและการดำรงรักษาพื้นที่ระดับจังหวัดในด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน การพัฒนาเมืองและชนบท การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะ ซึ่งผังนโยบายระดับจังหวัด จะมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงถ่ายทอดนโยบาย ยุทธศาสตร์ของ ผังนโยบายระดับประเทศ ภาค ลงสู่ผังเมืองรวมเมือง/ชุมชน และ ผังเมืองเฉพาะ
ปัจจุบัน กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนินการขับเคลื่อน การวางและจัดทำผังนโยบายระดับจังหวัดให้ครอบคลุมทั้งประเทศ โดยมีโครงการนำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งกำลังดำเนินการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อแนวทางการพัฒนาพื้นที่จังหวัด โดยโครงการนำร่องนี้จะใช้เป็นแนวทางในการกำหนดรูปแบบการวางผังนโยบายระดับจังหวัดอื่นๆ ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการวางและจัดทำผังนโยบายระดับจังหวัดได้ครบทั้ง 76 จังหวัด ภายในปี พ.ศ. 2568 ผังนโยบายระดับจังหวัดประกอบด้วยแผนผังด้านต่าง ๆ ที่ครอบคลุมทุกมิติด้านผังเมืองจำนวน 12 ผัง เช่น
– แผนผังแสดงการใช้ประโยชน์ที่ดิน
– แผนผังแสดงการตั้งถิ่นฐานและระบบชุมชน
– แผนผังแสดงเขตส่งเสริม การพัฒนาเมือง
– แผนผังแสดงโครงการการคมนาคมและการขนส่ง
– แผนผังแสดงสภาพของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ
– แผนผังแสดงผังน้ำ
– แผนผังแสดงเขตการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว
– แผนผังแสดง เขตการพัฒนาอุตสาหกรรม
ทั้งนี้จะต้องมีการกำหนดนโยบาย มาตรการ และวิธีดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของผังนโยบายระดับจังหวัดไว้ด้วย ดังนั้น การดำเนินการผังนโยบายระดับจังหวัดจึงต้องใช้หลักวิชาการในสาขาต่าง ๆ มีการบูรณาการองค์ความรู้ในหลายด้าน ทั้งทางการวิเคราะห์ด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อม ปัจจัยภายนอกภายใน เพื่อชี้นำการพัฒนาพื้นที่ทางกายภาพของจังหวัดในด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน การพัฒนาเมืองและระบบเมือง การคมนาคมและขนส่ง สาธารณูปโภคและสาธารณูปการ พร้อมกำหนดแนวทางและมาตรการทางผังเมืองในการส่งเสริม การพัฒนาพื้นที่ให้เป็นไปอย่างมีระเบียบและเป็นระบบ และที่สำคัญคือคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
โดยมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้ต้องมีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือและการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการดำเนินการวางและจัดทำผังนโยบายระดับจังหวัด ได้มีการกำหนดขั้นตอนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีหลายช่องทาง ทั้งการประชุมสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็น การประชุมกลุ่มย่อย การให้ส่งความคิดเห็นผ่านจดหมายหรือไปรษณีย์อิเล็กทรอนิค รวมถึงการให้ความรู้ความเข้าใจและติดต่อสื่อสารผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น ทางสื่อสังคมออนไลน์ สื่อวิทยุสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เพื่อให้ครอบคลุมและเข้าถึงประชาชนได้อย่างทั่วถึง
ผังนโยบายระดับจังหวัดจะเป็นกรอบการกำหนดทิศทางการพัฒนาของจังหวัดเชิงกายภาพ ในด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน ในระยะเวลา 20 ปี ถ่ายทอดยุทศาสตร์การพัฒนาประเทศกระจายลงสู่พื้นที่จังหวัด โดยหน่วยงานของรัฐจะสามารถเข้าใจภาพรวม บทบาท ความสำคัญเชิงพื้นที่ของจังหวัดในอนาคต ทำให้ทุกหน่วยงานมองภาพการพัฒนาจังหวัดเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อจะได้ร่วมบูรณาการแผนงาน โครงการระดับจังหวัดให้เกิดประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อนและบรรลุเป้าหมายและประโยชน์ตามกรอบการพัฒนาที่กำหนดไว้
โดยจะส่งผลให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนและทุกภาคส่วนในจังหวัด ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ การดำรงชีพ ให้เมือง มีสภาพแวดล้อมน่าอยู่ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงการรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติสภาพแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรมที่มีคุณค่า และการใช้พื้นที่อย่างยั่งยืนและสมดุล