Last updated: 14 พ.ย. 2565 | 4595 จำนวนผู้เข้าชม |
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด พันตำรวจเอก ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือผู้กำกับโจ้ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ ร่ำรวยผิดปกติ รวมมูลค่ากว่า 1,358 ล้านบาท และมีมติชี้มูลความผิด นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ กับพวก ร่วมกันพิจารณาและอนุมัติเบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้กับวัดในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ โดยมิชอบ
วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 เวลา 13.30 น. นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงต่อสื่อมวลชนว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด คดีสำคัญ จำนวน 2 เรื่อง ดังนี้
เรื่องที่ 1 เรื่องกล่าวหา พันตำรวจเอก ธิติสรรค์ อุทธนผล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ หรือผู้กำกับโจ้ ร่ำรวยผิดปกติ รวมมูลค่ากว่า 1,358 ล้านบาท ส่งอัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพื่อขอให้ศาลสั่งยึดทรัพย์สิน ตกเป็นของแผ่นดิน
คดีนี้สืบเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติรับเรื่องไว้ดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้น กรณีปรากฏข้อเท็จจริงตามที่สื่อมวลชนเสนอข่าว พันตำรวจเอก ธิติสรรค์ อุทธนผล ตำแหน่งผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ กับพวก รวม 7 คน จับกุมนายจิระพงษ์ ธนะพัฒน์ ผู้ต้องหาในคดีค้ายาเสพติด มีการเรียกรับเงินเพื่อแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดี และกระทำการอันเป็นความผิดต่อกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาถึงแก่ความตาย และปรากฏข้อเท็จจริงจากข่าวดังกล่าวอีกด้วยว่า พันตำรวจเอก ธิติสรรค์ อุทธนผล มีบ้านหลังใหญ่พร้อมสระว่ายน้ำในเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ บริเวณหมู่บ้านปัญญารามอินทรา และครอบครองรถยนต์จำนวนมาก เป็นรถหรูจำนวนหลายคัน มีมูลค่ารวมกันประมาณ 100 ล้านบาท ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณารายงานการตรวจสอบเบื้องต้นของพนักงานไต่สวนเจ้าของสำนวน และมีมติรับเรื่องกรณีพันตำรวจเอก ธิติสรรค์ อุทธนผล มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ไว้ไต่สวนข้อเท็จจริง โดยแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวน เพื่อดำเนินการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 51
จากการไต่สวนข้อเท็จจริงพบว่า รายการทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหา ได้แก่ เงินฝากธนาคาร ที่ดินพร้อมบ้านพักอาศัย รถยนต์ และเงินที่ใช้ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์หลายคัน ได้มาโดยไม่สัมพันธ์กับรายได้ และเกินกว่าฐานะและรายได้ที่ได้รับจากราชการจะพึงมี จึงเป็นกรณีที่พันตำรวจเอก ธิติสรรค์ อุทธนผล ร่ำรวยผิดปกติ ตามนัยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือหนี้สินลดลงมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ รวม 32 รายการ เป็นเงินทั้งสิ้น 1,358,121,750.80 บาท ได้แก่
1. บัญชีเงินฝากธนาคาร A ประเภทสะสมทรัพย์ ชื่อบัญชีนายธิติสรรค์ อุทธนผล รวมเป็นเงิน 1,197,694,152.48 บาท
2. บัญชีเงินฝากธนาคาร A ประเภทสะสมทรัพย์ ชื่อบัญชีนายธิติสรรค์ อุทธนผล รวมเป็นเงิน
11,542,450 บาท
3. บัญชีเงินฝากธนาคาร B ชื่อบัญชี นายธิติสรรค์ อุทธนผล รวมเป็นเงิน 34,577,170 บาท
4. ที่ดิน จำนวน 4 แปลง และบ้านพักอาศัย จำนวน 2 หลัง ตำบลบางชัน อำเภอคลองสามวา กรุงเทพมหานคร รวมมูลค่า 54,150,000 บาท
5. รถยนต์ จำนวน 15 คัน ได้แก่ยี่ห้อ PORSCHE AUDI BENZ VOLKSWAGEN FORD มูลค่ารวม 6,190,000 บาท
6. เงินค่าเช่าซื้อรถยนต์ จำนวน 13 คัน ได้แก่ยี่ห้อ LAMBORGHINI BMW PORSCHE FORD BENTLEY FERRARI มูลค่ารวม 53,967,978.32 บาท
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่าพันตำรวจเอก ธิติสรรค์ อุทธนผล ผู้ถูกกล่าวหา ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ เป็นเงินทั้งสิ้น 1,358,121,750.80 บาท ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติ ตกเป็นของแผ่นดินและเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 อัยการสูงสุด โดยพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 3 สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เรียบร้อยแล้ว
ให้แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรณีร่ำรวยผิดปกติ โดยให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำการทุจริตต่อหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 122
ทั้งนี้ หากไม่สามารถบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดินได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแล้ว ให้ขอให้ศาลบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหาได้ภายในระยะเวลาสิบปี ตามนัยมาตรา 125 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
สำหรับกรณี พันตำรวจเอก ธิติสรรค์ อุทธนผล ผู้ถูกกล่าวหา ขอเบิกจ่ายเงินสินบนรางวัลจากกรมศุลกากร กรณีจับกุมรถยนต์ลักลอบนำเข้าราชอาณาจักรไทยโดยผิดกฎหมาย เป็นกรณีความปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาขณะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีพฤติการณ์กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติรับเรื่องไว้พิจารณาดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 48 และมาตรา 49 ต่อไป
เรื่องที่ 2 เรื่องกล่าวหานายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ กับพวก รวม 11 ราย ร่วมกันพิจารณาและอนุมัติเบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้กับวัดในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อปีงบประมาณ 2554 - 2556 โดยมิชอบ
ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องร้องเรียนกล่าวหานายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ กับพวก ร่วมกันพิจารณาและอนุมัติเบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้กับวัดในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อปีงบประมาณ 2554 - 2556 โดยมิชอบ ซึ่งต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงในเรื่องกล่าวหาดังกล่าวนั้น จากการไต่สวนพบว่านายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ กับพวก ได้อนุมัติเบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้กับวัดในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างปีงบประมาณ 2554 – 2556 รวมจำนวน 68 โครงการเป็นเงิน 836,129,125 บาท ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้กับวัดในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการช่วงเวลาดังกล่าว จำนวน 20 โครงการ วงเงินงบประมาณ 338,753,750 บาท ปรากฏข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายปกรณ์ เนตรประภา ซึ่งมีความสัมพันธ์สนิทสนมกับผู้บริหารขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ จะแสดงตัวเป็นตัวแทนหรือคนของผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการไปประสานงานติดต่อกับวัดที่ขอรับเงินอุดหนุนเพื่อก่อสร้างเมรุหรือศาลาการเปรียญ มีการจัดทำคำขอ แบบแปลนและประมาณการราคานำไปให้เจ้าอาวาสวัดต่างๆ ลงนาม และได้รวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดนำไปยื่นให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการได้รับคำขอแล้ว นายอำนวย รัศมิทัต ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการในช่วงปีงบประมาณ 2554 และนายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการในช่วงปีงบประมาณ 2555 - 2556 ได้ร่วมกับนายมนัส บุญอารีย์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการในช่วงปีงบประมาณ 2554 - 2555 และนายสายัณห์ รักษนาเวศ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการในช่วงปีงบประมาณ 2556 นายวิชัย จันทร์จำรูญ ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม นายชัยยศ ตั้งจิตดำรง ผู้อำนวยการกองช่าง และนายอนุวัช ควรคิด รีบเร่งตั้งงบประมาณรายจ่ายหมวดเงินอุดหนุน เสนอและเห็นชอบโครงการเข้าแผนพัฒนาขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ โดยที่ไม่ทำการตรวจสอบรายละเอียดโครงการ รายละเอียดแบบแปลนและประมาณราคาก่อสร้างซ่อมแซมศาสนสถานว่ามีความถูกต้อง เหมาะสมกับงบประมาณที่ขอมาหรือไม่ มีการจัดทำและประกาศใช้แผนพัฒนาขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ประกาศใช้ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี จนกระทั่งมีการอนุมัติเบิกจ่ายเงินให้แก่วัดตามวงเงินที่ขอมา โดยในขั้นตอนการรับเงินอุดหนุน เมื่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ อนุมัติเงินแล้ว นายปกรณ์ เนตรประภา จะแจ้งให้ทางวัดทราบล่วงหน้า เพื่อนัดหมายกับเจ้าอาวาสวัดให้ไปรับเช็คเงินอุดหนุน เมื่อทางวัดไปรับเช็คมาแล้ว ในวันเดียวกันนายปกรณ์ เนตรประภา จะร่วมกับเจ้าอาวาสหรือผู้แทนวัด นำเช็คไปขึ้นเงินที่ธนาคารพร้อมกับเบิกเงินและมอบให้นายปกรณ์ เนตรประภา เป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของวงเงินที่ได้รับการอุดหนุน จากนั้นบริษัท เอเวอร์กรีน เอ็กซ์พอลเรอร์ฯ ซึ่งมีนายปกรณ์ เนตรประภา เป็นกรรมการผู้จัดการ จะได้เข้ามาเป็นผู้รับจ้างดำเนินงานตามโครงการที่ได้รับเงินอุดหนุน
ภายหลังเมื่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ได้อนุมัติเบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่วัด และวัดได้รับเงินแล้ว นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ กับพวกกลับไม่ตรวจสอบติดตามการใช้จ่ายเงินอุดหนุน และการดำเนินงานในแต่ละโครงการว่าได้ดำเนินการเป็นไปตามแบบแปลนและประมาณการราคา คุ้มค่าและเหมาะสมกับงบประมาณที่อุดหนุนหรือไม่ การดำเนินโครงการแล้วเสร็จเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการหรือไม่ ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ทุกโครงการมีปัญหาจากการก่อสร้างอันเกิดจากผู้รับจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญา มีการจ้างช่วง ทิ้งงาน อีกทั้งการก่อสร้างไม่ตรงตามแบบแปลน รายการปริมาณงานและประมาณการราคา เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อราชการ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาสำนวนการไต่สวนแล้ว มีมติ ดังนี้
1. การกระทำของนายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม และนายอำนวย รัศมิทัต มีมูลเป็นการละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และมีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 และมาตรา 157
2. การกระทำของนายสายัณห์ รักษนาเวศ นายวิชัย จันทร์จำรูญ นายชัยยศ ตั้งจิตดำรง นายมนัส บุญอารีย์ และนายอนุวัช ควรคิด มีมูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
3. การกระทำของบริษัท เอเวอร์กรีน เอ็กซ์พอลเรอร์ฯ และนายปกรณ์ เนตรประภา มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151, 157 ประกอบมาตรา 86