Last updated: 12 ส.ค. 2565 | 4208 จำนวนผู้เข้าชม |
ป.ป.ช.เผยแพร่ดัชนีรับรู้ทุจริตประจำปี 2564 ไทยได้ 35 คะแนน อยู่ที่อันดับ 110 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ลดลงจากปีก่อนที่ได้ 36 คะแนน อยู่อันดับที่ 104
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เปิดเผยผลสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริตประจำปี 2564 จากจำนวน 180 ประเทศทั่วโลก พบไทยคะแนนลดลงจาก 36 เหลือ 35 คะแนน ลดลงไป 1 คะแนน แต่ร่วง 6 อันดับ จาก 104 ไปอยู่ที่ 110 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) เผยแพร่ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2564 โดยจากจำนวนประเทศ 180 ประเทศทั่วโลก โดย ประเทศไทย ได้ 35 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 110 ของโลก ลดลงจากปีก่อนที่ได้รับ 36 คะแนน และเป็นอันดับที่ 104 ของโลก สถิติคะแนน CPI ของไทยประจำปี 2564 หากเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน พบว่า ไทยอยู่อันดับที่ 6 จากทั้งหมด 11 ประเทศ โดยประเทศที่ได้อันดับ 1 คือ สิงคโปร์ 85 คะแนน ถัดมาเป็น มาเลเซีย 48 คะแนน, ติมอร์-เลสเต 41 คะแนน, เวียดนาม 39 คะแนน, อินโดนีเซีย 38 คะแนน และไทย 35 คะแนน สำหรับแหล่งข้อมูลของคะแนนจาก CPI ปี 2564 ที่ใช้ในการประเมินมีทั้งสิ้น 9 แหล่งข้อมูล จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน พบว่ามี 4 เรื่องที่ไทยได้คะแนนเท่าเดิม และ 4 เรื่องที่ได้คะแนนลดลง โดยที่ติดลบมากที่สุด คือ กรณีเจ้าหน้าที่รัฐมีพฤติกรรมการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบมากน้อยเพียงใด ปีนี้ได้ 35 คะแนน ลดลงมากที่สุดถึง 3 คะแนน หากเทียบกับปี 2563 ที่ได้ 38 คะแนน ส่วนคะแนนที่ได้เพิ่ม คือ การทุจริตในภาครัฐ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และตุลาการ เกี่ยวกับสินบน การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับส่วนรวมมากน้อยเพียงใด ไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้น 6 คะแนน โดยได้ 26 คะแนน หากเทียบกับปี 2563 ที่ได้เพียง 20 คะแนน แม้คะแนนที่ได้ 35 คะแนน ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 50 คะแนน ถึง 15 คะแนน แต่ในปี 2565 ป.ป.ช. ยังวางเป้าหมายให้ปีหน้าได้คะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตเพิ่มขึ้นเป็น 50 คะแนน เท่ากับเป้าหมายเดิมที่เคยวางไว้ และจะมีการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. เพิ่มเติม เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา นำไปสู่การแก้ปัญหา สกัดการทุจริตให้เป็นรูปธรรมต่อไป
:: เอกสารสำหรับดาวน์โหลดและไฟล์ที่เกี่ยวข้อง ::