Last updated: 5 มี.ค. 2565 | 7258 จำนวนผู้เข้าชม |
ประธาน 4 องค์กรอิสระ ประกาศย้ำความร่วมมือบูรณาการต่อต้านทุจริต ตามรัฐธรรมนูญ โดยยึดหลักธรรมาภิบาล การมีส่วนร่วมของประชาชน ประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ
สำนักงาน ป.ป.ช. จัดการอภิปรายหัวข้อ “การบูรณาการความร่วมมือขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญในการต่อต้านการทุจริต” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการอบรมหลักสูตร “นักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง” หรือ นยปส.รุ่นที่ 13 โดยผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับฟังมุมมองจากผู้นำองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พลเอก ชนะทัพ อินทามระ ประธานการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการต่อสู้กับปัญหาการทุจริต เมื่อวันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้องประชุมนนทบุรี 1 ชั้น 3 อาคาร 4 สำนักงาน ป.ป.ช. ถนนสนามบินน้ำ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวว่า ในส่วนของ กกต. จะตัดสินด้วยมติ และมีความเห็นเท่าเทียมกัน บทบาทหน้าที่และภารกิจชัดเจนคือการเลือกตั้ง แต่มีภารกิจอื่นด้วย มีทั้งการกำกับดูแลการดำเนินงานของภาคการเมืองและสนับสนุนให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมืองที่เข้มแข็ง, งานการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการการเมืองและการเลือกตั้งและให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
โดย กกต. มีกฎหมาย 6 ฉบับ คือกฎหมายว่าด้วย กกต., การได้มาซึ่ง สว., การเลือกตั้ง สส., การกำกับดูแลพรรคการเมือง, การเลือกตั้งท้องถิ่นและ การออกเสียงประชามติ หน้าที่ของกกต. จึงเป็นการจัดการเลือกตั้งทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ให้เป็นโดยสุจริต เที่ยงธรรม และให้การออกเสียงประชามติเป็นไปด้วยกฎหมาย ซึ่งรวมถึง การตรวจสอบ ไต่สวน เกี่ยวกับการทุจริตด้วย
“การทุจริต เช่น การทุจริตที่เกี่ยวกับพรรคการเมือง การทุจริตการเลือกตั้ง การทุจริตเกี่ยวกับพรรคการเมือง จะพบว่ามีทั้งสองส่วนที่มีความเกี่ยวพันกับการกระทำทั้งของบุคคลและนิติบุคคล ดังนั้นการดำเนินการตรวจสอบ สืบสวน ไต่สวน การทุจริตภายใต้อำนาจหน้าที่ของกกต. ตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง หรือ กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง จึงย่อมจะเกี่ยวข้องกับการกระทำทุจริตของบุคคลในทุกสถานภาพ กลไกของประชาชนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมกับกกต.ในการปราบปรามการทุจริต เป็นไปตามมาตรา 50” ประธาน กกต. กล่าว
นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน
นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจของหน่วยงานรัฐที่สร้างความเดือดร้อนหรือใช้อำนาจไม่เป็นธรรมกับประชาชน มีหน้าที่เสนอแนะแก้ไขความเดือดร้อนไม่เป็นธรรมของประชาชนที่เกินกว่าเหตุของหน่วยงานรัฐโดยมีการแก้ไข 2 มิติ คือ “แก้ไขคำสั่งที่ออกโดยหน่วยงานรัฐหรือขั้นตอนการให้บริการที่ไม่เป็นธรรม” สร้างภาระให้ประชาชนเกินกว่าเหตุ หรือแก้ไขการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ไม่ได้รับความเป็นธรรม
“อีกหน้าที่ใหม่ที่เพิ่ม คือการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีกรณีที่หน่วยงานรัฐยังไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วน เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายมีปัญหาเกี่ยวกับความเห็นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ, เสนอเรื่องต่อศาลปกครอง เมื่อเห็นว่ามีกรณี หรือ กฎ หรือคำสั่งที่ขัดต่อกฎหมาย, เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีบุคคลถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213” นายสมศักดิ์ กล่าว
พล.อ.ชนะทัพ อินทามระ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
พล.อ.ชนะทัพ อินทามระ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) กล่าวว่า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กำเนิดมา 107 ปี ตั้งแต่สมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรับเปลี่ยนเรื่อยมาจนถึงรัฐธรรมนูญปี 2540 และ เป็น พ.ร.ป.การตรวจเงินแผ่นดิน ปี 2561 มีหน้าที่วางนโยบายทั้งระยะยาว และสั้น ระยะยาวที่ดำเนินการส่วนใหญ่มาจากรากฐานรัฐธรรมนูญ และระยะสั้นที่เป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่งการกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานนั้น ในเรื่องการตรวจสอบด้านการเงิน ตามกฎหมาย และผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพ กำกับการตรวจเงิน และหลักเกณฑ์มาตรฐานที่วางนโยบาย ให้คำปรึกษาและแนะนำเสนอแนะของหน่วยรับตรวจ ให้มีการลงโทษตามปกครองแก่ผู้ไม่ปฏิบัติตาม
ทั้งนี้ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจะผ่านการคัดเลือกและเสนอวุฒิสภาเพื่อกราบบังคมทูลฯ ผู้ว่าการจะรับนโยบายที่วางไว้ไปวางแผนตรวจสอบให้เป็นไปตามแผนงาน รายงานผลเป็นห้วงเวลาให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ทราบ มีอิสระในการตรวจสอบ และร้องศาลรัฐธรรมนูญหากถูกคณะกรรมการแทรกแซงความเป็นอิสระ ผู้ว่าการต้องมอบให้คณะกรรมการตรวจสอบ อำนาจทั้งหมดจึงอยู่ที่ผู้ว่าการฯทั้งหมด ส่วน สตง. มีหน้าที่ทางธุรการ และสนับสนุนการทำงานให้บรรลุความสำเร็จ
“การตรวจเงินแผ่นดินจะตรวจด้วยกัน 3 ด้าน คือ ตรวจความชอบของกฎหมาย คือการใช้ การจ่ายการใช้ประโยชน์ ด้านการเงิน การปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมาย ตรวจผลสัมฤทธิ์ ตรวจรายงานด้านการเงิน สตง.ยังตรวจสอบการรับรองบัญชี คำว่าเงินแผ่นดิน นั้น หมายถึงเงินทั้งปวงที่รัฐเป็นเจ้าของหรืออยู่ในการครอบครองของรัฐ ทั้งเงินกู้ เงินอุดหนุน เงินช่วยเหลือ เงินกู้จากต่างประเทศ การทำหน้าที่ของสตง.เป็นที่ยอมรับของสากล เป็นตัวแทนในระดับเอเชีย ขององค์กรสถาบันการตรวจสอบสูงสุดระหว่างประเทศ พัฒนาองค์กรตรวจเงินของภูมิภาคเอเชีย เช่นการเสริมสร้างธรรมาภิบาล ส่งเสริมให้บรรลุผลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” พล.อ.ชนะทัพ ระบุ
พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เน้นย้ำปัญหาการทุจริตและกรอบการทำงานยุทธศาสตร์ชาติ ความสำคัญนั้น องค์การสหประชาชาติ (UN) ให้ความหมายการคอร์รัปชั่นไว้ คือ แทนที่จะทำประโยชน์ส่วนรวมกลับทำประโยชน์ส่วนตน ทำให้ประชาธิปไตยอ่อนแอ กระทบกระเทือนเศรษฐกิจ สร้างความไม่เป็นธรรม ความยากจน การแบ่งแยกทางสังคม ความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม การคอร์รัปชั่นจึงเป็นเรื่องใกล้ตัวที่กระทบทุกส่วนของสังคม
ซึ่งกรอบการทำงานด้านคอร์รัปชั่นในยุทธศาสตร์ชาติ คือการแก้ไขปัญหาการทุจริตระดับที่สาม ต่อมามีการทำแผนแม่บทประเด็นการต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบโดยมีเป้าหมายปี 2580 ให้ได้ 73 คะแนน คืออันดับ 10 ของโลก ที่เป็นความท้าทาย ในแผนแม่บทระยะสั้นปี 2561-2565 ดัชนีไม่ต่ำกว่า 50 คะแนน แบ่งเป็นตัวชี้วัดคือการป้องกัน และอีกด้านคือการปราบปราม การทุจริตประพฤติมิชอบ ด้านปราบปราม คือการดำเนินคดีที่รวดเร็ว โปร่งใส
แผนงานย่อยการป้องกัน มุ่งที่การพัฒนาคน เน้นการป้องกัน กลุ่มเด็กและเยาวชนเน้นการปลูกฝังผ่านหลักสูตรการศึกษา กลุ่มประชาชนทั่วไปจะเน้นการมีส่วนร่วมต่อต้านการทุจริต กลุ่มข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐเน้นการสร้างธรรมาภิบาล ในกลุ่มนักการเมืองเน้นการยกระดับการมีจริยธรรมทางการเมืองทั้งระดับประเทศและท้องถิ่น เป็นแผนย่อยที่มุ่งเน้นการพัฒนาคน โดยมีเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ชัดเจน ทั้งการป้องกันและปราบปราม ซึ่งมีกรอบระยะเวลาการดำเนินคดีในกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน มียุทธศาสตร์ย่อย คือการสร้างสังคมไม่ทนต่อการทุจริต สกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย ปฏิรูปกลไกการปราบปราม เป็นต้น
“ยกตัวอย่างคดีภัยพืช ที่เกิดทุกปี มีเจ้าหน้าที่ร่วมกับพ่อค้าที่ขายยากำจัดศัตรูพืช โดยเอาเงินสำรองราชการไปซื้อสารเคมีราคาแพงแจกจ่ายให้กับประชาชน วันนี้ยังไต่สวนอยู่ วันนี้มีป.ป.ช.ทุกจังหวัด ถ้าวันไหนประกาศภัยพิบัติ ต้องไปดูเลยว่าผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศถูกต้องหรือไม่ เพื่ออะไร ซึ่งการทำเช่นนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ เป็นการส่งต่อข้อมูลระหว่าง คตง.กับ ป.ป.ช. ซึ่งทำงานได้รวดเร็ว ทำให้เกิดการป้องปราม แนะนำว่าอย่าทำให้เลิกทำซะ” ประธาน ป.ป.ช. กล่าว
ในช่วงท้ายของการอภิปราย จะเป็นการสรุป แนวทางการบูรณาการความร่วมมือกันในการตรวจสอบการทุจริต โดยในส่วนของ กกต. นั้นนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวว่า สิ่งที่เชื่อมโยงองค์กรอิสระเป็นหนึ่งเดียวกันอยู่ในมาตรา 221 ที่ให้ร่วมมือกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายหน้าที่ และมาตรา 6 ในการปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการต้องให้ความร่วมมือช่วยเหลือ องค์กรอิสระทุกองค์กร และที่เชื่อมโยงอีกก็คือ ถ้ามีคนยื่นเรื่ององค์กรไหนให้รับไปทำแต่ถ้าเป็นเรื่ององค์กรอื่นก็ส่งองค์กรนั้นรับไปทำ
และยังมีบทบัญญัติของกฎหมาย อาจขอความร่วมมือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของพรรคการเมือง และเมื่อใดที่พรรคการเมืองสิ้นสภาพ ก็ต้องส่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบด้วย เป็นการเชื่อมโยงทางกฎหมาย ซึ่งองค์กรอิสระประชุมร่วมกันทุก 2 เดือน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ประเด็นการทุจริตจะบูรณาการได้อย่างไร จะพัฒนาคัดกรองนักการเมืองอย่างไรที่จะได้คนดีเข้ามา นโยบายพรรคการเมืองควรเป็นอย่างไร มีหลักสูตรการสร้างพลเมืองคุณภาพ โดยบูรณาการร่วมกันแล้วในระดับหนึ่งและน่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
การประสานความร่วมมือขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญในการปราบปรามการทุจริตนั้น นายสมศักดิ์
สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า มี 2 ลักษณะ คือ การส่งต่อเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตที่ร้องมาผู้ตรวจการแผ่นดิน แล้วเห็นว่าเกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระอื่นก็จะส่งต่อไป ประการที่สองคือการตรวจสอบความซ้ำซ้อนของเรื่องร้องเรียน เพราะอาจร้องไปหลายองค์กรแล้วกลัวเรื่องจะหลุด กลายเป็นเรื่องเดียวกัน ก็จะดูว่าถ้าเป็นเรื่องหน่วยงานใดก็จะไม่รับไว้พิจารณาซ้อน ยกเว้นกรณีร้องเรียนทุจริต ก็จะส่งต่อ ป.ป.ช. หรือ สตง. เป็นความร่วมมือของผู้ตรวจการแผ่นดิน กับ คณะกรรมการ ป.ป.ช
เพิ่มมิติการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง มีการทุจริต จึงต้องสร้างสังคมธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงให้ความสำคัญเป็นมิติเชิงรุก ซึ่งอาศัยงบบูรณาการ ซึ่ง ป.ป.ช. เป็นเจ้าภาพในการดูแลงบ พยายามสร้างและนำศาสนาเข้ามา เช่น โครงการส่งเสริมธรรมาภิบาล ที่เริ่มจากระดับหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านคุณธรรม และขยายวงออกไปเป็นอำเภอคุณธรรม จังหวัดคุณธรรม เพื่อสร้างประเทศไทยเป็นสังคมธรรมาภิบาลเริ่มจากตำบลพระยาบันลือ อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อขยายเป็นอำเภอต้นแบบ ทดลองมาแล้ว 2 ปี และได้สรุปถอดบทเรียน 2 ปีที่ผ่านมาเห็นความแตกต่าง
ด้าน พล.อ.ชนะทัพ อินทามระ ประธาน คตง. กล่าวว่า การทำหน้าที่มีความเชื่อมโยงและร่วมมือกัน แบบบูรณาการ ลักษณะการเชื่อมโยงกิจกรรมที่จะทำแบบห่วงโซ่ สรุปมี 3 แบบ คือ แบบทวิภาคีกับ ป.ป.ช. หากส่อทุจริตจะส่งป.ป.ช., หรือเป็นไปตามมาตรา 8 ของการตรวจเงินแผ่นดิน ที่เห็นว่าจะเกิดความเสียหายให้เสนอคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประธาน กกต.และประธาน ป.ป.ช. ถ้าเสียงส่วนใหญ่ 2 ใน 3 ชนะให้รายงานต่อ สส., สว., ครม.
พหุภาคี เป็นลักษณะมาตรา 6 หลายรูปแบบ เช่น การประสานเกี่ยวกับรัฐบาลดำเนินการหยุดการก่อสร้างแล้วเกิดปัญหา จะต้องเสียค่าปรับอย่างไรหรือไม่ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กับคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินต้องร่วมหาทางออกได้ หรือการระบาดของโรคที่มีเรื่องการจัดซื้อเข้ามาก็ต้องมาร่วมแบบพหุภาคี นอกจากนี้ยังมีการเข้าไปแนะนำหากจะเกิดความเสียหาย ดังนั้นความร่วมมือกับองค์กรอิสระจึงมีอย่างต่อเนื่อง
พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวถึงการบูรณาการร่วมกันที่อาจจะเกิดการทับซ้อนหรือสัมฤทธิผลว่า การทับซ้อนนั้นเป็นเรื่องรองการสนับสนุนงบทุกปีเป็นงบบูรณาการความร่วมมือภาคีเครือข่ายเพื่อป้องกันการทุจริตประมาณ 600 ล้านบาทต่อปี ซึ่งไม่เยอะเมื่อเทียบกับความเสียหายจากการทุจริต ถ้าลดการเรียกรับสินบนทุกๆ 1% ส่งผลให้การคอร์รัปชั่นลดลง 10,000 ล้านการบูรณาการมากขึ้นทำให้คุ้มค่า ตอนนี้จริงจังในการมอนิเตอร์การใช้จ่ายงบประมาณ
การประเมินภาพรวมระดับประเทศรวดเร็วมาก ที่ยังขาดคือความมุ่งมั่นตั้งใจในการแก้ไขปัญหาการทุจริต ยกตัวอย่าง สี จิ้นผิง ผู้นำของจีนที่จริงจัง แต่ประเทศไทยยังมีปัญหาและไม่มีความเป็นเอกภาพ เมื่อเข้าสู่กระบวนการศาลที่ยังขาดความมุ่งมั่น ชัดเจนในเชิงนโยบายด้านการดำเนินคดีทางวินัยและอาญาที่เรายังไม่ชัดเจน และศาลปกครองยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน และบางกรณีชี้มูลการทุจริตแล้ว ศาลบอกไม่ครบถ้วน จึงเพิกถอน ความซ้ำซ้อนไม่ชัดเจน เป็นปัญหาอุปสรรค
“วันนี้มีงบบูรณาการและมีงบกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อสนับสนุนภาคเอกชน ความตั้งใจทุกคนมีแต่มันยังขาดการสอดประสาน ถ้าชัดเจนทุกหน่วยจะไม่มีปัญหา ดังนั้นทิศทางดีขึ้น แต่ยังขาดบางเรื่องเล็กๆ น้อยๆ” พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวในตอนท้าย
:: เอกสารสำหรับดาวน์โหลดและไฟล์ที่เกี่ยวข้อง ::