กสทช. เผยแนวทางการพัฒนาวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทย

Last updated: 30 ก.ย. 2564  |  6055 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กสทช. เผยแนวทางการพัฒนาวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทย

กสทช.วางโรดแมพกิจการวิทยุกระจายเสียงรอเปลี่ยนผ่านเมษายน 2565

วันที่ 27 กันยายน 2564 พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. กล่าวว่า มติประชุม กสทช. ครั้งที่ 10/2564 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ได้พิจารณาเห็นชอบแผนการพิจารณาอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการกระจายเสียง (Roadmap) เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านระบบการใช้งานคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงไปสู่ระบบการอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้งานคลื่นความถี่และประกอบกิจการกระจายเสียง

โดย กสทช. จะพิจารณาอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในระบบ FM. จำนวน 313 คลื่นความถี่ และระบบ AM. จำนวน 196 คลื่นความถี่ แบ่งเป็นประเภทบริการสาธารณะ จะพิจารณาตามมาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 ส่วนประเภทบริการทางธุรกิจ จะดำเนินการโดยวิธีการประมูล ทั้งนี้ กระบวนการดังกล่าวจะดำเนินการแล้วเสร็จก่อนวันที่ 4 เมษายน 2565

นอกจากนี้ Roadmap ยังได้กำหนดให้การเปลี่ยนผ่านการทดลองประกอบกิจการกระจายเสียงเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2565 เป็นต้นไป โดยให้มีการพิจารณาอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ด้วยกำลังส่งต่ำในประเภทบริการชุมชน และบริการสาธารณะ ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2565 ส่วนผู้ประกอบกิจการประเภทบริการทางธุรกิจ ให้ดำเนินการยื่นคำขอทดลองออกอากาศวิทยุกระจายเสียงด้วยกำลังส่งต่ำ และเข้าสู่กระบวนการอนุญาตตามกฎหมาย ซึ่งสำนักงาน กสทช. จะประกาศให้ทราบต่อไป ทั้งนี้ หากผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงรายใดไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการอนุญาตตามกฎหมายได้ ให้ยุติการออกอากาศวิทยุกระจายเสียงในปี 2567

ปัจจุบันผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. ผู้รับอนุญาตให้ใช้งานคลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการกระจายเสียงตามมาตรา 83 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่กำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 509 สถานี แบ่งเป็นระบบ FM 313 สถานี และระบบ AM จำนวน 196 สถานี และตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 76/2559 เรื่อง มาตรการส่งเสริมการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ได้กำหนดให้ระยะเวลาในการถือครองคลื่นความถี่ของผู้รับอนุญาตตามมาตรา 83 สิ้นสุดลงในวันที่ 3 เมษายน 2565

2. ผู้ทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 4,371 สถานี แบ่งเป็นประเภทบริการชุมชน 263 สถานี บริการสาธารณะ 692 สถานี และบริการทางธุรกิจ 3,416 สถานี ซึ่งมาจากการที่ กสทช. ได้เปิดให้มีการลงทะเบียนเพื่อให้มีสถานะเป็นผู้ได้รับสิทธิทดลองออกอากาศในลักษณะชั่วคราว ตามประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) ต่อมาในปี 2555 กสทช. ได้ออกประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ. 2555 และกำหนดให้ผู้ได้รับสิทธิทดลองออกอากาศในลักษณะชั่วคราว เข้าสู่กระบวนการขอรับใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการ โดยสามารถยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้สอดคล้องตามประเภทการให้บริการได้ 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทบริการชุมชน บริการสาธารณะ และบริการทางธุรกิจ

ต่อมา ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีแดงหมายเลขที่ อ.1365/2563 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 ให้เพิกถอนข้อ 7 ของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ. 2555 กำหนดสิทธิในการยื่นคำขอทดลองประกอบกิจการว่าผู้ยื่นจะต้องเป็นผู้ได้รับสิทธิทดลองออกอากาศในลักษณะชั่วคราว หรือวิทยุชุมชนมาก่อน ทำให้ผู้ที่ประกอบกิจการวิทยุธุรกิจอยู่เดิมไม่สามารถยื่นขอรับใบอนุญาตได้ อีกทั้งบทบัญญัติดังกล่าวยังขัดกับมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรฯ ที่บัญญัติให้การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ต้องคำนึงถึงการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ประเภทบริการทางธุรกิจให้ใช้วิธีคัดเลือกโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่ โดยการเพิกถอนดังกล่าวมีผลย้อนหลังไปจนถึงวันที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ดังนั้น กสทช. จึงต้องกำหนด Roadmap ข้างต้นเพื่อให้การประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงมีความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

“การดำเนินการของ กสทช. จะเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องตาม Roadmap เพื่อให้การให้บริการกระจายเสียงภายหลังวันที่ 4 เมษายน 2565 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ต่อเนื่อง และเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงรายใหม่สามารถเข้าสู่ระบบการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ได้” พันเอก ดร.นที กล่าว

อ้างอิง :

  1. พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 74 ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ประกอบกิจการนั้นได้ต่อไปจนถึงวันที่กําหนดในแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ใช้บังคับโดยหากส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐประสงค์จะประกอบกิจการต่อไปให้จัดทําแผนประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อขอรับใบอนุญาตจากคณะกรรมการและให้คณะกรรมการออกใบอนุญาตประกอบกิจการให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐนั้นโดยคํานึงถึงความจําเป็นของการประกอบกิจการและการใช้คลื่นความถี่ มาตรา 75 ผู้ใดได้รับอนุญาต สัมปทานหรือสัญญา จากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้นั้นมีสิทธิประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ตามที่ได้รับอนุญาต สัมปทานหรือสัญญานั้นต่อไปจนกว่าการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญานั้นจะสิ้นสุด วรรคสอง ให้คณะกรรมการออกใบอนุญาตประกอบกิจการตามพระราชบัญญัตินี้ให้แก่ผู้ได้รับอนุญาตสัมปทานหรือสัญญา จากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐตามลักษณะประเภท และขอบเขตของการประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาต สัมปทานหรือสัญญาโดยใบอนุญาตประกอบกิจการดังกล่าวให้มีอายุตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ของการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญานั้นและให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตตามมาตรา 19 วรรคสาม มิให้นําบทบัญญัติในมาตรา 16 มาตรา 17 มาตรา 18 มาตรา 19 และมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับกับผู้ได้รับใบอนุญาตตามวรรคสอง
  2. ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ. 2555 ข้อ 7 ให้ผู้ที่ได้รับสิทธิทดลองออกอากาศในลักษณะชั่วคราว ผู้รับใบอนุญาต หรือผู้ที่ได้ยื่นคําขอรับใบอนุญาตตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) ที่มีอยู่ก่อนวันที่คณะกรรมการกําหนดเป็นผู้มีสิทธิยื่นคําขอทดลองประกอบกิจการตามประกาศนี้
  3. ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555
  4. พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 ข้อ 23 (2) กิจการที่ใช้คลื่นความถี่ ก่อนประกาศใช้แผนความถี่วิทยุของแต่ละประเภทกิจการ ให้ยื่นคําขอตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การทดลองประกอบกิจการ ให้นําเอาหมวด 2 และหมวด 3 มาบังคับใช้โดยอนุโลมกับผู้ประกอบกิจการตามวรรคแรก
  5. พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560
  6. พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562
  7. พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุและกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2564

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้