องค์กรสื่อมวลชน แถลงการณ์ ม็อบ 20 มีนาคม ย้ำ! ผู้ปฏิบัติงาน สำนักข่าว ประเมินสถานการณ์ยามวิกฤต

Last updated: 21 มี.ค. 2564  |  2335 จำนวนผู้เข้าชม  | 

องค์กรสื่อมวลชน แถลงการณ์ ม็อบ 20 มีนาคม ย้ำ! ผู้ปฏิบัติงาน สำนักข่าว ประเมินสถานการณ์ยามวิกฤต

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนออกแถลงการณ์ร่วม กรณีการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่และกลุ่มผู้ชุมนุม วันที่ 20 มีนาคม 2564 จนทำให้ทุกฝ่ายได้รับบาดเจ็บ ทั้ง เจ้าหน้าที่ ผู้ชุมนุม และสื่อมวลชน ที่รายงานข่าว

วันที่ 21 มีนาคม 2564 จากกรณีที่มีการชุมนุมของกลุ่ม REDEM ที่บริเวณท้องสนามหลวง เมื่อวันเสาร์ที่ 20 มีนาคม 2564 และมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนนำไปสู่การสลายการชุมนุม โดยการฉีดน้ำ ยิงแก๊สน้ำตาและใช้กระสุนยาง ทำให้มีผู้สื่อข่าวและช่างภาพที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวการชุมนุมได้รับบาดเจ็บหลายราย

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์

และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว โดยขอให้ทุกฝ่ายใช้ความอดทนอดกลั้น และไม่เห็นด้วยกับการก่อความรุนแรงในทุกรูปแบบ พร้อมทั้งมีข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะถึงฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1. การชุมนุมของประชาชนกลุ่มต่างๆ หากเป็นการการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากการยั่วยุ อาวุธและการใช้ความรุนแรง ย่อมเป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ตามระบอบประชาธิปไตย

2. การปฏิบัติการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจควรดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนโดยก่อนการปฏิบัติการต่างๆ ต้องแจ้งให้ผู้ชุมนุมรวมทั้งสื่อมวลชนได้รับทราบอย่างชัดเจนเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ

3. ผู้สื่อข่าวและช่างภาพที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ชุมนุมต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติในการรายงานข่าวในสถานการณ์วิกฤตโดยเคร่งครัด เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียอันอาจเกิดแก่ร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สิน

4. องค์กรสื่อมวลชนต้นสังกัดต้องร่วมประเมินสถานการณ์เพื่อให้การสั่งการต่อผู้สื่อข่าวและช่างภาพในพื้นที่ได้รับความปลอดภัย รวมทั้งสนับสนุนและเน้นย้ำให้บุคคลากรในสังกัดได้รับและใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวอยู่ตลอดเวลา

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอเน้นย้ำว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้สื่อข่าวและช่างภาพในพื้นที่ชุมนุมควรใส่ปลอกแขนแสดงสัญลักษณ์ที่ทางองค์กรวิชาชีพสื่อออกให้ทุกครั้ง แต่ต้องเข้าใจว่า ปลอกแขนดังกล่าวไม่ได้เป็นเครื่องมือในการป้องกันกรณีที่มีการใช้ความรุนแรงไม่ว่าจากฝ่ายใด โดยผู้ปฏิบัติงานจะต้องประเมินสถานการณ์และปฏิบัติตามแนวทางการรายงานข่าวในสถานการณ์วิกฤตด้วย

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์

สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย

21 มีนาคม 2564

ที่มา: https://www.facebook.com/1424942327788232/posts/2976411452641304/

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้