Last updated: 1 มี.ค. 2564 | 2091 จำนวนผู้เข้าชม |
สายอินเตอร์เน็ตไฟเบอร์ออพติกที่ยาวนับหมื่นกิโลเมตร ณ ก้นมหาสมุทรแปซิฟิก ถูกนำมาใช้ตรวจจับคลื่นแผ่นดินไหว
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนียนำโดย Zhongwen Zhan ร่วมกับทีมนักวิจัยจากบริษัท Google ได้ทดลองนำค่าความกดดันของน้ำทะเลและความเค้นที่เกิดขึ้นกับสายไฟเบอร์ออพติกที่โรยตัวอยู่ที่พื้นทะเลบริเวณก้นมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อบอกให้ทราบถึงการเกิดแผ่นดินไหวหรือยังสามารถตรวจจับคลื่นใต้น้ำอีกด้วย
ระหว่างการทดลองตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา ทีมงานสามารถตรวจพบคลื่นใต้น้ำที่เกิดจากพายุหมุนเขตร้อนได้ถึง 20 ครั้ง. และตรวจพบแผ่นดินไหวที่มีขนาด 5.0 ขึ้นไปอีก 20 ครั้ง ทั้งนี้รวมถึงแผ่นดินไหวขนาด 7.4 เมื่อ 22:29 ของวันที่ 23 มิถุนายน 2563 ตามเวลาในประเทศไทย ที่มีจุดเหนือจุดศูนย์กลาง ณ เมืองโออาซากาของเม็กซิโก ได้ด้วย โดยแผ่นดินไหวครั้งนั้นทาง PTWC ได้ออกประกาศเตือนคลื่นสึนามิ แต่ไม่พบคลื่นในความเป็นจริงเนื่องจากจุดเหนือจุดศูนย์กลางอยู่บนบก
ที่ผ่านมา การติดตั้งสถานีตรวจวัดคลื่นไหวสะเทือนสำหรับแผ่นดินไหวโดยเฉพาะที่ก้นทะเลหรือก้นมหาสมุทรนั้นมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่ด้วยงานศึกษาของทีมงาน Zhongwen Zhan ร่วมกับทีมนักวิจัยจากบริษัท Googleในครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องทีคุ้มค่าในการใช้ประโยชน์จากสายเคเบิลที่มีอยู่อยู่แล้วในโลกของการสื่อสารมาใช้ในโลกของธรณีฟิสิกส์
ที่มาและเครดิตภาพ https://www.newscientist.com