ข้อห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิก-ผู้บริหารท้องถิ่น

Last updated: 21 มี.ค. 2564  |  54300 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ข้อห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิก-ผู้บริหารท้องถิ่น

"แสวง บุญมี" รองเลขาฯกกต.แจง ขรก.การเมือง-ส.ส.-ส.ว.-จนท.อื่นของรัฐ ช่วยหาเสียงผิดมาตรา 34 เอาผิดอาญาได้ แนะกดไลค์กดแชร์โพสต์หาเสียง อาจสุ่มเสี่ยงถูกร้อง ส่วนพรรคการเมืองช่วยหาเสียงต้องทำตามกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น-กฎหมายพรรคการเมือง

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวในการประชุมชี้แจงการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ว่า การเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้ มีผู้สมัครค่อนข้างคึกคัก เนื่องจากว่างเว้นจาการเลือกตั้งมากว่า 8 ปี และเป็นการเลือกตั้งตามกฎหมายใหม่ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจัดการเลือกตั้ง รวมทั้งกฎระเบียบต่าง ๆ ซึ่งในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น หากไม่มีการร้องเรียน กกต. ก็จะประกาศผลภายใน 30 วัน แต่ถ้ามีเรื่องร้องเรียนก็จะประกาศภายใน 60 วัน โดยไม่ตัดสิทธิ กกต.ในการพิจารณาเรื่องทุจริตที่มีอยู่

นายแสวง บุญมี กล่าวอีกว่า ในเรื่องของการหาเสียง กกต.ได้มีมติห้าม ข้าราชการการเมือง ส.ส. ส.ว. เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ไม่สามารถหาเสียงช่วยผู้สมัครได้ ซึ่งถ้ามีผู้ฝ่าฝืน แม้กฎหมายจะกำหนดให้ ผอ.กกต. เพียงสั่งระงับการกระทำนั้น แต่ในเชิงผลของคดีอาญา ทาง กกต. เห็นสามารถใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญในการดำเนินการสืบสวนไต่สวน เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ในทางคดีอาญาบทบัญญัติของมาตรา 34 กฎหมายท้องถิ่นถูกเขียนไว้ในระเบียบการหาเสียงท้องถิ่น ข้อ 18 ที่ออกตามมาตรา 66 ผู้ฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษตามมาตรา 129 คือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ซึ่งตำแหน่งของเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ทาง กกต. จะยึดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วางบรรทัดฐานไว้ ว่าต้อง 1.ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย  2.มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และปฏิบัติงานประจำ 3.อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ 4.มีเงินเดือนค่าจ้าง ค่าตอบแทนตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องมีองค์ประกอบครบทั้ง 4 ข้อ หากมีไม่ครบจะไม่ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ แต่อย่างผู้ช่วย ส.ส.เข้าองค์ประกอบทั้งหมด จึงไม่สามารถที่จะไปช่วงหาเสียงหรือลงสมัครได้ ส่วนถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หากใช้เวลาราชการไปช่วยหาเสียงจะผิดฐานละทิ้ง หรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการ หรือมีความผิดฐานไม่เป็นกลาง ตามมติ ครม. ซึ่งทั้งสองอย่างจะถือเป็นความผิดทางวินัย แต่ถ้าเป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปช่วย ก็จะผิดมาตรา 69 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น

“อย่างเช่นนายอำเภอมีน้องชายลงสมัครรับเลือกตั้ง นายอำเภอเรียกประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แล้วบอกให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านไปเลือกน้องชาย อย่างนี้ถือเป็นการมใช้ตำแหน่งหน้าที่ เพราะเป็นคนที่มีอำนาจเรียกประชุม แต่ถ้านายอำเภอไปกินก๋วยเตี๋ยว แล้วเจอชาวบ้านก็บอกให้ไปเลือกน้องชาย อย่างนี้ไม่ใช่เป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่ แต่วางตัวไม่เป็นกลาง ซึ่งเราคิดว่าผู้สมัคร เคยสมัครกันมาหลายครั้งคงจะเข้าใจเรื่องเหล่านี้พอสมควร แต่เมื่อกฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงก็ควรศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจ และปฏิบัติให้ถูกต้อง” นายแสวง บุญมี กล่าว

นายแสวง บุญมี กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีพรรคการเมือง กฎหมายไม่ได้ห้ามที่จะสนับสนุนหรือส่งผู้สมัคร โดยมาตรา 87 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง กำหนดให้พรรคสามารถใช้จ่ายเพื่อการหาเสียงเลือกตั้งของสมาชิกพรรคได้ ถ้าหากพรรคส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งท้องถิ่น ก็สามารถที่จะออกเงินค่าใช้จ่ายให้ได้ รวมทั้งผู้สมัครสามารถใช้โลโก้พรรคหาเสียงได้ ส่วนผู้สมัครบางคนที่เคยเป็นอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรี สามารถนำตำแหน่งดังกล่าวไปหาเสียงได้ ดังนั้นพรรคการเมืองหากจะสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องทำให้ถูกทั้งกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมืองด้วย ส่วนเรื่องของการให้ทรัพย์สิน หรือเงินซองงานบุญต่าง ๆ กกต.ยึดหลักเพื่อการปฏิรูปทางการเมืองมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ว่า ไม่ว่าจะให้กี่บาท แก่ตัวคน มูลนิธิ วัด หรือให้ตามประเพณีปกตินิยม ถือว่ามีความผิด และส่งศาลดำเนินคดีทุกราย และยังคงยึดมาตรฐานนี้ ไม่ว่าศาลจะพิจารณาอย่างไรก็ตาม 

นายแสวง บุญมี ยังกล่าวอีกว่า ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจะต้องได้คะแนนโหวตสูงสุด และต้องได้มากกว่าคะแนนของผู้ไม่ประสงค์เลือกผู้สมัครใด หากได้คะแนนน้อยกว่าต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ ทั้งนี้ ในกรณีมีผู้สมัครน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนสมาชิกสภาท้องถิ่นพึงมี ผู้ชนะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใด

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีข้าราชการการเมือง ส.ส. ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ กดไลค์กดแชร์โพสต์หาเสียงของผู้สมัครเลือกตั้ง จะถือเป็นกรณีตามมาตรา 34 พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 หรือไม่ ร.ต.อ.มนูญ วิเชียรนิตย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนงานสืบสวนสอบสวน สำนักงาน กกต. กล่าวว่า การแชร์ถือเป็นการหาเสียงให้ผู้สมัครอยู่แล้ว ซึ่งการกดไลค์กดแชร์ไม่ควรกระทำ เพราะเป็นเหตุให้ถูกร้องได้ ดังนั้นจึงไม่ควรเสี่ยงที่จะกระทำ ส่วนผู้ที่จะชี้ว่าผิดหรือถูกคือ กกต.

เอกสารอ้างอิง : พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้