Last updated: 29 ต.ค. 2563 | 2317 จำนวนผู้เข้าชม |
กกต.จัดทำสื่ออัตลักษณ์ประจำท้องถิ่น โปรโมทเลือกตั้งท้องถิ่น กระตุ้นประชาชนออกไปใช้สิทธิ เร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้สมัครตรวจสอบคุณสมบัติให้ดี หากตรวจพบภายหลังอาจเจอโทษอาญา ตั้งเป้าผู้ใช้สิทธิร้อยละ 75
วันที่ 29 ตุลาคม 2563 ที่สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ กรรมการ กกต. พร้อมด้วย พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานฯ ร่วมประชุมผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ผ่านระบบทางไกล (GIN Conference) โดยมี พ.ต.อ.จรุงวิทย์ เป็นประธานการประชุม เพื่อมอบนโยบายการเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในการเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ ตามกิจกรรมสื่ออัตลักษณ์ท้องถิ่นไทย สร้างนวัตกรรมใหม่ พร้อมใจไปเลือกตั้ง (Kick Off) ในวันที่ 20 ธันวาคม ภายใต้โครงการพัฒนาช่องทางการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งสำนักงานฯ ได้จัดทำ “สื่ออัตลักษณ์ท้องถิ่นของแต่ละจังหวัด” เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่สื่ออัตลักษณ์ให้เข้าถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งและประชาชนได้ตรงตามอัตลักษณ์ท้องถิ่นของแต่ละจังหวัด เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น และกระตุ้นเตือนให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งตระหนักถึงการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ผ่านทางภาคีเครือข่ายต่างๆ ในพื้นที่จังหวัด หรือช่องทางอื่นๆ ที่เหมาะสม
ทั้งนี้ นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ กล่าวเน้นย้ำให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดประชาสัมพันธ์ ให้ผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกและนายก อบจ.ที่จะลงสมัครระหว่างวันที่ 2-6 พฤศจิกายนนี้ ได้ตรวจสอบว่าตัวเองมีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรา 49 และไม่มีลักษณะต้องห้าม 26 ประการตามมาตรา 49 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น โดยเฉพาะผู้สมัครที่อยู่ระหว่างการถูกระงับสิทธิชั่วคราว การต้องห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือผู้ที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคม 2562 แล้วไม่ได้แจ้งเหตุ จะถูกจำกัดสิทธิให้ไม่สามารถลงสมัครได้ โดย กกต.เป็นห่วงว่าหากไปยื่นใบสมัครและตรวจพบในภายหลังก็จะถือว่าเป็นผู้ที่รู้อยู่แล้วเป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัคร แต่ยังลงสมัคร ผิดมาตรา 120 ซึ่ง กกต.สามารถดำเนินคดีอาญาได้ โดยจะมีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท และถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี
นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ กล่าวอีกว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้ แม้ กกต.ไม่ได้เป็นผู้จัดโดยตรง แต่ก็มีหน้าที่ควบคุมให้การเลือกตั้งสุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม ตามกฎหมาย จึงอยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันตรวจสอบ สอดส่อง ไม่ให้มีการทุจริตเกิดขึ้น โดย กกต.ก็จะระดมภาคีเครือข่ายทั้งหมดในการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน ให้มีผู้มาใช้สิทธิให้มาก ลดบัตรเสีย และได้การเลือกตั้งที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง และจากที่เราไม่ได้มีการเลือกตั้งมานาน คิดว่าประชาชนจะตื่นตัวออกมาใช้สิทธิมาก คาดว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75
ขณะที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ยืนยันว่าข้าราชการการเมืองหรือผู้มีตำแหน่งทางการเมือง ห้ามเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการหาเสียงโดยเด็ดขาดตามมาตรา 34 ของกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น โดยพรรคการเมืองสามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้แต่ห้ามหาเสียงส่วนกลุ่มหรือคณะ ในข้อกฎหมายไม่ได้ห้ามส่งผู้สมัคร ส่วนบุคคลในกลุ่มหรือคณะจะช่วยพรรคการเมืองหาเสียงก็สามารถทำได้แต่ต้องแจ้งกรรมการการเลือกตั้งว่าเป็นผู้ช่วยหาเสียง จึงเป็นกังวลเรื่องของคุณลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครโดยเฉพาะการถือหุ้นในบริษัท ที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นไปแล้ว
"ดังนั้นจึงต้องตรวจสอบคุณสมบัติของตนเองให้ดีว่าครบถ้วนตามกฏหมายหรือไม่ เช่นเดียวกับการบริจาคเงินใส่ซองงานบุญก็ควรระวังเช่นกัน เพราะหากมีคำร้องมาในกรณีดังกล่าวทางกรรมการการเลือกตั้งก็จะต้องมีการวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงต่อไป"
ด้าน นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นประธานจับสลากแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด สำหรับปฏิบัติหน้าที่ในการเลือกตั้ง สมาชิกและนายก อบจ. ซึ่งการจับสลากดังกล่าว เป็นไปตามระเบียบ กกต.ที่นำรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งในแต่ละเขต มาจับสลากเพื่อแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ จังหวัดละ 5-8 คน ใน 76 จังหวัด ขึ้นอยู่กับจำนวนเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้นๆ โดยใน 1 จังหวัดจะมีผู้ตรวจฯ ที่เป็นคนในพื้นที่ 2 คน ส่วนที่เหลือจะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ข้ามจังหวัด ซึ่งใช้บัญชีผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ที่สมัครตั้งแต่การเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. เมื่อจะมีการเลือกตั้งระดับใด จะต้องมีการจับสลากใหม่ เพื่อให้ได้ผู้ตรวจการมาปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละคราวไป