Last updated: 17 ก.ย. 2563 | 2145 จำนวนผู้เข้าชม |
ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การต่อต้านการทุจริตในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง” มุ่งหวังให้ทุกภาคส่วน Together Against Corruption ภายใต้โลกแห่งการเปลี่ยนแปลง
พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานในพิธีเปิดพร้อมปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับชาติ เรื่อง “การต่อต้านการทุจริตในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง” (Knowledge Sharing Forum on Combating Corruption in the Changing World) เมื่อวันศุกร์ที่ 11 กันยายน 2563 ณ โรงแรม แกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น โฮเต็ล จังหวัดนนทบุรี
พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ได้กล่าวในช่วงพิธีเปิดการสัมมนาฯ ว่า “การจัดสัมมนาในครั้งนี้เพื่อเป็นเวทีให้ทุกภาคส่วนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลของการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในแต่ละรอบปีว่ามีความสำเร็จหรือจุดอ่อนที่ค้นพบ และแนวความคิดสำคัญๆ เพื่อการปรับเปลี่ยนในปีต่อ ๆ ไปให้มีสัมฤทธิ์ผลต่อการเพิ่มค่าคะแนนดัชนี การรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index : CPI) ของประเทศไทยซึ่ง ณ ปี 2562 อยู่ที่ 36 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน เป็นอันดับที่ 101 จาก 180 ประเทศนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของคนไทยทุกคนที่ต้องร่วมแรงกายแรงใจ “Together against corruption”อีกทั้งต้องเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งอนาคต และปรับเปลี่ยนวิธีคิด แนวทางรวมทั้งกระบวนการป้องกันและลดการทุจริตให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป”
ในช่วงการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การต่อต้านการทุจริตในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง” (Combating Corruption in the Changing World) โดย พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช.กล่าวว่า ได้มีการเปลี่ยนแปลงของงานการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในเชิงโครงสร้างและระบบครั้งสำคัญ คือ
แม้ว่าเราจะมีกฎหมายและกลไกที่ปรับเปลี่ยนเพื่อลดการทุจริตให้เกิดผล แต่สถานการณ์การทุจริตทุกวันนี้ยังคงรุนแรง ดังปรากฏจากข้อมูลสถิติ ณ วันที่ 2 กันยายน 2563 มีการดำเนินการด้านการไต่สวนตลอดปี 2562 – 2563 สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการแล้วเสร็จ 1,036 เรื่อง คงเหลือ 3,342 เรื่อง ซึ่งเรื่องคงเหลือ 3,342 เรื่อง มีข้อน่าสังเกตคือ วงเงินงบประมาณของโครงการหรือจำนวนเงินที่มีการทุจริต จากคำกล่าวหาในปีงบประมาณ 2562 ที่สำนักงาน ป.ป.ช. รับไว้ดำเนินการเอง 3,285 เรื่อง มียอดรวมทั้งสิ้น 236,240 ล้านบาท โดยพบว่า เป็นประเภทการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างมากที่สุด 207,060 ล้านบาท รองลงไปเป็นเรื่องการปฏิบัติ/ดำเนินการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ วงเงิน 23,840 ล้านบาท
ส่วนงบประมาณของโครงการและจำนวนเงินที่มีการทุจริต ที่ส่งต่อหน่วยงานภายนอก ตามมาตรา 61 - 64 พบว่า วงเงิน 1,967 ล้านบาท เป็นประเภทความผิดประเภทปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบวงเงิน 1,152 ล้านบาท รองลงมาเป็นการยักยอก/เบียดบังเงินหรือทรัพย์สินของราชการ 428 ล้านบาท
ได้สร้างพลังเครือข่ายประชาชนใน “ชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริต” ทั้ง 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านการเรียนรู้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา และมีบทบาทในการจับตามองและแจ้งเบาะแส (watch & voice) ร่วมกันดูแลพื้นที่และจังหวัดภูมิลำเนา ถิ่นอยู่อาศัย ไม่ให้มีการทุจริตเกิดขึ้น ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 เป็นต้นมา ปัจจุบันสมาชิกชมรม จำนวนมากกว่า 60,000 คน และชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริต ทุกจังหวัด มีการวิเคราะห์ประเด็นและพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการทุจริต และได้ร่วมกันปักหมุดประเด็นและพื้นที่เสี่ยงในปี 2563 ในโครงการปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต (Corruption Risk Mapping) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการป้องกัน ป้องปราม และปราบปรามการทุจริตที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งมีการเชื่อมโยง (STRONG Connectivity) ขยายผลกระบวนการมีส่วนร่วมไปยังกลุ่มภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มเยาวชน กลุ่มวิทยากรตัวคูณของ ป.ป.ช. โดยโค้ชและสมาชิกชมรม STRONG ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา และการมีส่วนร่วม watch & voice ภายในองค์กรเพื่อส่งเสริมองค์กรโปร่งใสไร้ทุจริต ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 ปัจจุบันมี STRONG องค์กรพอเพียงต้านทุจริตต้นแบบ 5 แห่ง ได้แก่ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เทศบาลเมืองหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมทั้งและสำนักงาน ป.ป.ช. และในปี 2563 ดำเนินการขยายผลไปสู่องค์กรทุกภาคส่วน
ใน STRONG Connectivity มีเยาวชนที่เป็นสมาชิกในชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริต มากกว่า 5,000 คน และในปี 2564 สำนักงาน ป.ป.ช. จะประสานสภาเด็กและเยาวชนในการสร้างโค้ช STRONG Young Leaders จำนวน 1,000 คน ด้วยหลักสูตรโค้ชเพื่อการรู้คิดต้านทุจริต และส่งเสริมให้โค้ชเยาวชนนำหลักการต้านทุจริตไปขยายเครือข่ายในกลุ่มเด็กและเยาวชนต่อไป
ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 - 2563 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ฝึกอบรมกลุ่มข้าราชการ เอกชน บุคลากรทางการศึกษามากกว่า 6,000 คน ด้วยหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา วิทยากรตัวคูณกลุ่มนี้ เป็นกำลังสำคัญในการขยายผลในวงกว้าง
สำคัญยิ่ง คือ การได้รับเมตตาจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงโปรดประทานให้นำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาประยุกต์ในหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนา เพื่อสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตโดยใช้กลไกทางพระพุทธศาสนา ผ่านการเทศนาและการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม และจะขยายผลไปสู่ศาสนาอื่น ๆ ด้วย
นอกจากการขยายผลการปลูกฝังหลักสูตรต้านทุจริต ศึกษาและการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการป้องกันการทุจริตแล้ว สำนักงาน ป.ป.ช. มีการเฝ้าระวังการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ และส่งข้อเสนอให้หน่วยงานพิจารณาทบทวนหรือแก้ไขเพื่อป้องกันมิให้เกิดการทุจริต รวมทั้งจัดทำมาตรการที่เกิดประโยชน์ต่อประเทศ เช่น ข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต CPI มาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับเงินอุดหนุนวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มาตรการป้องกันการทุจริตเพื่อแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบ มาตรการป้องกันการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะ มาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ เป็นต้น
ตั้งแต่ปี 2557 ป.ป.ช. ได้ดำเนินการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ทั้งในภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนิติบุคคลอื่นๆ เนื่องจากความโปร่งใส เป็นตัวชี้วัดสำคัญที่บ่งบอกถึงความปลอดทุจริตของนานาประเทศ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง จนถึงขั้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable development)
จากการป้องกันการทุจริตดังกล่าวข้างต้น มีทั้งกลไก เครื่องมือ และองค์ความรู้ต่างๆ ที่สามารถนำไปพัฒนาและขยายผลต่อได้อย่างกว้างขวาง จึงได้เตรียมการพัฒนา Anti-Corruption Toolbox เพื่อรวบรวมและพัฒนาองค์ความรู้และเครื่องมือป้องกันการทุจริต รวมทั้งเป็น platform ของทุกภาคส่วนในการป้องกันการทุจริต
งานการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในระดับชาติ ต้องบูรณาการหน่วยงานต่าง ๆ Together Against Corruption ให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง มีความเชื่อมโยง และมีผลลัพธ์ผลกระทบต่อสังคม ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพในการดำเนินงานตามแผนแม่บท ประเด็นที่ 21 การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งในแง่ของกฎหมายและบทบาทตามแผนงานในยุทธศาสตร์ชาติ คาดว่าจะรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ในโลกที่มีความซับซ้อน ผันผวน และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเช่นนี้ ในทางเศรษฐกิจ มีคำกล่าวว่า ยุคนี้ ไม่ใช่ยุคที่ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” แต่เป็นยุคที่ “ปลาที่เร็วกว่า” กิน “ปลาที่ช้ากว่า” ซึ่งตัวแปรของขนาดและความเร็ว ยังหมายรวมไปถึง เป้าที่ชัดเจน และกลยุทธ์ที่เหมาะกับการเปลี่ยนแปลง
การลดการทุจริต การป้องกันการทุจริตก็เช่นเดียวกัน จะต้องรู้ว่าโลกแห่งอนาคตเป็นเช่นไร รูปแบบการทุจริตในอนาคตจะเป็นเช่นไร จึงจะสามารถกำหนดกลยุทธ์เพื่อสกัดกระบวนการทุจริตที่จะเกิดขึ้น