นักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง” (นยปส.) รุ่นที่ 11 จัดสัมมนาสาธารณะ เรื่อง “ITA ทางออกประเทศไทย สู่การยกระดับ CPI”

Last updated: 7 ส.ค. 2563  |  1848 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง” (นยปส.) รุ่นที่ 11 จัดสัมมนาสาธารณะ เรื่อง “ITA ทางออกประเทศไทย สู่การยกระดับ CPI”

การสัมมนาสาธารณะ หลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) รุ่นที่ 11 เรื่อง “ITA ทางออกประเทศไทย สู่การยกระดับ CPI”

วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม 2563 ณ ห้องนนทบุรี 1 ชั้น 3 อาคาร 4 สำนักงาน ป.ป.ช. ถนนนนทบุรี อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาและบรรยายพิเศษ เรื่อง “ITA ทางออกประเทศไทย สู่การยกระดับ CPI” หลังจากนั้นเป็นการนำเสนอผลงานทางวิชาการของผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตร (นยปส.) รุ่นที่ 11 เรื่อง “กลยุทธ์การพัฒนากลไกและกระบวนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ” และการอภิปราย เรื่อง “องค์กรคุณธรรม… โปร่งใสยุค 4.0” โดย สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมศุลกากร ในช่วงบ่าย มีการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “คุณธรรมโปร่งใสยุค 4.0” โดยนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา 

“กลยุทธ์การพัฒนากลไกและกระบวนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ” เป็นการขับเคลื่อนหรือยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions index : CPI) ของประเทศไทย ตามยุทธศาสตร์ที่ 4 “พัฒนาระบบป้องกันการทุจริตเชิงรุก” ของแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 – 2564) จึงต้องมีการกำกับและติดตามหน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตของรัฐบาลซึ่งเครื่องมือที่เป็นกลไกในการสร้างความตระหนักให้หน่วยงานก็คือ การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานภาครัฐ (ITA) ทางคณะผู้ศึกษาซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ารับการอบรมหลักสูตร (นยปส.) รุ่นที่ 11 จึงเห็นความสำคัญของการพัฒนากลไกและกระบวนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสให้มีประสิทธิภาพและสะท้อนถึงผลการประเมินที่แท้จริงให้มากที่สุด

โดยผลจากการศึกษาเรื่องกลยุทธ์การพัฒนากลไกและกระบวนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐนั้นพบว่า การยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตเป็นวาระที่สำคัญของประเทศ การผลักดันให้บังเกิดผลต้องอาศัยความร่วมแรง ร่วมใจ จากทุกภาคส่วนโดยข้อเสนอแนะที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 3 ส่วนหลัก ได้แก่ รัฐบาล สำนักงาน ป.ป.ช. และหน่วยงานที่รับการประเมินควรดำเนินการเพิ่มเติม

คู่ขนานไปกับการพัฒนาการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐสามารถเชื่อมโยงกับการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตได้ ดังนี้

สำหรับแนวทางให้รัฐบาลดำเนินการ คือ

  1. เร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้เกิดการกระจายการให้บริการอย่างทั่วถึงและเพียงพอ ควบคู่กับการเร่งรัด สนับสนุน และกระตุ้นให้หน่วยงานรัฐปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการในระบบดิจิทัลหรือออนไลน์มากขึ้น เพื่อสนับสนุนการให้บริการและการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานรัฐ ซึ่งนำไปสู่การบริหารงานยุคดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส
  2. เพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมของหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานพัฒนาระบบราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ในการนำผลการประเมิน ITA รวมทั้งรายงานการวิเคราะห์จัดทำแนวทางการส่งเสริมหรือปรับปรุงการบริหารงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเด็นความโปร่งใสและคุณธรรม รวมทั้งประเด็นปัญหาอื่น เช่น การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การบริหารงบประมาณหรือการเปิดเผยข้อมูล เพราะผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากการประเมิน ITA สามารถแก้ปัญหาอื่นๆ อีกด้วย นอกเหนือจากการทุจริต
  3. ให้ความสำคัญกับผลการประเมิน ITA เพื่อนำไปปรับปรุงการบริหารประเทศและยกระดับการให้บริการประชาชน โดยมอบหมายให้แต่ละกระทรวงรับผิดชอบศึกษาวิเคราะห์ผลการประเมิน ITA ในภาพรวมของกระทรวงและจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขหรือปรับปรุง พัฒนาการดำเนินงานหน่วยงานในสังกัด รวมทั้งกำหนดมาตรการทั้งในด้านงบประมาณ หรือการประเมินผลการปฏิบัติงาน เพื่อจูงใจให้ผู้นำองค์กร และหน่วยงานให้ความสำคัญกับผลการประเมิน ITA มากขึ้น

ข้อเสนอแนะสำหรับสำนักงาน ป.ป.ช. นั้นคือ

  1. เพื่อให้มีการเชื่อมโยงกับดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) สำนักงาน ป.ป.ช. ควรเพิ่มเติมข้อคำถามในลักษณะ Agenda-based Approach ในแบบสอบถาม ITA ซึ่งเป็นข้อคำถามเพื่อทำการสำรวจความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) โดยเฉพาะในประเด็นที่ประเทศไทยได้คะแนนต่ำ เพื่อนำมาใช้ในการประเมินผลและเปรียบเทียบกับรายงานประจำปีของ CPI ทั้งนี้เพื่อให้ข้อคำถามในส่วนที่เพิ่มเติมดังกล่าวมีความเที่ยงตรงและน่าเชื่อถือ ควรระบุและชี้แจง ให้ชัดเจนว่าเป็นการสำรวจที่สะท้อนภาพรวม ของประเทศและจะไม่นำข้อมูลความคิดเห็นของผู้ตอบไปใช้ในการประเมินองค์กรหรือหน่วยงานที่เข้าประเมิน ซึ่งเป็นลักษณะคล้ายคลึงกับกรณีการเพิ่มข้อคำถาม เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างในช่วง Covid 19 ในการประเมินประจำปี 2563 ซึ่งในแต่ละปีสามารถปรับเปลี่ยนข้อคำถามในส่วนขยายได้อย่างต่อเนื่อง
  2. ควรบูรณาการการใช้ประโยชน์จากข้อมูลผลการประเมิน ITA ซึ่งมีลักษณะเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ให้มากขึ้น โดยนำข้อมูลผลการประเมิน ITA ที่สะท้อนความโปร่งใส คุณธรรม และพฤติกรรมการคอร์รัปชันของหน่วยงานภาครัฐแทบทุกระดับ มาประยุกต์ใช้ในมิติต่างๆ ทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึกต่อไป โดยการมุ่งเน้นการวิเคราะห์ในเชิงประเด็น (Agenda-based) เช่น การรับสินบนการเปิดเผยข้อมูล การใช้ทรัพย์สิน หรือการบริหารงบประมาณ เป็นต้น รวมทั้งนำผลการประเมินและ รายงานการวิเคราะห์มาแบ่งปันประสบการณ์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากขึ้น
  3. ควรประสานงานและร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการช่วยยกระดับหรือปรับปรุงการบริหารงานของหน่วยงานที่ได้รับการประเมินต่ำหรือต้องการความช่วยเหลือในเรื่องความโปร่งใสและคุณธรรม อาทิ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นหรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เข้ามามีส่วนร่วม ในการช่วยเหลือหรือส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่หน่วยงานที่ได้รับการประเมินต่ำหรือประสบปัญหาในการประเมินเพื่อให้เครื่องมือ ITA มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น
  4. ควรสื่อสารประชาสัมพันธ์ข้อมูลและบทวิเคราะห์ผลการประเมินในลักษณะเชิงบวกหรือสร้างแรงจูงใจมากขึ้น โดยร่วมกับสื่อมวลชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานที่เข้าประเมินให้ความสำคัญกับ ITA และ CPI มากขึ้น เช่น การจัดอบรมสื่อมวลชนเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในเชิงลึกหรือการจัดเวทีวิชาการในระดับชาติทุกปีเพื่อนำเสนอแนวทางยกระดับความโปร่งใสและคุณธรรม เป็นต้น
  5. ควรมีการศึกษาวิเคราะห์เพิ่มเติมในประเด็นที่มีปัญหาหรือหน่วยงานที่ประสบปัญหาในการประเมินในเชิงลึกต่อไป เพื่อนำมาเป็นกรณีศึกษาและแบ่งปันประสบการณ์กับหน่วยงานอื่นที่มีลักษณะหรือปัญหาคล้ายกัน
  6. ควรรณรงค์และจัดกิจกรรมเกี่ยวกับ ITA อย่างต่อเนื่องและหลากหลายมิติมากขึ้น เช่นการจัดตั้งชมรม ITA สำหรับหน่วยงานที่เข้ารับการประเมิน เพื่อให้เกิดเวทีหรือช่องทางสื่อสารแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ระหว่างกัน หรือการส่งเสริมให้หน่วยงานที่ประสบความสำเร็จจับคู่ช่วยเหลือหน่วยงานที่ประสบปัญหาในการประเมินผล
  7. ควรร่วมมือกับสำนักงาน กลต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในการพัฒนาเครื่องมือ ITA สำหรับภาคธุรกิจ เช่น บริษัทมหาชนหรือที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเป็นเครื่องมือวัดในอีกมิติหนึ่ง ในฐานะผู้ติดต่อหรือรับบริการจากภาครัฐเพื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับผลการประเมิน ITA และ CPI

ส่วนหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ารับการประเมิน มีข้อเสนอแนะ คือ

  1. ควรศึกษาวิเคราะห์ผลการประเมิน ITA เพื่อปรับปรุงยกระดับการบริหารงานของหน่วยงาน ให้มีความโปร่งใสและเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมจากผู้รับบริการ หรือบุคคลภายนอกในการประเมินและวิเคราะห์
  2. หน่วยงานที่เข้ารับการประเมินที่ประสบความสำเร็จและมีทรัพยากรเพียงพอควรมีบทบาท ในการส่งเสริมและสนับสนุนการประเมิน ITA โดยจัดทำสื่อหรือเผยแพร่แนวทางการดำเนินการที่ประสบ ความสำเร็จ หรือจับคู่หน่วยงานที่ประสบปัญหาเพื่อเข้าไปประสานงานหรือให้ความร่วมมือช่วยเหลือ
  3. หน่วยงานที่เข้ารับการประเมินที่ประสบความสำเร็จควรถอดบทเรียนและประเมินผลที่ได้รับจากการบริหารงานที่มีความโปร่งใสและคุณธรรมว่าประเทศชาติ ประชาชน และองค์กรได้รับประโยชน์อย่างไร แล้วแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับหน่วยงานอื่นหรือเผยแพร่ต่อสาธารณะในวงกว้างต่อไป เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมการทำงานและการพัฒนาองค์กรในอีกนัยหนึ่ง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้