นายกฯ แต่งตั้ง "วิชา มหาคุณ" นั่งประธานสอบข้อเท็จจริงและกฎหมายคดี "วรยุทธ อยู่วิทยา"

Last updated: 29 ก.ค. 2563  |  4762 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นายกฯ แต่งตั้ง "วิชา มหาคุณ" นั่งประธานสอบข้อเท็จจริงและกฎหมายคดี "วรยุทธ อยู่วิทยา"

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามตั้ง ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ นั่งประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและกฎหมาย คดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส มีผลตั้งแต่ 1 สิงหาคม เป็นต้นไป มีอำนาจ เชิญ-ขอข้อมูลเอกสาร ให้รายงานนายกฯ ภายใน 30 วัน

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 225/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชนโดยคำสั่งระบุว่า ตามที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในคดีขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ระหว่างปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต เหตุเกิดในกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2555 พนักงานสอบสวนได้ตั้งข้อหาหลายข้อหา และผู้ต้องหาหลบหนีการดำเนินคดี ต่อมาคดีบางข้อหาได้ขาดอายุความ ในส่วนข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายนั้น พนักงานอัยการ มีคำสั่งไม่ฟ้อง และฝ่ายตำรวจไม่มีความเห็นแย้ง คำสั่งไม่ฟ้องจึงมีผลเด็ดขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ไม่ตัดสิทธิของผู้เสียหายซึ่งรวมถึง บุพการี บุตร และคู่สมรส ที่จะฟ้องคดีเอง และขอทราบสรุปพยานหลักฐานพร้อมทั้งความเห็นในการสั่งคดี หรืออาจขอดำเนิดคดีใหม่ เมื่อได้พยานหลักฐานใหม่ อันสำคัญแก่คดี หรือขอความเป็นธรรมและความช่วยเหลือจากรัฐ

โดยที่คดีนี้อยู่ในความรับรู้และสนใจของประชาชนต่อเนื่องมาโดยตลอด นับแต่เกิดเหตุเมื่อ พ.ศ.2555 เมื่อปรากฏผลการสั่งคดีอันเป็นขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นก่อนมีคำพิพากษาของศาลเช่นนี้ จึงเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทางสื่อและสังคมทั่วไปอย่างกว้างขวาง ถือเป็นความอ่อนไหว กระทบกระเทือนตวามเชื่อในองค์กร เจ้าหน้าที่ และกระบวนการยุติธรรม แม้ในส่วนของการใช้ดุลยพินิจ และการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการย่อมมีอิสระในการสั่งคดีตามรัฐรรมนูญและกฎหมายโดยไม่อยู่ในการบังคับบัญชาของฝ่ายบริหาร และพนักงานสอบสวนจะอยู่ใการตรวจสอบตามกฎหมายและระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ตาม แต่กรณีนี้มีเหตุพิเศษที่สังคมควรมีโอกาสทราบในส่วนของข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตลอดจนพฤติการณ์และบุคลเกี่ยวข้องเพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ทั้งหากมีส่วนใดที่ควรปรับปรุงแก้ไขให้การบังคับใช้กฎหมายและการพัฒนากระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ จะได้นำมาเป็นกรณีศึกษาเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปโดยเร่งด่วนต่อไป

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้ ข้อ 1 ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญา ที่อยู่ในความสนใจของประขาชน ประกอบด้วย 1.นายวิชา มหาคุณ ประธานกรรมการ 2.ปลัดกระทรวงยุติธรรม 3.เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 4.ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย 5.ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม 6.นายกสภาทนายความแห่งประเทศไทย 7.คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 8.คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 9.คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นกรรมการ และ 10.ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. กรรมการและเลขานุการ

ทั้งนี้ กรรมการตามข้อ 4 และ 5 อาจมอบหมายกรรมการในคณะกรมกรปฏิรูปประเทศด้านนั้นๆ ซึ่งไม่มีส่วนได้เสียในคดีเข้าร่วมประชุมแทนได้ และให้ประธานกรรมการแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการได้มีจำนวนไม่เกินห้าคน

ข้อ 2 คดีอาญาที่อยู่ใความสนใจของประชาชนตามคำสั่งนี้ หมายถึงคดีตามข้อเท็จจริงที่กล่าวถึงข้างต้น

ข้อ 3 คณะกรรมการตามข้อ 1 มีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบข้อเท็จริงและข้อกฎหมายในคดีตามข้อ 2 และเสนอแนะแนวทางเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหรือวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เพื่อประโยชน์ในด้านการพัฒนาองค์ความรู้ การปฏิบัติหน้าที่ และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนเสนอข้อแนะนำอื่นใดโดยไม่ก้าวล่วงหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ในคดีดังกล่าว แล้วรายงานนายกรัฐมนตรีภายในสามสิบวัน นับแต่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ แต่หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่า ข้อเสนอแนะในการปฏิรูปยังไม่แล้วเสร็จ อาจให้ขยายระยะเวลาอีกได้ ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการรายงานเบื้องต้นต่อนายกรัฐมนตรีเป็นระยะทุกสิบวัน เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการมีอำนาจเชิญหรือประสานขอความร่วมมือหรือขอเอกสารต่างๆ จากเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบ สอบถาม หรือขอความเห็น และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ความร่วมมือแก่คณะกรรมการ นอกจากนี้ คณะกรรมการอาจรับฟังความเห็น ข้อเสนอแนะ และพิจารณาเรื่องร้องเรียนในคดีนี้จากประชาชนได้
ขณะที่ ข้อ 4 ให้คณะกรรมการตามข้อ 1 และผู้ช่วยเลขานุการได้รับเบี้ยประชุมตามที่กระทรวงการคลังกำหนด และคณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะทำงานเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อพิจารณาศึกษาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายก็ได้ โดยให้คณะทำงานได้รับค่าตอบแทนตามที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยเบี้ยประชุมตามวรรคหนึ่ง และค่าตอบแทนตามวรรคสอง ให้เบิกจ่ายจากสำนักงาน ป.ย.ป.

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2563 เป็นต้นไป

ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงกรณีที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน หรือกรณีที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา ว่า กรณีที่มีปัญหาอยู่ในเวลานี้ รัฐบาลในฐานะที่เป็นฝ่ายบริหารจำเป็นต้องทำให้เกิดความชัดเจนเกิดขึ้น โดยจะไม่ไปก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรม จึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในกรณีดังกล่าว มี ศ.พิเศษวิชา มหาคุณเป็นประธานกรรรมการ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งหมด 10 คน

"เนื่องจากเป็นคดีที่ประชาชนและสังคมให้ความสนใจ ต้องหาข้อเท็จจริงให้ได้ว่าปัญหาอยู่ทีไหนอย่างไร และแก้ปัญหา โดยผมจะไม่ไปก้าวล่วงส่วนของศาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สมาชิกวุฒิสภา ผมก็สั่งการอะไรไมได้ รวมถึงตำรวจด้วย ทั้งหมดเพื่อทำให้เกิดความเป็นธรรม ขอให้มั่นใจว่านายกรัฐมนตรีว่าไม่ได้ปล่อยปละละเลย ไม่ได้นิ่งนอนใจเลย ปัญหาเหล่านี้จะต้องแก้ให้ได้ ความยุติธรรมต้องมีในสังคมไทยโดยไม่แบ่งชนชั้น"

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่มีหลายฝ่ายพยายามเชื่อมโยงกรณีของนายวรยุทธ กับการที่รัฐบาลได้รับเงินบริจาค 300 ล้านบาทจากบริษัทเครื่องดื่มชูกำลังก่อนหน้านี้ ว่า เรื่องเงินบริจาค เป็นคนละเรื่องกัน เรื่องผลประโยชน์ตนไม่เคยเกี่ยวข้องใดๆทั้งสิ้น และ 5 ปีที่ผ่านมาไม่เคยเสียหายเรื่องเหล่านี้ ดังนั้นขอให้เชื่อมั่น และจะพยายามทำเต็มที่เพื่อคลี่คลายปัญหาดังกล่าวให้ได้ทั้งหมดทุกเรื่อง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้