Last updated: 30 มี.ค. 2563 | 2592 จำนวนผู้เข้าชม |
สถานการณ์ไวรัส COVID-19 ณ วันที่ 30 มีนาคม 2563 พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 136 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 1,524 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 9 ราย
สถานการณ์ ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2563 ณ เวลา 13.00 น.
สธ.เผยผู้ป่วยโรคโควิด-19 กลับบ้าน 16 ราย พบรายใหม่ 136 ราย
กระทรวงสาธารณสุข เผยวันนี้ผู้ป่วยโรคโควิด-19 รักษาหายกลับบ้าน 16 ราย พบรายใหม่ 136 ราย เสียชีวิต 2 ราย แนะประชาชนหากจำเป็นต้องเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดการเดินทาง ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจลบ่อย ๆ ลดความเสี่ยงติดเชื้อ
นายแพทย์อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค และนายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 1 แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า วันนี้มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 16 ราย และมีผู้ป่วยรายใหม่ 136 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
ได้รับรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต 2 ราย รายที่ 1 เป็นชายไทยอายุ 54 ปี มีประวัติเดินทางไปยังประเทศมาเลเซีย เข้ารับรักษาที่โรงพยาบาลยะลา รายที่ 2 เป็นหญิงไทย อายุ 56 ปี มีภาวะปอดอักเสบ เข้ารับรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร สำหรับผู้ป่วยอาการรุนแรงจำนวน 23 ราย อาการยังอยู่ในภาวะวิกฤต ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด
สรุปมีผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว 127 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 1,388 ราย เสียชีวิต 9 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,524 ราย
สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 136 ราย กระจายอยู่ใน 18 จังหวัด มากสุดที่กรุงเทพฯ 80 ราย รองลงมา คือเชียงใหม่ 9 ราย สมุทรปราการ 7 ราย ภูเก็ต 6 ราย ชลบุรีและนครสวรรค์จังหวัดละ 3 ราย เป็นต้น ซึ่งยังพบผู้ป่วยรายใหม่ในกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องกับขนส่งสาธารณะ ทั้งรถแท็กซี่ , รถเมล์, รถบัส, รถตู้, รถไฟฟ้า, เรือ, เครื่องบิน อย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสาธารณะ คนขับ ผู้โดยสาร พนักงานอื่นๆ รวมทั้งประชาชนที่จำเป็นต้องเดินทาง เพิ่มความระมัดระวัง ป้องกันตัวเอง โดยสวมหน้ากากอนามัยตลอดการเดินทาง เว้นระยะห่าง ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจลบ่อยๆ อาบน้ำทันทีเมื่อกลับเข้าบ้าน และเฝ้าระวังสังเกตอาการป่วยของตนเองและคนในครอบครัว
ในส่วนผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะและพนักงาน ต้องทำความสะอาดยานพาหนะอย่างสม่ำเสมอ เปิดประตูหน้าต่าง ระบายอากาศ และหลังรับผู้โดยสารที่มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม มีน้ำมูก ให้สวมถุงมือทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ 70% หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เน้นพื้นผิวที่ประชาชนสัมผัสบ่อย เช่น มือจับประตู เบาะรถ ที่พักแขน เป็นต้น