Last updated: 17 ก.พ. 2563 | 1516 จำนวนผู้เข้าชม |
กสทช.ปลื้ม โกยเงินประมูล 5G รวม 3 คลื่นกว่า 1 แสนล้านบาท คลื่น 700 MHz แข่งเดือด ผู้ประกอบการแข่งเคาะราคา ดันราคาใบอนุญาตพุ่ง 95% ขณะที่การประมูลคลื่น 2600 MHz-26 GHz กร่อยเคาะราคากันแค่ 1-2 รอบ 'ฐากร' ชงผลประมูลให้บอร์ด กสทช. รับรอง 19 กุมภาพันธ์ นี้
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่าน 700 MHz 2600 MHz และ 26 GHz เพื่อให้บริการ 5G ที่สำนักงานใหญ่ กสทช. กรุงเทพฯ
เมื่อเวลา 16.20 น. หลังการประมูลเสร็จสิ้นลง พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธาน กสทช. แถลงว่า การประมูลใบอนุญาต 3 คลื่นความถี่ ได้แก่ คลื่น 700 MHz คลื่น 2600 MHz และคลื่น 26 GHz ผลปรากฏว่าผู้ประกอบการประมูลใบอนุญาตไปทั้งสิ้น 48 ใบอนุญาต จากทั้งหมด 49 ใบอนุญาต โดยมีราคาค่าใบอนุญาตรวมอยู่ที่ 100,193 ล้านบาท เมื่อรวมกับค่าประมูลเลือกย่านความถี่อีก 328.17 ล้านบาท ส่งผลให้เงินค่าประมูลคลื่น 5G รวมทั้งหมดอยู่ที่ 100,521.17 ล้านบาท
สำหรับผลประมูลคลื่น 700 MHz มีผู้ชนะประมูล 2 ราย ได้แก่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ซึ่งได้ไป 2 ใบอนุญาต 34,306 ล้านบาท ไม่มีค่าเลือกย่านความถี่ และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในเครือ AIS ได้ใบอนุญาตไป 1 ใบอนุญาต 17,153 ล้านบาท เมื่อรวมกับค่าประมูลย่านความถี่อีก 1 ล้านบาท เงินค่าประมูลจะอยู่ที่ 17,154 ล้านบาท ส่งผลให้เงินค่าประมูลคลื่น 700 MHz ทั้งหมดทั้งสิ้น 51,460 ล้านบาท
ส่วนผลประมูลคลื่น 2600 MHz มีผู้ชนะประมูล 2 ราย คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ที่ได้ไป 10 ใบอนุญาต 19,560 ล้านบาท เมื่อรวมกับค่าประมูลย่านความถี่ 1 ล้านบาท เงินค่าประมูลจะอยู่ที่ 19,561 และบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ในเครือ TRUE ได้ไป 9 ใบอนุญาต มูลค่า 17,604 ล้านบาท เมื่อรวมกับค่าประมูลย่านความถี่ 268.88 ล้านบาท ค่าประมูลจะอยู่ที่ 17,872.88 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าประมูลคลื่น 2600 MHz ทั้งหมดอยู่ที่ 37,433.88 ล้านบาท
ขณะที่ผลการประมูลคลื่น 26 GHz มีผู้ชนะประมูล 4 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ได้ไป 12 ใบอนุญาต 5,340 ล้านบาท เมื่อรวมกับค่าประมูลเลือกย่านความถี่อีก 5 ล้านบาท รวมเป็นค่าประมูล 5,345 ล้านบาท , บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ได้ไป 8 ใบอนุญาต 3,560 ล้านบาท เมื่อรวมกับค่าประมูลย่านความถี่อีก 16.88 ล้านบาท รวมเป็นเงินค่าประมูล 3,567.88 ล้านบาท
บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT ได้ไป 4 ใบอนุญาต 1,780 ล้านบาท เมื่อรวมกับค่าประมูลย่านความถี่อีก 15 ล้านบาท รวมเป็นเงินค่าประมูล 1,795 ล้านบาท และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) ในเครือ DTAC ได้ไป 2 ใบอนุญาต 890 ล้านบาท เมื่อรวมกับค่าประมูลย่านความถี่อีก 20.4 ล้านบาท รวมเป็นเงินค่าประมูล 910.4 ล้านบาท ส่งผลให้เงินค่าประมูลคลื่น 26 GHz ทั้งหมดอยู่ที่ 11,627.28 ล้านบาท
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า วันที่ 19 กุมภาพันธ์ นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการ กสทช. เพื่อรับรองผลการประมูล หลังจากนั้นผู้ประกอบการที่ชนะประมูลสามารถเข้ามารับใบอนุญาตได้ทันที โดยจะต้องนำเงินงวดแรกมาจ่าย ซึ่งคาดว่าจะไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งเมื่อได้ใบอนุญาตแล้ว ผู้ประกอบการจะนำเข้าอุปกรณ์ ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นภายในวันที่ 16 มีนาคม 2563 และติดตั้งอุปกรณ์ก่อนจะเปิดให้บริการก่อนเดือนกรกฎาคม 2563 หรือเร็วกว่านั้น
นายฐากร ยังระบุว่า แม้ว่าการประมูลคลื่น 2600 MHz จะมีการเคาะราคาเพียง 2 ครั้งเท่านั้น แต่ก็เข้าใจได้ เพราะในการประมูลคลื่น 700 MHz ผู้ประกอบการมีการแข่งขันราคากันถึง 20 รอบ โดยเฉพาะบริษัท กสท โทรคมนาคมที่ประมูลคลื่น 700 MHz ได้ไปถึง 2 ใบอนุญาต ดังนั้น เมื่อเข้าสู่การประมูลคลื่น 2600 MHz จึงไม่อยากเคาะราคาเพิ่ม อีกทั้งคลื่น 2600 MHz จะต้องมีการลงทุนโครงข่ายเพิ่มเติม ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง
การประมูลคลื่น 5G ในวันนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2563) พิธีเปิดการประมูลได้เริ่มขึ้นในเวลา 08.20 น. จากนั้น พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ได้จับฉลากรายชื่อผู้เข้าร่วมประมูลว่า รายใดจะได้ทำการจับฉลากเลือกเลขห้องประมูล และเลือกซองบรรจุ Username และรหัสผ่านตามลำดับ ก่อนที่ผู้เข้าร่วมประมูลจะเข้าห้องประมูลในเวลา 09.00 น. และเริ่มการประมูลในคลื่น 700 MHz เป็นลำดับแรกในเวลา 09.30 น.
ขณะที่นายฐากร กล่าวรายงานว่า การประมูลคลื่นครั้งนี้ แบ่งเป็นคลื่น 700 MHz จำนวน 3 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นประมูลเป็นเงินรวม 26,376 ล้านบาท คลื่น 2600 MHz จำนวน 19 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นประมูลเป็นเงินรวม 35,378 ล้านบาท และคลื่น 26 GHz จำนวน 27 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นประมูลเป็นเงินรวม 11,421 ล้านบาท รวมทั้ง 3 ย่านความถี่ มีจำนวน 49 ใบอนุญาต ราคาขั้นต่ำรวมทั้งสิ้น 73,175 ล้านบาท
“หลังจากที่มีการประมูลเสร็จแล้ว สำนักงาน กสทช. คาดการณ์ขั้นต่ำว่าจะมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2563 ประมาณ 177,039 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 1.02% ของจีดีพีในปี 2563 สำหรับในปี 2564 คาดว่าจะมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจขั้นต่ำ 332,619 ล้านบาท และในปี 2565 จะมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประมาณ 476,062 ล้านบาท” นายฐากรกล่าว
นายฐากร ยังระบุว่า นอกจาก 5G จะช่วยในขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศแล้ว สำนักงาน กสทช. จะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เทคโนโลยี 5G ในการลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้านการสาธารณสุข ที่จะต้องพัฒนาให้โรงพยาบาลเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะหรือ smart hospital ที่ประชาชนสามารถรับบริการทางการแพทย์ทางไกล หรือ Tele-health เบื้องต้นมี 4 โรค คือ โรคตา โรคผิวหนัง โรคความดัน และโรคเบาหวาน
สำหรับผู้ร่วมสังเกตการณ์การประมูลครั้งนี้ ประกอบด้วย คณะกรรมาธิการ การสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของ กสทช. เลขาธิการองค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APT) และประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) รวมทั้งสื่อมวลชนที่ติดตามทำข่าวนับร้อยคน
เมื่อการประมูลเริ่มขึ้นในเวลา 9.30 น. โดยเริ่มจากการประมูลคลื่น 700 MHz ซึ่งผู้ร่วมประมูลคลื่น 3 ราย ได้แก่ 1.บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS 2.บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ 3.บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT
ทันทีที่การประมูลรอบที่ 1 เริ่มขึ้น ผู้ร่วมประมูลทั้ง 3 ราย เสนอความต้องการชุดใบอนุญาตจำนวน 6 ใบอนุญาต ซึ่งมากกว่าจำนวนใบอนุญาตที่นำมาเปิดประมูลเพียง 3 ใบอนุญาต โดยราคารอบที่ 1 อยู่ที่ 9,232 ล้านบาท/ใบอนุญาต เพิ่มขึ้น 440 ล้านบาท จากราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาท/ใบอนุญาต และเมื่อความต้องการใบอนุญาต ‘มากกว่า’ ใบอนุญาตที่นำมาเปิดประมูล ทำให้การประมูลเข้าสู่รอบที่ 2 ต่อไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อการประมูลเข้าสู่รอบที่ 2 ผลปรากฏว่า หลังจากครบ 20 นาทีแล้ว ผู้ร่วมประมูลเสนอความต้องการใบอนุญาตลดลงเหลือ 4 ใบอนุญาต ที่ราคา 10,112 ล้านบาท เมื่อความต้องการใบอนุญาตยังคง ‘มากกว่า’ ใบอนุญาตที่นำมาเปิดประมูล การประมูลจึงเข้าสู่รอบที่ 3
อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่การประมูลรอบที่ 3-19 ความต้องการใบอนุญาตยังอยู่ที่ 4 ใบอนุญาต และผู้เข้าร่วมประมูลได้ไล่ราคาใบอนุญาตขึ้นไปเรื่อยๆ รอบละ 440 ล้านบาท/ใบอนุญาต จนราคาใบอนุญาตเพิ่มขึ้นเป็น 17,152 ล้านบาท/ใบอนุญาต อีกทั้งผู้เข้าร่วมประมูลต่างใช้สิทธิ Request ending round (การร้องขอให้จบรอบ) ส่งผลให้การประมูลในแต่ละรอบใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที ไม่รวมเวลาประมวลผล 5 นาที ซึ่งการเคาะราคาบางรอบใช้เวลา 1-2 นาทีเท่านั้น
กระทั่งเวลา 11.58 น. การประมูลคลื่น 700 MHz จบลงในรอบที่ 20 หลังจากความต้องการใบอนุญาตลดลงมาอยู่ที่ 3 ใบอนุญาต เท่ากับใบอนุญาตที่นำมาเปิดประมูล โดยมีราคาอยู่ที่ 17,153 ล้านบาท/ใบอนุญาต (ไม่รวม Vat) เพิ่มขึ้น 1 ล้านบาท จากรอบที่ 19 หรือคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 51,459 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 95.1% จากราคาเริ่มต้น 26,376 ล้านบาท โดยยังไม่กับเงินประมูลเลือกย่านความถี่ที่ประสงค์จะได้ (First-price Sealed-bid Auction) ที่จะประกาศเมื่อเสร็จสิ้นการประมูลทุกคลื่น
นายฐากร กล่าวกับผู้สื่อข่าวก่อนที่การประมูลคลื่น 700 MHz จะจบลง ว่า “การประมูลรอบนี้ กสทช.จะได้เงินเข้ารัฐน่าจะหลักแสนล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นล้านบาท"
ต่อมาเวลา 12.50 น. ได้มีการประมูลคลื่น 2600 MHz ที่มี 19 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท/ใบอนุญาต โดยมีผู้เข้าร่วมประมูล 3 ราย ได้แก่ 1.บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS 2.บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ3.บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT
เมื่อเข้าการประมูลรอบที่ 1 เริ่มขึ้น ผู้เข้าร่วมประมูลทั้ง 3 ราย ใช้เวลาในการเคาะราคารอบนี้ 15 นาที หลังจากผู้ร่วมประมูลทุกรายกดปุ่ม Request ending round (การร้องขอให้จบรอบ) ผลปรากฏว่า ความต้องการใบอนุญาตอยู่ที่ 25 ใบอนุญาต ‘มากกว่า’ ใบอนุญาตที่นำมาเปิดประมูลที่มีจำนวน 19 ใบ โดยมีราคาอยู่ที่ 1,955 ล้านบาท/ใบอนุญาต หรือเพิ่มขึ้น 93 ล้านบาท/ใบอนุญาต ตามกฎการประมูล ทำให้การประมูลเข้าสู่รอบที่ 2 ต่อไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลา 13.28 น. การประมูลคลื่น 2600 MHz จบลง หลังการประมูลเพียงรอบที่ 2 เท่านั้น โดยหลังจากครบ 20 นาที และเข้าสู่การประมูลผล พบว่าความต้องการใบอนุญาตลดลงมาอยู่ที่ 19 ใบอนุญาต เท่ากับจำนวนใบอนุญาตที่เปิดประมูลที่มี 19 ใบอนุญาต โดยมีราคาที่ 1,956 ล้านบาท เพิ่มจากรอบที่ 1 เพียง 1 ล้านบาท/ใบอนุญาต จากราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท/ใบอนุญาต
เท่ากับว่าการประมูลคลื่น 2600 MHz จำนวน 19 ใบอนุญาต กสทช.จะได้เงินค่าประมูลทั้งหมด (ไม่รวม Vat) เป็นเงิน 37,164 ล้านบาท จากราคาเริ่มต้น 35,378 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,786 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.05% โดยยังไม่รวมตค่าประมูลย่านความถี่ที่ประสงค์จะได้ (First-price Sealed-bid Auction)
ทั้งนี้ ต่อมาในเวลา 14.30 น. การประมูลเข้าสู่ช่วงการประมูลคลื่น 26 GHz ที่มีจำนวน 27 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท/ใบอนุญาต ราคาเพิ่มขึ้นรอบละ 22 ล้านบาท/ใบอนุญาต โดยมีผู้เข้าร่วมประมูล 4 ราย ได้แก่ 1.บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS 2.บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE
3.บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเกชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC และ4.บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT
โดยเมื่อการประมูลรอบที่ 1 เริ่มขึ้น ผลปรากฎว่าความต้องการใบอนุญาตอยู่ที่ 26 ใบอนุญาต ‘ น้อยกว่า’ จำนวนใบอนุญาตที่นำมาเปิดประมูล 27 ใบอนุญาต ส่งผลให้การประมูลจบลงในรอบ 1 ที่เวลา 14.40 น. โดยราคาใบอนุญาตอยู่ที่ 445 ล้านบาท/ใบอนุญาต และทำให้การประมูลคลื่น 26 GHz มีผู้ประมูลไป 26 ใบอนุญาต คิดเป็นเงิน 11,570 ล้านบาท จากราคา 11,421 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 149 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.3%
ทั้งนี้ เมื่อรวมเงินค่าประมูล.บอนุญาตคลื่น 700 MHz จำนวน 3 ใบอนุญาต วงเงิน 51,459 ล้านบาท คลื่น 2600 MHz จำนวน 19 ใบอนุญาต วงเงิน 37,164 ล้านบาท และคลื่น 26 GHz จำนวน 26 ใบอนุญาต วงเงิน 11,570 ล้านบาท ทำให้ภาครัฐได้เงินจากประมูลใบอนุญาต 100,193 ล้านบาท
ขอขอบคุณข้อมูลภาพข่าวจากสำนักข่าวอิศรา
18 ส.ค. 2567