Last updated: 22 ต.ค. 2562 | 7955 จำนวนผู้เข้าชม |
เขตอำนาจศาลกับการใช้อำนาจของตำรวจ คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๒๗/๒๕๔๕ และ ๔๓๖/๒๕๔๕
สาระสำคัญ
อำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลในคดีพิพาทเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ โดยใช้อาวุธปืนยิงผู้ต้องสงสัยแต่พลาดไปถูกผู้อื่น เป็นขั้นตอนการใช้อำนาจจับกุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มิใช่การกระทำทางปกครอง
หลักกฎหมาย/บรรทัดฐานที่เกี่ยวข้อง
การพิจารณาเขตอำนาจศาลที่จะรับฟ้องคดี อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจนั้น แม้ว่าจะมิใช่การกระทำที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้เป็นการเฉพาะโดยตรงก็ตาม แต่หากการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายนั้นเกิดขึ้นในขั้นตอนของการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ หรือเป็นขั้นตอนการดำเนินการเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญาตามกฎหมายพิเศษ ถือเป็นเขตอำนาจของศาลยุติธรรมที่จะรับฟ้อง มิใช่ศาลปกครอง
เขตอำนาจศาลกับการใช้อำนาจของตำรวจ
เป็นที่ทราบกันดีว่าตำรวจหรือพนักงานสอบสวน มีบทบาทสำคัญในการดูแล รักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชน มีอำนาจสืบสวน สอบสวน ตรวจค้น จับกุม และควบคุมผู้ถูกจับ หรือเปรียบเทียบปรับ หรือมีความเห็นในคดี เช่น การสั่งฟ้อง สั่งไม่ฟ้องส่งไปยังอัยการ หรือดำเนินการอื่นใด เพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมทั้งปฏิบัติการอื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของตำรวจหรือพนักงานสอบสวนอันเกี่ยวกับความผิดในทางอาญา ขณะเดียวกันตำรวจหรือพนักงานสอบสวนก็เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในทางปกครองด้วย การปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจึงอาจมีการกระทำในทางปกครองเกี่ยวข้องปะปนอยู่ด้วยเสมอๆ และเนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีระบบศาลคู่ที่มีเขตอำนาจศาลแตกต่างกันระหว่างศาลยุติธรรมและศาลปกครอง ฉะนั้น จึงทำให้เกิดปัญหากับประชาชนทั่วไปว่าหากตำรวจหรือพนักงานสอบสวนใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่มิชอบ ทำให้เกิดความเดือดร้อนหรือเสียหายขึ้น ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจะฟ้องร้องดำเนินคดีที่ศาลใด
ศาลปกครองสูงสุดโดยมติที่ประชุมใหญ่วางหลักไว้ว่าถ้าขั้นตอนใดเป็นการกระทำที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้เป็นการเฉพาะโดยตรงและศาลยุติธรรม มีอำนาจที่จะเยียวยาความเสียหายได้ การกระทำนั้นย่อมอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรม แต่ถ้าเป็นการนอกเหนือหรือมิได้กระทำตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเข้าเกณฑ์เป็นกรณีพิพาทตามมาตรา ๙ แห่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ การกระทำนั้นจะอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครองดังเช่นคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๒๗/๒๕๔๕ (มติที่ประชุมใหญ่) กรณีเจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจ ขณะปฏิบัติหน้าที่ออกตรวจพื้นที่ได้พบผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดจึงแสดงตัวจะเข้าจับกุมแต่ผู้ต้องสงสัยขัดขืนการจับกุมและหลบหนี เจ้าพนักงานตำรวจจึงใช้อาวุธปืนยิง แต่กระสุนพลาดไปถูกบุตรชายของผู้ฟ้องคดีถึงแก่ความตาย ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจต่อศาลปกครอง
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การที่เจ้าพนักงานตำรวจใช้อาวุธปืนยิงผู้ต้องสงสัย แต่กระสุนพลาดไปถูกผู้อื่น ถือเป็นขั้นตอนการดำเนินการใช้อำนาจจับกุมของเจ้าพนักงานตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ การเรียกค่าเสียหายจากการดำเนินการดังกล่าวจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรม มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับ ๔ การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๓๖/๒๕๔๕ (มติที่ประชุมใหญ่) กรณีที่ผู้ฟ้องคดีถูกควบคุมตัวที่สถานีตำรวจเพราะเจ้าหน้าที่ตั้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดีแก่ผู้ฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ ทำให้ผู้ฟ้องคดีเสียอิสรภาพ ทรัพย์สิน เกียรติยศชื่อเสียงและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงฟ้องขอให้ผู้ถูกฟ้องคดี(ศึกษาธิการอำเภอ เจ้าพนักงานตำรวจ พนักงานอัยการจังหวัด) จ่ายเงินชดเชยความเสียหาย
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการกระทำโดยใช้อำนาจตามมาตรา ๓๑ และมาตรา ๓๑ ทวิวรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษของฝ่ายปกครองที่บัญญัติโทษทางอาญาประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในขั้นตอนของการดำเนินงานที่จะนำตัวผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดมาลงโทษทางอาญา เป็นการฟ้องเพื่อเรียกค่าเสียหายในเรื่องของการดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และศาลยุติธรรมมีอำนาจที่จะเยียวยาความเสียหายดังกล่าวได้ มิใช่การกระทำทางปกครอง จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรม
จากคดีทั้งสองเรื่องดังกล่าวข้างต้น ศาลปกครองวางหลักในการพิจารณาเขตอำนาจศาลที่จะรับฟ้องคดี อันเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจหรือพนักงานสอบสวนไว้ว่า ถึงแม้จะมิใช่การกระทำที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง แต่หากการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้นในขั้นตอนของการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ หรือเป็นขั้นตอนการดำเนินการเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญาตามกฎหมายพิเศษ ถือเป็นเขตอำนาจของศาลยุติธรรมที่จะรับฟ้องคดีไว้พิจารณา มิใช่ศาลปกครอง
ที่มา : หลักกฎหมายจากบทความสั้นคดีปกครองที่น่าสนใจ สำนักงานศาลปกครอง