Last updated: 14 ก.ย. 2562 | 3501 จำนวนผู้เข้าชม |
ในยุคที่สื่อมีความผันผวนจากการเข้ามาของ Digital Disruption ทำให้สื่อสำนักต่างๆ ต้องหันมานำเสนอคอนเทนต์ออนไลน์ ตามพฤติกรรมการอ่านที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค ส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาไหลจากสื่อสิ่งพิมพ์ไปยังสื่อออนไลน์ เป็นจำนวนมาก โดยคาดว่า ปี 2561 จะเติบโตขึ้น 21% หรือประมาณ 14,973 ล้านบาท
Facebook ครองแชมป์เม็ดเงินโฆษณาออนไลน์
สมาคมโฆษณาดิจิทัล ประเทศไทย หรือ DAAT เผยผลสำรวจมูลค่าเม็ดเงินที่แบรนด์ต่างๆ ใช้จ่ายผ่านสื่อดิจิทัลเติบโตมากขึ้นทุกๆ ปี และปีนี้ประเมินว่าเติบโตขึ้น 21% หรือประมาณ 14,973 ล้านบาท โดยครึ่งปีแรกที่ผ่านมามีการใช้จ่ายให้กับโฆษณาดิจิทัลไปแล้วทั้งสิ้น 6,684 ล้านบาท สูงกว่าครึ่งหนึ่งของปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เพิ่มขึ้นนั้น มาจากการขยายตัวที่มากขึ้นของสื่อดิจิทัล, การที่คนมีพฤติกรรมการซื้อของออนไลน์มากขึ้น, การทำ Online Promotion เช่น E-coupon, เทคโนโลยีด้านการจัดเก็บ Data และการใช้ Retargeting Media จาก Data หรือที่เรียกว่า การทำการตลาดเพื่อย้ำความสนใจผู้ใช้บริการมากขึ้น โดยแพลตฟอร์มที่มีการใช้จ่ายทางการตลาดสูงสุด 3 อันดับแรก คือ Facebook, Youtube และ Display (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 1 )
ขณะที่ข้อมูลจาก อินโฟเควสท์ ผู้ให้บริการข่าวสารข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ของประเทศไทย ระบุว่า ธุรกิจ Over-the-Top (OTT) หรือบริการสื่อสารและแพร่ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต เช่น Facebook, Youtube, Line TV เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในประเทศ ด้วยจุดเด่นในการเปิดโอกาสให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ตามต้องการในเวลาใดและที่ใดก็ได้ ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต รวมทั้งความสามารถในการผลิตคอนเทนต์ที่มีความแตกต่างจากสื่อโทรทัศน์ขึ้นมาและเผยแพร่สู่สาธารณชนได้ด้วยตนเองผ่านแพลตฟอร์ม ทำให้ OTT TV กลายเป็นสื่อที่มีความหลากหลายในด้านคอนเทนต์
โดยรายได้โฆษณาจากกลุ่มผู้ให้บริการ OTT TV มีมูลค่าสูงถึง 5,007 ล้านบาท Facebook ครองส่วนแบ่งสูงสุดที่ 2,842 ล้านบาท ตามด้วย Youtube 1,663 ล้านบาท และอื่นๆ เช่น Line TV และผู้ประกอบการช่องทีวี 502 ล้านบาท
ขณะที่อุตสาหกรรมดาวรุ่งที่ใช้งบดิจิทัลเติบโตสูงสุดในปี 2561 ได้แก่ กลุ่มมอเตอร์ไซค์และจักรยาน เติบโต 179% กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เติบโต 124% และ กลุ่มอุปกรณ์สำนักงาน เติบโต 118% (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 2)
คนไทยกระหน่ำโซเชียล ดูทีวีออนไลน์มากขึ้น
ด้านผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประเทศไทยประจำปี 2561 ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่า คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยนานขึ้นเป็น 10 ชั่วโมง 5 นาที/วัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ 3 ชั่วโมง 41 นาที/วัน
โดยคนไทยนิยมใช้ Facebook, Instagram, Twitter และ Pantip สูงมากถึง 3 ชั่วโมง 30 นาที/วัน ขณะที่การรับชมวิดีโอสตรีมมิ่ง เช่น Youtube, Line TV เฉลี่ย 2 ชั่วโมง 35 นาที/วัน ส่วนแอปพลิเคชันเพื่อพูดคุย เช่น Messenger และ LINE เฉลี่ย 2 ชั่วโมง/วัน เล่นเกมออนไลน์อยู่ที่ 1 ชั่วโมง 51 นาที/วัน และการอ่านหนังสือออนไลน์ 1 ชั่วโมง 31 นาที/วัน
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยให้ข้อมูลว่า การชมรายการโทรทัศน์ผ่านช่องทางออนไลน์ของคนไทยส่วนใหญ่อยู่บนแพลตฟอร์ม OTT TV โดยร้อยละ 64 ชมรายการทีวีผ่านช่องทางออนไลน์ และ ร้อยละ 49 ระบุว่า การ Live มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากการดูผ่านโทรทัศน์เป็นหลักมาสู่การดูผ่านช่องทางออนไลน์บ้างในบางครั้ง ขณะที่ร้อยละ 55 ระบุว่า การแพร่ภาพรายการทีวีผ่านช่องทางออนไลน์เพียงช่องทางเดียว โดยไม่แพร่ภาพผ่านโทรทัศน์ มีผลให้เปลี่ยนพฤติกรรมจากการดูผ่านโทรทัศน์เป็นหลักมาสู่การดูผ่านช่องทางออนไลน์บ้างในบางครั้ง เฉพาะรายการที่สนใจ ซึ่งสะท้อนว่าผู้ชมมีทางเลือกในการชมรายการทีวีผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น
Fake News หอกข้างแคร่สังคมออนไลน์
สำหรับการเติบโตของแพลตฟอร์มดิจิทัลในปีนี้ จะเห็นว่า Facebook มีการทำการตลาดแข็งแรงขึ้น ปัจจุบันมีผู้ใช้งานทั้งหมด 52 ล้านคนในประเทศไทย ขณะที่แพลตฟอร์มที่มีการเติบโตสูงสุดคือ Twitter มีเม็ดเงินโฆษณาเติบโตสูงถึง 275% และจำนวนผู้ใช้งานที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดในไทย 33% โดยปัจจุบันมีผู้ใช้ 12 ล้านราย เป็นวัยรุ่น (16-24 ปี) มากที่สุดอันดับ 1 ของโลก แบ่งเป็น Active User 5.7 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปี 2560 กว่า 80%
แม้มูลค่าเม็ดเงินที่ใช้จ่ายผ่านสื่อดิจิทัลเติบโตมากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต แต่ปัญหาที่ตามมาคือ เมื่อคนหันมาเสพข่าวโซเชียลมากขึ้น จากเดิมที่เคยติดตามข่าวสารจากสำนักข่าวใหญ่ที่มีการคัดกรองคุณภาพข่าวระดับหนึ่งก็เปลี่ยนมาเป็นการอ่าน Feed หรือ ข้อความที่ส่งต่อกันทางแชท ทำให้เกิดปัญหาข่าวปลอม หรือ Fake News ซึ่งโซเชียลมีเดีย เป็นช่องทางการเผยแพร่ข่าวปลอมได้ง่ายดาย ไม่เพียงแต่สร้างความเข้าใจผิด บิดเบือน และโจมตีบุคคล กลุ่มคน หรือองค์กร แต่ยังสร้างเม็ดเงินให้กับผู้ผลิตข่าวปลอม เพราะเมื่อมีคนคลิกเข้าไปอ่าน โฆษณาก็จะขายได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีผลต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์นั้นๆ ด้วย
ด้านศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพล สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เผยผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาข่าวปลอม พบว่า คนกรุงส่วนใหญ่เคยพบเห็นข่าวปลอม ร้อยละ 65.1 และเคยตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่คิดว่าเป็นข่าวปลอม ร้อยละ 56.2 โดยพบเห็นข่าวปลอมผ่าน Facebook เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 54.2 ตามด้วย มีคนเล่าให้ฟัง ร้อยละ 13.9 และเห็นผ่าน Line ร้อยละ 12.7 (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 3)
สื่อไทยไม่ตายแต่ไม่โต
ปัจจุบันโซเชียลมีเดียกลายเป็นสื่อช่องทางหลักของคนยุคใหม่ ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์ต้องปรับตัวอย่างหนักเพื่อให้สามารถอยู่ได้ในสถานการณ์ที่สื่อเปลี่ยนแปลงไป
ล่าสุด มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายจัดเวทีเสวนาเรื่อง ทางรอดของสื่อไทยในยุค 4.0 เพื่อให้สื่อมวลชน นักข่าวท้องถิ่น และประชาสัมพันธ์ขององค์กรต่างๆ ได้รู้เท่าทันถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคสื่อ โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อมวลชน อาทิ ดร.ธนาชัย ธีรพัฒนวงศ์ ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ บ. มีเดีย เอกเพอร์ทีส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) และกรรมการส่งเสริมกิจการ มรภ.เชียงราย และ น.ส.วิชาธร วงศ์พันธุ์ บก.ข่าวภูมิภาคไทยรัฐทีวี กล่าวถึงแนวทางการปรับตัวให้เท่าทันโลกดิจิทัล โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะผู้เสพข่าวมีทางเลือกมากขึ้น เหตุด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทุกคนสามารถนำเสนอข่าวผ่านสื่อต่างๆ ได้ ทำให้สื่อที่มีอยู่เดิมได้รับผลกระทบหลายต่อหลายสื่อต้องปิดตัวลงไป สถาบันที่ผลิตนักข่าวนักประชาสัมพันธ์ จะต้องปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันยุค มุ่งเน้นการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีมากขึ้น
ทำให้ช่วงหลังๆ นี้ เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสื่อหลายสำนักที่เริ่มปรับตัวสู่ดิจิทัล ขณะเดียวกันก็มีสื่อใหม่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน ล้วนส่งผลดีต่อผู้บริโภคที่มีโอกาสเลือกเสพสื่อได้หลากหลายขึ้น แต่พฤติกรรมการรับสารของคนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตต่อไปนั้นยังคงมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ดังนั้นสื่อก็ต้องปรับตัวให้ทันตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อจะให้อยู่รอดและเติบโตไปพร้อมการผันผวนในยุคดิจิทัลที่มีทีท่าว่าจะไม่หยุดเพียงแค่นี้
ดร.ธนาชัย ธีรพัฒนวงศ์ ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ บริษัท มีเดีย เอกซ์เพอร์ทีส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด
"การสื่อสารไทยในยุค 4.0 พัฒนาขึ้นมาก มีการเข้าถึงสื่อโซเชียลมีเดียอย่างง่ายดาย ทำให้รายได้จากการโฆษณาของสื่อหลักถูกแบ่งย้ายไปยังสื่อออนไลน์ ส่งผลต่ออาชีพสื่อมวลชนโดยตรง ดังนั้นสถาบันที่ผลิตนักข่าวนักประชาสัมพันธ์ จะต้องปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันยุค มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น เพื่อนำเสนอข่าวที่รวดเร็ว ถูกต้อง และแตกต่าง เพื่อแย่งชิงพื้นที่ตลาดขอ
สื่อออนไลน์ ซึ่งในอนาคตผู้ทำข่าวจะต้องปรับตัว ไม่เพียงจะต้องทำข่าวเป็นเท่านั้น แต่หากสามารถนำเสนอภาพกราฟิกได้ ตัดต่อได้ด้วย จะเป็นที่ต้องการของสำนักข่าวต่างๆ มากยิ่งขึ้น"
คุณวิชาธร วงศ์พันธุ์ บก.ข่าวภูมิภาคไทยรัฐทีวี
"ปัจจุบันพฤติกรรมคนดูทีวีเปลี่ยนไป หันไปดูจากมือถือหรือแท็บเล็ตมากขึ้น ส่วนผู้ที่ดูทีวีจริงมีแค่กลุ่มอายุ 35 ปีขึ้นไป ส่วนกลุ่มอายุต่ำกว่านั้นก็จะหันไปดูทีวีผ่านช่องทางอื่นและสื่อโซเชียลที่เป็นเพจข่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะผู้เสพข่าวสามารถเข้าถึงเพจข่าวได้ง่ายกว่าสื่ออื่นๆ ทำให้สื่อหลักต้องปรับตัว นำประเด็นจากเพจข่าวมาเล่นด้วย"
ขอบคุณข้อมูลภาพข่าวจากหนังสือพิมพ์ไลฟ์สไตล์รายสัปดาห์ https://www.bltbangkok.com