ผลวิจัยพบผู้บริหารในวงการศึกษาทุจริตจนเป็นวัฒนธรรม

Last updated: 31 ส.ค. 2562  |  4606 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ผลวิจัยพบผู้บริหารในวงการศึกษาทุจริตจนเป็นวัฒนธรรม

วัฒนธรรมความไว้วางใจกับจริยธรรมความซื่อสัตย์ของข้าราชการไทย

"นักวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แฉทุจริต ก่อสร้างสนามฟุตซอล เป็นกลุ่มอิทธิพลกับการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษาอย่างเป็นระบบ เพราะมีการเตรียมการกันอย่างดี"

       เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2562 - รองศาสตราจารย์ ดร.พรอัมรินทร์​ พรหมเกิด คณะ​มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดถึงกรณีการทุจริตสนามฟุตซอลที่มีการตรวจพบในหลายพื้นที่ว่า จากผลการศึกษาวิจัยพบว่า​ การทุจริตคอร์รัปชันจากการก่อสร้างสนามฟุตซอล​ นับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษา​ เนื่องจากการทุจริตประเภทนี้​ มีการเตรียมการและมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ​ มีบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องหลายฝ่าย​ แล้วมีการร่วมมือกันทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ​ การทุจริตประเภทนี้นับวันจะมีความแยบยลมากยิ่งขึ้น

       ในการทุจริตจากการก่อสร้างสนามฟุตซอล​ ยังมีเรื่องเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย​  กลุ่มอิทธิพลในที่นี้คือ​ กลุ่มคนที่มีอำนาจ​ ได้แก่​ นักการเมือง, ข้าราชการระดับสูง, และนักธุรกิจในเครือข่ายของเขา​ เมื่อมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายกลุ่มอิทธิพล​ ก็มีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจมิชอบทุกรูปแบบ และทุกวิถีทาง​ เพื่อทำให้บรรลุถึงเป้าหมายของกลุ่มตน​ ซึ่งก็คือการได้ผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ​ แม้ว่าการกระทำหรือการใช้อำนาจนั้นจะผิดกฎหมาย​ หรือละเมิดจริยธรรมของสังคมก็ตาม​ ซึ่งสื่อความหมายได้ชัดเจนว่า​ พฤติกรรมการใช้อำนาจของเครือข่ายกลุ่มอิทธิพล​ มักกระทำการใดๆที่ผิดกฎหมาย​ หรืออยู่เหนือกฎหมายเสมอ​ กล่าวอย่างง่ายว่า ครือข่ายกลุ่มอิทธิพล​ มักหากินกับเรื่องทุจริตและผิดกฎหมายอยู่เสมอ

       รศ.ดร.พรอัมรินทร์ ยังกล่าวอีกว่า ในกระบวนการทุจริตจากโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล​ เริ่มต้นจากมีนักการเมืองบางราย​ ได้แปรญัตติงบประมาณปี​ 2555 ให้กระทรวงศึกษาธิการ​ โดยการอ้างว่า เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำไปดำเนินการก่อสร้าง ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียน และ การก่อสร้างสนามฟุตซอล​ และการจัดซื้ิอครุภัณฑ์กีฬาลงสู่โรงเรียน​ หลังจากนั้นมีกลุ่มนักการเมืองบางรายได้เข้ามาติดต่อประสานงานกับกลุ่มผู้บริหารสถานศึกษา​ทั้งระดับประถมและมัธยม​ และใช้อิทธิพลโน้มน้าวจูงใจให้ผู้บริหารสถานศึกษา​รับข้อเสนอโครงการประมูลงานก่อสร้าง​ และการจัดซื้ิอครุภัณฑ์กีฬา​ จากบริษัทเครือข่ายที่เป็นพรรคพวกของตนเอง

       ส่วนพฤติการณ์ทุจริตของเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลที่เห็นได้ชัด​ เช่น​ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง​ มีลักษณะมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคากันอย่างเป็นธรรม​ ทั้งนี้เพื่อต้องการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้เข้าทำการเสนอราคา​ ที่เป็นพรรคพวกเครือข่ายของตน​ ให้เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานรัฐ, การก่อสร้างขั้นพื้นฐานสนามคอนกรีตไม่เป็นไปตามรูปแบบมาตรฐาน, และเจ้าของบริษัทที่เป็นคู่สัญญาก่อสร้างสนามฟุตซอลกับทุกโรงเรียน มีเหตุอันน่าเชื่อได้ว่า​ มีความเชื่อ​โยงในลักษณะการเป็นเครือข่ายเดียวกัน​ , และบางบริษัทผู้ก่อตั้งเป็นนักการเมืองสังกัดพรรคขนาดใหญ่รายหนึ่งในภาคอีสาน​ เป็นต้น

       "โดยสรุปแล้ว​ การทุจริตจากโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล​ นับเป็นตัวอย่างที่เด่นชัดอีกรูปแบบหนึ่ง​ ของเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตค​อร์รัปชันอย่างเป็นระบบของภาคการศึกษา​ ที่มีกลุ่ม​อิทธิพลต่างๆเข้ามา​เกี่ยวข้องเต็มรูปแบบ​ อันได้แก่​ หนึ่งนักการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นสองข้าราชการระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคสามนักธุรกิจในเครือข่ายบางราย​ กรณีการทุจริตในจังหวัดนครราชสีมา​ เขตพื้นที่การศึกษาที่​ 2 ที่มีการชี้มูลความผิดจากสำนักงาน ป.ป.ช.​ เป็นเพียงกรณีหนึ่งของการทุจริตเท่านั้น​ แต่ยังมีอีกหลายจังหวัดในภาคอีสาน​ ที่มีการวางแผนการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ​ และถ้าศึกษาเจาะลึกลงไปในรายละเอียด​ จะพบว่ามีผู้เกี่ยวข้องกับการทุจริตอีกเป็นจำนวนมาก​ อันสะท้อนให้เห็นว่า​ การทุจริตคอร์รัปชันในยุคหลัง​ ไม่ใช่เป็นเรื่องของคนต่อคน​อีกต่อไป​ หากแต่กระทำกันในรูปเครือข่าย​ และมีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบและเป็นเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลอย่างชัดเจน หากปล่อยให้เกิดเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลเช่นนี้ในสังคมไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  ผลกระทบที่ตามมาคือ เกิดความเสื่อมทางสังคม และปัญหาพื้นฐานทางสังคมอื่นๆ ของชาติจะถูกกัดกร่อน ในท้ายที่สุด ย่อมส่งผลกระทบโดยรวมต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติเป็นอย่างมาก" รศ.ดร.พรอัมรินทร์

รองศาสตราจารย์ ดร.พรอัมรินทร์​ พรหมเกิด

       จากปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในวงการศึกษา ทั้งเรื่องการทุจริตโครงการอาหารกลางวัน ทุจริตเรื่องการซื้อหนังสือ อุปกรณ์การเรียน จนเป็นข่าวโด่งดังอยู่ในขณะนี้ เรื่องนี้ รศ.ดร.พรอัมรินทร์ พรหมเกิด อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้ทำวิจัย” เรื่อง การศึกษาเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ ของภาคการศึกษา กรณีศึกษา โรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขตที่ 24 , 25 ,26 (กาฬสินธุ์ , ขอนแก่น ,มหาสารคาม)” โดยได้ทำการศึกษาในช่วงปี 2560-2561 ที่ผ่านมา และพบว่ามีการทุจริตในหลายรูปแบบ จนทำให้ผู้บริหารสถานศึกษาบางรายร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี

       นอกจากนั้นยังพบการทุจริตในการจัดซื้อหนังสือ วัสดุ  และคุรุภัณฑ์ รายใหญ่จะมีเครือข่ายอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ตั้งแต่ระดับนโยบาย ซึ่งเชื่อมโยงกับนักการเมือง นักธุรกิจ ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม. ) ลงมาถึงผู้บริหารสถานศึกษาในระดับโรงเรียน รูปแบบการทุจริตเห็นได้ชัด ว่า หากกระทรวงมีการอนุมัติงบประมาณการจัดซื้อหนังสือ วัสดุ คุรุภัณฑ์ลงมา แม้ผู้บริหารบางโรงเรียนไม่ได้ต้องการวัสดุดังกล่าว แต่จำเป็นต้องรับ เพราะถูกสั่งการลงมา จากการศึกษาวิจัยพบว่าทำให้เกิดการฮั้วประมูลเต็มรูปแบบ ล็อคสเปคหนังสือตำรา วัสดุคุรุภัณฑ์ทางการศึกษา การหาประโยชน์จากส่วนต่างของราคา เคยมีคนให้ข้อมูลพบว่าที่จังหวัดแห่งหนึ่งจับการทุจริตได้ทำให้รัฐได้เงินคืนกว่า 30 ล้านบาท และนอกจากนั้นยังมีรูปแบบทุจริตแบบจัดซื้อจัดจ้างอำพราง โดยมีการ ทำโครงการเอางบประมาณมาใช้ แต่ไม่มีการก่อสร้างอะไร เป็นการหลอกลวง โดยรูปแบบนี้มีค่อนข้างเยอะ แต่ที่เยอะมากคือการซื้อใบเสร็จแลกเงินสด ด้วยการออกใบเสร็จซื้อวัสดุสิ้นเปลืองเพราะสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินหรือ สตง.ตรวจสอบไม่ได้ เช่น อยากได้เงิน 5 หมื่นบาท ก็ให้ร้านออกใบเสร็จมา 5 หมื่นแต่จ่ายเงินซื้อใบเสร็จนั้นแค่ 5 พัน ร้านค้าก็ยอมเพราะได้เงินแต่ไม่ต้องเสียของให้ ถือเป็นการสมประโยชน์ทั้งสองฝ่ายและทำกันมาก

       จากการศึกษาวงจรทุจริตแบบนี้พบว่า ผู้บริหารสถานศึกษาบางรายในโรงเรียนชื่อดังของจังหวัดแห่งหนึ่งพอเกษียณและพ้นจากตำแหน่งกลายเป็นมหาเศรษฐี บางคนมีทรัพย์สินเป็นร้อยล้านบาท ว่ากันว่าวันสำคัญ ๆ กระเช้าของขวัญที่มีคนให้มาด้านบนเป็นของขวัญแต่ด้านล่างมีเงินวางเต็มไปหมด แต่เรื่องแบบนี้ตรวจสอบไม่เจอแม้จะมีการร้องเรียน เพราะระบบการตรวจสอบของไทยหย่อนยาน เจ้าหน้าที่ ปปช. ปปท. สตง.เข้าไม่ถึง ไม่สามารถลงไปหาข้อมูลเหล่านี้ได้ แต่การวิจัยได้ข้อมูลจากการไปสอบถามคนแวดล้อม และคนที่เคยใกล้ชิด จึงได้ข้อมูลเหล่านี้ได้มาจากการศึกษาเชิงลึก

“ตอนนี้สังคมไทยเดินทางมาถึงจุดที่ผู้มีอำนาจทุกระดับ ถ้าเขามีโอกาส เขาจะทุจริต เขาคิดเรื่องการทุจริตทุกลมหายใจ ไม่เว้นแม้แต่ผู้บริหารสถานศึกษาที่มาจากสายพระ หรือเคยบวชเรียนมาก่อน เป็นเจ้าอาวาส เป็นเจ้าคณะอำเภอมาก่อน เพราะผู้มีอำนาจ มองการทุจริตเป็นเรื่องธรรมดาจนกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว” รศ.ดร.พรอัมรินทร์ กล่าว

       ส่วนเรื่องการทุจริตอาหารกลางวันเป็นตัวอย่างรายเล็กรายน้อยเท่านั้น เพราะรายใหญ่ ๆไปอยู่ที่การก่อสร้าง การซื้อหนังสือ วัสดุ  คุรุภัณฑ์มากกว่า รวมไปถึงเรื่องสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่มีอยู่ในทุกจังหวัด ยิ่งมีเงินเยอะ ยิ่งมีการทุจริตเยอะ ผู้จัดการสหกรณ์บางราย ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี แถมยังเกี่ยวพันกับเรื่องการเมือง จนกลายเป็นผู้มีอิทธิพลไปแล้ว

       ส่วนการป้องกันกลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันนั้น รศ.ดร.พรอัมรินทร์ กล่าวว่า ต้องสนับสนุน กลไกเครือข่ายภาคประชาสังคม การสร้างกลไกแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันของบุคลากรทางการศึกษา การป้องกันด้านกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้เรากล้าที่จะมองเรื่องการทุจริตเป็นความผิด อย่ามองว่าเป็นแค่เรื่องปกติ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้