Last updated: 31 ส.ค. 2562 | 4608 จำนวนผู้เข้าชม |
วัฒนธรรมความไว้วางใจกับจริยธรรมความซื่อสัตย์ของข้าราชการไทย
"นักวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แฉทุจริต ก่อสร้างสนามฟุตซอล เป็นกลุ่มอิทธิพลกับการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษาอย่างเป็นระบบ เพราะมีการเตรียมการกันอย่างดี"
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2562 - รองศาสตราจารย์ ดร.พรอัมรินทร์ พรหมเกิด คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดถึงกรณีการทุจริตสนามฟุตซอลที่มีการตรวจพบในหลายพื้นที่ว่า จากผลการศึกษาวิจัยพบว่า การทุจริตคอร์รัปชันจากการก่อสร้างสนามฟุตซอล นับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษา เนื่องจากการทุจริตประเภทนี้ มีการเตรียมการและมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ มีบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องหลายฝ่าย แล้วมีการร่วมมือกันทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ การทุจริตประเภทนี้นับวันจะมีความแยบยลมากยิ่งขึ้น
ในการทุจริตจากการก่อสร้างสนามฟุตซอล ยังมีเรื่องเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย กลุ่มอิทธิพลในที่นี้คือ กลุ่มคนที่มีอำนาจ ได้แก่ นักการเมือง, ข้าราชการระดับสูง, และนักธุรกิจในเครือข่ายของเขา เมื่อมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายกลุ่มอิทธิพล ก็มีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจมิชอบทุกรูปแบบ และทุกวิถีทาง เพื่อทำให้บรรลุถึงเป้าหมายของกลุ่มตน ซึ่งก็คือการได้ผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ แม้ว่าการกระทำหรือการใช้อำนาจนั้นจะผิดกฎหมาย หรือละเมิดจริยธรรมของสังคมก็ตาม ซึ่งสื่อความหมายได้ชัดเจนว่า พฤติกรรมการใช้อำนาจของเครือข่ายกลุ่มอิทธิพล มักกระทำการใดๆที่ผิดกฎหมาย หรืออยู่เหนือกฎหมายเสมอ กล่าวอย่างง่ายว่า ครือข่ายกลุ่มอิทธิพล มักหากินกับเรื่องทุจริตและผิดกฎหมายอยู่เสมอ
รศ.ดร.พรอัมรินทร์ ยังกล่าวอีกว่า ในกระบวนการทุจริตจากโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล เริ่มต้นจากมีนักการเมืองบางราย ได้แปรญัตติงบประมาณปี 2555 ให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยการอ้างว่า เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำไปดำเนินการก่อสร้าง ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียน และ การก่อสร้างสนามฟุตซอล และการจัดซื้ิอครุภัณฑ์กีฬาลงสู่โรงเรียน หลังจากนั้นมีกลุ่มนักการเมืองบางรายได้เข้ามาติดต่อประสานงานกับกลุ่มผู้บริหารสถานศึกษาทั้งระดับประถมและมัธยม และใช้อิทธิพลโน้มน้าวจูงใจให้ผู้บริหารสถานศึกษารับข้อเสนอโครงการประมูลงานก่อสร้าง และการจัดซื้ิอครุภัณฑ์กีฬา จากบริษัทเครือข่ายที่เป็นพรรคพวกของตนเอง
ส่วนพฤติการณ์ทุจริตของเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลที่เห็นได้ชัด เช่น กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง มีลักษณะมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคากันอย่างเป็นธรรม ทั้งนี้เพื่อต้องการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้เข้าทำการเสนอราคา ที่เป็นพรรคพวกเครือข่ายของตน ให้เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานรัฐ, การก่อสร้างขั้นพื้นฐานสนามคอนกรีตไม่เป็นไปตามรูปแบบมาตรฐาน, และเจ้าของบริษัทที่เป็นคู่สัญญาก่อสร้างสนามฟุตซอลกับทุกโรงเรียน มีเหตุอันน่าเชื่อได้ว่า มีความเชื่อโยงในลักษณะการเป็นเครือข่ายเดียวกัน , และบางบริษัทผู้ก่อตั้งเป็นนักการเมืองสังกัดพรรคขนาดใหญ่รายหนึ่งในภาคอีสาน เป็นต้น
"โดยสรุปแล้ว การทุจริตจากโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล นับเป็นตัวอย่างที่เด่นชัดอีกรูปแบบหนึ่ง ของเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบของภาคการศึกษา ที่มีกลุ่มอิทธิพลต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้องเต็มรูปแบบ อันได้แก่ หนึ่ง นักการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น สอง ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค สาม นักธุรกิจในเครือข่ายบางราย กรณีการทุจริตในจังหวัดนครราชสีมา เขตพื้นที่การศึกษาที่ 2 ที่มีการชี้มูลความผิดจากสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นเพียงกรณีหนึ่งของการทุจริตเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายจังหวัดในภาคอีสาน ที่มีการวางแผนการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ และถ้าศึกษาเจาะลึกลงไปในรายละเอียด จะพบว่ามีผู้เกี่ยวข้องกับการทุจริตอีกเป็นจำนวนมาก อันสะท้อนให้เห็นว่า การทุจริตคอร์รัปชันในยุคหลัง ไม่ใช่เป็นเรื่องของคนต่อคนอีกต่อไป หากแต่กระทำกันในรูปเครือข่าย และมีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบและเป็นเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลอย่างชัดเจน หากปล่อยให้เกิดเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลเช่นนี้ในสังคมไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ผลกระทบที่ตามมาคือ เกิดความเสื่อมทางสังคม และปัญหาพื้นฐานทางสังคมอื่นๆ ของชาติจะถูกกัดกร่อน ในท้ายที่สุด ย่อมส่งผลกระทบโดยรวมต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติเป็นอย่างมาก" รศ.ดร.พรอัมรินทร์
รองศาสตราจารย์ ดร.พรอัมรินทร์ พรหมเกิด
จากปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในวงการศึกษา ทั้งเรื่องการทุจริตโครงการอาหารกลางวัน ทุจริตเรื่องการซื้อหนังสือ อุปกรณ์การเรียน จนเป็นข่าวโด่งดังอยู่ในขณะนี้ เรื่องนี้ รศ.ดร.พรอัมรินทร์ พรหมเกิด อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้ทำวิจัย” เรื่อง การศึกษาเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ ของภาคการศึกษา กรณีศึกษา โรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขตที่ 24 , 25 ,26 (กาฬสินธุ์ , ขอนแก่น ,มหาสารคาม)” โดยได้ทำการศึกษาในช่วงปี 2560-2561 ที่ผ่านมา และพบว่ามีการทุจริตในหลายรูปแบบ จนทำให้ผู้บริหารสถานศึกษาบางรายร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี
นอกจากนั้นยังพบการทุจริตในการจัดซื้อหนังสือ วัสดุ และคุรุภัณฑ์ รายใหญ่จะมีเครือข่ายอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ตั้งแต่ระดับนโยบาย ซึ่งเชื่อมโยงกับนักการเมือง นักธุรกิจ ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม. ) ลงมาถึงผู้บริหารสถานศึกษาในระดับโรงเรียน รูปแบบการทุจริตเห็นได้ชัด ว่า หากกระทรวงมีการอนุมัติงบประมาณการจัดซื้อหนังสือ วัสดุ คุรุภัณฑ์ลงมา แม้ผู้บริหารบางโรงเรียนไม่ได้ต้องการวัสดุดังกล่าว แต่จำเป็นต้องรับ เพราะถูกสั่งการลงมา จากการศึกษาวิจัยพบว่าทำให้เกิดการฮั้วประมูลเต็มรูปแบบ ล็อคสเปคหนังสือตำรา วัสดุคุรุภัณฑ์ทางการศึกษา การหาประโยชน์จากส่วนต่างของราคา เคยมีคนให้ข้อมูลพบว่าที่จังหวัดแห่งหนึ่งจับการทุจริตได้ทำให้รัฐได้เงินคืนกว่า 30 ล้านบาท และนอกจากนั้นยังมีรูปแบบทุจริตแบบจัดซื้อจัดจ้างอำพราง โดยมีการ ทำโครงการเอางบประมาณมาใช้ แต่ไม่มีการก่อสร้างอะไร เป็นการหลอกลวง โดยรูปแบบนี้มีค่อนข้างเยอะ แต่ที่เยอะมากคือการซื้อใบเสร็จแลกเงินสด ด้วยการออกใบเสร็จซื้อวัสดุสิ้นเปลืองเพราะสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินหรือ สตง.ตรวจสอบไม่ได้ เช่น อยากได้เงิน 5 หมื่นบาท ก็ให้ร้านออกใบเสร็จมา 5 หมื่นแต่จ่ายเงินซื้อใบเสร็จนั้นแค่ 5 พัน ร้านค้าก็ยอมเพราะได้เงินแต่ไม่ต้องเสียของให้ ถือเป็นการสมประโยชน์ทั้งสองฝ่ายและทำกันมาก
จากการศึกษาวงจรทุจริตแบบนี้พบว่า ผู้บริหารสถานศึกษาบางรายในโรงเรียนชื่อดังของจังหวัดแห่งหนึ่งพอเกษียณและพ้นจากตำแหน่งกลายเป็นมหาเศรษฐี บางคนมีทรัพย์สินเป็นร้อยล้านบาท ว่ากันว่าวันสำคัญ ๆ กระเช้าของขวัญที่มีคนให้มาด้านบนเป็นของขวัญแต่ด้านล่างมีเงินวางเต็มไปหมด แต่เรื่องแบบนี้ตรวจสอบไม่เจอแม้จะมีการร้องเรียน เพราะระบบการตรวจสอบของไทยหย่อนยาน เจ้าหน้าที่ ปปช. ปปท. สตง.เข้าไม่ถึง ไม่สามารถลงไปหาข้อมูลเหล่านี้ได้ แต่การวิจัยได้ข้อมูลจากการไปสอบถามคนแวดล้อม และคนที่เคยใกล้ชิด จึงได้ข้อมูลเหล่านี้ได้มาจากการศึกษาเชิงลึก
“ตอนนี้สังคมไทยเดินทางมาถึงจุดที่ผู้มีอำนาจทุกระดับ ถ้าเขามีโอกาส เขาจะทุจริต เขาคิดเรื่องการทุจริตทุกลมหายใจ ไม่เว้นแม้แต่ผู้บริหารสถานศึกษาที่มาจากสายพระ หรือเคยบวชเรียนมาก่อน เป็นเจ้าอาวาส เป็นเจ้าคณะอำเภอมาก่อน เพราะผู้มีอำนาจ มองการทุจริตเป็นเรื่องธรรมดาจนกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว” รศ.ดร.พรอัมรินทร์ กล่าว
ส่วนเรื่องการทุจริตอาหารกลางวันเป็นตัวอย่างรายเล็กรายน้อยเท่านั้น เพราะรายใหญ่ ๆไปอยู่ที่การก่อสร้าง การซื้อหนังสือ วัสดุ คุรุภัณฑ์มากกว่า รวมไปถึงเรื่องสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่มีอยู่ในทุกจังหวัด ยิ่งมีเงินเยอะ ยิ่งมีการทุจริตเยอะ ผู้จัดการสหกรณ์บางราย ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี แถมยังเกี่ยวพันกับเรื่องการเมือง จนกลายเป็นผู้มีอิทธิพลไปแล้ว
ส่วนการป้องกันกลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันนั้น รศ.ดร.พรอัมรินทร์ กล่าวว่า ต้องสนับสนุน กลไกเครือข่ายภาคประชาสังคม การสร้างกลไกแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันของบุคลากรทางการศึกษา การป้องกันด้านกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้เรากล้าที่จะมองเรื่องการทุจริตเป็นความผิด อย่ามองว่าเป็นแค่เรื่องปกติ