Last updated: 7 ส.ค. 2562 | 2356 จำนวนผู้เข้าชม |
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี กับพวก ทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย (แฟลต) จำนวน 163 หลัง
วันที่ 6 สิงหาคม 2562 นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี กับพวก ทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย (แฟลต) จำนวน 163 หลัง เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับความเสียหายเป็นเงิน จำนวน 3,994 ล้านบาท นอกจากนั้น ปรากฏมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกรับเงินจากผู้รับจ้าง เป็นเงินจำนวน 91,678,000 บาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้
เรื่องนี้ มีผู้กล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับพวก ว่าอนุมัติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย (แฟลต) จำนวน 163 หลัง จากเดิมจัดจ้างแบบรวมการที่ส่วนกลางโดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1 – 9) จำนวนหลายสัญญา เป็นรวมการจัดจ้างก่อสร้างที่ส่วนกลางในครั้งเดียวและเป็นสัญญาเดียวโดยไม่เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างก่อสร้างเสียก่อน โดยรู้อยู่แล้วว่าแนวทางที่อนุมัติให้เปลี่ยนแปลงดังกล่าวการก่อสร้างจะไม่แล้วเสร็จ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งที่ 225/2556 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเรื่องกล่าวหาดังกล่าว โดยมีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน และต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งที่ 573/2560 ลงวันที่ 4 เมษายน 2560 ปรับเปลี่ยนรูปแบบการไต่สวนจากการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เป็นให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะเป็นองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยมีนายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร และนางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวน (ต่อมาภายหลังนางสาวสุภา ปิยะจิตติ ได้ถอนตัวจากการเป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวน รวมทั้งการพิจารณา) คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริง ได้ดำเนินการไต่สวนรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องจนเสร็จสิ้นแล้ว สรุปผลการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ ดังนี้
โครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย (แฟลต) จำนวน 163 หลัง ดังกล่าวข้างต้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอก ศึกษาและพิจารณาแนวทางการจัดจ้างเพื่อให้การก่อสร้างแล้วเสร็จและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการ ซึ่งได้ข้อสรุปว่าวิธีการที่เหมาะสมจะต้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยวิธีจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี และกระจายการจัดซื้อจัดจ้างไปตามตำรวจภูธรภาค หรือตำรวจภูธรจังหวัด การดำเนินโครงการจึงจะแล้วเสร็จ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการจัดจ้างตามแนวทางที่คณะทำงานดังกล่าวเสนอ ผ่านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับ ดูแล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ พิจารณาแล้วเห็นชอบและอนุมัติให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2552 ซึ่งคณะรัฐมนตรีในการประชุมครั้งที่ 7/2552 เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 พิจารณาแล้วมีมติ อนุมัติหลักการตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ และให้ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ซึ่งกรณีดังกล่าวสำนักงบประมาณเห็นด้วยกับแนวทางที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ และมีความเห็นโดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการก่อสร้างตามความจำเป็นเร่งด่วน จากนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงเสนอขออนุมัติจัดจ้างเป็นรายภาค 9 ภาค (ภาค 1 – 9) ต่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ตามแนวทางที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เคยอนุมัติให้ดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) มาก่อนแล้ว นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วได้มีบันทึกลงวันที่ 26 สิงหาคม 2552 เห็นชอบและให้ดำเนินการตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเสนอ
ต่อมาพลตำรวจเอก ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มีบันทึกลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 ถึงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีขออนุมัติเปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดจ้างจากเดิมที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแนวทางการจัดจ้างโดยให้กระจายการจัดซื้อจัดจ้างไปตามตำรวจภูธรภาค หรือตำรวจภูธรจังหวัด เปลี่ยนเป็นโดยกองโยธาธิการ สำนักงานส่งกำลังบำรุง เป็นหน่วยงานจัดจ้างก่อสร้างทุกอาคารรวมกันในครั้งเดียว โดยอ้างว่าเพื่อให้ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 และไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วได้อนุมัติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดจ้าง โดยไม่นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงเสียก่อน อันเป็นการอนุมัติโดยไม่มีอำนาจโดยรู้อยู่แล้วว่าแนวทางที่ตนอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงดังกล่าวการก่อสร้างจะไม่แล้วเสร็จ
ต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย (แฟลต) จำนวน 163 หลัง ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงิน 3,709,880,000 บาท ตามประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2552 ซึ่งตามประกาศประกวดราคาดังกล่าวแบบรูปรายการละเอียดกำหนดขนาดความยาวเสาเข็มตอกไว้ที่ 21 เมตร ต่อต้น ผู้เสนอราคาจะต้องยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องตามแบบรูปรายการดังกล่าว และเมื่อสิ้นสุดการประกวดราคาผู้ชนะการประกวดราคาจะต้องจัดทำบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคา (BOQ) ตามที่ได้ยืนราคาครั้งสุดท้ายส่งให้คณะกรรมการประกวดราคาภายใน 3 วัน ปรากฏว่าการประกวดราคาดังกล่าว บริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งเข้าร่วมเสนอราคาครั้งนี้ด้วย ได้เสนอขนาดความยาวของเสาเข็มตอกที่ความยาวเพียง 8 เมตร ต่อต้น ซึ่งไม่ถูกต้องตามแบบรูปรายการละเอียดที่กำหนดความยาว จำนวน 21 เมตร ต่อต้น จึงเป็นการยื่นเสนอราคาโดยไม่ถูกต้องตามประกาศประกวดราคา จะต้องถูกตัดสิทธิมิให้เข้าร่วมแข่งขันเสนอราคาในครั้งนี้ แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการประกวดราคากลับพิจารณาให้บริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้ผ่านคุณสมบัติจนมีสิทธิเข้าแข่งขันเสนอราคา และต่อมาก็ปรากฏว่าบริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา การเสนอราคาของบริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ดังกล่าวจึงเป็นการเอาเปรียบผู้เสนอราคารายอื่นที่ต้องเสนอขนาดความยาวเสาเข็มตอก จำนวน 21 เมตร/ต้น ซึ่งมีราคาสูงกว่ามาก การเสนอราคาจึงไม่มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม นอกจากนั้น ยังปรากฏว่าราคาเสาเข็มตอกที่บริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เสนอ ราคาต้นละ 4,050 บาท ยังต่ำกว่าราคาตามท้องตลาด โดยตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์กำหนดราคาเสาเข็มตอกขนาดความยาว 21 เมตร ราคา 8,151.15 บาท ต่อต้น และต่ำกว่าราคากลางของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่กำหนดราคาเสาเข็มตอกไว้ 6,360 บาท ต่อต้น แต่คณะกรรมการประกวดราคาก็มิได้พิจารณาว่าราคาที่เสนอดังกล่าวมีความถูกต้องเหมาะสมหรือไม่อย่างไร จนสำนักงานตำรวจแห่งชาติทำสัญญาบริษัท พีซีซีดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้รับจ้าง ตามสัญญาลงวันที่ 31 มีนาคม 2553 และต่อมาเป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติหักลดค่าเสาเข็มที่ตอกไม่ครบถ้วนตามแบบรูปรายการได้น้อยกว่าราคาที่แท้จริง เป็นเงินทั้งสิ้น 14,112,489.56 บาท และต่อมาก็ปรากฏว่าการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา (ก่อสร้างเสร็จ จำวน 82 หลัง ไม่เสร็จ จำนวน 81 หลัง) ทั้งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ขยายระยะเวลาการก่อสร้างออกไปอีกจำนวนหลายครั้ง แต่ผู้รับจ้างก็ไม่สามารถทำการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญาได้ จนสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 และต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองให้บริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายรวมค่าปรับเป็นเงิน จำนวน 3,994,499,254.91 บาท
นอกจากนั้น ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในระหว่างการก่อสร้างพันตำรวจโท คมกริบ นุตาลัย ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้าง ตำรวจภูธรภาค 6 ได้เรียกรับเงินจากผู้รับจ้างเพื่อแลกกับการช่วยเหลือในการตรวจการจ้างเป็นเงิน จำนวน 60,000 บาท และดาบตำรวจ สายัณ อบเชย ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ตำรวจภูธรภาค 5 ได้เรียกรับเงินจากผู้รับจ้างเพื่อแลกกับการช่วยเหลือในการควบคุมการก่อสร้างเป็นเงิน จำนวน 91,618,000 บาท อันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาแต่ละรายแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 8 เสียง ดังนี้