ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวก ทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย (แฟลต) จำนวน 163 หลัง

Last updated: 7 ส.ค. 2562  |  2358 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวก ทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย (แฟลต) จำนวน 163 หลัง

คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี กับพวก ทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย (แฟลต) จำนวน 163 หลัง

วันที่ 6 สิงหาคม 2562 นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี กับพวก ทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย (แฟลต) จำนวน 163 หลัง เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับความเสียหายเป็นเงิน จำนวน 3,994 ล้านบาท นอกจากนั้น ปรากฏมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกรับเงินจากผู้รับจ้าง เป็นเงินจำนวน 91,678,000 บาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้

เรื่องนี้ มีผู้กล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับพวก ว่าอนุมัติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย (แฟลต) จำนวน 163 หลัง จากเดิมจัดจ้างแบบรวมการที่ส่วนกลางโดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1 – 9) จำนวนหลายสัญญา เป็นรวมการจัดจ้างก่อสร้างที่ส่วนกลางในครั้งเดียวและเป็นสัญญาเดียวโดยไม่เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างก่อสร้างเสียก่อน โดยรู้อยู่แล้วว่าแนวทางที่อนุมัติให้เปลี่ยนแปลงดังกล่าวการก่อสร้างจะไม่แล้วเสร็จ

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งที่ 225/2556 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเรื่องกล่าวหาดังกล่าว โดยมีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน และต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งที่ 573/2560 ลงวันที่ 4 เมษายน 2560 ปรับเปลี่ยนรูปแบบการไต่สวนจากการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เป็นให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะเป็นองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยมีนายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร และนางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวน (ต่อมาภายหลังนางสาวสุภา ปิยะจิตติ ได้ถอนตัวจากการเป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวน รวมทั้งการพิจารณา) คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริง ได้ดำเนินการไต่สวนรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องจนเสร็จสิ้นแล้ว สรุปผลการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ ดังนี้

โครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย (แฟลต) จำนวน 163 หลัง ดังกล่าวข้างต้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอก ศึกษาและพิจารณาแนวทางการจัดจ้างเพื่อให้การก่อสร้างแล้วเสร็จและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการ ซึ่งได้ข้อสรุปว่าวิธีการที่เหมาะสมจะต้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยวิธีจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี และกระจายการจัดซื้อจัดจ้างไปตามตำรวจภูธรภาค หรือตำรวจภูธรจังหวัด การดำเนินโครงการจึงจะแล้วเสร็จ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการจัดจ้างตามแนวทางที่คณะทำงานดังกล่าวเสนอ ผ่านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับ ดูแล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ พิจารณาแล้วเห็นชอบและอนุมัติให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2552 ซึ่งคณะรัฐมนตรีในการประชุมครั้งที่ 7/2552 เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 พิจารณาแล้วมีมติ อนุมัติหลักการตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ และให้ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ซึ่งกรณีดังกล่าวสำนักงบประมาณเห็นด้วยกับแนวทางที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ และมีความเห็นโดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการก่อสร้างตามความจำเป็นเร่งด่วน จากนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงเสนอขออนุมัติจัดจ้างเป็นรายภาค 9 ภาค (ภาค 1 – 9) ต่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ตามแนวทางที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เคยอนุมัติให้ดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) มาก่อนแล้ว นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วได้มีบันทึกลงวันที่ 26 สิงหาคม 2552 เห็นชอบและให้ดำเนินการตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเสนอ

ต่อมาพลตำรวจเอก ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มีบันทึกลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 ถึงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีขออนุมัติเปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดจ้างจากเดิมที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแนวทางการจัดจ้างโดยให้กระจายการจัดซื้อจัดจ้างไปตามตำรวจภูธรภาค หรือตำรวจภูธรจังหวัด เปลี่ยนเป็นโดยกองโยธาธิการ สำนักงานส่งกำลังบำรุง เป็นหน่วยงานจัดจ้างก่อสร้างทุกอาคารรวมกันในครั้งเดียว โดยอ้างว่าเพื่อให้ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 และไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วได้อนุมัติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดจ้าง โดยไม่นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงเสียก่อน อันเป็นการอนุมัติโดยไม่มีอำนาจโดยรู้อยู่แล้วว่าแนวทางที่ตนอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงดังกล่าวการก่อสร้างจะไม่แล้วเสร็จ

ต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย (แฟลต) จำนวน 163 หลัง ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงิน 3,709,880,000 บาท ตามประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2552 ซึ่งตามประกาศประกวดราคาดังกล่าวแบบรูปรายการละเอียดกำหนดขนาดความยาวเสาเข็มตอกไว้ที่ 21 เมตร ต่อต้น ผู้เสนอราคาจะต้องยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องตามแบบรูปรายการดังกล่าว และเมื่อสิ้นสุดการประกวดราคาผู้ชนะการประกวดราคาจะต้องจัดทำบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคา (BOQ) ตามที่ได้ยืนราคาครั้งสุดท้ายส่งให้คณะกรรมการประกวดราคาภายใน 3 วัน ปรากฏว่าการประกวดราคาดังกล่าว บริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งเข้าร่วมเสนอราคาครั้งนี้ด้วย ได้เสนอขนาดความยาวของเสาเข็มตอกที่ความยาวเพียง 8 เมตร ต่อต้น ซึ่งไม่ถูกต้องตามแบบรูปรายการละเอียดที่กำหนดความยาว จำนวน 21 เมตร ต่อต้น จึงเป็นการยื่นเสนอราคาโดยไม่ถูกต้องตามประกาศประกวดราคา จะต้องถูกตัดสิทธิมิให้เข้าร่วมแข่งขันเสนอราคาในครั้งนี้ แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการประกวดราคากลับพิจารณาให้บริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้ผ่านคุณสมบัติจนมีสิทธิเข้าแข่งขันเสนอราคา และต่อมาก็ปรากฏว่าบริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา การเสนอราคาของบริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ดังกล่าวจึงเป็นการเอาเปรียบผู้เสนอราคารายอื่นที่ต้องเสนอขนาดความยาวเสาเข็มตอก จำนวน 21 เมตร/ต้น ซึ่งมีราคาสูงกว่ามาก การเสนอราคาจึงไม่มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม นอกจากนั้น ยังปรากฏว่าราคาเสาเข็มตอกที่บริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เสนอ ราคาต้นละ 4,050 บาท ยังต่ำกว่าราคาตามท้องตลาด โดยตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์กำหนดราคาเสาเข็มตอกขนาดความยาว 21 เมตร ราคา 8,151.15 บาท ต่อต้น และต่ำกว่าราคากลางของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่กำหนดราคาเสาเข็มตอกไว้ 6,360 บาท ต่อต้น แต่คณะกรรมการประกวดราคาก็มิได้พิจารณาว่าราคาที่เสนอดังกล่าวมีความถูกต้องเหมาะสมหรือไม่อย่างไร จนสำนักงานตำรวจแห่งชาติทำสัญญาบริษัท พีซีซีดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้รับจ้าง ตามสัญญาลงวันที่ 31 มีนาคม 2553 และต่อมาเป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติหักลดค่าเสาเข็มที่ตอกไม่ครบถ้วนตามแบบรูปรายการได้น้อยกว่าราคาที่แท้จริง เป็นเงินทั้งสิ้น 14,112,489.56 บาท และต่อมาก็ปรากฏว่าการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา (ก่อสร้างเสร็จ จำวน 82 หลัง ไม่เสร็จ จำนวน 81 หลัง) ทั้งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ขยายระยะเวลาการก่อสร้างออกไปอีกจำนวนหลายครั้ง แต่ผู้รับจ้างก็ไม่สามารถทำการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญาได้ จนสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 และต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองให้บริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายรวมค่าปรับเป็นเงิน จำนวน 3,994,499,254.91 บาท

นอกจากนั้น ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในระหว่างการก่อสร้างพันตำรวจโท คมกริบ นุตาลัย ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้าง ตำรวจภูธรภาค 6 ได้เรียกรับเงินจากผู้รับจ้างเพื่อแลกกับการช่วยเหลือในการตรวจการจ้างเป็นเงิน จำนวน 60,000 บาท และดาบตำรวจ สายัณ อบเชย ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ตำรวจภูธรภาค 5 ได้เรียกรับเงินจากผู้รับจ้างเพื่อแลกกับการช่วยเหลือในการควบคุมการก่อสร้างเป็นเงิน จำนวน 91,618,000 บาท อันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาแต่ละรายแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 8 เสียง ดังนี้

  1. การกระทำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นกรรมเดียวกันกับกรณีอนุมัติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดจ้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 แห่ง 
    ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้วินิจฉัยแล้วว่าการกระทำดังกล่าวมีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
  2. การกระทำของคณะกรรมการประกวดราคา ได้แก่ พลตำรวจโท ธีรยุทธ กิติวัฒน์
    พลตำรวจตรี สัจจะ คชหิรัญ พันตำรวจเอก ปัทเมฆ สุนทรานุยุตกิจ พันตำรวจเอก จิรวุฒิ จันทร์เพ็ญ พันตำรวจตรี สิทธิไพบูลย์ คำนิล พันตำรวจเอก พิชัย พิมลสินธุ์ และพันตำรวจตรี สมาน สุดใจ มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6)
  3. การกระทำของดาบตำรวจ สายัณ อบเชย มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 มาตรา 151 และมาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6) 
  4. การกระทำของพันตำรวจโท คมกริบ นุตาลัย คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติด้วยคะแนนเสียง 5 เสียง ต่อ 3 เสียง ว่ามีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 มาตรา 151 และมาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6) 
  5. การกระทำของ บริษัท พีซีซีฯ โดยนายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล กรรมการผู้จัดการ ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทฯ และนายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล ในฐานะส่วนตัว มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มาตรา 10 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
ให้ส่งเรื่องรายงาน เอกสารหลักฐาน พร้อมความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษา ตามมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และส่งรายงาน เอกสารหลักฐานพร้อมความเห็น ไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัย ตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 92 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 แล้วแต่กรณีต่อไป

หมายเหตุ : การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุดผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด (อ่านต้นฉบับ)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้