รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 20.15 น.

Last updated: 24 ก.พ. 2562  |  2377 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 20.15 น.

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 20.15 น.
-------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

จากในอดีตที่ผ่านมา ถนน ทางรถไฟ  สายไฟฟ้า จะเป็นดัชนีชี้วัดการนำพาความเจริญไปสู่ท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกล  แต่ในยุคปัจจุบัน ในยุคดิจิทัล แม้ดัชนีชี้วัดความเจริญจะไม่แตกต่างจากเดิมไปมากนัก แต่ก็ด้วยความซับซ้อนและการแข่งขันที่สูง ในบริบทของโลกที่ผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้รัฐบาลนี้ จำเป็นต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถในด้านต่าง ๆ เพื่อที่จะนำพาประเทศก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางและยกระดับการพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดด โดยให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาทุนมนุษย์ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการลงทุน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อจะก้าวไปสู่กลุ่มประเทศที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง ๆ ของประเทศ ซึ่งหยุดนิ่งมากว่า 10 ปี อาทิ (1) การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและขนส่ง แบบไร้รอยต่อ เพื่อเชื่อมไทยเชื่อมโลก และปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการในอนาคต (2) การพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคม ได้แก่ การขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ต เน็ตประชารัฐ ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน การลงทุนโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ และการพัฒนาระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา และ (3) การปรับโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับรูปแบบการค้า การเงิน การทำธุรกรรม สัญญาการบริหารจัดการและการให้บริการภาครัฐแบบดิจิทัลยุคใหม่ รวมไปถึงการแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ให้ทันสมัยและเป็นสากล อีกด้วย สิ่งเหล่านี้จะเป็นการวางรากฐานการพัฒนาเพื่อวันข้างหน้าทั้งสิ้นนะครับ

พี่น้องประชาชนที่รักครับ

นับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกปี 2551 เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการหดตัวของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก โดยเฉพาะเรื่องการส่งออก ซึ่งได้เข้ามาเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาคเอกชนไทยชะลอการลงทุน อีกทั้งยังมีปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วงถัดมา ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนยังไม่ดีนัก ภาครัฐจึงได้เข้ามามีบทบาทช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น และเร่งผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนตามมา ทั้งนี้ งานศึกษาหลายชิ้น ชี้ว่าการลงทุนภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นได้  อีกทั้งจะช่วยกระตุ้นความต้องการต่อสินค้าและบริการของประชาชน ช่วยลดต้นทุนของการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะด้านการขนส่ง ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจ ที่เป็นการขยายโครงข่ายคมนาคม ซึ่งจะเอื้อให้เกิดการกระจายตัวของความเจริญไปยังชนบท รวมทั้ง ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนและการสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดีอีกด้วย 

อย่างไรก็ดี การลงทุนภาครัฐ ก็ถือเป็นอีกค่าใช้จ่ายที่จะส่งผลกระทบต่อหนี้สาธารณะของประเทศ โดยในปีงบประมาณ 2561 ที่ผ่านมา จากรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของภาครัฐ มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 73 และ 22 ของงบประมาณทั้งหมดตามลำดับ ซึ่งการนี้ รัฐบาลก็ได้เร่งลงทุนในโครงการต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สัดส่วนการลงทุนภาครัฐปรับขึ้นร้อยละ 5 ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ล่าสุด ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะเทียบกับ GDP ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ อยู่ที่ร้อยละ 41.8  ซึ่งแม้จะยังต่ำกว่าเกณฑ์สากลที่ร้อยละ 60 แต่รัฐบาลนี้ ก็ให้ความสำคัญกับการรักษาวินัยทางการคลัง เพื่อให้สามารถดำเนินนโยบายต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่นทั้งในระยะปานกลางถึงระยะยาว โดยจะต้องไม่ให้เกิดภาระหนี้ภาครัฐ ที่จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประเทศ อีกทั้งรัฐสามารถที่จะเพิ่มรายได้และใช้จ่ายงบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

หากจะเปรียบเทียบแล้ว ระดับการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยในปัจจุบัน ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ขณะที่การลงทุนในประเทศอื่น ๆ สามารถฟื้นตัวกลับมาลงทุนได้สูงกว่าในช่วงวิกฤตดังกล่าว โดยประเทศไทย ก็มีความจำเป็นและมีศักยภาพที่จะเร่งกระตุ้นการลงทุนเพิ่มเติม โดยเริ่มจากการลงทุนของภาครัฐ ภายใต้ความระมัดระวังในเรื่องวินัยการคลัง ด้วยการเร่งหาแหล่งเงินทุนและแนวทางการทำงานในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อช่วยลดทอนการใช้จ่ายภาครัฐที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมีต่อเนื่อง และไม่เป็นภาระของประเทศมากจนเกินไป ทั้งนี้ แนวทางสำคัญที่รัฐบาลนี้นำมาใช้ดำเนินการเพิ่มขึ้นก็คือ โมเดลธุรกิจแบบร่วมทุน หรือ การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ที่เรียกกันย่อ ๆ ว่า PPP  ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อจัดทำโครงการโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐ แต่รัฐมอบหมายให้เอกชนดำเนินการจัดทำโครงการดังกล่าวแทน ผ่านสัญญาร่วมลงทุน โดยเอกชนอาจเข้ามามีส่วนร่วมในการก่อสร้าง การบริหารโครงการ รวมถึงได้รับผลประโยชน์จากโครงการร่วมกับรัฐด้วย ซึ่งการลงทุนในรูปแบบนี้ จะช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณภาครัฐ และหนี้สาธารณะของประเทศได้ รวมถึงช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถของประเทศ และยกระดับบริการด้านสาธารณูปโภคให้เพียงพอต่อความต้องการของพี่น้องประชาชน

สำหรับโมเดล PPP นี้ ทำได้หลายรูปแบบ โดยสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับประเภทของโครงการ เช่น โครงการรถไฟฟ้า ที่รัฐร่วมลงทุนที่ดินและก่อสร้างให้ ส่วนเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนตัวรถ  ระบบเดินรถและการเดินรถ ซึ่งเอกชนต้องรับความเสี่ยงจากผลประกอบการ และต้องส่งมอบ กรรมสิทธิ์ทรัพย์สินของโครงการให้แก่ภาครัฐเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาสัญญา เป็นต้น  จึงไม่ต้องกังวลว่ารัฐบาลนี้ จะยกทรัพย์สินของรัฐให้เอกชนไปเลย ที่ผ่านมารัฐบาลนี้สามารถทำให้มีรถไฟฟ้าสำหรับพี่น้องประชาชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้ทั้งหมด 10 สาย รวมส่วนต่อขยาย  เทียบกับก่อนเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งดำเนินการอยู่เพียง 2 สาย ทั้งนี้การให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมนั้น นอกจากจะช่วยลดภาระงบประมาณของภาครัฐดังกล่าวข้างต้น ที่สำคัญที่สุดคือ การให้เอกชนบริหารนั้น ช่วยให้พี่น้องประชาชนได้รับบริการที่ดีจากการบริการของภาคเอกชน ที่ต้องคำนึงถึงคุณภาพการบริการ การแข่งขันกัน แล้วก็ความเป็นมืออาชีพ  เพื่อให้มีจำนวนผู้ใช้บริการมาก ๆ เพราะนั่นเป็นแหล่งรายได้ของเขาด้วย อย่างไรก็ดี เพื่อให้โมเดล PPP เกิดประโยชน์กับประเทศสูงสุด รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดทำ PPP ตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนดเงื่อนไขการร่วมทุน (TOR) ที่ต้องไม่เอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป และกำหนดเงื่อนไขโครงการที่ประชาชนจะได้ประโยชน์มากที่สุด รัฐบาลนี้ได้นำเรื่องข้อตกลงคุณธรรม คือการให้มีผู้สังเกตการณ์อิสระร่วมด้วยในกระบวนพิจารณาโครงการร่วมทุน ซึ่งหมายถึง รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับการสร้างความโปร่งใส หรือลดความเสี่ยงคอร์รัปชันของโครงการให้มากที่สุด นอกจากนี้ การติดตามให้ทั้งฝ่ายรัฐและเอกชนดำเนินการตามสัญญาที่ให้ไว้ต่อกัน ไม่ให้โครงการสะดุด ก็เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้โครงการร่วมทุนเกิดขึ้นได้ตามกำหนดเวลาที่วางไว้นะครับ

ทั้งนี้ การลงทุนแบบ PPP ไม่เพียงจะช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐได้มากมายแล้ว ก็ยังเปิดโอกาสให้ภาครัฐสามารถบริหารงบประมาณแผ่นดิน ไปเร่งลงทุนในโครงการที่จำเป็นและสำคัญอื่น ๆ   เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและยกระดับศักยภาพของประเทศในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ด้วย ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐทั้งปวง  จะต้องช่วยกันดูแลให้รายจ่ายประจำ รายจ่ายลงทุน สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและเบิกจ่ายให้ได้ตามกำหนดเวลา โดยต้องมองภาพแผนการใช้จ่ายในระยะปานกลางถึงระยะยาว ทั้งนี้ ก็เพื่อจะรักษาวินัยการคลังของประเทศอีกด้วย

สำหรับกรณีงบประมาณค่าใช้จ่ายทุกกระทรวง ทั้งฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายอื่น ๆ ให้ดูจากข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร รายได้ของประเทศเพิ่มขึ้นหรือไม่ ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปีปัจจุบัน แล้วการจัดสรรงบประมาณให้แต่ละกระทรวงเพิ่มขึ้นอย่างมีสัดส่วนสัมพันธ์กันอย่างไร ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายความมั่นคง แต่ทุกกระทรวงย่อมกำหนดสัดส่วนในงบประมาณรายรับ – รายจ่าย อย่างชัดเจน  รัฐบาลทุกรัฐบาลจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับทุกหน่วยงาน ทุกกิจกรรม ทั้งในส่วนของประชาชน และในส่วนของพลเรือน ตำรวจ ทหาร ซึ่งจะเห็นได้ว่างบประมาณที่ลงไปสู่ประชาชนมากกว่าเดิมในทุกมิติ  ทั้งระบบงานในปัจจุบันและการลงทุนเพื่อสร้างอนาคต สร้างรายได้ให้กับประเทศ ไม่อยากให้นักการเมือง พรรคการเมือง นำมาหาเสียง ที่คลุมเครือไม่ชัดเจน จนนำมาซึ่งการสร้างความเกลียดชัง โดยไม่มีหลักการ ไม่เข้าใจกฎหมาย พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี  หรือ พ.ร.บ. การเงินการคลังของรัฐ ซึ่งรัฐบาลนี้ยังไม่ได้ทำให้หนี้สาธารณะสูงขึ้น หรือกองทุนเงินสำรองของประเทศลดน้อยลงไปแต่อย่างใดนะครับ  การใช้จ่ายงบประมาณด้านความมั่นคงก็ใช้งบประมาณในส่วนที่ได้รับจัดสรร ใช้ในการซ่อมแซม  จัดซื้อ จัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อให้สามารถดำรงสภาพและศักยภาพของกองทัพของเราทุกคน

ดังนั้น สิ่งที่เราคนไทยควรระลึกถึง คิดให้ถูกต้อง ก็คือ ความมั่นคง ความมีเสถียรภาพศักยภาพความสงบเรียบร้อย เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ  ถ้าบ้านเมืองไม่มีความมั่นคง ไม่มีเสถียรภาพ เราก็จะทำอย่างอื่น ๆ ไม่ได้เลย และเราต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาประเทศ อีกด้วย สิ่งที่หลายคนพยายามโจมตี ให้ดูว่าความมุ่งหมายอย่างไร คืออะไร วันนี้มีเพียงทหารและสถาบันที่เข้มแข็ง หากจะมีใครมุ่งทำลาย 2 สิ่งนี้อยู่หรือไม่ ช่วยกันคิดดูนะครับ

สุดท้ายนี้ ผมขอเรียนว่าผลการจัดอันดับต่าง ๆ ของประเทศไทยในระดับโลก ในปี 2561 เราได้รับการปรับอันดับดีขึ้นในหลาย ๆ ด้าน อาทิ การวัดประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ (International Logistics Performance Index) ดีขึ้น13 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 32  การจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก 4.0 (Global Competitiveness Index: GCI 4.0) ดีขึ้น 2 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 32  และ ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ดีขึ้นถึง20 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 26 นั้น ล้วนเป็นผลโดยตรงและโดยอ้อม จากการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ตามที่ผมได้กล่าวมาในช่วงแรก

ผมอยากให้ประชาชนคนไทยมองโลกให้กว้าง ให้เห็นประเทศอื่น ๆ ว่าเขามีการเมืองเศรษฐกิจ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ อย่างไรบ้าง ซึ่งแต่ละประเทศย่อมมีรากฐานมีเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศ  มีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมที่แตกต่าง ผมไม่ได้ต้องการสร้างการเปรียบเทียบ แต่อยากให้รับรู้ภาพกว้างไปพร้อม ๆ กันและภาคภูมิใจในความเป็นไทยของเราครับ เราจะได้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นไทยของเรา สำหรับช่วงท้ายนี้ ผมอยากให้พี่น้องประชาชนได้ชมวีดิทัศน์ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ดังกล่าว ได้แก่ (1) 4 ปีและในอนาคต คมนาคมไทย เพื่อความสุขของประชาชน ที่จะแสดงให้เห็นว่าคนไทยจะได้อะไร จากการเร่งรัดลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลนี้ และ (2) โครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินบนเส้นทางสายสำคัญในกรุงเทพมหานคร ระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร  หลังจากที่หยุดชะงักมานานกว่า 30 ปี  โดยรัฐบาลนี้ เร่งรัดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปีจากแผนเดิม 10 ปี รวมความหมายถึงในพื้นที่อื่น ๆ ด้วยนะครับ หลาย ๆ จังหวัดก็มีการร้องขอขึ้นมา ก็จะได้รับการพิจารณาต่อไป เพื่อจะทำให้พื้นที่โดยรอบได้มีทัศนียภาพที่สวยงาม ส่งเสริมให้เกิดการเติบโตทางธุรกิจท่องเที่ยว และเกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศไทย

ขอบคุณครับ ขอให้ทุกคนหนักแน่น ใช้วิจารณญาณในการรับ และส่งต่อข้อมูลข่าวสาร และช่วยกันรักษาบรรยากาศแห่งความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ ต่อไปนะครับ ขอบคุณครับ สวัสดีครับ

.......................................................
 อนึ่ง วีดีทัศน์ ประกอบรายการสัปดาห์นี้ ดังนี้1. “4 ปีและในอนาคต” คมนาคมไทยเพื่อความสุขของประชาชน
<ดาวน์โหลด https://www.youtube.com/watch?v=GxBxtIagXtw

        ตลอด 4 ปีและอนาคตข้างหน้า กระทรวงคมนาคมทำงานภายใต้นโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อการพัฒนาอย่าง “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” และคนไทยมีความสุข ตลอดทุกการเดินทาง
        “4 ปี + อนาคตคนไทยได้อะไร...?” จากรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน คนกรุงเทพฯ จะได้ใช้รถไฟฟ้า ที่เชื่อมโยงโครงข่ายทั่วทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้อย่างรวดเร็ว ครอบคลุมมากที่สุดในรอบ 20 ปี ได้เดินทางจากบางใหญ่ถึงบางซื่อ ในเวลาที่รวดเร็ว (ระยะทาง 23 กิโลเมตร 16 สถานี) ด้วยรถไฟฟ้าสายสีม่วง พร้อมเชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จากบางซื่อถึงเตาปูน โดยไม่ต้องเปลี่ยนสถานี
        ได้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจากกลางเมือง ถึงสำโรง อย่างสะดวก (พร้อมเดินหน้าขยายเส้นทางถึงสมุทรปราการในอนาคต ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ ระยะทาง 13 กิโลเมตร 9 สถานี) และอีกไม่นาน จะได้ใช้บริการรถไฟฟ้าครอบคุลมทุกทิศทาง เช่น เข้าถึงฝั่งธนบุรี ด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ ระยะทาง 27 กิโลเมตร 21 สถานี)  ซึ่งมีสถานีที่โดดเด่น สวยงาม มีความเป็นเอกลักษณ์ เชื่อมต่อตลิ่งชัน และรังสิต – ปทุมธานี ด้วยรถไฟฟ้าสายสีแดง (ระยะทาง 41 กิโลเมตร 13 สถานี) เข้าถึงฝั่งมีนบุรี ด้วยรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี ระยะทาง 41 กิโลเมตร 13 สถานี) ได้ใช้ Monorail 2 สายแรกของประเทศ กับรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย – มีนบุรี ระยะทาง 35 กิโลเมตร 30 สถานี)
และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ระยะทาง 30 กิโลเมตร 23 สถานี)
        เดินทางสะดวกยิ่งขึ้น ด้วยบัตรแมงมุม “ตั๋วร่วม” ที่ใช้ได้กับรถไฟฟ้า รถโดยสาร ขสมก. และรถไฟฟ้า Airport Rail Link (เปิดใช้บริการ 23 มิถุนายน 2561 เชื่อมต่อรถไฟฟ้า – รถไฟ – รถโดยสาร – เรือ) เชื่อมกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อผู้ที่มีรายได้น้อย และจะขยายการเชื่อมโยงไปสู่การเดินทางอื่น ๆ ในอนาคต
        คนไทยได้อะไร...จากการพัฒนารถไฟ เร็ว ๆ นี้ คนไทยจะได้ใช้ สถานีกลางบางซื่อ จุดเริ่มต้นของการเดินทางโดยรถไฟยุคใหม่ ทุกระบบ เป็น “ศูนย์กลางระบบรางแห่งใหม่ของประเทศ” (เปิดให้บริการ ปี 2563) รวมทั้งเป็น “ศูนย์กลางของ Smart City” ย่านธุรกิจการค้าใหม่ของอาเซียน และวันนี้ คนไทยได้ใช้บริการรถไฟขบวนใหม่ ที่สะอาด ปลอดภัยมากขึ้น เด็ก ๆ และสตรีได้ใช้บริการ “ตู้พิเศษ” และนักท่องเที่ยวได้ใช้บริการท่องเที่ยวทางรถไฟ สู่แหล่งท่องเที่ยวที่ประทับใจ ผู้ประกอบการส่งสินค้าได้รวดเร็ว ตรงเวลายิ่งขึ้น ด้วยรถไฟทางคู่16 สายทาง กว่า 3,000 กิโลเมตร ซึ่งปลอดภัยกว่า เพราะไม่มีจุดตัดกับถนนในระดับพื้นดิน และในอนาคตจะได้ใช้รถไฟความเร็วสูง สู่ทั้ง 4 ภาค ทั้งเหนือ – อีสาน – ตะวันออก – และใต้ ซึ่งสายแรกกรุงเทพฯ – นครราชสีมา เริ่มก่อสร้างแล้ว (ระยะทาง 252 กิโลเมตร จะเปิดให้บริการในปี 2566)
        คนไทยได้อะไร...จากการโครงข่ายถนน คนไทยในชนบทได้ใช้ถนนลาดยาง (เปลี่ยนจากถนนลูกรัง) ทั่วประเทศ เกือบ 7,000 กิโลเมตร การเดินทางระหว่างจังหวัดและภูมิภาค มีความคล่องตัว ปลอดภัย ด้วยการขยายทางหลวงและทางหลวงชนบท จาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทางเกือบ 2,500 กิโลเมตร การขนส่งสินค้ารวดเร็วด้วยโครงข่ายมอเตอร์เวย์ระยะทางรวม 324 กิโลเมตร และประชาชนในเมืองใหญ่ทั่วประเทศ เดินทางคล่องตัวขึ้น เลี่ยงรถติดในเมือง ด้วยการเดินทางบนทางด่วน อุโมงค์ ทางลอด และสะพานข้ามแม่น้ำ ที่ช่วยแก้ปัญหาจราจร
        คนไทยเดินทาง “ทางอากาศ” ดีขึ้นอย่างไร การใช้บริการที่ท่าอากาศยาน สะดวก รวดเร็วขึ้น จากการปรับปรุงท่าอากาศยานหลักของไทย ท่าอากาศยานนานาชาติ และท่าอากาศยานภูมิภาคทั่วประเทศ อาทิ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 พร้อมเปิดใช้บริการ 2565 รองรับผู้โดยสารได้ 90 ล้านคนต่อปี ท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 3 พร้อมเปิดใช้บริการ 2568 รองรับผู้โดยสารได้ 40 ล้านคนต่อปี ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเริ่มดำเนินการปี 2562 รองรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคนต่อปี และท่าอากาศยานใหม่ คือ ท่าอากาศยานเบตง จังหวัดยะลา
        คนไทยเดินทาง “ทางน้ำ” ดีขึ้นอย่างไร ผู้ใช้เรือโดยสารกรุงเทพฯ ได้ใช้เรือโดยสารที่ปลอดภัย ด้วยสถานีเรือด่วนในแม่น้ำเจ้าพระยา 19 แห่ง เปิดให้บริการปี 2560 เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทาง ไม่ต้องเผชิญปัญหารถติดบนท้องถนน นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์เดินทางและท่องเที่ยวทางทะเลใหม่ ด้วยเรือเฟอร์รี่ ข้ามอ่าวไทย เส้นทางพัทยา – หัวหิน ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง 40 นาที ซึมซับเสน่ห์ทะเลใต้ ส่งเสริมการท่องเที่ยววงแหวนอันดามัน 3 เส้นทาง ภูเก็ต – พังงา – กระบี่ และโดยสารเรือโดยสารประจำทาง ฝั่งอ่าวไทย 5 เส้นทาง ที่สะดวกและรวดเร็ว ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ จะได้ใช้ท่าเรือระดับโลก ท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 รองรับสินค้า 18.1 ล้าน TEUs ต่อปี เปิดให้บริการปี 2563 และเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าจากภาคต่าง ๆ ของประเทศ ผ่านลำน้ำป่าสัก  สามารถรองรับปริมาณสินค้า 50 ล้านตันต่อปี และท่าเรือบก สู่อ่าวไทย
        ทั้งหมดนี้ กระทรวงคมนาคมมุ่งมั่นทำด้วยใจ เพื่อให้คนไทยมีความสุขทุกการเดินทาง และเพื่อประเทศไทยเจริญก้าวหน้า อย่าง “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” One Transport for all on the move 
2. โครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน

<ดาวน์โหลด https://youtu.be/vbSFL_RAbSY

       บรรยากาศการก่อสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินบนถนนนานาแห่งนี้ กลายเป็นภาพชินตาของนักท่องเที่ยวยามค่ำคืนที่เป็นทั้งชาวไทย และต่างประเทศ เนื่องจากถนนแห่งนี้เป็นโครงการล่าสุดที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ดำเนินการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศ เป็นสายไฟฟ้าใต้ดินแล้วเสร็จ จนทำให้พื้นที่แห่งนี้มีทัศนียภาพที่สวยงามและมีความมั่นคงของระบบไฟฟ้า พร้อมรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
        จากโครงการล่าสุด ย้อนกลับไปโครงการแรกที่การไฟฟ้านครหลวง ได้นำสายไฟฟ้าลงใต้ดินที่ถนนสีลม เมื่อปี 2527 แต่ด้วยปัญหาในด้านเทคโนโลยี ตลอดจนนโยบายภาครัฐที่ทำให้การดำเนินโครงการไม่สามารถดำเนินการได้อย่างคล่องตัว จนกระทั่งเมื่อ 1 กันยายน 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน “เพิ่มเติม” ในแผนเพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน ระยะทาง 127.3 กม. ภายใต้งบประมาณกว่า 48,000 ล้านบาท จึงทำให้จากเดิมที่เคยมีโครงการทั้งสิ้น 87.3 กิโลเมตร ได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 214.6 กิโลเมตร พร้อมทั้งเร่งรัดให้โครงการทั้งหมดจากระยะเวลาเดิม 10 ปี ให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี
        ด้วยระยะเวลาที่จำกัด การไฟฟ้านครหลวงจึงได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการขับเคลื่อนโครงการ จึงทำให้เกิดการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่าง 5 หน่วยงาน ซึ่งประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (TOT) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (CAT) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะมีบทบาทในการสนับสนุนโครงการของ กฟน. เช่น กรุงเทพมหานคร สนับสนุนด้านการอำนวยความสะดวกในบริเวณพื้นที่ทางเท้าสำหรับดำเนินโครงการฯ  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สนับสนุนการแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่ก่อสร้าง TOT CAT และ กสทช. ร่วมแก้ไขปัญหาสายสื่อสารโดยวิธีการขอความร่วมมือผู้ประกอบการที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้นำสายสื่อสารลงใต้ดินไปพร้อม ๆ กับการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินของ กฟน.
        กระทั่งปัจจุบัน โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินทั้งหมดของ กฟน. มีจำนวนระยะทางทั้งสิ้น 214.6 กิโลเมตร ในจำนวนนี้ มีโครงการที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 45.6 กิโลเมตร โครงการที่อยู่ระหว่างกำลังดำเนินการก่อสร้าง 54.1 กิโลเมตร และโครงการที่อยู่ระหว่างจัดหาผู้รับจ้าง 114.9 กิโลเมตร
        โดยล่าสุด ในปี 2562 มีโครงการที่จะแล้วเสร็จ ประกอบด้วย (1) โครงการถนนพิษณุโลก ถนนนครสวรรค์ และถนนเพชรบุรี (2) โครงการถนนนานา (3) โครงการถนนสาธุประดิษฐ์ และถนนสว่างอารมณ์ (4) โครงการถนนวิทยุ ระยะทางรวม 5.1 กิโลเมตร
        นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่จะลงนามสัญญาก่อสร้างเพิ่มเติมอีก 114.9 กิโลเมตร คิดมูลค่าของสัญญาเป็นจำนวนกว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งได้แก่ โครงการในพื้นที่เมืองชั้นใน โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ และโครงการร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภคอื่น
        อย่างไรก็ตาม นอกจากการก่อสร้างที่ได้มาตรฐานแล้ว สิ่งที่ กฟน. ให้ความสำคัญ คือ ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนได้รับทราบข้อมูลของแต่ละโครงการฯ พร้อมจัดให้มีศูนย์ประสานงานของ กฟน. ในบริเวณพื้นที่โครงการ เพื่อรับฟังปัญหาและนำมาพิจารณาปรับปรุงแผนงานให้มีความเหมาะสมและส่งผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่จะทำให้เมืองหลวงมีภาพลักษณ์ที่สวยงาม สามารถรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และทำให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตของประชาชน


ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้