รายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562

Last updated: 1 ก.พ. 2562  |  2713 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 20.15 น.
-------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

ประเทศไทยเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ประชากรกว่า 30 ล้านคน หรือเกือบ 50% ของคนทั้งประเทศ จะมีอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และทำประมง โดยเชื่อมโยงกันเป็นห่วงโซ่ ตั้งแต่ผู้ผลิต อุตสาหกรรมแปรรูป ไปจนถึงการค้าขาย ส่งออก ไปสู่ตลาดภายในและภายนอกประเทศแต่ทำไมปัญหาชาวนาไทย ชาวสวน ชาวประมง ยังคงวนเวียนอยู่กับการฝันร้ายด้วยราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำบ้าง ภัยพิบัติทางธรรมชาติ น้ำท่วม ฝนแล้ง แมลงลง โรคระบาดบ้าง เป็นหนี้เป็นสิน ต้องเช่าที่ดินของตนเองทำกินบ้างการทำมาก ลงทุนมาก แต่ได้ผลผลิตน้อย ไม่คุ้มค่าเหนื่อยบ้าง สิ่งเหล่านี้ คือความเสี่ยง ความไม่มั่นคงในชีวิตและอาชีพของพี่น้องเกษตรกรไทยนะครับ 

วันนี้ ผมอยากจะมาพูดคุยกับพี่น้องเกษตรกร และผู้ที่อยู่ในแวดวงการเกษตรของเราเป็นการเฉพาะ อาทิ ข้าราชการที่นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ โดยจะต้องสร้างการรับรู้ ทำความเข้าใจ แล้วชักชวนให้มาร่วมมือ ไปสู่การเอาชนะปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ นานา ที่ผมได้กล่าวไป ภาคเอกชน ผู้ประกอบการก็ต้องปรับตัว หันมาร่วมมือ สนับสนุนนโยบายของภาครัฐ ในรูปแบบของประชารัฐ เพราะท่านก็เป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่การผลิต แปรรูป การตลาดของเกษตรกรรมไทย เช่นกัน รวมไปถึงนักวิชาการเกษตรที่เป็นแหล่งความรู้ และธนาคารที่เป็นแหล่งเงินทุน ที่จะคอยส่งเสริมการยกระดับอาชีพเกษตรกรได้เช่นกัน ทั้งทางตรงและทางอ้อม

นโยบายหลักด้านการเกษตรของรัฐบาลในปัจจุบัน ก็คือ “ตลาดนำการผลิต” เป็นการกำหนด โควตาเกษตรกรรมด้วยการอาศัยข้อมูลของ (1) พื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศ (2) ความอุดมสมบูรณ์ของน้ำ (3) ลักษณะของดิน และ (4) ความต้องการของตลาดในประเทศและนอกประเทศ เช่น ที่ลุ่ม น้ำดี ก็ควรปลูกข้าว ที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ แถมน้ำน้อยก็อย่าฝืนปลูกข้าว ควรหันไปปลูกข้าวโพด หรือพืชชนิดอื่นก็ได้ ปัจจุบันยังมีความต้องการมาก ราว 4 ล้านตัน แต่เราผลิตได้เองเพียง 2 ล้านตัน อีก 2 ล้านตันต้องนำเข้า ส่วนข้าวนั้น ในแต่ละปีเราผลิตข้าวได้ 33 – 34 ล้านตันข้าวเปลือก กินเองในประเทศ 20 ล้านตัน ที่เหลือก็ต้องส่งออก แต่ถ้าตลาดผันผวน ค่าเงินบาทแข็งค่า เราก็จะมีปัญหาราคาข้าวไม่มีเสถียรภาพ การแก้ไขที่ยั่งยืนก็คือ การจำกัดพื้นที่การปลูกข้าว ร่วมกับการส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์ข้าวที่ราคาดี ราคาสูง ที่เป็นความต้องการของตลาด เช่น ข้าวหอมมะลิที่ทั่วโลกนิยม ข้าว กข 43 ซึ่งมีดัชนีน้ำตาลต่ำ เป็นอาหารสุขภาพเหมาะสำหรับผู้ต้องการควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดและผู้ป่วยโรคเบาหวาน รวมไปถึงข้าวที่ปลูกแบบอินทรีย์ซึ่งขายได้ราคาสูงกว่าข้าวที่ใช้สารเคมีหลายเท่าตัว เป็นต้น 

ดังนั้น ในการส่งเสริมพี่น้องเกษตรกร ต่อไปเราจะไม่เพียงแนะนำแต่เรื่องการเพาะปลูก แต่จะต้องดูเรื่องดิน น้ำ อากาศ ไปจนถึงตลาดด้วย ซึ่งการจะทำอย่างนั้นได้ เราต้องพัฒนาข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (Big Data) และมีแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri - Map) ซึ่งนำข้อมูลมาจากทุกแหล่ง มาบูรณาการกัน ทั้งเกษตร พาณิชย์ นายอำเภอ ธ.ก.ส. พัฒนาที่ดิน ส่วนตลาดต่างประเทศ “ทูตเกษตร” กับ “ทูตพาณิชย์” ก็ต้องทำงานร่วมกัน คู่ขนานกัน โดยจะต้องออกสำรวจความต้องการตลาดและขยายตลาดทั่วโลกเพิ่มด้วยเราจะต้องไม่ปล่อยให้เป็นปัญหาเหมือนยางพารา ที่มีการส่งเสริมโดยไม่มีแผนการรองรับเหมือนในอดีต ที่ส่งผลในปัจจุบัน 

เราจะต้องใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ที่เรียกว่า ศพก. และระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่เป็นเครื่องมือสำคัญ รวมทั้งการสร้าง Smart Farmers และเกษตรกรรุ่นใหม่ ส่งเสริมการรวมกลุ่มและสถาบันเกษตรกรที่เข้มแข็ง เป็นสหกรณ์ เป็นวิสาหกิจชุมชน ที่เน้นการนำนวัตกรรมมาปรับใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต ปรับตัวไปสู่การค้าออนไลน์ ตลาดอีคอมเมิร์ซ โดยต้องให้ความสำคัญกับมาตรฐาน GAP พืชอาหารที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความปลอดภัย และสวัสดิภาพของเกษตรกรด้วย โดยยึดหลัก Smart & Strong together หรือ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ ร่วมแก้ไขปัญหาและร่วมรับประโยชน์ 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับอีก 2 เรื่อง ที่แทบจะเป็นปัญหาถาวรไปแล้ว คือ

1. การป้องกันความเสี่ยง ด้วยการประกันพืชผล โดยจัดสรรแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ จาก ธ.ก.ส. และรัฐจ่ายค่าเบี้ยประกันราคาถูกให้ (65 บาทต่อไร่) เมื่อเกิดภัยพิบัติ น้ำท่วม น้ำแล้ง โรคหรือแมลงลง รัฐจ่าย 1,000 กว่าบาทต่อไร่ และบริษัทประกันภัย ก็ร่วมจ่าย 1,500 บาทต่อไร่ เกษตรกรก็อุ่นใจ เพราะมีประกันภัยราคาถูกและ 2. หนี้สินเกษตรกร เป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุของการสูญเสียที่ดินทำกินของพี่น้องเกษตรกร เนื่องจากการกู้เงินนอกระบบที่ไม่มีการคุ้มครอง ขาดความรู้ทางกฎหมาย รัฐบาลก็แก้ไขอย่างยั่งยืน โดยการผลักดันกฎหมายขายฝาก ที่ช่วยป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบต่าง ๆ เช่นในอดีต นอกจากนี้ ยังใช้มาตรการไกล่เกลี่ยและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม แก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้กับผู้มีรายได้น้อย และเกษตรกรทั่วประเทศ สามารถส่งคืนทรัพย์สินให้กับประชาชนเกือบ 17,000 ราย มูลค่ารวม 19,000 ล้านบาท เป็นโฉนดที่ดิน 13,600 ฉบับ เนื้อที่รวม 43,000 ไร่  

พี่น้องประชาชนที่รักครับ

 ต้นไม้ถ้าปราศจากราก ก็อาจล้มโดยง่ายด้วยแรงลม ดังนั้น ชนชาติใด หากหลงลืม ละเลย ความเป็นชาติ หมายถึง ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา รากเหง้าทางวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี การทำมาหากิน การสร้างชาติของตนแล้ว ย่อมบั่นทอนความมั่นคงที่เป็นนามธรรม เหล่านี้ แม้จับต้องไม่ได้ แต่มีความสำคัญ ทั้งนี้ ชาติไทยของเราเป็นชาติกสิกรรม เรารวยที่ดิน เรารวยทรัพยากรธรรมชาติ เราก็ควรจะสืบสานและต่อยอดด้วยการบริหารจัดการ และใช้วิชาชีพเกษตรกรรมของเราในการสร้างชาติให้ได้ บางประเทศ อย่างเช่น สิงคโปร์ที่เสียเปรียบเรื่องพื้นที่ และทรัพยากร แต่เขาก็หาจุดแข็งด้วยที่ตั้งของประเทศ และความถนัดในการค้าขาย ก็สามารถสร้างชาติให้เป็นตลาดการเงิน การธนาคารที่สำคัญของโลกได้ อีกทั้ง จะเป็นผู้นำด้าน FINTECH และเทคโนโลยี Smart City ในอนาคต 

ดังนั้น ผมจึงขอนำเสนอโครงการที่สำคัญของประเทศ อันจะเป็นเส้นทางสู่การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของเรา ในอนาคต บนพื้นฐานของทรัพยากร และรากเหง้าของเราเอง คือ

(1) โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ซึ่งเป็นการพัฒนาภูมิภาค ที่เกิดจากการวิเคราะห์ความพร้อม และความเชื่อมโยงในด้านต่าง ๆ เพื่อยกระดับการพัฒนา และกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ เช่นเดียวกับ EEC และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อีก 10 แห่งทั่วประเทศ

(2) โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ซึ่งเป็นศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ แบบครบวงจร ด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมบนพื้นฐานของพืชผลทางการเกษตร ที่เรามีอยู่อย่างมากมาย แต่ที่ผ่านมา เราไม่สามารถแปรรูป หรือสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากนัก ขายออกไปในลักษณะ วัตถุดิบ ไม่ใช่นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ที่มีมูลค่าสูง นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลนี้จึงผลักดันให้เราเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนและส่งออกนวัตกรรมใหม่ ๆ ในวันข้างหน้าให้ได้โดยเร็วครับ 

สุดท้ายนี้ ก่อนที่จะชมวีดิทัศน์ ความยาวประมาณ 9 นาที เกี่ยวกับ 2 โครงการดังกล่าว ผมขอฝากความห่วงใยไปยังพี่น้องประชาชนทุกคน เกี่ยวกับปัญหาฝุ่นละออง เกินมาตรฐาน PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพวกเราทุกคน โดยเฉพาะเด็กนักเรียน ลูกหลาน ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคภูมิแพ้ รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจเลยนะครับ หรือเพิกเฉยต่อปัญหา นับตั้งแต่วันแรก ๆ จนถึงวันนี้ มาตรการที่ใช้ เราก็จำเป็นต้องเริ่มจากเบาไปหาหนัก หาสาเหตุให้เจอ เนื่องจากเราไม่ต้องการใช้มาตรการที่จะไปส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตโดยปกติของพี่น้องประชาชน จนสร้างความตื่นตระหนก ต้องช่วยกันลดความตื่นตระหนกลงให้ได้ ทุกวันนี้สังคมของเราเริ่มตระหนัก และเรียนรู้กับปัญหาร่วมกันแล้ว ลำดับต่อ ๆ ไป รัฐบาลก็จะมีมาตรการต่าง ๆ ออกมา ที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาที่ ต้นตอ โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่หวังเพียงรักษาภาพลักษณ์ แต่ต้องการแก้ปัญหาด้วยความจริงใจ จริงจัง ก็ขอความร่วมมือ ร่วมใจกันจากทุกภาคส่วน ในการแก้ปัญหานี้ร่วมกันให้ได้อย่างยั่งยืน อย่ามาคอยจับผิดจับถูกกันเลย ทุก ๆ คนต้องช่วยกันนะครับ ความคิดเห็นต่าง ๆ ผมก็รับทราบมา แล้วก็จะนำมาปรับ มาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยให้ได้ เราต้องนึกถึงคนทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้ด้วยนะครับ 

ขอบคุณครับ ขอให้ทุกคนรักษาสุขภาพ ทุกครอบครัวมีความสุขทุก ๆ วัน นะครับ สวัสดีครับ

 

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้