Last updated: 16 ธ.ค. 2561 | 2349 จำนวนผู้เข้าชม |
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------
สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รัก ทุกท่าน
ช่วงวันที่ 12 – 13 ธันวาคม ที่ผ่านมานี้ ผมและคณะรัฐมนตรีได้เดินทางไปตรวจราชการ และประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่อีกครั้งหนึ่ง ณ จังหวัดบึงกาฬ และจังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ คือ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา นอกจากนี้ ยังมีความหลากหลายและโดดเด่นทางธรรมชาติ และทางวัฒนธรรมที่พร้อมได้รับการส่งเสริม ผลักดัน ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เชิงประวัติศาสตร์ หรือแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกและเป็นดินแดนของนักแสวงบุญ ใฝ่ธรรมะ ด้วยนะครับ อีกทั้งด้วยที่ตั้ง ณ ชายแดน ที่มีแม่น้ำโขงคั่นกลาง แต่สามารถเชื่อมโยงไปมาหาสู่กับประเทศเพื่อนบ้านได้สะดวก ดังนั้น จึงได้กำหนดทิศทางการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน 1 นี้ ว่า “เกษตรอุตสาหกรรมชั้นนำ การค้าและการท่องเที่ยวสากล ชุมชนน่าอยู่อย่างยั่งยืน” ที่เรามีจุดเน้นการพัฒนา ได้แก่ (1) การเป็นประตูเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน (2) แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวิถีชีวิตลุ่มน้ำโขง และ (3) การเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านนะครับ
ปัจจุบันนั้น จังหวัดบึงกาฬ มีโครงการตัวอย่างที่น่าสนใจ ได้แก่
1. โครงการบูรณาการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อดูแลประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร เป็นบริการทางการแพทย์ขั้นพื้นฐาน อาทิ หน่วยทันตกรรม หน่วยวัดสายตา หน่วยสุขภาพจิต หน่วยแนะนำและฝึกอาชีพ รวมทั้งบริการอื่น ๆ ตามบริบทของพื้นที่ โดยกำหนดเปิดตัวโครงการที่จังหวัดบึงกาฬเป็นพื้นที่แรกของประเทศ และเริ่มต้นดำเนินการในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ถึง 3 ของเดือนธันวาคม 2561 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนอีกด้วย
2. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราที่จังหวัดบึงกาฬนี้ มีพื้นที่ปลูกยางพารา ราว 850,000 ไร่ มากเป็นอันดับ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยางพาราจึงเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของที่นี่ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพารา เพื่อจะขับเคลื่อนให้เป็นศูนย์กลางยางพาราด้านต่าง ๆ อาทิศูนย์กลางการเรียนรู้วิชาการยางพาราที่ครบวงจร ตั้งแต่คุณภาพยางพารา การจัดการวัตถุดิบ การแปรรูป การตลาด และการขนส่ง ศูนย์กลางการซื้อขายและแปรรูปยางพารา โดยมีตลาดกลางประมูลยางพารากระจายอยู่ทุกอำเภอ รวมเกือบ 100 แห่ง และมีโรงงานรับซื้อและแปรรูปยางพารา ด้วย นอกจากนี้ยังมีศูนย์กลางการส่งออกยางพารา โดยผลผลิตยางพารา จะส่งออกไปตลาดต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ทางท่าเรือแหลมฉบัง และประเทศจีนตอนใต้นะครับ
สำหรับจังหวัดหนองคาย มีโครงการที่น่าสนใจ ได้แก่
1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจากระบบประปา เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำของประชาชนและสนับสนุนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคายในอนาคต ซึ่งจำเป็นต้องมีการวางแผนการพัฒนาระยะยาว ทั้งนี้ความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามลำดับ ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตที่ยังไม่เพียงพอ และต้องเตรียมพร้อมสำหรับวันข้างหน้าด้วย จึงได้กำหนดแผนงานปรับปรุงระบบน้ำดิบ ระบบการผลิต และระบบส่ง - จ่ายน้ำ ภายใต้โครงการปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาค สาขาหนองคาย อำเภอเมืองหนองคาย – สระใคร ที่สถานีผลิตน้ำปะโค อำเภอเมืองหนองคาย เพื่อขยายกำลังการผลิตเพิ่มอีก 1,000 ลบ.ม. ต่อชั่วโมง ให้สามารถรองรับความต้องการในพื้นที่ในอีก 10 ปีข้างหน้า
2. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นหรือ OTOP โดยในปี 2561 นี้ จังหวัดหนองคาย สามารถพัฒนาสินค้า OTOP อย่างต่อเนื่อง มีทั้งที่เป็นอาหาร เครื่องดื่ม ผ้าพื้นเมือง เครื่องแต่งกาย ของใช้ ของประดับตกแต่ง และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร จำนวนมากกว่า 1,200 ผลิตภัณฑ์ สามารถยกระดับให้เป็นสินค้าที่เป็นดาวเด่นสู่สากล (เกรด A) จำนวน 23 ผลิตภัณฑ์ ที่น่าภาคภูมิใจได้แก่ สุดยอด 3 ผลิตภัณฑ์ คือ ผ้าทอมัดหมี่ลายพญานาค แหนมเนือง ซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วประเทศ และข้าวฮางงอก ซึ่งคนรุ่นใหม่อาจไม่รู้จักและสงสัยว่าคืออะไร ทั้ง ๆ ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของภาคอีสานมานานนับร้อยปี เป็นข้าวที่เพาะงอกจากข้าวเปลือก มีไฟเบอร์ วิตามิน แร่ธาตุต่าง ๆ จากเปลือกมาเคลือบในเมล็ดข้าวเพิ่มขึ้น จึงทำให้มีสารอาหารมากกว่าข้าวกล้องงอก เชื่อกันว่าการกิน “ข้าวฮางงอก” จึงเปรียบได้กับการรับประทานยา วิตามิน หรือสมุนไพรเข้าไปพร้อม ๆ กัน นอกจากจะอิ่มท้องแล้วยังทำให้ร่างกายแข็งแรง ห่างไกลโรค จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้รักสุขภาพ หรือผู้ป่วย เนื่องจากเป็นอาหารต้านโรคด้วย ที่น่ายินดีก็คือ วันนี้ผมเห็นวางขายทั้งตามร้านค้า ห้าง และออนไลน์แล้ว มากมาย
และ 3. การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ตำบลบ้านเดื่อ อำเภอเมืองหนองคาย เป็น 1 ใน 40 ชุมชน ของจังหวัด ที่ได้รับการพัฒนาตามโครงการ“ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” ด้วยทำเลที่ตั้งริมแม่น้ำโขง ที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น อาทิ วิถีริมโขง ปลานิลกระชัง แปลงผักแบบขั้นบันไดริมโขง การอนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรม โบราณสถาน ศิลปะ ดนตรี และการละเล่นพื้นบ้าน รวมถึงการจัดกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยว อาทิ ล่องเรือยนต์ชมฝั่งโขง ทำกระทงดอกไม้บูชาพระพังโคน ทำนกใบลาน การแปรรูปอาหาร และที่พักในชุมชนแบบHome stay ซึ่งผมก็มั่นใจว่า ถ้าใครได้มาสัมผัสแล้ว จะต้องประทับใจไม่มีวันลืม ต้องอยากกลับมาใหม่หรือบอกต่อ หรือชวนใครต่อใครให้มาค้นหา ความแปลกใหม่ที่แตกต่าง และมีเอกลักษณ์ประจำถิ่นเป็นจุดขายที่ดีนะครับ
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ทุกครั้ง ผมให้ความสำคัญอย่างมาก ไม่ใช่เพียงการติดตามการดำเนินงานของข้าราชการ และกลไกประชารัฐในพื้นที่เท่านั้น แต่ผมคิดว่าเมื่อผมได้ร่วมกับพี่น้องประชาชนปลูกต้นไม้ – ปลูกป่าแล้ว ผมก็คงต้องลงไปช่วยพี่น้องประชาชน รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย เพื่อดูแลให้ต้นไม้ของเรา เติบโต งดงาม และผลิดอกออกผลที่สมบูรณ์ด้วย และผมเห็นว่า เราทุกคนนั้นต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ เพราะทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ ถ้าเราไม่ดูแลชุมชนของเรา บ้านเมืองของเรา หรือถ้ารัฐจะทำอะไรไม่ไถ่ถามประชาชน ไม่ใส่ความต้องการของประชาชน ก็คงจะต้องเป็นหลุมพรางที่ยากจะถึงจุดหมาย ก็คือ “มั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน” แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จำเป็นต้องเคารพในกฎหมาย กฎกติกา ต่าง ๆ ด้วย
พี่น้องประชาชนที่รักครับ
นอกจากการเดินทางไปเยือน 2 จังหวัดข้างต้นแล้ว ผมยังได้รับฟังเรื่องที่น่าชื่นชมและควรได้รับการสนับสนุนในการนำไปขยายผล จากอีกหนึ่งจังหวัดของดินแดนอีสาน ก็คือจังหวัดเลย ที่ชาวบ้านอำเภอเชียงคานได้มีการรวมกลุ่มโดยการริเริ่มของ “นักพัฒนาชุมชน” ที่ไปศึกษากรณีของประเทศอินเดีย ที่เกือบทั้งประเทศจะไม่ใช้จานโฟม แต่ใช้ภาชนะที่ผลิตมาจาก “กาบหมาก” แทน และได้นำมาทดลองโครงการที่บ้านท่าดีหมี ในอำเภอเชียงคาน โดยมีการทำผลิตภัณฑ์บรรจุอาหาร ด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติ ได้แก่ กาบหมากและกาบกล้วย ที่ปกติไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ หรือสร้างมูลค่าเพิ่มมากนัก บางส่วนนำไปทำเป็นปุ๋ยหรือทิ้งขวาง น่าเสียดายนะครับ ทั้งนี้ หากนำมาผลิต แปรรูป ให้เป็นจาน ถาดรองอาหาร กล่องใส่อาหาร แทนการใช้กล่องโฟม โดยสามารถใช้แล้วล้าง นำกลับมาใช้ซ้ำได้ 9 - 10 ครั้ง และเมื่อทิ้งไปก็จะไม่เป็นขยะพิษ หรือไม่ทำลายธรรมชาติ ไม่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้ว่าราชการจังหวัดเลย และมีการระดมทุนจากนักธุรกิจในจังหวัดเลยในการซื้อเครื่องปั๊มมาจากประเทศอินเดีย ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างงานให้ชุมชน รวมทั้งช่วยลดขยะและดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย ผมเห็นว่าเป็นพลังงานประชารัฐที่สร้างสรรค์ น่ายินดีที่ทุกฝ่ายมีความตระหนัก และตื่นตัวในเรื่องเหล่านี้ด้วย ขอให้ทุกจังหวัดนำไปเป็นแบบอย่าง ขอความร่วมมือภาคเอกชน ธุรกิจด้วยนะครับ
สำหรับ คุณจิตรา ผดุงศักดิ์ ที่เป็นผู้ริเริ่มโครงการและปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มผลิตภาชนะกาบหมากที่บ้านท่าดีหมี ก็ได้เล่าว่า เมื่อโครงการเปิดตัวออกไปก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งโรงพยาบาลและห้างสรรพสินค้า รวมถึงธุรกิจที่ต้องการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จากโฟมเป็นวัสดุธรรมชาติ ปัจจุบันโครงการนี้ยังอยู่ในช่วงทดลองผลิต และมีการเตรียมความพร้อมในการนำออกขายในปริมาณที่มากขึ้นต่อไป นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นตัวอย่าง แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการที่จะสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้กับสิ่งแวดล้อม และจะสามารถขยายผลที่จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศต่อไปได้เป็นอย่างมาก ผมขอแสดงความชื่นชมต่อทุกฝ่ายที่ช่วยสนับสนุนโครงการนี้ และจะเดินหน้าอย่างต่อเนื่องในการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรณรงค์การลดใช้ถุงพลาสติกและภาชนะโฟม โดยหันมาใช้วัสดุธรรมชาติแทน ซึ่งหากท่านสนใจที่จะศึกษาเรียนรู้การนำกาบหมากมาใช้ผลิตภาชนะ หรือซื้อผลิตภัณฑ์ถ้วยจานกาบหมาก ก็สามารถติดต่อหัวหน้ากลุ่มของชาวบ้านท่าดีหมี ได้ตามเบอร์ด้านล่างนี้ครับ
พี่น้องประชาชนที่รักครับ
ที่ผ่านมา การเติบโตของเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนำมาซึ่งการขยายตัวและการพัฒนาของธุรกิจการค้าต่าง ๆ ทำให้เกิดร้านค้าสมัยใหม่และห้างร้านขนาดใหญ่ขึ้นมากมาย ส่งผลต่อการค้าขายของร้านค้าเล็ก ๆ หรือโชห่วย ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของชุมชนทั้งด้านการกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) นอกจากนี้ก็ยังเป็นแหล่งพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนข่าวสารของคนในชุมชน ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในการสร้างความผูกพันทางสังคมมนุษย์ ทั่วประเทศไทยมีร้านค้าโชห่วยอยู่ประมาณ 370,000 ร้านค้า ซึ่งปัจจุบันหลายแห่ง ต้องเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ในการทำมาค้าขาย ทั้งการเพิ่มขึ้นของร้านค้าสมัยใหม่ ต้นทุนที่สูงขึ้น อีกทั้งความสามารถทางการแข่งขันก็น้อยกว่าร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ที่ดึงดูดลูกค้าและมีสินค้าที่ครบครันกว่า ทำให้ร้านค้าโชห่วยหลายแห่งต้องประสบปัญหาขาดทุน รายได้ลดลงมาก ภาครัฐรับทราบปัญหาเหล่านี้ดี และก็ได้พยายามหาทางในการดำเนินการช่วยเหลือ สนับสนุน เพื่อให้ร้านโชห่วยเหล่านี้สามารถปรับตัวและแข่งขันในการประกอบธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ได้มีการดำเนินการผ่านหลายช่องทาง และหลากหลายวิธีด้วยกัน ได้แก่
1. โครงการปรับภาพลักษณ์ร้านค้า ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกับผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ ลงพื้นที่ทั่วประเทศไปยังชุมชนต่าง ๆ เพื่อจะช่วยปรับภาพลักษณ์ “ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ” และ “ร้านโชห่วย” ให้มีการจัดร้านในรูปแบบ “5 ส” คือ สวย สว่าง สะอาด สะดวก สบาย และยังได้แนะนำให้ความรู้พื้นฐานในการบริหารจัดการร้านค้า เพื่อให้สามารถปรับตัว แข่งขันกับร้านค้าปลีกสมัยใหม่ และดึงดูดลูกค้าได้มากขึ้น มีต้นทุนต่ำลง ซึ่งจะช่วยให้สามารถประกอบกิจการได้อย่างเข้มแข็งมากขึ้นในระยะยาว ทั้งหมดนี้ ไม่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการใด ๆ ทั้งสิ้น ปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้วทั้งสิ้น 4,500 ร้านค้า จากเป้าหมาย 10,000 ร้านค้าทั่วประเทศ แต่ก็ยังมีเหลืออีกมาก หากโครงการนี้ยังไปไม่ถึงพื้นที่ของท่าน ในระหว่างนี้ ขอแนะนำให้ลองปรับร้านค้าของท่านในรูปแบบ “5 ส” ในเบื้องต้นด้วยตนเองก่อน โดยเฉพาะความสะอาด สว่าง จัดวางของให้สวยงาม หยิบได้สะดวก ทั้งนี้ ร้านโชห่วยมีความได้เปรียบร้านค้าใหญ่ ๆ ในเรื่องการแบ่งขาย ซึ่งหากทำให้สามารถเลือกซื้อได้สะดวก ดูสะอาดสะอ้าน ก็จะช่วยดึงดูดลูกค้าได้นะครับ
2. การนำโมเดล “โย๋ เล่อ” (Ule Model) ของจีนมาใช้ในการพัฒนาร้านค้า โดยเป็นการช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับร้านค้าเล็ก ๆ ในชนบท มีความร่วมมือกับไปรษณีย์ของจีน เปิดเป็นแพลตฟอร์มการค้าอิเล็กทรอนิกส์ในร้านค้า ให้ร้านค้าในชนบทและทั่วประเทศเข้าไปจำหน่ายสินค้าขายแบบออนไลน์ นอกจากจะมีสินค้าอุปโภค บริโภคทั่วไปแล้ว ยังมีสินค้าเกษตร เช่น ผัก ผลไม้ หรือของดี ของเด่นของชุมชน เช่น สินค้าหัตถกรรม OTOP ซึ่งในท้องถิ่นอื่น อาจไม่มีหรือหาได้ยาก โดยร้านโชห่วยที่เข้าร่วม ก็จะต้องสแกนรหัสสินค้าทุกชนิด ตั้งแต่เครื่องดื่ม ไปจนถึงผัก ผลไม้ต่าง ๆ เข้าไปในระบบ ทำให้ในแพลตฟอร์มมีสินค้าให้เลือกหลากหลาย ผู้ซื้อในทุกพื้นที่ทั่วประเทศสามารถสั่งซื้อสินค้าได้ทันที ซึ่งร้านค้าที่อยู่ในชุมชนสามารถนำไปส่งให้ถึงที่ หรือหากอยู่ไกลจากแหล่งสินค้า ก็สามารถให้ไปรษณีย์จัดส่งสินค้าให้ได้ ทำให้ร้านโชห่วยกลายสภาพเป็นห้างใหญ่ในโลกดิจิทัล หรือเป็น “โชห่วย 4.0” ที่สามารถขายสินค้าทุกชนิดที่ต้องการขายได้ โดยไม่ต้องสต็อกสินค้าไว้จำนวนมาก ซึ่งโมเดลนี้ จะลองนำมาปรับใช้กับร้านโชห่วยของไทย เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น โดยบริษัทที่อยู่เบื้องหลังการให้บริการแพลตฟอร์มโย๋เล่อนี้ จะส่งทีมมาให้คำแนะนำกับไทยในช่วงต้นปี 2562 นี้ด้วย เพื่อให้สามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น
และ 3. โครงการโชห่วยออนไลน์ เป็นแนวคิดในการพัฒนาช่องทางการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ระหว่างธุรกิจด้วยกันเอง (หรือ Business to Business) ผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ มาทำเป็นแพลตฟอร์มในการสั่งซื้อสินค้าจากร้านโชห่วยไปยังผู้ผลิตสินค้าโดยตรง ซึ่งการดำเนินการนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบด้วยบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และภาคเอกชนผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชน โดยในการดำเนินงาน บริษัทไปรษณีย์ไทยฯ จะพัฒนาช่องทางในการรับคำสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ และการบริหารสต็อก สินค้า และคำสั่งซื้อสินค้า รวมถึงการบริหารจัดการด้านการขนส่ง โดยกระทรวงพาณิชย์จะเจรจากับผู้ผลิตสินค้าในเรื่องราคา และคัดเลือกร้านค้าโชห่วยที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการ รวมถึงการเชื่อมโยงสินค้าชุมชนเพื่อกระจายสินค้าผ่านร้านโชห่วยในพื้นที่ต่าง ๆ อีกด้วย ในขณะที่ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. จะสนับสนุนด้านสินเชื่อการค้า หรือสินเชื่อในการสั่งซื้อสินค้าให้กับร้านค้าโชห่วยที่เข้าร่วมโครงการ การดำเนินโครงการนี้ จะทำให้ร้านค้าโชห่วย สามารถซื้อสินค้าจากผู้ผลิตได้ในราคาที่ถูกลง และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสินค้าชุมชน มีช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น โดยจะเริ่มนำร่องใน 3 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินโครงการได้ในเดือนมกราคม 2562
โครงการของภาครัฐทั้งหมดนี้ เป็นความพยายามที่จะนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ภายใต้รูปแบบการดำเนินงานแบบประชารัฐ คือทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยให้ร้านค้าโชห่วยสามารถปรับตัวในการทำธุรกิจและใช้จุดแข็งที่มีอยู่ ในการแข่งขันกับร้านค้าสมัยใหม่ได้ดีขึ้น ซึ่งการปรับตัวนี้ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงแค่ความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่เจ้าของร้านค้าก็จะต้องเร่งปรับตัวให้เท่าทัน ช่วยตัวเองไปด้วย โดยเฉพาะการเพิ่มความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยี เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการทำธุรกิจให้ได้มากขึ้น รวมถึงการเข้าใจและเข้าถึงความต้องการของลูกค้าในยุคนี้ สร้างความพิเศษจากจุดแข็ง เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ จุดแข็งของโชห่วย คือสามารถแบ่งขายสินค้าได้ เช่น ข้าวสารหรือขนมปี๊บ อีกทั้งยังมีลูกค้าประจำที่แวะเวียนมาสม่ำเสมอ หรือแม้กระทั่งการให้ “เชื่อ” สินค้าไปก่อน เทียบกับการมีโปรโมชั่นต่าง ๆ ของร้านสะดวกซื้อ ซึ่งหากเราพยายามทำจุดแข็งเราให้ดี ผมเชื่อว่าจะสามารถสร้างธุรกิจได้ดีขึ้นนะครับ
ผมขอยกตัวอย่างร้านโชห่วยที่ปรับตัวทำธุรกิจได้ต่อเนื่องเช่น ร้านบิ๊กเต้ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต ที่พยายามหาข้อมูลว่าลูกค้าที่เป็นนักศึกษาชอบสินค้าอะไร หรือปัจจุบันมีสินค้าอะไรที่น่าสนใจ แล้วหามาขายในร้าน นอกจากนี้ ยังรับฝากสินค้าที่มีฝีมือจากนักศึกษา เพื่อสนับสนุนให้นักศึกษามีรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง ก็จะได้ประโยชน์ร่วมกัน 2 ต่อ ก็ทำให้สามารถดึงดูดลูกค้าและสร้างลูกค้าประจำได้ หรือ “ร้านจีฉ่อย” แถวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีเอกลักษณ์ว่ามีสินค้าทุกชนิด หากที่ร้านไม่มีแต่ลูกค้ามาถามหา ก็จะวิ่งไปซื้อหามาให้ทันที โดยบวกราคานิดหน่อย ก็มีส่วนดึงดูดให้ลูกค้ามาหาของที่ร้านนี้ก่อน อีกตัวอย่างก็คือ “ร้าน ล.เยาวราช” ที่ปรับปรุงใหม่ จากร้านที่มีสินค้าแน่นร้านแทบไม่มีทางเดิน ให้เป็นร้านโชห่วยที่สว่างไสว มีผนังสีทึบเพื่อให้สินค้าโดดเด่นออกมา ที่สำคัญก็คือการเปิดสม่ำเสมอทุกวัน เปิดเป็นเวลาแน่นอน เพื่อให้ลูกค้าสามารถมาซื้อหาของได้ รวมถึงความสะอาดของร้านด้วย ตัวอย่างเหล่านี้ ผมอยากให้ได้เห็นเป็นข้อคิดในการการปรับตัว ภาครัฐพร้อมที่จะเข้าไปสนับสนุนในเรื่องการประสานงาน การรวมกลุ่ม การให้ความรู้ และการนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งเราจะต้องก้าวไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้เรากลายเป็น “ประเทศไทย 4.0” ให้ได้ในที่สุด โดยเราต้องเริ่มที่แต่ละคนด้วยนะครับ
ขอบคุณครับ ขอให้ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง มีสวัสดิภาพ เดินทางปลอดภัยและทุกครอบครัวมีความสุขนะครับ สวัสดีครับ
ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard