รายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม 2561

Last updated: 26 ต.ค. 2561  |  2497 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม 2561

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

วันที่ 21 ตุลาคมของทุกปี ตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้เป็น “วันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ “สมเด็จย่า” ที่ทรงให้ความสำคัญและทรงสนพระทัยเกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่า และการฟื้นฟูความสมดุลทางธรรมชาติ โดยพระองค์ทรงปลูกและบำรุงรักษาต้นไม้ ด้วยพระองค์เอง มาตลอดพระชนม์ชีพ

ผมขอยกตัวอย่างโครงการพัฒนาดอยตุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย ที่พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงต้นเหตุแห่งปัญหา ของประชาชนจาก 6 ชนเผ่า ในพื้นที่ 29 หมู่บ้าน กว่า 11,000 คน ที่ต้องประกอบอาชีพผิดกฎหมาย เช่น การทำไร่เลื่อนลอย การปลูกฝิ่น และการตกเขียวเพื่อค้าประเวณี เนื่องจากความยากจน ความไม่รู้ และการขาดโอกาสในชีวิต ทั้งนี้ ด้วยพระวิสัยทัศน์และพระราชปณิธานอันแรงกล้าของพระองค์ ที่ทรงปรารถนาให้ชาวดอยตุง สามารถพึ่งพาตัวเองได้ และอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน จึงทรงริเริ่มดำเนินโครงการในรูปแบบ “ปลูกป่า ปลูกคน” กล่าวคือ การแก้ปัญหาความยากจนที่ยึดคนเป็นศูนย์กลาง และยึดหลักความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ที่สมดุลกับความมั่นคงทางสังคมและความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ การปลูกป่าที่ดอยตุง จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการคืนความสมบูรณ์จากสภาพป่าเขาที่เสื่อมโทรม พื้นดินที่หมดสภาพ และลำธารที่แห้งเหือด ให้พลิกฟื้นกลับเป็นป่าต้นน้ำอันอุดมสมบูรณ์ ป่าเศรษฐกิจ และป่าใช้สอยในสัดส่วนที่พอเหมาะสำหรับการหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนบนดอยตุง ควบคู่กับการปลูกป่า ก็คือการปลูกคนให้พึ่งพาตนเองได้ และพัฒนาชุมชนต่อไป มีการสร้างงานและอาชีพหลากหลาย
สำหรับคนที่มีความถนัดต่างกัน เช่น การปลูก การแปรรูปกาแฟและแมคคาเดเมีย การผลิตงานหัตถกรรม การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เกษตรภูมิทัศน์ งานบริการและการท่องเที่ยว เป็นต้น

สำหรับเยาวชนรุ่นใหม่ ซึ่งจะเติบโตเป็นผู้นำในอนาคตนั้น ก็มีโครงการพัฒนาการศึกษาในโรงเรียน 8 แห่ง เพื่อสร้างพลเมืองที่ดี มีภูมิคุ้มกัน สามารถพัฒนาตนเองและสังคมได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เมื่อปี 2546 สำนักงานควบคุมยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ได้ยกย่องหลักการพัฒนาของโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ในการลดปริมาณการปลูกพืชเสพติด และแก้ปัญหาความยากจน ได้อย่างยั่งยืน เพื่อถวายเป็นราชสักการะ แสดงกตัญญูกตเวทิตาคุณ และสนองพระราชปณิธานของ “แม่ฟ้าหลวง” ซึ่งเป็นพระสมัญญานาม ที่ชาวไทยภูเขา พร้อมใจกันเรียกขานสมเด็จย่า และเพื่อเป็นการน้อมนำศาสตร์พระราชา ซึ่งเป็นพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตอนหนึ่ง ที่ว่า “...ควรจะปลูกต้นไม้ในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดิน และ รักษาต้นไม้ด้วยตนเอง...” มาสู่การปฏิบัตินะครับ ดังนั้นจึงได้นำคณะรัฐมนตรีร่วมกันปลูกไม้พะยูง เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการส่งเสริม และสร้างจิตสำนึกให้กับชาวไทยทุกคน เกิดความหวงแหน และร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ ให้คงอยู่เป็นมรดกของลูกหลานต่อไป

พี่น้องประชาชนที่รักครับ

หลักปรัชญา “ปลูกป่า ปลูกคน” ของสมเด็จย่า จากโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ที่ผมได้กล่าวมานั้น หากเราศึกษาอย่างลึกซึ้ง แล้วจะเห็นความเชื่อมโยงกันของแนวทางแก้ปมปัญหาพื้นฐาน ด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง และสิ่งแวดล้อมของชาติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเราทุกคน ที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ใน 3 เรื่อง ได้แก่ การแก้ปัญหาเกี่ยวกับ น้ำ ยาเสพติด และความยากจน รัฐบาลนี้ ได้มีความตระหนักในสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น และมุ่งมั่นที่จะน้อมนำหลักคิดดังกล่าวมา “สืบสาน รักษา ต่อยอด” โดยกำหนดเป็นมาตรการและนโยบายสาธารณะ สำหรับการแก้ปัญหาต่าง ๆ เหล่านั้น ในภาพรวม ดังนี้
1. การแก้ปัญหา “น้ำ” โดยดำเนินการ 3 เสาหลัก ได้แก่ (1) การตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นองค์กรกลาง เพื่อให้เกิดเอกภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบในภาพรวม ตั้งแต่ป่าต้นน้ำ แหล่งเก็บกักน้ำ พื้นที่เพาะปลูก ไปจนถึงปากอ่าว (2) การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์น้ำ 12 ปี (พ.ศ. 2558 - 2569) ถือเป็นแผนแม่บทด้านทรัพยากรน้ำ ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งที่ผ่านมามีผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงานที่สำคัญ ๆ ได้แก่ พัฒนาประปาหมู่บ้านเกือบ 7,300 หมู่บ้าน คงเหลือ 199 หมู่บ้าน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 62 พัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำได้ ราว 1,500 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทาน รวม 2.53 ล้านไร่ และฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมทั่วประเทศ รวม 0.48 ล้านไร่เป็นต้น (3) การผ่านกฎหมายแม่บทด้านน้ำ หรือกฎหมายน้ำฉบับแรกของประเทศไทย ก็คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ปลายปีนี้ ที่จะช่วยให้เกิดการบูรณาการในการใช้ พัฒนา บริหารจัดการ ฟื้นฟู และ อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ มีมาตรการป้องกัน และแก้ไขน้ำท่วม น้ำแล้ง วางหลักเกณฑ์ในการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำสาธารณะ อีกทั้งมีองค์กรในการบริหารจัดการน้ำ ระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำ ที่สะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับ เพื่อจะร่วมกันบริหารจัดการน้ำของชาติเป็นต้น
2. การแก้ปัญหายาเสพติด โดยใช้นโยบายผู้เสพ คือ ผู้ป่วยที่จะต้องได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้อง โดยแพทย์และพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐทุกแห่งทั่วประเทศ และหลังจากที่ผู้เสพได้รับการบำบัดรักษาแล้ว ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมอย่างปกติสุข โดยรัฐบาลจะติดตาม ช่วยเหลือ และส่งเสริมการประกอบอาชีพ เพื่อให้ผู้เสพได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ผู้เสพที่สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา จะสามารถสมัครงานได้ โดยไม่เสียประวัติ ไม่โดนลงบันทึกอาชญากรรม

สำหรับขั้นตอนการคืนคนดีสู่สังคมอย่างมีประสิทธิภาพนั้น รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานและส่งเสริมการมีงานทำ หรือ “ศูนย์แคร์” ประจำเรือนจำ ทัณฑสถาน และสำนักงานยุติธรรมจังหวัดขึ้น รวม 137 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อเป็นเสมือน “ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ” สำหรับการติดต่อประสานงานระหว่างผู้ต้องขัง ผู้พ้นโทษ เครือข่ายภาคสังคม บริษัท ห้างร้าน ผู้ประกอบการ ฯลฯ เกี่ยวกับข้อมูลด้านการประกอบอาชีพ การให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือ และความต้องการรับจ้างแรงงาน เป็นต้น รวมทั้งสนับสนุนให้หน่วยงานภายนอกได้เข้ามามีบทบาท และมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ให้มีงาน มีอาชีพสุจริต ส่งเสริมให้ผู้กระทำผิดมีรายได้ ทั้งในขณะที่ต้องโทษ และอยู่ระหว่างที่ออกไปใช้ชีวิตในสังคมภายนอก สร้างขวัญกำลังใจและความมั่นใจให้กับผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษ ได้มีโอกาสที่จะกลับตัวเป็นพลเมืองดีของสังคม ไม่ตกอยู่ในสภาวะ ล้มละลายทางสังคม

ทั้งนี้ สถิติผู้ลงทะเบียนเข้าใช้บริการศูนย์ CARE ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึง กันยายน 2561 ที่ผ่านมา เกือบ 27,000 คน โดยขอข้อมูลแหล่งงาน 3,000 กว่าคน ได้รับการจ้างงานแล้วเกือบ 400 คน ได้รับคำปรึกษากว่า 14,000 คน และได้รับการสงเคราะห์ด้านต่าง ๆ อีก กว่า 14,500 คน
และ 3. การแก้ปัญหาความยากจนในระยะยั่งยืนด้วยการออม ได้แก่ (1) การออมผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งสนับสนุนให้คนไทยตั้งแต่อายุ 15 - 60 ปี ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา เกษตรกร ชาวไร่ชาวนา อาชีพอิสระ ได้รู้จักการเก็บหอม รอมริบ ไม่ปล่อยให้ชีวิตอยู่บนความเสี่ยง หรือครอบครัวล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาลในยามแก่ชรา รวมถึงเข้าถึงสวัสดิการแห่งรัฐ มีเงินรายเดือนไว้ใช้หลังอายุ 60 ปี เพิ่มเติมจากเบี้ยคนชราที่จะได้รับอยู่แล้ว กล่าวคือแต่ละเดือนก็จะมีรายรับเข้ามาสองทาง เพื่อจับจ่ายใช้สอยที่จำเป็น โดยสามารถออมเงินกับ กอช. ได้ ขั้นต่ำเดือนละ 50 บาท และปีละไม่เกิน 13,200 บาท แล้วรัฐบาลก็จะเติมเงินให้อีก 50 - 100% ตามช่วงอายุ ตามตารางบนหน้าจอนะครับ ปัจจุบันการสมัครสมาชิก กอช. ก็สามารถทำได้ง่าย ๆ ผ่านแอพพลิเคชัน“กอช” ในสมาร์ทโฟน ทุกระบบใช้ข้อมูลพื้นฐานเพียงหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน รหัสหลังบัตรประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด และหมายเลขโทรศัพท์เท่านั้น สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รัฐบาลก็สนับสนุนให้ใช้จ่ายผ่านบัตรฯ โดยรัฐบาลจะคืนเป็นเงินออมให้ 1% ทั้งนี้ ผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถไปตรวจสอบสิทธิและสมัครได้ที่ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง หรือ สมัครผ่านแอพพลิเคชัน “กอช” ได้เช่นกัน

และ (2) การออมรูปแบบใหม่ คือ การปลูกไม้มีค่าในที่ดินของตน นอกจากจะเป็นการเก็บออมแล้ว ยังถือเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน และสร้างอาชีพที่มั่นคง ด้วยการปลูกไม้มีค่า ในลักษณะเกษตรผสมผสาน พร้อมกับเพิ่มพื้นที่ป่า และเป็นการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วย
จะเห็นได้ว่าการแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างยั่งยืน ต้องอาศัยการดำเนินการอย่างมียุทธศาสตร์ และต้องอาศัยเวลา อย่างเช่น โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ก็ใช้ระยะเวลาถึง 30 ปี ในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเราไม่ลดละความพยายาม เราก็จะประสบความสำเร็จ อย่างที่เห็นเป็นประจักษ์แก่สายตา ทั้งชาวไทยและชาวโลก ว่าการ “ปลูกป่า ปลูกคน” เป็นกุศโลบาย ที่ช่วยแก้ปัญหาทั้งเรื่องน้ำ ความยากจน และยาเสพติด ไปพร้อมๆ กันได้ ทั้งนี้ การดำเนินการอย่างมีระบบ ระเบียบ ก็เหมือนกับการปลูกต้นไม้ที่ต้องมีหลักวิชาการ ต้องดูแลรักษา และใช้เวลาในการผลิดอก ออกผล เพียงแต่เราต้องรู้ว่ากำลังทำอะไร เพื่ออะไร ซึ่งก็คือ “สร้างวันนี้ เพื่ออนาคต” นั่นเองนะครับ

พี่น้องประชาชนครับ

ผมมีเรื่องที่น่ายินดีสำหรับคนไทยทุกคนอีกครั้ง เกี่ยวกับผลการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก 4.0 ประจำปี 2018 ของ World Economic Forum ในปีนี้ ประเทศไทยมีอันดับและคะแนนดีขึ้น ถือว่าได้ก้าวเข้าสู่ความเป็น 4.0 มากขึ้น โดยปรับมาอยู่ในอันดับที่ 38 จาก 140 ประเทศทั่วโลก จากเดิมอยู่ในอันดับที่ 40 เมื่อปีที่แล้ว สำหรับในอาเซียนนั้น ไทยอยู่อันดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ส่วนในกลุ่มอาเซียน 3 ไทยอยู่อันดับที่ 6 จาก 12 ประเทศ รองจากสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และจีน ซึ่งก็เป็นอันดับคงที่มาหลายปี แสดงให้เห็นถึงสถานะทางการแข่งขันที่มั่นคงของไทยในเวทีนี้ได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ไทยถือเป็น 1 ใน 3 ประเทศที่ไม่ได้มีรายได้ต่อประชากรในระดับที่สูง แต่ยังสามารถเข้ามาอยู่ใน 40 อันดับแรกของโลกได้ ในขณะที่อีก 2 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย อันดับที่ 25 และจีนอันดับที่ 28

คะแนนเหล่านี้เป็นผลมาจากเก็บข้อมูลเชิงลึก จากการสอบถามผู้บริหารระดับสูงขององค์กรขนาดใหญ่ และขนาดย่อมในทุกภาคอุตสาหกรรม โดยเทียบกับภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ มีเกณฑ์การประเมิน 12 ด้าน 98 ตัวชี้วัด ซึ่งประเทศไทยมีจุดแข็งด้านระบบการเงิน อยู่ในอันดับ 14 ของโลก เพราะมีความพร้อมด้านเงินทุน วงเงินสินเชื่อที่ให้กับเอกชน ผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ของ SMEs และสตาร์ทอัพ รวมถึงเสถียรภาพของธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ ยังมีจุดแข็งด้านขนาดของตลาดอยู่ในอันดับ 18 ของโลก มาจากการที่บริษัทต่าง ๆ สามารถเข้าถึงตลาดภายในประเทศ การลงทุน และการส่งออก หรือตลาดต่างประเทศได้สะดวก

อย่างไรก็ตาม เราก็ยังมีจุดที่ต้องพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะก้าวสู่ความเป็น 4.0 ให้ได้มากขึ้น เช่น ด้านการแข่งขันภายในประเทศ ซึ่งไทยอยู่ในอันดับที่ 92 ของโลก สำหรับเรื่องของการแข่งขันภายในประเทศนั้น เราจะต้องเปิดโอกาสให้บริษัทต่าง ๆ ได้มีการแข่งขันกันอย่างเท่าเทียม กฎระเบียบไม่ซับซ้อน ซึ่งจะนำไปสู่นวัตกรรมในด้านต่าง ๆ ได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีด้านการศึกษาและทักษะ ที่อยู่ในอันดับที่ 66 ของโลก เรายังต้องให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศของเรามีความพร้อมและรู้เท่าทันโลกมากขึ้นด้วย

การสำรวจความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ ผ่านดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก 4.0 นี้ เปรียบได้กับไม้บรรทัด ที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจับตาดู เพราะนอกจากจะเป็นการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศแล้ว ยังสามารถชี้ให้เห็นถึงจุดเด่นและประเด็นที่ต้องพิจารณาปรับปรุง รวมถึงศักยภาพในการที่จะให้ประเทศต่าง ๆ เข้ามาลงทุน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ซึ่งจากการที่ผมได้ไปเข้าร่วมการประชุม ณ ต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา ผมก็สัมผัสได้ว่าผู้นำหลายประเทศมีความเข้าใจ และสนับสนุนแนวทางการพัฒนาของไทย โดยเฉพาะการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ เพื่อจะสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงเป้าหมายสำคัญในการปฏิรูป เพื่อพลิกโฉมเมืองไทยให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และประชาชนอยู่ดีกินดีภายใน 20 ปีข้างหน้า ด้วยการมุ่งมั่นเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันนอกจากนี้ มีการประเมินผลหนึ่ง ที่กำลังอยู่ในความสนใจ คือ เรื่องการพัฒนาทุนมนุษย์ ที่ธนาคารโลกได้พยายามจัดทำดัชนีชี้วัดภายใต้โครงการทุนมนุษย์ ที่เพิ่งริเริ่มขึ้น โดยพิจารณาวัดระดับของการสร้างทุนมนุษย์จากศักยภาพของเด็ก ที่ได้รับตั้งแต่เกิดจนจบชั้นมัธยม โดยดูจากอัตราการอยู่รอด โอกาสทางการศึกษา และผลการศึกษา รวมทั้งสุขภาพของเด็กเหล่านั้น ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะทำการวัดออกมาได้ผลที่เป็นตัวเลขที่ถูกต้องสมบูรณ์ ล่าสุด World Economic Forum ได้นำเสนอว่า สถาบันด้าน Health Metrics and Evaluation ที่สหรัฐอเมริกา ได้จัดทำวิธีคำนวณอย่างเป็นระบบขึ้น จากการวิเคราะห์ผลสำรวจ กว่า 2,500 ชุด และการลงพื้นที่สอบถามในเรื่องความเป็นอยู่ โอกาสทางการศึกษา และการเรียนรู้ รวมถึงสุขภาพ แล้วนำมาประมวลผลให้ได้ค่าที่สะท้อนให้เห็นถึงระดับทุนมนุษย์

วิธีนี้ได้ถูกนำมาใช้วัดระดับทุนมนุษย์ของ 195 ประเทศทั่วโลก นับตั้งแต่ปี 2533 และปี 2559 พบว่าประเทศที่อยู่ในอันดับต้น ๆ ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในยุโรป เช่น ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ และเดนมาร์ก แต่ส่วนที่น่าสนใจมากกว่าก็คือ ประเทศที่พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้เป็น“ทุนมนุษย์” ที่มีคุณภาพมากขึ้น สะท้อนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น กว่าประเทศอื่น ๆ โดยเฉลี่ย ซึ่งมีทั้งหมด 4 ประเทศ ก็คือ ตุรกี จีน บราซิล และไทย ที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นและการให้ความสำคัญอย่างมาก กับการพัฒนาคนของประเทศในช่วงที่ผ่านมา

อีกทั้งธนาคารโลก และ World Economic Forum ก็เห็นตรงกันว่า ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศนั้น เรื่องของคุณภาพคน หรือ “ทุนมนุษย์” มีความสำคัญมากกว่าทุนด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรหรือเงินทุน เพราะมนุษย์คือปัจจัยการผลิตที่สำคัญ และสามารถจะพัฒนาเรียนรู้ได้ไม่สิ้นสุด ด้วยต้นทุนที่ไม่ต้องสูงมาก เมื่อเทียบกับการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรในการผลิตแต่ละครั้ง ซึ่งนักวิจัยจากสถาบันด้าน Health Matric and Evaluation และธนาคารโลก ในการประชุมผู้นำอาเซียนครั้งล่าสุด ก็ได้ชื่นชมว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศรายได้ปานกลางแรก ๆ ที่มีโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และการให้บริการอย่างทั่วถึงของหน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น คลินิกหมอครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลนี้ ได้พัฒนาต่อมา ทั้งหมดนี้เป็นรากฐานที่ดีให้กับการพัฒนาทุนมนุษย์ของไทย และการศึกษานี้ ยังชี้ด้วยว่าระดับของทุนมนุษย์จะเป็นส่วนสำคัญ ในการขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศในระยะต่อไป
ที่ผ่านมาเราก็ได้มีการต่อยอดบริการสาธารณสุขของประเทศอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาและเตรียมพร้อม ในเรื่องทุนมนุษย์ของประเทศควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะให้เยาวชนมีทักษะและความสนใจ ในการคิดค้นพัฒนานวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีการขยายโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม ไปสู่โรงเรียน มากกว่า 150 แห่งทั่วประเทศ เพื่อฝึกฝนและพัฒนาความเป็น“นวัตกร” แก่เยาวชนไทย และ พัฒนาทักษะ STEM ในเด็กวัยเรียนผ่านการเรียนรู้แบบ “เพลิน ” หรือ Play and Learn ด้วย เพราะการศึกษาที่จะทำให้คนไทยอยู่รอดได้ในศตวรรษที่ 21 นั้น ไม่ได้มีอยู่ในห้องเรียนหรือในบทเรียนเท่านั้น เราต้องกระตุ้นให้เกิดการค้นคว้าและค้นพบด้วยตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้สามารถต่อยอดความคิดต่าง ๆ ได้มากขึ้น

นอกจากเรื่องความรู้ความสามารถ ที่จะเป็นพื้นฐานของการเตรียมทุนมนุษย์แล้ว ก็ยังต้องมีเรื่องคุณธรรม จริยธรรม เพื่อให้เป็นทุนมนุษย์ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ในช่วงนี้มีกิจกรรมที่ผมอยากจะเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งก็คือ การแสดงโขนที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดแสดงขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อน ๆ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทยให้อยู่สืบไป โดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้จัดการแสดงโขนรามเกียรติ์มาแล้วทั้งหมด 7 ตอน ตั้งแต่ปี 2550

และในปีนี้ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้เลือกบทโขนรามเกียรติ์ ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” ซึ่งเป็นการสื่อความหมายของความจงรักภักดี และการรักษาความเที่ยงธรรม สุจริต อีกทั้งยังมีการผสมผสาน สร้างสรรค์มาจากบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ฉบับต่าง ๆ อาทิ บทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 6 โดยผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน ได้ตั้งใจทำทุกอย่างด้วยความประณีต วิจิตรตระการตา เป็นอย่างยิ่ง โดยการแสดงโขนนี้ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 5 ธันวาคม ศกนี้ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ผมจึงขอเชิญชวนให้คนรักโขน รักศิลปะวัฒนธรรมไทย รวมถึงพี่น้องประชาชนคนไทยไปชมการแสดงโขนที่จัดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบนี้ ซึ่งจะมีเพียงปีละครั้งเท่านั้น

ก่อนจบวันนี้ ต้องขอแจ้งเตือนประชาชนในเรื่องลมฟ้าอากาศด้วยครับ ภาคใต้จะมีฝนตกชุก อาจมีน้ำท่วมขังในบางพื้นที่หรือตามพื้นถนน ภาคเหนือ อากาศจะเริ่มเย็นลง ภาคอื่น ๆอาจประสบภัยแล้งในการทำการเกษตร อ่างเก็บน้ำมีปัญหาหลายแห่งด้วยกัน เนื่องจากฝนตกน้อย ตกซ้ำในบางพื้นที่ ไม่ตกในพื้นที่อ่าง ทะเลอาจจะมีคลื่นลมแรง การไปพักผ่อนเที่ยวเตร่ ประกอบอาชีพประมงและอื่น ๆ ให้ความสนใจติดตามพยากรณ์อากาศด้วยนะครับ

ขอบคุณนะครับ ขอให้ทุกคนมีสุขภาพร่างกาย และจิตใจที่แข็งแรง และทุกครอบครัวมีความสุข ปลอดภัย สวัสดีครับ

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้