รายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม 2561

Last updated: 16 ต.ค. 2561  |  1612 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม 2561

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

ตลอดระยะเวลา 70 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติ ปวงชนชาวไทยและประชาคมโลก ต่างประจักษ์ว่า พระองค์ทรงเป็น “พระมหากษัตราธิราชผู้ยิ่งใหญ่” ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประโยชน์สุขแก่ประเทศชาติและประชาชน ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ระดับองค์กร ระดับประเทศ และระดับโลก โดยประจักษ์พยานสำคัญจากองค์กรต่าง ๆ ระดับโลกต่างยกย่องสดุดี ประกาศเกียรติคุณ ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลแด่พระองค์ อาทิ รางวัล “ความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์” จากองค์การสหประชาชาติ (UN) ในปี พ.ศ. 2549 เพื่อเฉลิมพระเกียรติในพระปรีชาสามารถ และพระราชกรณียกิจ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของพสกนิกรไทย ตลอดรัชสมัย ในปี พ.ศ. 2552 องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัล “ผู้นำโลก ด้านทรัพย์สินทางปัญญา” และในปี พ.ศ. 2555 สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดิน เพื่อมนุษยธรรม” เป็นพระองค์แรกของโลก ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่ทำให้พระองค์ทรงครองหัวใจคนทั้งประเทศและคนทั้งโลก เนื่องจากพระองค์ทรงใช้ “ศาสตร์พระราชา” ที่เป็นการประยุกต์ และผสมผสานทั้งศาสตร์และศิลป์ในการพัฒนาคนและบ้านเมืองได้อย่างลงตัว

ด้วยในเดือนตุลาคม มีวันสำคัญที่เป็นสัญลักษณ์แสดงความผูกพันอย่างลึกซึ้ง ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ กับปวงชนชาวไทย จำนวน 2 วัน ด้วยกัน ได้แก่ “วันที่ 13 ตุลาคม” เป็นวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และ “วันที่ 23 ตุลาคม” วันปิยมหาราช ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคต พระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่เป็นล้นพ้น อย่างหาที่สุดมิได้ ด้วยทั้งสองพระองค์ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่ปวงชนชาวไทยมาโดยตลอดนับตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ตราบจนเสด็จสู่สวรรคาลัย โดยประชาชนชาวไทยทุกภาคส่วน ทั้งในประเทศ และที่อยู่ต่างประเทศ ต่างมีความตั้งใจที่จะแสดงออกซึ่งความจงรักภักดี และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของทั้งสองพระองค์  อย่างพร้อมเพรียงกัน

ในการนี้ รัฐบาลจะจัดพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย และกิจกรรมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ อาทิกิจกรรมจิตอาสา “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” ระหว่างวันที่ 12 - 23 ตุลาคม โดยในวันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม จะมีพิธีทำบุญตักบาตร พิธีวางพวงมาลา และถวายบังคมหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ และพิธีถวายบังคม และจุดเทียนเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยรัฐบาลขอเชิญชวนประชาชนแต่งกายด้วยเสื้อโทนสีเหลือง อย่างพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศและทั่วโลก ไม่ต้องแต่งสีดำหรือไว้ทุกข์นะครับ 
 
พี่น้องประชาชนที่รักครับ

รัฐบาลได้น้อมนำศาสตร์พระราชาต่าง ๆ มาสืบสาน รักษา ต่อยอด ในทุก ๆ มิติ นับตั้งแต่การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ วันนี้ผมขอยกตัวอย่างการน้อมนำเกษตรทฤษฎีใหม่ ไปใช้ในการพลิกชีวิตของเกษตรกรรายหนึ่งเพื่อจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนที่เหลือ ว่าสามารถจะนำไปสู่การปฏิรูปได้จริง เพื่อนำพาชีวิตไปสู่สิ่งที่ดีกว่า โดย “ป้าเปี๊ยก” บุญเลี้ยง รื่นมาลัย บ้านม่วงงาม อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ซึ่งมีที่ดินทำกินและอยู่อาศัยเพียง 3 ไร่ เดิมใช้พื้นที่ทั้งหมดปลูกข้าวอย่างเดียว ชะตาชีวิตจึงฝากความหวังไว้กับฟ้าฝนมาเกือบ 30 ปี ปีไหนน้ำมาก ก็ท่วมข้าว จม เน่า เสียหาย ปีไหนน้ำน้อย ข้าวก็ยืนต้นแห้งตาย แทบไม่ได้ผลผลิต ส่วนปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ก็ซื้อแบบเงินเชื่อ ที่ดินแทบไม่ได้พัก และไม่เคยได้รับสารอาหารมาเติม ดินจึงขาดแร่ธาตุ ปลูกพืชอะไรก็อ่อนแอ ส่วนคนก็สุขภาพเสื่อมโทรม แถมเครียดจากภาระหนี้สิน เพราะผลผลิตถดถอย แต่เมื่อได้รับความรู้ จาก “กำนันไก่” วนิดา ดำรงค์ไชย กำนัน ต.ม่วงงาม อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ณ ศูนย์เรียนรู้โคกหนองนา แล้วนำมาปฏิบัติ โดยจัดสรรที่ดิน แบ่งออกเป็น 4 ส่วนด้วยกัน คือ  30 – 30 - 30 และ 10 เพื่อทำการเกษตรตามแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็สามารถพลิกผันชีวิตได้อย่างต่อเนื่อง ตอนนี้ก็ 5 ปีแล้ว ถือได้ว่าสามารถก้าวข้ามวิถีเดิม ๆ มาเป็นคนรวยความสุข  ซึ่งผมขอขยายความการจัดสรรที่ดินในกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้ครับ  

30 แรก ก็คือ “การขุดแหล่งน้ำ” ทำให้มีทั้งน้ำทำการเกษตร ปลูกพืชผักสวนครัว ทำนา และเลี้ยงปลา เลี้ยงกบในกระชังไปด้วย มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี ไม่ต้องฝากชีวิตกับฝนแต่เพียงอย่างเดียว มีข้าวกินทั้งครอบครัวตลอดปี เหลือก็ขายหรือแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้าน อาจเลี้ยงไก่เหนือสระน้ำ มูลไก่ก็เป็นอาหารปลาได้อีกด้วย

30 ต่อมา ก็คือ “นาที่สมบูรณ์” ที่มีน้ำหล่อเลี้ยงเพียงพอ ไม่ใช้สารเคมี ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง เน้นเกษตรอินทรีย์ นอกจากสุขภาพดี ไม่ป่วยง่ายแล้ว ในนาก็มีปลา มีหอย มีสัตว์น้ำ มีระบบนิเวศน์ ดินก็ฟื้นตัว มีสารอาหารสะสมอุดมสมบูรณ์

30 สุดท้าย คือ “การปลูกป่า - ไม้ยืนต้น – พืชผลอื่น ๆ” อาจจะเป็นไม้มีค่าตามนโยบายรัฐบาล เป็นการออม เป็นสินทรัพย์เพื่อวันข้างหน้า อาจเป็นผลไม้ สมุนไพร และพืชผักสวนครัว ผสมผสานกันในพื้นที่ก็ได้ ไม่ต้องปลูกพืชเชิงเดี่ยว

และอีก 10 ที่เหลือ คือ “ที่อยู่อาศัย” ตามวิถีพอเพียง เพียงเท่านี้ “ป้าเปี๊ยก” ก็หลุดพ้นจากวงจรหนี้สิน พ้นทุกข์ ครอบครัวมีความสุขนะครับ 

ผมเห็นว่าจุดเริ่มต้นความสำเร็จของป้าเปี๊ยก ส่วนหนึ่งมาจากการที่ “กำนันไก่” ลองผิด ลองถูกด้วยตนเองก่อนจนสำเร็จ จึงนำมาบอกต่อ ให้ความรู้ลูกบ้าน ผมก็ถือว่าเป็นแบบอย่างของข้าราชการ ที่จะต้องนำพาพี่น้องประชาชนปฏิรูป เปลี่ยนแปลง ให้ได้รับสิ่งที่ดีกว่า ไม่แก้ปัญหาด้วยวิธีการเดิม ๆ ซึ่งไม่ได้ผล ไม่ยั่งยืน ด้วยการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” มาประยุกต์ใช้ ความสำเร็จอีกส่วนหนึ่งก็คือ การไม่เคยหยุดพัฒนาตนเอง และเปิดรับ เรียนรู้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองของป้าเปี๊ยกนะครับ

ในอนาคต รัฐบาลกำลังผลักดันให้เกษตรกรทำ “เกษตรทฤษฎีใหม่” ให้ได้ 5 ล้านไร่ ภายในปี 2564 ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการส่งเสริมให้เกษตรกรไทย เดินหน้าไปสู่การทำ “เกษตรกรรมยั่งยืน” ของรัฐบาล ประกอบด้วย เกษตรอินทรีย์  เกษตรทฤษฎีใหม่ วนเกษตร หรือ การปลูกพืชเกษตรแซมในพื้นที่ป่าธรรมชาติ เกษตรผสมผสาน และเกษตรธรรมชาติ โดยปีนี้ได้เข้าไปส่งเสริมเกษตรกรทั่วประเทศ กว่า 7 หมื่นราย นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มการผลิตอย่างเข้มแข็ง และ ยกระดับสู่การทำธุรกิจชุมชน เชื่อมโยงกับภาคส่วนธุรกิจอื่น ๆ ต่อไป รวมทั้งผลักดันกฎหมายส่งเสริมเกษตรยั่งยืน ให้เป็นกลไกสำคัญในการสร้างความมั่นคง ให้กับผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ได้กินอิ่ม นอนหลับ ไม่เป็นหนี้ เลี้ยงตนเองได้ ด้วยศาสตร์พระราชา นะครับ
 
พี่น้องประชาชนทุกท่านครับ

อีกหนึ่งตัวอย่าง ที่เป็นการน้อมนำยุทธศาสตร์พัฒนา “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ซึ่งเป็นอีกศาสตร์พระราชา มาประยุกต์ใช้ในภาพที่ใหญ่ขึ้นระดับจังหวัดคือ โครงการนำร่องของการพัฒนาพื้นที่อย่างครอบคลุมในทุกมิติ และเป็นโมเดลที่ยั่งยืน ได้แก่ โครงการ “กาฬสินธุ์ โมเดล” (Kalasin Happiness Model) โดยโครงการนี้มีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาให้กับจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งข้อมูลในทางสถิติ ระบุว่าเป็น 1 ใน 5 จังหวัดที่มีรายได้ต่ำที่สุดในประเทศ และมีสัดส่วนผู้มีรายได้น้อยสูงถึงร้อยละ 32 ของประชากรทั้งจังหวัด รัฐบาลจึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานของพี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อย และยกระดับรายได้ของประชาชนทั่วไป บนพื้นฐานความยั่งยืน ด้วยการดำเนินงาน แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 เป็นโครงการที่สามารถดำเนินการได้ทันที ในปี 2561 เพื่อสร้างพื้นฐานการพัฒนา และแก้ไขปัญหาครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และระยะที่ 2 จะดำเนินการในปี 2562 ถึง 2564 โดยเน้นการสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน การกระจายรายได้ การเพิ่มศักยภาพ องค์ความรู้  และสร้างฐานรายได้จากการผลิตใหม่ ๆ โดยเร่งพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อม ๆ กัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

โครงการนี้เราจะเน้นการดูแลพี่น้องประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ (1) ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย (2) เกษตรกร (3) ผู้ประกอบการ ด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การศึกษา และศิลปวัฒนธรรม รวมทั้ง (4) กลุ่มผู้ใช้แรงงาน โดยมีการดำเนินงานตามแนวทางประชารัฐ ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยมีผลการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

ด้านการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยขั้นพื้นฐาน ได้มีการสำรวจข้อมูล และค้นหาครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย โดยใช้เกณฑ์รายได้จากการลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ และการคัดเลือกด้วยประชาคมระดับหมู่บ้าน หรือเวทีประชาคม ซึ่งชาวชุมชนย่อมรู้ว่าใครเป็นใคร ใครมีอาชีพและฐานะเป็นอย่างไร เพื่อความถูกต้องและแม่นยำ ซึ่งปรากฏว่ามีครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยราว 3,300 ครัวเรือน ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือและพัฒนาอย่างเร่งด่วนใน 6 ด้าน ได้แก่ การเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ การซ่อมแซมหรือสร้างบ้านใหม่ราว 600 หลัง  การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในและนอกระบบเกือบ 1,000 ราย การบริการด้านสุขภาพกว่า 1,300 ราย การพัฒนาด้านอาชีพ 3,700 กว่าราย และการให้ความช่วยเหลือในกระบวนการยุติธรรมจำนวน 14 ราย เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อมีความชัดเจนในเรื่องกลุ่มเป้าหมายและความต้องการ ปัญหา ความขาดแคลนปัจจัยที่สำคัญในการดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพแล้ว ก็สามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม ตอบโจทย์ ตรงปัญหา ทั้งนี้ จากการประเมินผลภาพรวมของโครงการพบว่า ณ เดือนกันยายนนี้ ครัวเรือนเป้าหมายมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น ราว 200 บาทต่อครอบครัวต่อเดือน จาก 2,468 บาท เป็น 2,671 บาท คิดเป็นร้อยละ 8 ตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อต้นปี ซึ่งก็เป็นอัตราเฉลี่ย หมายถึงก็มีสูงกว่านี้ และน้อยกว่านี้ด้วย ขึ้นอยู่กับศักยภาพและปัจจัยอื่น ๆ ที่เราก็ต้องพยายามทำกันต่อไปอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยก็ชี้ให้เห็นทิศทาง หรือแนวโน้มไปในทางบวกครับ
 
ส่วนด้านการยกระดับรายได้โดยมุ่งเน้นการพัฒนากลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการที่เป็นเป้าหมายหลักของจังหวัดเพื่อยกระดับศักยภาพ และสร้างฐานรายได้ ดังนี้

1. ด้านเกษตรกรรม  ได้ขับเคลื่อนโดยโครงการ Kalasin Green Market เพื่อให้กาฬสินธุ์เป็นจังหวัดที่ผลิตอาหารปลอดภัยและมีการทำเกษตรอินทรีย์ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งจะสามารถเพิ่มพื้นที่ผลิตอาหารปลอดภัยได้ 27,600 ไร่ และคาดว่าเมื่อสิ้นปีการผลิต 2560 ถึง 2561 จะสามารถเพิ่มรายได้ จากประมาณ 12,000 ล้านบาทเป็นมากกว่า 13,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่จะพัฒนาเกษตรกรสู่ Smart Farmer รวมถึงการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ควบคู่ไปด้วย ซึ่งดำเนินการไปแล้วกว่า 2,000 ราย 
2. ด้านการค้าการลงทุน มีการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม การผลิตสินค้า OTOP และการมุ่งสร้างผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ให้สามารถยกระดับผลิตภาพที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีและความคิดที่สร้างสรรค์ ผ่านโครงการ “ปั้นดาว” โดยร่วมมือกับ สสวท. และ วช. ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้สามารถแข่งขันในตลาดสมัยใหม่ มีการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายและส่งเสริมการตลาด มีกิจกรรมแสดง จำหน่ายสินค้า และเจรจาธุรกิจ และโครงการฝึกอบรมการทำธุรกิจ (Biz Club) ให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนด้านการค้า และอุตสาหกรรมของจังหวัดด้วย ปัจจุบันรายได้ด้านการค้าการลงทุนภาคอุตสาหกรรมสินค้า OTOP ของจังหวัด เพิ่มขึ้นจากปี 2560 มากกว่า 1,100 ล้านบาท 
3. ด้านการท่องเที่ยวและศิลปวัฒนธรรม มีการสร้างภาพจำลองของจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยภายใต้แคมเปญ “ทุกสิ่งสร้างสรรค์ ณ กาฬสินธุ์” ให้สามารถกระจายรายได้สู่ชุมชนและท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เกือบ 65,000 คนคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 สร้างรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 140 ล้านบาท หรือร้อยละ 28 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 
และ 4. การพัฒนาภาคการศึกษา การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ใช้แรงงานทั้งในและนอกระบบเพื่อให้ประชาชนมีงานทำ โดยความร่วมมือกับภาคเอกชน ในการส่งเสริมศักยภาพแรงงาน ด้วยการฝึกอาชีพและมีหลักสูตรต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ราว 6,200 คน ในสถานประกอบการ 272 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสนใจ และความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการที่จะพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานจากเดือนมกราคม ถึงกันยายน 2561 สามารถเพิ่มรายได้ให้กับจังหวัดมากกว่า 3,000 ล้านบาทครับ
 
ด้านการอำนวยความยุติธรรมลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมแห่งความปลอดภัย มีผลการดำเนินการที่สำคัญก็คือ การสร้างความรับรู้ด้านกฎหมายและเพิ่มการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม โดยมีประชาชนเข้าร่วมในโครงการ ราว 14,000 คน โดยมีความรู้เรื่องการขายฝาก จำนอง จำนำ การฉ้อโกง หนี้นอกระบบ แชร์ลูกโซ่ การทำนิติกรรมสัญญา และการเข้าถึงบริการของรัฐ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเชิงรุก สำเร็จมากกว่า 600 ราย คิดเป็นมูลหนี้กว่า 100 ล้านบาท รวมถึงมีการดูแลไม่ให้ผู้กระทำผิดกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีกด้วย และสำหรับด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติดภายใต้การบูรณาการร่วมกันของทุกฝ่าย ทั้งทหาร ตำรวจ พลเรือน และประชาชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ยาเสพติดตาม “แผนกาฬสินธุ์โมเดล พ้นภัยยาเสพติด 2019” ซึ่งมี 6 ภารกิจสำคัญ ได้แก่
(1) ภารกิจการกวาดบ้านตัวเอง เน้นดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยมีการตรวจหาสารเสพติดเจ้าหน้าที่ของรัฐกว่า 36,000 คน และได้ดำเนินการทางวินัยกับผู้ที่ตรวจพบ และคัดกรองสารเสพติดในศาสนสถาน สถานศึกษา สถานประกอบการ พนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ มีมาตรการตั้งจุดตรวจ จุดสกัดชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ที่ผ่านการฝึกอบรมจำนวน 1,020 คน
(2) ภารกิจกวาดล้าง โดยมีแผนปฏิบัติการ “ยุทธการฟ้าแดดสงยาง ระดมกวาดล้างยาเสพติด” ปิดล้อมตรวจค้นเป้าหมาย ราว 1,700 ราย รวมถึงการตรวจค้นเรือนจำ การจัดระเบียบสังคมโดยการตรวจสถานบริการ ร้านเกมส์ และโรงแรม 
(3) ภารกิจชุมชนเฝ้าระวัง โดยให้การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของหมู่บ้านและชุมชน ด้วยการจัด “ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน” ในการตั้งจุดตรวจ จุดสกัดใน 1,600 กว่าหมู่บ้าน-ชุมชน 
และ (4) ภารกิจอาสาป้องกันยาเสพติดโดยมีการจัดตั้ง “กลุ่มพลังอาสาป้องกันยาเสพติด” ในพื้นที่ เพื่อจะขับเคลื่อนการรณรงค์ป้องกัน ประชาสัมพันธ์สำรวจข้อมูล ชักชวนผู้เสพ ผู้ติด ให้เข้ามาบำบัดรักษา ซึ่งมีผู้ผ่านการอบรมเป็นอาสาป้องกันยาเสพติดแล้ว ราว 1,800 คน 
(5) ภารกิจลดผู้เสพโดยมีการนำผู้เสพเข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูแล้ว รวม 1,000 กว่าคน 
และ (6) ภารกิจการอำนวยการสนับสนุน มีการจัดตั้ง “ศูนย์อำนวยการบังคับการระดับจังหวัด” เพื่อจะขับเคลื่อนภารกิจต่าง ๆ และวางแผนปฏิบัติการอย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ ในระยะต่อไป จังหวัดกาฬสินธุ์ มีเป้าหมายในการพัฒนาในแนวทางข้างต้นอย่างต่อเนื่อง และต้องการลดสัดส่วนคนจนจากร้อยละ 32 ในปี 2559 ให้เหลือร้อยละ 25 โดยการบูรณาการแผนงาน โครงการ งบประมาณกับภาคเอกชนและประชาชน เช่น การบริหารจัดการน้ำและการกระจายน้ำในพื้นที่นอกเขตชลประทาน การเพิ่มพื้นที่ผลิตอาหารปลอดภัย โครงการยุติธรรมเชิงรุกสร้างสุขให้ประชาชน รวมทั้งโครงการจากภาคส่วนต่าง ๆ เช่น โครงการบริการดี Happy ทั้งจังหวัด ที่มุ่งเน้นการให้บริการที่สะดวกรวดเร็วของส่วนราชการและโครงการบ้านน่าอยู่ คู่เมืองสวย (Kalasin Green Space) ที่จะสร้างความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการช่วยกันพัฒนาจังหวัดกาฬสินธุ์ บนพื้นฐานของการรักษาสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการขยะ การลดใช้โฟมและพลาสติก และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งโครงการทั้งหมดจะช่วยให้การดำเนินโครงการ Kalasin Happiness Model: คนกาฬสินธุ์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ และสามารถเป็นตัวอย่าง เพื่อนำไปขยายผลใช้ประโยชน์กับพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป การพัฒนาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ การกระจายรายได้ ต้องทำให้ถูกวิธีเช่นนี้ทุกจังหวัด ให้มีการเปลี่ยนแปลงในแนวทางอย่างยั่งยืน อย่าใช้วิธีเดิม ๆ อย่างเด็ดขาด จะทำให้ทุกอย่างกลับไปสู่ที่เดิม คือไม่หลุดพ้นจากปัญหาความยากจน
 
พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่านครับ 

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 10 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับผู้นำจากประเทศสมาชิก ได้แก่ ญี่ปุ่น กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม โดยทุกฝ่ายได้ร่วมกันชื่นชมความสำเร็จของการดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. 2015 และได้ร่วมรับรองยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. 2018 เพื่อความร่วมมือลุ่มน้ำโขง กับญี่ปุ่น ที่ได้กำหนดทิศทางความร่วมมือให้สอดคล้องกับ 3 แนวทาง อันได้แก่ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ที่เสรีและเปิดกว้าง และแผนแม่บท ACMECS รวมทั้งได้จัดลำดับความร่วมมือ 3 เสาหลัก ได้แก่ การพัฒนาความเชื่อมโยง การสร้างสังคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และการสร้างความเป็นรูปธรรม และความตระหนักรู้ต่ออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงสีเขียว

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของแผนแม่บท ACMECS และได้รวมไว้ในยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว 2018 โดยมองว่าความเชื่อมโยงเหล่านี้ จะนำมาซึ่งการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมในอนุภูมิภาค อีกทั้งประเทศสมาชิกยังได้กำหนดทิศทางความร่วมมือกับญี่ปุ่น ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ที่เสรีและเปิดกว้าง ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งไทยเห็นว่าแนวทางดังกล่าวจะสนับสนุนการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ และการพัฒนาความเชื่อมโยงในทุกมิติ สำหรับประเทศไทย ญี่ปุ่นถือเป็น "มิตรแท้" มาอย่างยาวนานและเป็น "หุ้นส่วน"เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของลุ่มน้ำโขง ซึ่งเราก็พร้อมที่จะส่งเสริมให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาอนุภูมิภาคมากขึ้น เพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดช่องว่างการพัฒนา และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากร ผ่านการลงทุนในโครงการต่าง ๆ และในโอกาสที่ไทยจะเป็นประธาน อาเซียนในปี 2562 ไทยก็ยืนยันความพร้อมที่จะร่วมมือกับญี่ปุ่นในฐานะ "หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์" ในการสร้างประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีพลวัต มีความครอบคลุม ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง และพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต นอกจากนี้ จากการพบปะกับภาครัฐและเอกชน ทางญี่ปุ่นจะร่วมกับทางการไทยในการขจัดอุปสรรคทางการค้า และมีความสนใจในโครงการ EEC ของไทยเป็นอย่างมาก โดยได้เริ่มมีการเข้ามาลงทุน เข้าร่วมในการประมูลในโครงสร้างพื้นฐาน และเมืองอัจฉริยะบ้างแล้วพอควร ซึ่งหวังว่า จะสามารถเพิ่มความร่วมมือได้อย่างต่อเนื่องต่อ ๆ ไป

สุดท้ายนี้ สำหรับช่วงเทศกาลถือศีลกินเจ ประจำปีนี้ ระหว่างวันที่ 9 ถึง 17 ตุลาคม รวม 9 วัน  เป็นกิจกรรมที่สร้างบุญ สร้างกุศล ปฏิบัติตามหลักธรรมทางศาสนา รวมทั้งเป็นการเผยแพร่ประเพณีวัฒนธรรม ที่มีอยู่หลากหลายในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นส่งเสริมในเรื่องวัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมท้องถิ่น ส่งเสริมให้ประชาชนยึดมั่นในศาสนา ดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและวิถีวัฒนธรรม ขอเชิญชวนให้ประชาชนร่วมรักษาศีล เจริญภาวนา ปฏิบัติตามหลักธรรมทางศาสนาตามวิถีปฏิบัติที่ดีงาม และสืบทอดต่อ ๆ กันมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ที่สำคัญร่วมกันทำความดี ด้วยหัวใจ ทำได้ทุกวันนะครับ

สำหรับเดือนหน้า พฤศจิกายน ก็จะเป็นห้วงเทศกาลกฐิน ทำใจให้มีสติ มั่นคง บำเพ็ญบุญกุศล สำหรับผู้นับถือศาสนาพุทธ ขอให้ยึดมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อความสุขของตนเอง ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ สำหรับศาสนาอื่น ๆ ก็เช่นกัน ควรประพฤติตน ตามคำสอนของศาสดา ทำความดีได้ทุกเวลาทุกโอกาส

ขอบคุณครับ ขอให้ทุกคนมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง จิตใจที่มั่นคง แจ่มใส และทุกครอบครัวมีความสุข ปลอดภัย อย่างยั่งยืนนะครับ  สวัสดีครับ

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้