รายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม 2561

Last updated: 5 ต.ค. 2561  |  1682 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม 2561

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ความว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ได้ทรงปกครองแผ่นดินโดยทศพิธราชธรรม ทรงมีพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่หลากหลายด้าน อาทิ ด้านการเกษตร ด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านศาสนา ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้านการกีฬา และด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น ทรงตรากตรำพระวรกาย และทรงงานหนัก เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุความยากจน และวิธีการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เปลี่ยนทุกข์ ให้เป็นสุข อย่างยั่งยืน ผ่านหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ไม่เพียงแต่สร้างประโยชน์ให้การดำรงชีวิตของพสกนิกรชาวไทย แต่ยังได้รับการยอมรับ และนำไปปฏิบัติอย่างแพร่หลายในนานาประเทศ ทรงมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนมีความรู้ ความสามารถ พึ่งพาตนเองได้ เพื่อจะได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในการดำเนินชีวิตตามอัตภาพของแต่ละคน ทรงมีพระราชหฤทัยที่มุ่งมั่น แน่วแน่ เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ แก่ปวงพสกนิกรมาเป็นเวลายาวนานกว่า 70 ปี ดังปรากฎเป็นโครงการพระราชดำริมากกว่า 4,000 โครงการ ทั่วผืนแผ่นดินไทย จวบจนทุกวันนี้

เนื่องในวันที่ 13 ตุลาคม เป็นวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัฐบาลขอเชิญชวนทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ร่วมแสดงความจงรักภักดี และร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยการจัดกิจกรรมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายฯ อาทิ กิจกรรมทำบุญตักบาตร เจริญพระพุทธมนต์หรือกิจกรรมตามศาสนาที่ศาสนิกชนนับถือ กิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ การจัดนิทรรศการ และกิจกรรมอื่นใดที่เป็นการน้อมรำลึกในพระราชกรณียกิจอันใหญ่หลวง ที่ทรงมีต่อประเทศชาติและประชาชน ตามที่หน่วยงานเห็นว่าเหมาะสมและสมควร ในห้วงก่อนหรือหลัง วันคล้ายวันสวรรคตของพระองค์ อีกทั้งขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนสวมเสื้อสีเหลืองอย่างพร้อมเพรียงกัน ในวันที่ 13 ตุลาคม 2561 สิ่งสำคัญที่สุด นอกจากการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” และหลักการทรงงานต่าง ๆ มายึดถือเป็นแนวทางการปฏิบัติในชีวิตประจำวันและประกอบสัมมาอาชีพแล้ว ผมอยากให้คนไทยทุกคน รู้ รัก สามัคคี มีความเพียรอันบริสุทธิ์ และมุ่งมั่นทำความดีด้วยหัวใจ เพื่อสร้างความสุขอย่างยั่งยืนต่อตนเอง สร้างความเจริญก้าวหน้าสถาพร ต่อสังคมส่วนรวม และร่วมใจสร้างไทยไปด้วยกันครับ

นอกจากนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญชวนปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ร่วมชมนิทรรศการ “สุดยอดศิลปวัฒนธรรมไทย ในรัชกาลที่ 9” ระหว่างวันที่ 12 - 21 ตุลาคม ศกนี้ ณ ฮอลล์ ออฟ เฟรม ชั้นเอ็ม ศูนย์การค้าสยามพารากอน เพื่อเป็นการเผยแพร่พระอัจฉริยภาพด้านศิลปวัฒนธรรมที่ทรงเป็นเลิศ ทั้งศาสตร์และศิลป์ อันเป็นคุณประโยชน์ต่อคนไทยและเมืองไทยของเรา ซึ่งคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน” หมายถึงผู้มีศิลปะอันเลอเลิศ หรือผู้เป็นใหญ่ในศิลปิน แด่พระองค์ โดยนิทรรศการดังกล่าวประกอบด้วย การถ่ายทอดเรื่องราวและผลงานศิลปะหลากหลายสาขาของพระองค์ สุดยอดภาพยนตร์ไทยในช่วงเวลาแห่งการครองสิริราชสมบัติ 70 ปี สุดยอดเพลงไทยที่ศิลปินสร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงสังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิตอันผาสุกร่มเย็นของพสกนิกรภายใต้ร่มพระบารมี รวมทั้งสุดยอดละครโทรทัศน์ ที่แสดงถึงประวัติศาสตร์ การดำเนินชีวิต วัฒนธรรม และประเพณี ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ด้วยครับ

พี่น้องประชาชนที่รักครับ

เรื่องน่ายินดีวันนี้ก็คือ กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของเรา ได้รับการโหวตให้เป็น “เมืองสุดยอดจุดหมายปลายทาง” อันดับ 1 ของโลก จากการสำรวจของมาสเตอร์การ์ด ฉบับที่ 7 ประจำปี 2561 นับเป็นการครองอันดับ 1 เป็นครั้งที่ 5 ในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2555 และต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยในปี 2560 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาพักแรมมากกว่า 20 ล้านคน ระยะเวลาพักแรมโดยเฉลี่ย 4.7 คืน และมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 5,500 บาทต่อวัน นอกจากนี้ ภูเก็ต และพัทยา ก็ได้รับการจัดให้อยู่ใน 20 อันดับแรกด้วย จากรายงานของมาสเตอร์การ์ดระบุว่า การที่ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่มีเมืองน่าเที่ยวถึง 3 แห่งติดอยู่ใน 20 อันดับแรก สะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างพื้นฐานที่มีเสถียรภาพ การผสมผสานที่ลงตัว ระหว่างการเดินทางมาทำงานและพักผ่อน รวมไปถึงเสน่ห์ของวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ และค่าใช้จ่ายที่ไม่สูง เมื่อเทียบกับเมืองใหญ่อื่น ๆ ในโลก ยิ่งไปกว่านั้นความพยายามของหน่วยงานภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง ในการรักษาระดับการเติบโตที่เหนือกว่ามาตรฐานของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น ขยายข้อยกเว้นให้กับนักท่องเที่ยวที่พักระยะสั้น ดูแลความปลอดภัย และสร้างความประทับใจ รวมทั้งยังเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลกหลายรายการในปีที่ผ่านมา

ผมขอเป็นตัวแทนพี่น้องชาวไทยทั้งประเทศ แสดงความขอบคุณนักท่องเที่ยวทั่วโลก ที่โหวตให้เมืองต่าง ๆ ของเราดังกล่าว เป็นสุดยอดจุดหมายปลายทางที่น่าท่องเที่ยว โดยรัฐบาลยืนยันว่านักท่องเที่ยวคือแขกพิเศษของคนไทย ดังนั้น เราต้องสร้างความประทับใจ และมอบความสุขตลอดห้วงเวลาที่อยู่ในบ้านของเรา ที่สำคัญคือ อยากจะกลับมาเยือน มาค้นหาความเป็นไทยอีกในอนาคต หรือบอกต่อ ๆ กันไปถึงสิ่งดีงามในบ้านเมืองของเรา ส่วนคนไทยทุกคนก็ควรได้ร่วมกันภาคภูมิใจในประเทศไทย สร้างสรรค์และรักษาสิ่งดี ๆ ของบ้านเมือง เพราะแม้ชาวต่างชาติยังชื่นชมในความดีงามของเรา ที่สำคัญ เราต้องประพฤติปฏิบัติตนในการเป็นเจ้าบ้านที่ดี มีจิตสำนึก มีความรับผิดชอบต่อการกระทำอันเป็นภาพลบของประเทศ ในเวทีนานาชาติและโลกโซเชียล ก็ขอร้องผู้ประกอบการบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการแท็กซี่ สามล้อเครื่อง หรือการให้บริการอื่น ๆ เจ้าของกิจการกรุณาช่วยดูแลด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานบริการของท่าน จะต้องประพฤติตนปฏิบัติตนเป็นเจ้าบ้านที่ดี ก็คือมีกิริยามารยาทที่สุภาพเรียบร้อย ถึงแม้ว่าจะเป็นการกระทำใด ๆ ก็ตาม ที่จะทำให้เกิดความปลอดภัย หรือที่มีการกระทำอันผิดกฎหมายเราก็ต้องใช้การปฏิบัติที่ละมุนละม่อม อย่าให้เกิดเช่นเคยอย่างที่ผ่านมา ตลอดจนขอเน้นในเรื่องของการดูแลความปลอดภัยมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นยานพาหนะทางบก ทางเรือ ต่าง ๆ เรามีบทเรียนมามากแล้ว เกินพอแล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องไม่ให้เกิดขึ้นอีก

พี่น้องประชาชนทุกท่านครับ

เมื่อวันพุธที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา ผมและรัฐมนตรีหลายท่าน ได้เดินทางไปตรวจราชการ ณ เมืองแห่งความสุข บนความพอเพียง ก็คือจังหวัดลำพูน เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายการสนับสนุน และส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ในโครงการ “ไทยเที่ยวไทย ไทยยั่งยืน” ซึ่งรายละเอียดต่าง ๆ ก็คงได้รับทราบผ่านการรายงานข่าวไปแล้ว แต่มีสองสิ่งที่ผมอยากจะนำมาขยายความ เกี่ยวกับเมืองหริภุญชัย เมืองโบราณแห่งนี้ ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน กว่า 1,300 ปี ดังนี้ครับ

เรื่องแรก คือ แม้ลำพูนจะเป็นเมืองรองในการท่องเที่ยว 1 ใน 55 เมืองรอง แต่ก็มีจุดเด่นและศักยภาพหลายประการ อาทิ

1) เป็นเมืองขนาดเล็ก สงบ มีสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยในการเป็นที่พักอาศัย ไม่ไกลจากพื้นที่เศรษฐกิจของเชียงใหม่ นักท่องเที่ยว หรือนักธุรกิจ แม้จะมีจุดหมายหลักที่เชียงใหม่ แต่ก็สามารถมาพักค้างแรมที่ลำพูน และเดินทางไป-กลับได้ ใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง เนื่องจากอยู่บนโครงข่ายการคมนาคมหลัก สามารถเชื่อมโยงกับจังหวัดต่าง ๆ ทางรถยนต์และรถไฟ เดินทางสู่สนามบินนานาชาติเชียงใหม่ได้สะดวก นอกจากนี้ ยังสามารถออกแบบ “โปรแกรมท่องเที่ยว 1 วัน” (One day trip) เนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และเชิงนิเวศ ด้วยความเป็นเมืองเก่า มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีความเจริญรุ่งเรืองทางศาสนาและวัฒนธรรม มีองค์พระธาตุหริภุญชัยเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว อีกทั้งสามารถเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวกับเชียงใหม่และลำปางได้อีกด้วย

2) เป็นแหล่งผลิตสินค้าหัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์และมีการสืบทอดภูมิปัญญาด้านการผลิต ผ้าไหมยกดอกที่ได้รับการรับรองสินค้า GI ผ้าฝ้ายทอมือ และการแกะสลักไม้ ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการ และแรงงานในท้องถิ่น ที่มีความชำนาญในด้านงานฝีมือ

3) มีศักยภาพด้านเกษตรกรรม อาทิ เกษตรกรมีองค์ความรู้ ภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นแหล่งผลิตลำไย กระเทียม หอมแดงที่สำคัญของภาคเหนือ โดยเฉพาะการแปรรูปลำไย ที่หลากหลาย อาทิ ก๋วยเตี๋ยวลำไย แกงฮังเลลำไย ไอศกรีมลำไย นมผสมลำไย ซึ่งนับว่าเป็นนวัตกรรมที่โดดเด่นของจังหวัดลำพูนที่แปลกใหม่อีกด้วย

และ 4) เป็นตลาดแรงงานสำคัญป้อนนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ และยังมีพื้นที่รองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ได้ในอนาคตอีกด้วย

เรื่องที่สอง คือ จังหวัดลำพูนได้ชื่อว่าเป็น “จังหวัดสะอาด” 2 ปีซ้อน ถือว่าประชาชนทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในความสำเร็จจนได้รับรางวัลดังกล่าว นับว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง ซึ่งผมก็มีความยินดี และเป็นเกียรติ ที่ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีประกาศเจตนารมณ์ "ลำพูนเมืองสะอาด ปราศจากโฟม" ในครั้งนี้ด้วย ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ “ประเทศไทยไร้ขยะ” โดยให้ดำเนินการใน 3 ระยะ ได้แก่ “ต้นทาง” คือ ลดปริมาณและส่งเสริมการคัดแยกขยะ ณ ต้นทาง ก็คือทุกหลังคาเรือน ทุกชุมชน “กลางทาง” คือ การจัดระบบเก็บและขนอย่างมีประสิทธิภาพ และ “ปลายทาง” คือ ขยะมูลฝอยต้องถูกกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ได้แก่ “3 ช : ใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่” (3Rs : Reduce Reuse และ Recycle) โดยลำพูนเป็นต้นแบบด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง ตามแนวทางประชารัฐ ทุกภาคส่วนได้ร่วมแรง ร่วมใจ บริหารจัดการด้วยกัน ทั้งผู้บริหารระดับจังหวัด ส่วนราชการผู้รับผิดชอบ ภาคประชาสังคม ผู้ประกอบการ ภาคเอกชน และประชาชนในทุกหมู่บ้าน ชุมชน ต่างให้ความร่วมมือกัน ขอชมเชยในส่วนของปกครองท้องถิ่นด้วย อาทิ การส่งเสริมการจัดการขยะมูลฝอยต้นทาง หรือ ณ แหล่งกำเนิด การทำความตกลงกับร้านค้าต่าง ๆ เพื่อรณรงค์ลด ละ เลิก การใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหารที่ย่อยสลายยาก และมีผลกระทบกับสุขภาพ การคัดแยกขยะเปียก ในศูนย์อาหาร ร้านค้า สถานประกอบการ การขับเคลื่อนงานของจิตอาสาและอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) โดยใช้เวลาว่างในช่วงปิดภาคเรียน ร่วมกันสร้างสรรค์ เพื่อจัดการขยะโดยการนำเศษวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ (Reuse) เป็นต้น

นอกจากนี้ ทราบว่าชาวลำพูนได้สร้างสรรค์นวัตกรรมของจังหวัดลำพูนเอง จึงขอนำมากล่าวเพื่อเป็นแนวทางสำหรับจังหวัด ชุมชนอื่น ๆ ได้รับรู้และประยุกต์ใช้ต่อไป เช่น โครงการปลอดขยะเปียก เป็นการคัดแยกขยะเปียกในครัวเรือนมาใช้ประโยชน์ เช่น ทำปุ๋ยหมัก เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงไส้เดือน ทำน้ำหมักชีวภาพ เป็นต้น ซึ่งสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ เฉลี่ยเดือนละ 280,000 บาท เครื่องอัดขยะพลาสติกเป็นก้อน โดยนำขยะพลาสติกมาอัดเป็นก้อน แล้วบริษัทกรีนไลน์ จะรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 2 บาท เพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง โดยชาวบ้านจะนำรายได้จากส่วนนี้ไปพัฒนาหมู่บ้าน และจัดสวัสดิการแก่สมาชิกกองทุนขยะของผู้สูงอายุ โดยผู้สูงอายุที่นำขยะรีไซเคิลมาบริจาค ซึ่งรายได้จากขยะนี้ ก็จะนำเข้ากองทุนผู้สูงอายุของหมู่บ้าน เพื่อจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกในกลุ่ม เช่น จ่ายเป็นเงินฌาปนกิจศพ เงินเยี่ยมผู้ป่วย เป็นต้น และ โครงการลำพูน เมืองสะอาด ปราศจากโฟม (No Foam) ทั้งจังหวัด (เป็นจังหวัดแรก ของประเทศไทย) โดยลด ละ เลิก การใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหาร แล้วส่งเสริมให้ใช้วัสดุธรรมชาติทดแทน เพื่อช่วยลดขยะที่ย่อยสลายยาก และ ช่วยให้ชาวลำพูนมีสุขภาพดี เป็นต้น

พี่น้องประชาชนครับ

เรากำลังเริ่มเข้าสู่ช่วงปลายฤดู สิ่งที่เป็นปัญหามาโดยตลอดก็คือ การบริหารจัดการน้ำของประเทศ โดยเฉพาะน้ำท่วม น้ำแล้ง ที่จะต้องบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ บูรณาการ และสมดุล ตลอดทั้งปี สำหรับทุกมิติ ทั้งน้ำอุปโภคบริโภค น้ำต้นทุนเพื่อการเกษตร อุตสาหกรรม การป้องกันน้ำท่วม การรักษาคุณภาพน้ำ และการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ที่มีระบบการบริหารจัดการที่บูรณาการ มีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อน โดยรัฐบาลนี้ ได้น้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางในการปฏิรูปการบริหารจัดการน้ำ ทั้ง 3 เสาหลัก ได้แก่ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ การจัดทำร่างกฎหมายน้ำ และการจัดตั้งองค์กรกลางในการกำกับดูแล (กนช./สทนช.) อีกทั้ง ได้จัดทำระบบ Area Based 66 เพื่อตอบโจทย์น้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเค็มรุกพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว ครอบคลุมพื้นที่ราว 30 ล้านไร่ ที่สามารถลดผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด และช่วยประหยัดงบประมาณในการดำเนินการได้มาก เมื่อเทียบการทำงานแบบเดิม ๆ หลักคิดที่สำคัญก็คือ เน้นการลงทุนเพื่อการป้องกัน จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาในภายหลัง ทั้งนี้ ผมขอยกตัวอย่างที่เห็นผลเป็นรูปธรรม แยกเป็นประเด็นหลัก ๆ ดังนี้
1. พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลดลง และใช้งบประมาณในการช่วยเหลือเยียวยาน้อยลงมาก ในขณะที่ปริมาณฝนใกล้เคียงกัน เช่น ในปี 2560 เทียบกับปี 2554 ที่มีปริมาณฝน ราว 1,800 - 1,900 มิลลิเมตร แต่มีพื้นที่ได้รับความเสียหายลดลง ประมาณ 2.5 เท่า และปี 2560 ใช้งบประมาณในการช่วยเหลือเยียวยาเพียง 8,600 ล้านบาท แต่ในปี 2554 ใช้งบประมาณในส่วนนี้ มากกว่า 41,000 ล้านบาท และในปี 2553 ก็ใช้งบประมาณในส่วนนี้ ราว 22,600 ล้านบาท เป็นต้น
2. พื้นที่ประกาศเขตการช่วยเหลือภัยแล้ง มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยสถิติการประกาศพื้นที่ช่วยเหลือภัยแล้ง ช่วงปี 2556 - 2561 พบว่าลดลงตามลำดับจาก 30,000 ลงมาเป็น 12,000 มาเป็น 8,000 ลงมาเป็น 3,700 ลงมาเป็น 85 และเหลือ “0” หมู่บ้าน ในปีนี้ ช่วยให้ลดการใช้งบประมาณ สำหรับช่วยเหลือเยียวยาลงตามลำดับ จากปี 2557 - 2561 คือ จาก 2,500 ลงมาเป็น 1,042 ลงมาเป็น 1,001 ลงมาเป็น 49 และเหลือ 42 ล้านบาทในปัจจุบัน ซึ่งในอดีตปี 2555 เราเคยต้องใช้งบประมาณในส่วนนี้มากถึง 8,600 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าถ้าหากไม่มีการปฏิรูปแบบบูรณาการเพื่อการป้องกันอย่างยั่งยืนแล้ว เราก็จะต้องสูญเสียงบประมาณไปเพื่อการแก้ไขจำนวนมหาศาล แทนที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาบ้านเมือง หรือแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนในส่วนอื่น ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นหลักคิดแนวทาง ในการปฏิรูปการบริหารประเทศของรัฐบาลและ คสช. อย่างมียุทธศาสตร์
3. ภาพรวมในการใช้งบประมาณสำหรับช่วยเหลือเยียวยาน้ำท่วม ภัยแล้ง ทั้งด้านการเกษตร และด้านอื่น ๆ ช่วง 11 ปีที่ผ่านมา (ปี 2551 - 2561) จะเห็นได้ว่า 5 ปีของรัฐบาลนี้ปี 2557 - 2561 ใช้งบประมาณในส่วนนี้เพียง 18,000 กว่าล้านบาท ในขณะที่ช่วงปี 2554 - 2557 ใช้งบประมาณฯ เกือบ 90,000 ล้านบาท และช่วงปี 2551 - 2554 ใช้งบประมาณฯ ราว 50,000 ล้านบาท ซึ่งชัดเจนว่าประหยัดกว่า 4.8 และ 2.7 เท่าตามลำดับ
ดังนั้น สามารถกล่าวได้ว่า แนวทางการปฏิรูปการบริหารจัดการน้ำในปัจจุบัน สอดคล้องกับแนวคิดของประเทศที่เจริญแล้ว เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่เน้นการใช้งบประมาณในการป้องกันภัยพิบัติ ซึ่งทำได้ง่ายและถูกกว่าการช่วยเหลือ ฟื้นฟู กล่าวคือ ให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อการป้องกันที่ต้นเหตุ ดีกว่าคอยแก้ไขเยียวยาที่ปลายเหตุ ดังคำสุภาษิตที่ว่า “เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย” คือ หากไม่ยอมจ่ายในการป้องกันแล้ว เราก็จำเป็นจะต้องจ่ายในการดูแลทุกข์สุข แก้ไขปัญหาที่บานปลาย และบางครั้งก็ยากที่จะควบคุมให้พี่น้องประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันนี้ก็ใช้กับหลาย ๆ กิจกรรม หลาย ๆ กรณีด้วยกัน เช่น การรักษาพยาบาลการสาธารณสุขเหล่านี้ ถ้าเรารู้จักป้องกันตนเอง เราก็จะลดค่าใช้จ่ายในการักษาลงไปได้มาก ด้วยการออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง

พี่น้องประชาชนครับ

ผมและรัฐบาลนี้ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาอย่างต่อเนื่อง เพราะถือเป็นหนึ่งในกลไกหลักที่จะช่วยนำพาประเทศชาติไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสังคม ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม แบบก้าวกระโดด โดยประเทศในภาพรวม มีการเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากกว่า 3 เท่า มาอยู่ที่ 170,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1 ของ GDP โดยเอกชนมีการลงทุนด้านนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่า

นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านการวิจัย เป็น 140,000 คน เพื่อเป็นฐานรากในการรองรับการวิจัยและการก้าวเข้าสู่ยุคประเทศไทย 4.0 ได้อย่างแท้จริง รัฐบาลโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังพยายามดำเนินงานเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในทุกมิติ เช่น การต่อยอดความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยถ่ายทอดให้กับผู้ประกอบการ 740,000 คน ให้บริการด้านการตรวจสอบ ตรวจวัดมาตรฐานต่าง ๆ ให้กับภาคเอกชนมากกว่า 3 ล้านรายการ สร้างแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์ให้กับคนรุ่นใหม่มากกว่า 3,200,000 คน และเร่งพัฒนาบุคลากรทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มขึ้น 2 เท่า หรือ 5,600,000 คน รวมถึงให้มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอนาคตเพิ่มขึ้น 6 เท่า และการร่วมมือกับภาคเอกชนในการทำวิจัยผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อนำเอานวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่ม และยกระดับความสามารถในการผลิตสินค้าของประเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังได้บูรณาการทำงาน ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนผลงาน นวัตกรรม ที่ช่วยปฏิรูประบบเศรษฐกิจไทยไปสู่ฐานนวัตกรรม โดยการนำวิทยาศาสตร์สร้างคน เพื่อเตรียมความพร้อมคนไทยในศตวรรษที่ 21 นำวิทยาศาสตร์สร้างอาชีพ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และนำวิทยาศาสตร์เสริมแกร่ง สร้างชาติ ให้เข้มแข็ง เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล

ผมขอยกตัวอย่างล่าสุดที่ได้นำมาเสนอให้ผมและคณะรัฐมนตรีได้เห็น และสะท้อนถึงความสำเร็จของการสนับสนุนจากภาครัฐ และการร่วมวิจัยระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับบริษัทเอกชนในกลุ่มบริษัทโชคนำชัย ในการพัฒนานวัตกรรมด้านอุปกรณ์ทางทหารและยานยนต์ เช่น (1) เรืออลูมิเนียมที่แข็งแรง และเบากว่า Fiber glass มีอายุการใช้งานนานกว่า 30 ปี ไม่มีปัญหาการอมน้ำ และจะพัฒนาให้มีมาตรฐานเทียบเท่ากับต่างประเทศ ซึ่งจะสามารถนำไปใช้ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ (2) รถอลูมิเนียมที่มีโครงสร้างน้ำหนักเบา โดยจะนำไปผลิตเป็นรถโดยสารและยานพาหนะสมัยใหม่ เช่น รถที่ใช้ไฟฟ้า รวมทั้ง มีการเสริมความแข็งแกร่งเพื่อเพิ่มความปลอดภัย และความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสารด้วย เป็นต้น

ความร่วมมือนี้ เป็นตัวอย่างของโครงการที่ได้รับประโยชน์จากโปรแกรมการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมของภาครัฐ การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานด้วยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ อีกทั้งยังมีการยื่นขอรับการพิจารณาบัญชีนวัตกรรมและการลดภาษี โดยในระยะต่อไปคาดว่าโครงการนี้จะได้รับการต่อยอดไปสู่การพัฒนาพาหนะสมัยใหม่ การผลิตชิ้นส่วน ผลิตโครงสร้างน้ำหนักเบา การผลิตแม่พิมพ์ รวมถึงพัฒนาบุคลากรเพื่อยกระดับศักยภาพการผลิตของประเทศอีกด้วย จากการดำเนินงานข้างต้น รวมถึงการขับเคลื่อนงานด้านวิทยาศาสตร์อื่น ๆ ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้อันดับความสามารถ ปัจจัยด้านนวัตกรรมประเทศไทย ของ World Economic Forum ดีขึ้น เดิมอันดับที่ 66 ในปี 2556 ก้าวขึ้นสู่อันดับที่ 50 จาก 137 ประเทศ ในปีนี้ และสามารถสร้างมูลค่าการส่งออกเทคโนโลยีระดับสูงได้มากกว่า 4 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งนับเป็นหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และการเป็นประเทศไทย 4.0 ได้อย่างสมบูรณ์ขึ้น

พี่น้องประชาชนทุกท่านครับ

อีกก้าวหนึ่งสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 ในส่วนของการบริหารราชการแผ่นดินของภาครัฐ ก็คือ การเร่งดำเนินการให้มี “ศูนย์รับคำขออนุญาต” หรือ One Stop Service (OSS) กลางของภาครัฐ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริการที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก เพื่อให้เป็นศูนย์กลางสำหรับประชาชนในการรับคำขออนุญาตด้านต่าง ๆ แทนการยื่นเรื่อง ณ หน่วยงานรัฐในลักษณะเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว แล้วจัดส่งเรื่องถึงหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป เทียบกับในระบบเดิม ซึ่งผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า ที่ผ่านมาหากผู้ประกอบการต้องการเปิดร้านอาหาร จะต้องเดินทางไปหน่วยงานราชการถึง 3 แห่ง ต้องขอใบอนุญาตทั้งหมด 6 ฉบับ ต้องกรอกข้อมูล 310 รายการ และต้องเตรียมเอกสารประกอบ ทั้งหมด 98 ชุด ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เอกชนหรือภาคธุรกิจไม่ได้รับความสะดวก และเป็นต้นทุนในการประกอบธุรกิจที่ภาครัฐสามารถช่วยให้ลดลงได้ ล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้เปิดนำร่องการให้บริการ One Stop Service กลางของภาครัฐเป็นแห่งแรก เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชน และจะช่วยให้ธุรกิจที่ต้องการขอใบอนุญาตประกอบกิจการต่าง ๆ สามารถทำได้ ทั้งการเดินทางมายื่นคำขอด้วยตนเอง ณ จุด One Stop Service กลาง ที่ได้เปิดนำร่องไปแล้ว ณ บริเวณชั้น 1 อาคารสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (หรือ สำนักงาน ก.พ. เดิม)

นอกจากนี้ อีกช่องทางที่จะอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนและธุรกิจต่าง ๆ ได้ไม่แพ้กันก็คือ การยื่นคำขอทางออนไลน์ ที่เราเรียกกันว่า Biz Portal ตามเว็บไซต์ด้านล่างนี้ โดยสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ พัฒนาขึ้น โดยผู้ประกอบธุรกิจจะสามารถหาข้อมูลในการขอใบอนุญาตต่าง ๆ ในทุกขั้นตอนได้ในที่เดียว มีการแนะนำว่าต้องขอใบอนุญาตอะไรบ้าง ต้องเตรียมเอกสารอะไร ใช้เวลานานเท่าใด และไม่ต้องกรอกข้อมูลซ้ำหลายรอบ มีการเชื่อมต่อกับเอกสารของเราที่หน่วยงานต่าง ๆ มีไว้แล้ว หรือหากต้องทำสำเนาก็จะใช้เพียงชุดเดียว ซึ่งทั้งสองช่องทางนี้จะช่วยให้ผู้มาขอรับบริการเดินทางไปสถานที่ราชการน้อยที่สุด ยื่นเอกสารได้ ณ ที่เดียว ใช้แบบฟอร์มเดียวและสามารถติดตามสถานการณ์ดำเนินการขอใบอนุญาตได้ ในปัจจุบันทั้ง 2 ช่องทางได้เปิดให้บริการสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจ การขอใช้สาธารณูปโภค การเปิดร้านอาหารและร้านค้าปลีก รวมทั้งหมด 24 งานอนุญาต โดยจะมี Chat Board และแอพพลิเคชั่น LINE ที่ Line@goodgov4u (line at good gov for you) ในการให้บริการ ติดตาม ประเมินผล โดยการให้บริการของ One Stop Service กลาง จะพร้อมอย่างเต็มรูปแบบ ในเดือนมกราคม 2562 พร้อมขยายงานให้บริการใน 10 ธุรกิจ 40 ใบอนุญาต เช่น ร้านกาแฟ รีสอร์ทขนาดเล็ก สปา ฟิตเนส และคาร์แคร์ เป็นต้น รวมทั้งจะขยายการให้บริการออนไลน์ ไปยังงานบริการประชาชนที่สำคัญอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกด้วย นอกจากนี้ ในการให้บริการของ One Stop Service จะร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) และบริษัท เนชั่นแนล ดิจิทัลไอดี จำกัด (NDID) ในการนำระบบยืนยันตัวตนแบบใหม่ที่เป็นแบบดิจิทัลมาทดลองใช้อีกด้วย เพื่อให้การบริการภาครัฐแบบออนไลน์ของเราได้มาตรฐานสากล มีความปลอดภัย เป็นที่น่าเชื่อถือ และตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนรวมทั้งภาคธุรกิจ ได้อย่างแท้จริง

สุดท้ายนี้ ในนามประชาชนและรัฐบาลไทย ผมขอแสดงความเสียใจต่อเหตุภัยพิบัติที่เกิดขึ้น และขอแสดงความห่วงใยต่อชาวอินโดนีเซีย ซึ่งแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ สูญหาย และไร้ที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก ผมเชื่อมั่นว่าการบริหารจัดการในการให้ความช่วยเหลือ และเยียวยาของทางการอินโดนีเซีย ภายใต้การนำของนายโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย จะสามารถนำพาผู้ประสบภัยชาวอินโดนีเซีย ผ่านพ้นภาวะเหตุการณ์ภัยพิบัติดังกล่าวไปได้ และฟื้นตัวได้โดยเร็ว โดยรัฐบาลไทยได้มอบเงินช่วยเหลือให้แก่เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย เป็นจำนวนเงิน 5 ล้านบาท เพื่อแสดงน้ำใจและมิตรไมตรี ตลอดจนขอขอบคุณที่รัฐบาลอินโดนีเซียได้ช่วยอำนวยความสะดวก ในการอพยพคนไทยจากอินโดนีเซียให้กลับถึงประเทศไทยอย่างปลอดภัย ในการนี้ผมขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยชาวอินโดนีเซียจากภัยธรรมชาติ ในครั้งนี้ ตามรายละเอียดบนหน้าจอนะครับ ทั้งนี้ ผมมีกำหนดการเดินทางไปเข้าร่วมการประชุม ASEAN Leaders' Gatheringที่บาหลีในสัปดาห์หน้า ก็จะถือโอกาสแสดงความเสียใจ และขอบคุณประธานาธิบดีอินโดนีเซียด้วยตนเองอีกครั้ง

ขอบคุณครับ ขอให้ทุกคนมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่เข้มแข็ง และทุกครอบครัวมีความสุขในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นะครับ สวัสดีครับ

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้