x-files (7) : พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต พันเอก พ. อมค่าโฆษณาวิทยุกองทัพภาคที่ 2

Last updated: 13 ส.ค. 2561  |  3152 จำนวนผู้เข้าชม  | 

x-files (7) : พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต พันเอก พ. อมค่าโฆษณาวิทยุกองทัพภาคที่ 2

"...พันเอก พ. ในฐานะหัวหน้านายทหารฝ่ายการเงินกองทัพภาคที่ 2 และเหรัญญิก สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงกองทัพภาคที่ 2 มีหน้าที่รับเช็คและนำเช็คไปเข้าบัญชีเงินฝากของกองทัพภาคที่ 2 ซึ่งเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) แล้วมีหน้าที่เบิกเงินจากบัญชีดังกล่าวนำส่งเป็นรายได้ของกองทัพภาคที่ 2 ต่อไปแต่เมื่อได้รับเช็คคำสั่งโฆษณาประจำเดือนดังกล่าวไว้แล้ว กลับมิได้นำเช็คไปเข้าบัญชีเงินฝากตามหน้าที่ โดยนำเช็คไปเข้าบัญชีเงินฝากของตนเอง ซึ่งเปิดบัญชีไว้กับธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) แล้วนำสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากที่พันเอก พ. ปลอมขึ้นไปแสดงต่อเสมียนเหรัญญิก เพื่อออกใบเสร็จรับเงินค่าสั่งโฆษณาให้แก่บริษัท ศ. และเมื่อธนาคารเรียกเก็บเงินตามเช็คได้แล้วผู้ถูกกล่าวหาได้เบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว..."

x-files : พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต ซึ่งเป็นข้อมูลในรายงานผลการศึกษาตัวอย่างคดีทุจริตสำคัญๆ  ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ลงมติชี้ความผิด นับตั้งแต่ปี 2543 -2557 และมีการจัดทำรวบรวมไว้เป็นทางการ ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำมาเสนออย่างต่อเนื่อง  เพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายนำไปใช้เป็นแนวทาง ในการตรวจสอบคดีทุจริตต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ว่า รูปแบบพฤติการณ์การทุจริต รวมไปถึงข้อกฎหมายสำคัญที่ใช้ในการตัดสินคดีของ ป.ป.ช. มีรายละเอียดเป็นอย่างไร 

ในตอนนี้ยังคงเป็นตัวอย่างคดีทุจริตในหมวดการทุจริตเบียดบังทรัพย์สินและผลประโยชน์ของทางราชการและประชาชน จะมีคดีสำคัญอะไรบ้างไปติดตามกันได้เลย (การเผยแพร่ข้อมูลระบุชื่อผู้เกี่ยวข้อง เป็นตัวอักษรย่อ เพื่อปกป้องสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา เพราะบางคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล)

@ ไม่นำเช็คเข้าบัญชีรายได้ของหน่วยงาน

ข้อเท็จจริง บริษัท ศ. ทำสัญญาสั่งโฆษณาสถานวิทยุกระจายเสียงกองทัพภาคที่ 2 ระบบ เอ.เอ็ม จังหวัดนครราชสีมา เอฟ.เอ็ม จังหวัดนครราชสีมา และ เอฟ.เอ็ม จังหวัดบุรีรัมย์ กับกองทัพภาคที่ 2 รวม 3 ฉบับ โดยตกลงชำระค่าสั่งโฆษณาเป็นเงินเดือนละ 1,110,000 บาท บริษัท ศ. ได้ออกเช็คชำระค่าสั่งโฆษณาประจำเดือนกุมภาพันธ์ เมษายน และตุลาคม 2544 แก่กองทัพภาคที่ 2 จำนวน 3 ฉบับ ฉบับละ 1,110,000 บาท รวมจำนวนเงิน 3,330,000 บาท

พันเอก พ. ในฐานะหัวหน้านายทหารฝ่ายการเงินกองทัพภาคที่ 2 และเหรัญญิก สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงกองทัพภาคที่ 2 มีหน้าที่รับเช็คและนำเช็คไปเข้าบัญชีเงินฝากของกองทัพภาคที่ 2 ซึ่งเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) แล้วมีหน้าที่เบิกเงินจากบัญชีดังกล่าวนำส่งเป็นรายได้ของกองทัพภาคที่ 2 ต่อไปแต่เมื่อได้รับเช็คคำสั่งโฆษณาประจำเดือนดังกล่าวไว้แล้ว กลับมิได้นำเช็คไปเข้าบัญชีเงินฝากตามหน้าที่ โดยนำเช็คไปเข้าบัญชีเงินฝากของตนเอง ซึ่งเปิดบัญชีไว้กับธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) แล้วนำสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากที่พันเอก พ. ปลอมขึ้นไปแสดงต่อเสมียนเหรัญญิก เพื่อออกใบเสร็จรับเงินค่าสั่งโฆษณาให้แก่บริษัท ศ. และเมื่อธนาคารเรียกเก็บเงินตามเช็คได้แล้วผู้ถูกกล่าวหาได้เบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของพันเอก พ. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ. 2476 มาตรา 5 ประกอบพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ.2521 มาตรา 15 และมติสภากลาโหมครั้งที่ 3/07 ข้อ 2.1 และ 2.10 และเป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และมาตรา 157

@ เบียดบังเครื่องมือสื่อสารและอาวุธปืนพร้อมเครื่องกระสุนปืน

ข้อเท็จจริง นาย ก. ได้รับอนุมัติให้เบิกยืมเครื่องมือสื่อสารพร้อมอุปกรณ์จำนวน 1 ชุด และได้รับอนุมัติให้เบิกยืมอาวุธปืน ซอง และกระสุนปืนเพื่อนำไปใช้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ซึ่งนาย ก. มีหน้าที่ต้องเก็บรักษาและระมัดระวังทรัพย์สินของทางราชการที่เบิกไปใช้ราชการมิให้เกิดชำรุด สูญหาย หรือเสียหาย ตามระเบียบกองพันสารวัตรทหารเรือที่ 1 กรมสารวัตรทหารเรือว่าด้วยการควบคุมเครื่องสรรพาวุธ พ.ศ. 2537 และระเบียบกองพันสารวัตรทหารเรือที่ 1 กรมสารวัตรทหารเรือว่าด้วยการเบิกยืมอาวุธปืนไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์อำนวยการร่วมกองบัญชาการทหารสูงสุด พ.ศ. 2540 การที่นาย ก. ไม่นำเครื่องมือสื่อสาร และอาวุธปืนพร้อมเครื่องกระสุนปืนส่งคืนให้แก่ทางราชการ เป็นพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่านาย ก. มีเจตนานำเครื่องมือสื่อสาร และอาวุธปืน พร้อมเครื่องกระสุนปืนไปเป็นประโยชน์สำหรับตนเองโดยทุจริต เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 มาตรา 15 ประกอบระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยผู้ซึ่งไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศทหารและบรรดาศักดิ์ พ.ศ. 2507 ข้อ 2.1 และข้อ 2.9 และเป็นความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 และมาตรา 157 ประกอบประมวลกฎหมายอาญาทหาร พ.ศ. 2455 มาตรา 5

@ ทุจริตเงินธนาณัติไปเป็นประโยชน์สำหรับตนเอง

ข้อเท็จจริง นาย ก. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายไปรษณีย์ 3 ประจำแผนกรับฝาก ประจำที่ทำการไปรษณีย์ ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่รับ-จ่ายเงินธนาณัติ จัดทำบัญชีรับ-จ่ายเงินธนาณัติ ธน.64 (บัญชีรับเงินในธนาณัติในประเทศ) และ ธน.65 (บัญชีจ่ายเงินธนาณัติในประเทศ) โดยนาย ก. เป็นเจ้าหน้าที่รับฝากช่อง 6 ในระหว่างวันที่ 16 พฤศจิกายน 2543 ถึงวันที่ 2 มีนาคม 2544 เมื่อนาย ก. ได้รับเงินจากผู้ฝากธนาณัติและจ่ายเงินให้กับผู้รับเงินธนาณัติในแต่ละวันแล้ว เมื่อสิ้นวันทำการ นาย ก. จะนำยอดเงินรวมรายรับมาลงรายการใน ธน.64 ให้ตรงกับจำนวนที่รับฝากจริง แต่จะลงรายการในระบบคอมพิวเตอร์ให้ต่ำกว่าจำนวนเงินที่รับจริง และนำยอดเงินรวมรายจ่ายมาลงรายการใน ธน.65 ให้ตรงกับจำนวนที่จ่ายจริง แต่จะลงรายการในระบบคอมพิวเตอร์ให้สูงกว่าจำนวนเงินที่จ่ายจริง เพื่อเบียดบังส่วนต่างไปเป็นประโยชน์สำหรับตนเองโดยทุจริต

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร หรือกรอกข้อความลงในเอกสาร รับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้กระทำการอย่างใดขึ้น หรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ รับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) (4) ประกอบพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2519 มาตรา 15

@ ทุจริตเงินในบัญชีเงินฝากของลูกค้าธนาคาร

ข้อเท็จจริง นาย ก. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมุห์บัญชี ธนาคารกรุงไทย (จำกัด) มหาชน ได้กระทำการทุจริตยักยอกเงินฝากของลูกค้าธนาคาร โดย นาย ข. และนาย ค. ลูกค้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์หลักของธนาคาร แจ้งต่อธนาคารฯ ว่า ได้มาถอนเงินในบัญชีดังกล่าว พบว่า ยอดเงินขาดหายไป หลังจากนั้นมีลูกค้าหลายรายทยอยนำสมุดบัญชีเงินฝากประเภทต่างๆ มาตรวจสอบยอดเงินกับธนาคารฯ พบว่า จำนวนเงินในบัญชีขาดหายไปเช่นเดียวกัน และจากการตรวจสอบเอกสารรายงานการเคลื่อนไหวประจำวัน พบว่า เจ้าหน้าที่หลายคนของสาขาเป็นผู้ทำรายการผ่านบัญชีโดยนาย ก. เป็นผู้รับรองการทำรายการ และผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำการทุจริตเงินในบัญชีเงินฝากของลูกค้าจำนวน 16 ราย 17 บัญชี โดยวิธีการโอนหักบัญชี ซึ่งเงินที่ทุจริตดังกล่าวนาย ก. ได้นำไปฝากเข้าบัญชีลูกค้ารายอื่นที่นาย ก. เคยทุจริตไว้ก่อนหน้า หรือโอนเงินในระบบออนไลน์ไปยังบัญชีลูกค้าต่างสาขาเพื่อชำระหนี้ระหว่างกัน หรือฝากหรือโอนเข้าบัญชีของลูกค้าที่นาย ก. ลักลอบใช้บัญชีเป็นที่พักเงินที่ทุจริตจากบัญชีของลูกค้ารายอื่น แล้วปลอมลายมือชื่อลูกค้าเพื่อถอนเงินสดหรือโอนเงินไปใช้ประโยชน์สำหรับตนเอง

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 และมาตรา 11 สำหรับความผิดวินัย เนื่องจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) มีคำสั่งลงโทษไล่ออกแล้ว จึงไม่มีกรณีที่จะต้องดำเนินการทางวินัยอีก

@ ทุจริตปลอมลายมือชื่อของผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงิน

ข้อเท็จจริง นาย ก. ขณะดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารการเงินและบัญชี ทำหน้าที่หัวหน้าส่วนการคลังขององค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่ง โดยมีอำนาจในการรับเงิน เบิกจ่ายเงิน ฝากเงิน เก็บรักษาเงิน ตรวจเงิน เขียนเช็คเสนอลงนาม และเก็บรักษาสมุดเช็ค กระทำการนำสมุดเช็คธนาคาร เขียนเช็คสั่งจ่ายเงิน โดยปลอมลายมือชื่อของผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินจากบัญชีเงินฝากขององค์การบริหารส่วนตำบลที่นาย ก. ทำงานอยู่ นำไปเบิกเงินจากธนาคาร และได้ปลอมลายมือชื่อของนาง ข. ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นผู้รับเงิน แล้วยักยอกเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นของตนเป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนตำบลได้รับความเสียหาย

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม และมาตรา 98 วรรคสอง และตามประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบลเรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับวินัยและการรักษาวินัยและการดำเนินการทางวินัย ข้อ 3 และข้อ 19ประกอบพระราชบัญญัติบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มาตรา 26 ประกอบมาตรา 17 (6) และเป็นความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสาร หรือดูแลรักษาเอกสาร กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น ปลอมตั๋วเงินและใช้ตั๋วเงินปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 157 161 264 266 และมาตรา 268 

-----------

ตอนหน้าจะมีคดีสำคัญๆ เกี่ยวกับทุจริตเบียดบังทรัพย์สินและผลประโยชน์ของทางราชการและประชาชนอะไรอีกบ้าง โปรดติดตามกันต่อไป 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้