รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม 2561

Last updated: 6 ก.ค. 2561  |  1907 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม 2561

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

ด้วยพระเมตตาธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสังฆราช และด้วยพระบารมีอันแผ่ไพศาลแห่งองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ช่วยอำนวยพร คุ้มครองภัยต่างๆ ให้เด็กและโค้ชทีมฟุตบอล “หมูป่า อะคาเดมี แม่สาย” ทั้ง 13 คน ที่พลัดหลงในถ้ำหลวง จ.เชียงรายนะครับ ได้อยู่รอดปลอดภัย มีสวัสดิภาพทุกคน จวบจนถึงวินาที ที่ชุดดำน้ำกู้ภัยได้เข้าไปพบ

อีกทั้งด้วยกำลังใจ พลังแห่งความศรัทธาและการสวดมนต์ภาวนาขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จากพี่น้องชาวไทยทุกช่วงวัย ทุกศาสนา และจากเพื่อนร่วมโลกนะครับ ช่วยกันเป็นแรงผลักดัน เกื้อหนุนให้การปฏิบัติ “ภารกิจค้นหาผู้ประสบภัย” ครั้งนี้ ประสบความสำเร็จได้ ในเบื้องต้น โดยยังคงเหลือขั้นตอนในเรื่องของการเคลื่อนย้ายออกจากถ้ำให้ปลอดภัย อีกทั้งให้มีการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ ให้กลับคืนสู่สภาพปกตินะครับ ซึ่งเรายังต้องดำเนินการร่วมกันอย่างรอบคอบต่อไปนะครับ

ทุกวิกฤต ย่อมแฝงไว้ด้วยโอกาสเสมอ หากเรามองด้วย “สายตาที่สร้างสรรค์” อย่างน้อย ก็จะเป็นการแสดงให้ชาวโลกได้เห็นถึง “พลังแห่งความรู้ รัก สามัคคี”ของชนชาติไทยของเรา ที่มีอยู่ในสายเลือด ทุกยุค ทุกสมัย ทุกคราที่ชาวไทยร่วมแรง ร่วมใจกัน เราก็จะสามารถฟันฝ่าอุปสรรค และผ่านห้วงเวลาแห่งความยากลำบากไปด้วยกันได้เสมอ

ครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งนะครับ แม้จะไม่ได้สร้างความเสียหายในวงกว้าง แต่ความทุกข์ร้อนใจก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียง “13 ครอบครัว” เท่านั้น เนื่องจากว่าถ้าเราทุกคน “เอาใจเขา มาใส่ใจเรา” แล้ว ก็ลองตรึกตรองให้ดีว่า ถ้า “13 ชีวิตในถ้ำ” นั้น คือ ลูกหลาน – ญาติ พี่น้องของเราที่กำลัง “ประสบภัยจากธรรมชาติ”ถูกกักอยู่ในความมืด มีทุกข์กาย ทุกข์ใจ อย่างแสนสาหัสในชีวิต

แล้วก็เฝ้ารอคอยความช่วยเหลือจากภายนอกด้วยความหวัง ที่จะได้กลับสู่อ้อมกอดของพ่อแม่ในเร็ววัน ผมคิดว่า เราทุกคนนะครับ ก็คงจะมีความรู้สึกทุกข์ร้อนใจไม่ต่างกัน เราถือว่าเราเป็นครอบครัวเดียวกันนะครับ คนไทยทั้งประเทศ ดังนั้นการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยครั้งนี้ จึงเป็นไปตาม “หลักเมตตาธรรม” และ“หลักมนุษยธรรม” โดยทั่วไป

ผมก็อยากจะวิงวอนนะครับ ให้ทุกกระแสวิพากษ์วิจารณ์ได้ตระหนัก และอยู่บนหลักพื้นฐานดังกล่าวด้วย เมื่อเขาออก มาได้ เขาคงมีแต่เพียงคำพูด “ขอบคุณ” คนไทยทั้งประเทศนะครับ แล้วเขาก็สามารถแสดงออได้ ด้วยการตั้งใจศึกษาเล่าเรียน เพื่อเติบใหญ่ขึ้นมาเป็น “พลังดีๆ” สำหรับรับใช้สังคม และพัฒนาประเทศชาติต่อไปนะครับ ถ่ายทอดประสบการณ์ต่างๆ ให้กับรุ่นน้อง รุ่นหลังต่อไปในอนาคต

สำหรับสิ่งที่ผมเรียกว่า “โอกาส” นั้น ก็คือ ผมอยากจะชวนให้พี่น้องประชาชนชาวไทยได้ “คิดตาม” นะครับ ถึงประโยชน์ที่เราทุกคน และประเทศชาติ จะได้รับจาก “การมองโลกในแง่ดี” หรือที่เรียกว่า “คิดบวก” กับเหตุการณ์ในครั้งนี้ อาทิ...

1. ถ้าเราใฝ่รู้และเฝ้าติดตามข่าวสาร จากสื่อทุกแขนง อย่างต่อเนื่องแล้ว เราก็จะได้รับความรู้ในหลากหลายแง่มุมนะครับ นำมาประมวล เกิดแนวความคิด ก็ เหมือนกับการทำงานวิจัยนะครับ หากหาความรู้เพิ่มเติม แล้วก็เป็นบทเรียน จากประสบการณ์ของผู้อื่น เช่น การเอาชีวิตรอดในถ้ำเป็นเวลานานๆ หรือในพื้นที่ที่ไม่สามารถที่จะพึ่งพาจากภายยอกได้นะครับ

คงไม่เฉพาะเรื่องถ้ำอย่างเดียวนะครับ อาจจะมีหลงป่าบ้าง อะไรบ้าง ซึ่งก็เกิดมาโดยตลอดนะครับ เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่เขาทำก็คือว่า การหาน้ำบริสุทธิ์มากินแทนอาหารนะครับ เพราะเราขาดน้ำนานไม่ได้ การรักษาสมดุลของร่างกายไม่ให้ป่วยไข้จะทอย่างไร ในสถานที่อับชื้นและมีอากาศเย็น

การทำสมาธิเพื่อลดความหวาดกลัว และครองสติให้มั่นคง ไปจนถึง การทำความรู้จักกับถ้ำ ป่าเขา ตาน้ำ น้ำบาดาล และฤดูกาลนะครับ เพื่อสามารถใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติได้ อย่างไม่เป็นอุปสรรคต่อกันนะครับ แล้วข้อสำคัญก็ต้องศึกษาด้วยนะครับ เกี่ยวกับสัตว์ต่างๆ ที่มีพิษ ไม่มีพิษ ต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ป่าเขา หรือถ้ำอะไรก็แล้วแต่นะครับ ทุกคนก็ทราบดีอยู่แล้ว

ผมขอชื่นชมนะครับ พี่น้องสื่อมวลชน ที่พยายามจะนำเสนอแง่มุมที่เป็นสาระประโยชน์ต่อสังคม ควบคู่ไปกับการรายงานสถานการณ์ และเป็นการรวบรวมกำลังใจ ส่งไปยัง “13 ครอบครัว” ของผู้ประสบภัย และเจ้าหน้าที่ทุกคนมาอย่างต่อเนื่องนะครับ

2. เรื่องการทำงานร่วมกันอย่างมีระเบียบ แบบแผน และการเคารพกติกา การปฏิบัติการครั้งนี้ ผมถือว่าเป็นการบูรณาการกัน ในรูปแบบ “ประชารัฐ” นะครับด้วยความร่วมมือกันของภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชน รวมทั้ง “จิตอาสา” ที่อาจจะเรียกได้ว่าไร้ขอบเขต-ข้อจำกัดนะครับ ทุกคนก็ทุ่มเท และลงมาอยากจะช่วย แล้วก็มีการขยายวงกว้างจากชาวแม่สาย - ชาวเชียงราย – ไปชาวไทยทั้งประเทศ แล้วไปสู่ชาวโลก ได้เข้ามามีส่วนร่วม ทั้งในรูปแบบบุคคลและองค์กร

รวมแล้วกว่า 50 หน่วยงานนะครับเป็นจำนวนผู้ที่เกี่ยวข้องหลายพันคน ที่ทำงานประสานสอดคล้องกันภายใต้ “ศูนย์อำนวยการร่วม” ซึ่งผมได้ตกลงใจมอบหมายให้ “ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย” ในขณะนั้น ทำหน้าที่ ผู้บัญชาการเหตุการณ์ อย่างต่อเนื่องจนถึง ณ เวลานี้นะครับ เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ ในการสั่งการ ตัดสินใจ และกำกับดูแลการทำงานในภาพรวม อย่างใกล้ชิด ให้การป้องกันบรรเทาสาธารณภัยเป็นไปตามแผนการปฏิบัติ - ข้อห้าม - ข้อบังคับที่กำหนดนะครับซึ่งเกิดจากการหารือกันทุกฝ่ายอย่างรอบคอบแล้ว

ทั้งในระดับรัฐบาลแล้วก็ทุกกระทรวง ก็ได้ให้การสนับสนุนอย่างเป็นระบบนะครับ ทั้งนี้ ก็อาจจะด้วยลักษณะ “ความเป็นผู้นำ” ของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเอง ก็มีส่วนสำคัญอย่างมากนะครับ ที่จะช่วยให้การทำงานที่เราต้องเอาชนะธรรมชาติ แข่งกับเวลา เป็นไปด้วยความเรียบร้อยนะครับ เป็นที่ชื่นชมของทุกฝ่าย

ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณสมบัติของผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดต้องพึงมี แต่ทั้งนี้ งานก็คงไม่ใช่มีเรื่องนี้เรืองเดียว ก็มีอีกหลายงานนะครับ ที่จะต้องรับผิดชอบ เคยเรียนไปแล้วว่าผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องทำหน้าที่เหมือนนายกฯ ของจังหวัดนะครับ ต้องบูรณาการทุกหน่วยงาน ส่วนราชการให้ได้

เพราะผลงานปรากฏออกมาในพื้นทีของตัวเอง ทุกหน่วยงานก็ต้องร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัดด้วยนะครับ ทั้งนี้เราก็ต้องจัดระเบียบการทำงานให้ครบกระบวนการ ตั้งแต่แรกนะครับ ตั้งแต่ระดับนโยบาย รัฐบาล กระทรวง มหาดไทย และทุกกระทรวง นะครับ ในการที่จะให้กรม หรือหน่วยงานปฏิบัติเป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อจะจัดระบบ ติดตามสถานการณ์ และการบูรณาการกัน ตามแนวทาง “ประชารัฐ” นะครับ

เริ่มตั้งแต่การจัดตั้งศูนย์อำนวยการร่วม แล้วก็มีฝ่ายต่างๆ นะครับ มาทำงานจากหลายส่วน ถ้าเราจัดโครงสร้างตรงนี้ไม่ได้ตั้งแต่แรก ก็จะวุ่นวายสับสนไปหมด นะครับ ส่วนอะไรเป็นส่วนปฏิบัติ ส่วนอะไรเป็นส่วนสนับสนุน ส่วนอะไรเป็นเรื่องของธุรการ ส่วนใดเป็นเรื่องของข่าวประชาสัมพันธ์ เหล่านี้ ต้องจัดรูปแบบให้ดีนะครับ

แล้วก็จัดสายการบังคับบัญชา ให้ชัดเจนนะครับ ทุกคนก็อยู่ในกรอบ ในกฎระเบียบอันนี้ เพราะว่าอยู่ในแผน ป้องกันบรรเทาสาธารณะภัยนะครับอยู่แล้ว กรมป้องกันบรรเทาสาธารณะภัยรับผิดชอบ รัฐมนตรีมหาดไทย กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบนะครับ ในนามของรัฐบาลนะครับ

เรื่องที่ 3. ผมเชื่อมั่นว่าวันนี้ คนไทยได้เรียนรู้ว่าการทำงานใดๆ ก็ตาม จะต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบ ที่เรียกว่า แผนหลัก แผนรอง แผนเผชิญเหตุ นะครับ เราต้องศึกษาปัจจัยสภาวะแวดล้อมทั้งปวงที่อาจจะส่งผลกระทบ เช่น น้ำฝน - น้ำบาดาล - ต้นน้ำจากป่าเขา จะส่งผลอย่างไรบ้าง ต่อปริมาณน้ำในถ้ำ นอกถ้ำนะครับ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการช่วยชีวิต แล้วเราจะต้องคิดถึงแผนเผชิญเหตุ กรณีอาจเกิดเหตุที่ไม่คาดคิด

ที่เราต้องป้องกัน และเตรียมการแก้ไข อย่างไม่ประมาท ไม่ให้เกิดเสียหายแล้วค่อยไปล้อมคอกทีหลัง เหมือน “วัวหายแล้วล้อมคอก” นะครับ แก้ไขไม่ทัน เพราะอันนี้เป็นเรื่องของชีวิต ต่อชีวิตนะครับ การคิดการเตรียมการต่างๆ ก็ทำให้ครบวงจร เตรียมการล่วงหน้า วันนี้ก็เรื่องถ้ำ เรื่องน้ำเรื่องดำน้ำ อะไรต่างๆ

ก็ต้องมีทีมค้นหาผู้ประสบภัย ที่มีประสบการณ์ร่วมไปด้วยนะครับ อย่างเช่น ทีมนักดำน้ำต่างประเทศ หน่วยซิล ซึ่งมีความเข้มแข็ง เป็นหน้าที่ที่ต้องทำงานร่วมกันให้ได้ ไม่ใช่ใครเป็นพระเอก คงไม่ได้นะ สำคัญที่สุดก็คือทุกอย่างต้องมีคนนำ คนตาม คนสนับสนุนต่างๆ ต้องไปพร้อมกันหมด แต่ต้องคัดแยกคนให้ดีนะครับ

การดำน้ำ “ขาเข้า” เพื่อค้นหาผู้ประสบภัย ก็ต้องมีการเตรียมอาหาร เตรียมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีพ ปฏิบัติงาน โดยคำนวณให้เพียงพอจนกระทั่งการเคลื่อนย้าย “ขาออก” ด้วย อย่างที่เห็นแล้วนะครับ วางเครื่องมือการสื่อสาร วางถังดำนะครับ วางอุปกรณ์ให้แสงสว่าง เหล่านี้ เพราะเข้าที ออกที ไม่ใช่เวลาสั้นๆ นะครับ

ไปก็ก็นำอุปกรณ์ไปด้วย เท่าที่สามารถนำไปได้ ถึงตรงไหนก็ตั้งตรงนั้น พอไปได้ต่อก็ไปตั้งต่อ นะครับ เรียกว่าเป็นการต่อระยะหน้าออกไป ที่สำคัญที่สุดก็จะต้องมีการซักซ้อมการปฏิบัตินะครับ ทั้งจากแผนผังสังเขปที่ได้ร่างไว้เป็นแผนที่เดียวกัน ซักซ้อมภายนอกพื้นที่ใกล้เคียงนะครับ แล้วก็ค่อยเข้าไป เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจบทบาทและหน้าที่ของตน การสั่งการ การบังคับบัญชา แผนการปฏิบัติเมื่อพบอะไรก็แล้วแต่

การรายงาน การติดต่อสื่อสารจะทำได้อย่างหร เพราะฉะนั้นถ้าทุกคนสามารถที่จะสอดประสานการทำงานได้โดยอัตโนมัติ ตามภาระหน้าที่ของตนเอง ตามประสบการณ์ ความชำนาญของตัวเอง เมื่อเราซ้อมกันดี ถึงเวลาปฏิบัติจริงก็ไม่มีปัญหานะครับ อันนี้ก็นำมาประยุกต์ใช้ได้ในสถานการณ์อื่นอีกด้วย อันนี้เป็นหลักการการทำงาน แม้กระทั่งการใช้ชีวิตประจำวันนะครับ ของทุกคน ทุกสาขาวิชาชีพ

รัฐบาลและ คสช. ก็พยายามนำเสนอกับพี่น้องประชาชนว่า เราจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ชาติ - แผนปฏิรูปประเทศ - และแผนปฏิบัติต่างๆ นะครับ ซึ่งเราได้กำหนดไว้แล้วว่ามีทั้งระยะสั้น - ระยะกลาง - ระยะยาว เราจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์นะครับ มีการมองไปสู่อนาคต และการกำหนดแนวทางการดำเนินงานล่วงหน้า อย่างเป็นขั้นเป็นตอน สามารถปรับเปลี่ยนได้นะครับ ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมภายใน – ภายนอก ปัจจัยต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปนะครับ

เราต้องมีการเตรียมมาตรการลดความเสี่ยงในอนาคตไว้ด้วย หรือเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดโดยไม่คาดคิดเราต้องมีสมมุติฐาน ตั้งไว้ล่วงหน้านะครับ ว่าถ้าเกิดอย่างงี้เราจะทำยังไง ถ้าเกิดเรื่องนี้เราทำยังไง เราแก้ปัญหาอย่างไร แล้วถ้าปรับไปแล้วเกิดปัญหาอย่างอื่นซ้อนเข้ามาอีก จะทำยังไง เหล่านี้ เราเรียกว่าสมมุติฐานนะครับ สมมุติเอาไว้ แล้วเราก็จะมีการปฏิบัติเป็นขั้นเป็นตอน ไม่หยุดชะงักนะครับ ไม่ใช่เตรียมแผนหลักไว้แผนเดียว ไม่ได้ แผนหลัก แผนรอง แผนเผชิญเหตุ ต้องมีอีกหลายแผน นะครับ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ทำลักษณะนี้ไว้ด้วยนะครับ

เรื่องที่ 4. ณ วันนี้ ประชาชนจากหลายประเทศทั่วโลก ได้รู้จักประเทศไทยของเรามากยิ่งขึ้นนะครับ ก็มีหลายประเด็นที่สำคัญนะครับจากการติดตามข่าวสาร จากสื่อต่างๆ ของไทย และสื่อต่างชาติแทบทุกสำนัก รวมทั้ง “สื่อโซเชียล” ที่ไร้พรมแดนนะครับ อันนี่ก็ต้องระมัดระวัง เพราะทุกคนเป็นนักข่างได้หมด วิพากย์ วิจารณ์ ได้หมดนะครับ บางทีข้อมูลอาจจะไม่ครบนะครับ

เพราะฉะนั้นต้องคิด ต้องเข้าใจ ว่าเรามีกฎหมายอย่างไร มีวิธีการปฏิบัติอย่างไร เราได้มีการปรับเปลี่ยนแผนได้แค่ไหนนะครับ ไม่ใช่ทำอย่างหนึ่งถูกใจ แต่สร้างอีกปัญหาหนึ่ง เกิดขึ้นมาภายหลัง ตามแก้กันอีก เพราะฉะนั้นเราต้องมีแผนสำรองไว้ทั้งหมดนะครับ ทั้งในเรื่องของการป้องกัน แก้ไข แล้วก็ฟื้นฟูนะครับ วันนี้เราก็จะได้ใช้ทั้ง 3 แผน ออกมาใช้กันที่วางไว้แล้วนะครับ

ต่างคน ต่างก็พยายามจะเสนอข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับบ้านเมืองของเรา ในหลากหลายมุมมองนะครับ ไม่ใช่เฉพาะเพียงเรื่องถ้ำนี้ หรือมาตรฐานการกู้ภัยของเรา ก็เป็นการสร้างความเชื่อมั่นกับเขาได้ว่า วันหนึ่ง ถ้าเขาเดินทางมาท่องเที่ยวในเมืองไทย แล้วอาจจะประสบภัยธรรมชาติ หรืออุบัติภัยต่างๆ ใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่ในบ้าน ในเมือง ในป่าลึก ในถ้ำ ในน้ำตก ในท้องทะเล หรือมุมใดก็ตามในแผ่นดินไทย ผืนน้ำไทย เขาจะได้รับความช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพในโอกาสแรกๆ โดยที่เราไม่ลดละความพยายามนะครับ

ไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือคนต่างประเทศก็ตาม ถ้าอยู่ในผืนแผ่นดินไทย ทุกคนต้องปลอดภัยนะครับ เราก็ต้องดูแลเหมือนกัน เวลาเราไปบ้านเขา เขาต้องดูแลเหมือนทีเราดูแลคนของเขานะครับ ที่ผ่านมาก็เป็นอย่างนี้นะครับ เพราะฉะนั้นเราก็อยากจะให้ประสบการณ์การกู้ภัยในครั้งนี้ ไปทำต่อในหลายเรื่องด้วยกัน

สิ่งสำคัญที่สุด ผมเคยบอกไว้แล้วว่า เสน่ห์ของเมืองไทยอยู่ที่ไหน เมืองไทย เขาบอกว่า 1 ก็คือธรรมชาติสวยงาม แต่ก็แฝงไว้ด้วยอันตรายนะครับ 2 ก็คืออาหารอร่อยนะครับ ราคาถูก มีคุณภาพ 3 ก็คือ คนไทยน่ารัก มีอัธยาศัยไมตรี อันดี ในการดูแล เป็นเจ้าบ้านที่ดี 3 อย่าง เป็นลักษณะของคนไทยที่คนต่างประเทศชอบ เพราะฉะนั้นอย่าทำให้เสียไปนะครับ เพราะฉะนั้น อีกคำหนึ่งที่เขารู้จักกันมาก็คือเมืองไทยนั้นเป็นเมืองที่เรียกว่ามีแต่รอยยิ้ม นะครับ ที่เรียกว่า “สยามเมืองยิ้ม”นั้น คืออะไร

เราจะต้องมองข้ามภาพลบ ภาพความขัดแย้งในอดีต การบังคับใช้กฎหมาย อย่ามาเกี่ยวข้องกัน เพราะคนละอันกันหมด เพราะฉะนั้นก็ต้องทำให้ดีขึ้นเรื่องยๆ ทุกอันครับ เพื่อให้ทุกคนได้สัมผัสกับความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ ในประเทศไทยอย่างแท้จริง อย่างที่เขานิยมมาเที่ยวไทย เสน่ห์ของอาหารและผลไม้ไทย การบริการ

รวมไปถึงโบราณสถาน ที่ได้รับการดูแล แล้วก็เข้าใจขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย ต่างๆ วันนี้ก็ผ่านสื่อหลายประเภทนะครับ ประเทศไทยในมุมมองของโลก อะไรที่ไม่ดี ก็ต้องแก้ไขนะครับ โดยเร็ว จะได้ไม่เป็นเรื่องทีถ่วงสิ่งดีๆ ของเรานะครับ แล้วเราก็จะได้เป็นเจ้าบ้านที่ดีในการต้อนรับนักท่องเที่ยว ที่มาจากต่างประเทศนะครับ ให้ได้มาสัมผัสประสบการณ์เหล่านั้น ด้วยตนเอง ประสบการณ์ที่ดีๆ นะครับ

แล้วในครั้งนี้ นั้น สิ่งที่เราต้องยึดในจิตใจเสมอก็คือพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงรับ “จิตอาสา” ชาวต่างประเทศ ที่มาร่วมปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้นะครับ ให้ดูแลเปรียบเสมือนอาคันตุกะของพระองค์ นะครับ ซึ่งรัฐบาลก็ให้การต้อนรับดูแล โดยกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยว แล้วก็กระทรวงมหาดไทยแล้วนะครับ ในขณะนี้ได้สั่งการไปเรียบร้อยแล้ว

หลายคนก็อาจจะติดภารกิจต้องรีบกลับ แต่ส่วนหนึ่งก็จะอยู่ต่อนะครับ เราก็ติดตามดูแลเขา จนกว่าจะจบสิ้นภารกิจนะครับ ในฐานะเป็นเจ้าบ้านที่ดี ให้สมกับที่มีน้ำใจ เสี่ยงอันตรายมาช่วยเรา จนกว่าจะเดินทางกลับประเทศนะครับ

เรื่องที่ 5. ก็คือผมได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้บันทึก เป็น “แผนบทเรียน” นะครับ หรือแผนการฝึก ในส่วนของที่เป็น พลเรือน ตำรวจ ทหารนะครับ เพราะอันนี้เป็นเรื่องที่เราต้องฝึกในยามที่ยังไม่เกิดเหตุการณ์ไปด้วยนะครับ กระทรวงมหาดไทยในบทบาทของการแก้ไขบรรเทาภัยพิบัตินะครับ ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

และในฐานะที่เป็นศูนย์บริการ และในบทบาทของการเป็นศูนย์บรรเทาภัยพิบัติแห่งชาตินะครับของรัฐบาล ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานซึ่งในขณะที่สถานการณ์อยู่ในระดับหนึ่ง ก็ได้มอบหมายให้ กระทรวงมหาดไทยโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รับผิดชอบ วันนี้ก็เช่นเดียวกันนะครับ

ก็ขอให้กรณีศึกษาของไทย แล้วก็จะเป็นประโยชน์ในวันข้างหน้านะครับ ก็จะต้องประสานทั้งหมดนั่นแหละ พลเรือน ตำรวจ ทหาร ประชาชน ภาคเอกชนต่างๆ อาจจะเรียกง่ายๆ ได้ว่าแผนประชารัฐนะครับ เอาไปใช้ได้ทุกอย่าง

แล้วก็แก้ไขข้อบกพร่องในครั้งนี้ ไม่ให้เกิดซ้ำอีก ผมไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ขึ้น แต่ถ้าเกิดขึ้นจะต้องไม่มีปัญหาอีกนะครับ ในครั้งต่อไป ต้องสมบูรณ์ที่สุดนะครับ การวางแผน การจัดทำระบบแจ้งเตือนภัยต่างๆ ป้ายต่างๆ ตามสถานที่ท่องเที่ยว การสำรวจถ้ำที่น่าสนใจ เหล่านี้ ต้องเร่งสำรวจนะครับ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ำนี้ ก็จะเป็นถ้ำที่ได้รับความสนใจจากคนทั้งโลก เพราะฉะนั้นก็อาจจะชอบการท่องเที่ยวแบบผจญภัย เราต้องสำรวจนะครับ ตรงไหนที่ไปได้ ตรงไหนไปไม่ได้ ต้องมีมาตรการป้องกันด้วยนะครับ บางครั้งเราไม่ค่อยให้ความสนใจในเรื่องเหล่านี้ นะครับอันนี้ผมถือเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานในพื้นที่ เราต้องมีการจัดเตรียมอุปกรณ์ในการกู้ภัยและช่วยชีวิต

เทคโนโลยีที่ทันสมัยนะครับ ระบบดิจิตอล ในเรื่องของการติดต่อสื่อสาร ในเรื่องของการแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่มีอะไรอยู่บ้างนะครับ และก็ลดให้น้อยที่สุดหรือไม่มีเลย ซึ่งแต่ละหน่วยงานของเราต้องมีนะครับ

การจัดทำบัญชีเครื่องไม้เครื่องมือเหล่านั้น ว่าจะเป็นของเอกชนรายใดที่บริจาคมา หรือที่จะนำมาร่วมมือช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุการณ์เกิดขึ้น ต้องขึ้นบัญชีไว้หมด เพราะบางทีส่วนราชการเครื่องมือไม่พอ ไม่พอก็มาเสริม เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าหน่วยราชการไม่มีอาจจะไม่พอในบางอย่าง เอกชนมีมากก็เอามาสมทบ มาช่วยกัน แล้วก็มีการบริจาคเพิ่มเติม วันนี้ก็ได้ให้รวบรวมสิ่งของบริจาคทั้งหมด ขึ้นบัญชีให้เรียบร้อย ในการที่จะสามารถนำมาใช้ในโอกาสต่อไปได้นะครับ ก็ขอความร่วมมือจากทุกคนด้วยนะครับ

เรามีการสำรวจเครื่องไม้เครื่องมือที่เราไปทำงานในขณะนี้มีหลายอย่าง ไม่ว่าจะระบบไฟฟ้า เครื่องปั่นไฟ เครื่องสูบน้ำ เครื่องเจาะ เครื่องขุด อะไรต่างๆเยอะแยะไปหมด ต้องขึ้นบัญชี ตรวจสอบสภาพ แล้วก็หากมีชำรุดก็รีบซ่อม เร่งซ่อมและนำเก็บรักษา เพื่อจะได้ใช้ได้ทันท่วงทีนะครับ ไม่ใช่จะหยิบมาใช้ก็เสีย ก็พัง ต้องระมัดระวังหน่อยในการใช้สิ่งของเหล่านี้ บางทีบอบบาง โยนโครมๆ ไม่ได้นะครับ พังหมด ช่วยกันประหยัดงบประมาณภาครัฐด้วยนะครับ

ทั้งนี้ ทั้งหมดที่เราทำวันนี้ก็เพื่อเป็นการสนองตอบพระกระแสทรงรับสั่งว่า เราต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ ตระหนักถึงความเป็นมาเป็นไป แล้วก็นำบทเรียนนี้ ไปใช้ในการวางแผน ระบบแจ้งเตือนภัยต่างๆ และเตรียมรับมือกับภัยพิบัติ อย่างที่ผมบอกแล้วว่าต้องมีการทำแผนเผชิญเหตุ วิธีป้องกัน และแก้ปัญหานะครับ เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็พระราชทานความห่วงใย มาเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้นะครับ

แต่เราในฐานะที่เป็นรัฐบาล หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งประชาชน ก็ต้องเป็นเรื่องที่พวกเราต้องดำเนินการให้ได้ เพราะเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนอยู่แล้วนะครับในลักษณะของการทำงานแบบประชารัฐ

สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับวนอุทยาน “ถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน” แห่งนี้ ผมเห็นว่าได้ถูกสำรวจ แทบทุกมุมมองนะครับ ทั้งภายนอก-ภายใน และรับรู้อันตรายต่างๆที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นก็ขอให้เตรียมการให้พร้อม วันหน้าอาจจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ของประเทศไทย และของโลกด้วยนะครับ มีภาพถ่ายทางอากาศ-ภาพถ่ายดาวเทียม และการเดินสำรวจ การดำน้ำสำรวจ ข้อมูลต่างๆเหล่านี้น่าสนใจนะครับ นำมากำหนดมาตรการต่างๆ ให้เกิดความเหมาะสม ไม่ให้เหตุการณ์เกิดขึ้นอีก

อย่างน้อยเราก็จะต้องมีบันทึกเรื่องราวต่างๆ ไว้ให้ได้ศึกษา ที่เรียกว่า ห้องสมุดธรรมชาติที่ดีที่สุดนะครับ ที่มีชีวิต ของประเทศนะครับ อันที่จริงแล้ว สถานการณ์ครั้งนี้ เราทุกคนได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน รัฐบาลด้วย ข้าราชการด้วย ภาคประชาสังคม ธุรกิจ เอกชน ประชาชน เกษตรกรในพื้นที่ หลายอาชีพ ทุกคนก็มีส่วนร่วมทั้งหมดนั่นแหละ และทุกคนก็ได้ประสบการณ์อันมีค่าไปแล้ว เป็นประโยชน์อย่างมากนะครับ

เรามาพูดคุยกันต่อ ว่าจะทำยังไง อาทิเช่นในเรื่องของความแข็งแรงของร่างกายผู้ประสบภัย ทั้ง 13 ชีวิต อันนี้ เราโชคดีที่เค้าเป็นนักกีฬาฟุตบอล ถ้าเป็นเด็กอื่นอาจ ความอดทนอาจจะจำกัดกว่านี้นะครับ

เพราะฉะนั้นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ทนทานต่อการอดอาหาร และ สภาพแวดล้อมที่เลวร้าย มาเป็นระยะเวลายาวนานนั้น ก็ต้องไปดูนะครับ ว่าเราจะทำอย่างไร ต้องเตรียมการ ต่างประเทศเวลาเค้าจัดรายการแข่งขันออกกำลังกายที่หนักๆเค้ามีการเตรียมร่างกายเป็นปีๆ ฉะนั้นคนเหล่านี้เค้ามีความพร้อม แต่ก็เป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะมาเที่ยวและมีร่างกายแข็งแรงทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ เราต้องเตรียมมาตรการช่วยเหลือไว้ให้พร้อมนะครับ

แล้วภาษาอังกฤษ ที่มีความสำคัญ พยายามพูด พยายามฝึกหน่อยนะครับ ผมรู้ว่าเป็นเรื่องที่ยากพอสมควรนะ แต่ถ้าเราพยายามก็น่าจะได้อย่างน้อยก็ดีขึ้นกว่าเดิม สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ ครั้งนี้ก็จำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษ ติดต่อกับนักดำน้ำได้ด้วย ก็ชื่นชมนะครับ แม้กระทั่งเด็กผู้ประสบภัยเอง ก็ได้ใช้ประโยชน์ทางภาษาในห้วงเวลาวิกฤตนี้ คิดดูแล้วกัน ถ้าพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ จะทำยังไง ก็ต้องเสียเวลาไปอีกนานพอสมควร กว่าจะรู้กันว่าต้องทำอะไรกันนะครับ ก็เข้าไปพร้อมกันไง ทั้งนักดำน้ำต่างชาติ และทั้งนักดำน้ำของซิล ก็เข้าไปพร้อมกันนะครับ อยู่ในขบวนเดียวกัน เพราะฉะนั้นเราต้องเตรียมเยาวชนของชาติให้มีความพร้อมด้วยนะครับ

สำหรับ จิตอาสา แม้ว่าจะไม่ได้มีบทบาทหลักในการกู้ภัยนะครับ แต่การหยิบยื่นน้ำใจเล็กๆน้อยๆ ช่วยเหลือ มีจิตสาธารณะนะครับ หลายคน หลายท่านที่เห็นเจ้าหน้าที่เขามีความพอใจ ก็คือที่มาช่วยซักผ้าเจ้าหน้าที่ มีการบริจาคสิ่งของ อาหาร ดูแล สนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ ต่างๆ ที่จำเป็น ให้การบริการอาหาร - เครื่องดื่ม - ยารักษาโรค ช่วยหยิบจับ – ช่วยขนของ อีกมากมายนะครับ ผมอาจจะกล่าวได้ไม่ครบนะครับ

ก็ล้วนแต่เป็นการปิดทองหลังพระ ทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้ ก็จะเป็นส่วนช่วยหล่อลื่นให้เรื่องยาก เป็นเรื่องง่าย และทำให้ภารกิจหลักๆ ประสบความสำเร็จด้วยดี

ด้วยความเสียสละ อันเป็นคุณธรรมอันยิ่งใหญ่ และน่ายกย่อง ความเสียสละพื้นที่นาให้เป็นแก้มลิง รองรับน้ำที่ระบายออกจากถ้ำ รัฐบาลจะเข้าไป ดูแลนะครับ ตอนนี้ก็เข้าไปสำรวจแล้ว ก็เห็นออกข่าวมาจากประชาชนก็ขอบคุณนะครับ เกษตรกรยินดีเต็มใจ เขาบอกน้ำมาข้าวตาย ข้าวตายก็ปลูกใหม่ได้ แต่ถ้าเด็กเป็นอะไรไปมันไม่คุ้มค่ากัน เพราะฉะนั้นเขาภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วม รัฐบาลก็ต้องดูแล ทุกอย่างนะครับ ไม่ใช่ทำคนใดคนหนึ่งจะสำเร็จ พระเอกคนเดียวทำไม่ได้หรอกนะครับ เพราะฉะนั้นเป็นการบูรณาการทุกหน่วยงาน

สำหรับทีมนักประดาน้ำ จากหลายประเทศ ทีมปีนเขาสูงเก็บรังนก จากเกาะลิบง ทีมขุดเจาะน้ำบาดาลจากโคราช ทีมเครื่องสูบน้ำหัวพญานาค จากนครปฐม โอ้ย.. กล่าวได้ไม่หมดหรอกนะครับ เยอะแยะไปหมด ขอชื่นชมนะครับ

วัด ทุกวัด พระ ศาสนาทุกศาสนา ผู้นำในประเทศไทย ได้มีการการสวดมนต์ กล่าวคำอวยพรนะครับ แล้วรวมความไปถึงการนั่งสมาธิ ประเทศไทยนะครับ เราต้องเชื่อมั่น ยึดมั่น เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวนะครับ ก็ขอให้ยึดถือเป็นแบบอย่างนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครู นักเรียน ทุกโรงเรียน นะครับ ที่ส่งกำลังใจไปช่วยกล่าวได้ไม่หมดนะครับ ใครกล่าวไม่ครบก็ขอโทษด้วย ขอขอบคุณด้วยใจจริงๆ ของนายกรัฐมนตรีนะครับ แล้วก็แทน 13 คน กับครอบครัวด้วย

พี่น้องประชาชนที่รักครับ, ในวันที่ 4 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ตรงกับวันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ผมขอเชิญชวนพสกนิกรชาวไทย ทุกหมู่เหล่า ร่วมถวายพระพรชัยมงคล แด่ “เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์” ของปวงชนชาวไทย ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

นอกจากนี้พระองค์จะทรงมีผลงานดีเด่นระดับโลก ในสาขาสารเคมีก่อมะเร็ง และพิษวิทยาสิ่งแวดล้อมแล้วนะครับ พระองค์ยังทรงได้ก่อตั้งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ซึ่งล่าสุดประสบความสำเร็จ ในการพัฒนายาชีววัตถุ ที่มีบทบาทสำคัญในการบำบัดรักษาโรคมะเร็งเต้านม ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง เป็นนวัตกรรม “ชิ้นแรก”ที่ดำเนินการโดยนักวิจัยในประเทศไทย ตั้งแต่ต้นทาง จนถึงปลายทาง

โดยไม่ต้องอาศัยการซื้อ หรือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศนะครับ ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งบางชนิดมีโอกาสได้รับการรักษา โดยมีค่าใช้จ่ายที่ถูกลง อีกทั้ง ช่วยให้ประเทศสามารถพึ่งพาตนเองด้านยาชีววัตถุได้ และ ช่วยสร้างความมั่นคงทางยา รวมทั้ง ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศ อีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ จากความสำเร็จดังกล่าว สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ พร้อมที่จะขยายปริมาณการผลิตไปสู่ระดับอุตสาหกรรม โดยจะร่วมมือกับโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ต่อไป

ซึ่งก็นับว่าสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นให้ประเทศไทย สามารถสร้างผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ส่งผลให้เศรษฐกิจของชาติพัฒนาอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน อีกทั้ง จะเป็นการพัฒนาศักยภาพ และ กำลังคนของประเทศ ตามยุทธศาสตร์ “ไทยแลนด์ 4.0” ได้อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วยนะครับ

พี่น้องประชาชนที่เคารพครับ, มีอีกเรื่องที่น่าชื่นชม และถือเป็นข่าวดี สำหรับประเทศไทย และพี่น้องชาวไทย ในเรื่องการยกระดับการให้บริการทางสุขภาพของเราในอนาคต

สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดร้อยเอ็ดได้รับ “รางวัลชนะเลิศ” จากการมอบรางวัล United Nations Public Service Awards ประจำปี 2561 ในสาขาการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ ในการให้บริการสาธารณะ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

จากผลงานเรื่อง “การป้องกันและควบคุมมะเร็งปากมดลูกแบบบูรณาการ” โดยไทยเป็น 1 ใน 8 ประเทศ ที่ได้รับรางวัลดังกล่าวในปีนี้ จากทั้งหมด 437 ผลงาน 79ประเทศนะครับ โครงการนี้ ถือเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะนำมาใช้ใน “การปฏิรูปด้านสุขภาพ” ของประเทศ เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของหลายฝ่าย ในลักษณะ “ประชารัฐ” และ เป็นตัวอย่างที่ดีในการบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนงานต่อไปด้วย

สำหรับอีกเรื่องหนึ่งนะครับ สถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทย หรือ TIP Report ปีนี้ ที่ดีขึ้นมาอย่างต่อเนื่องนะครับ เกิดต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่รับบาลและ คสช. เข้ามาใช้เวลาหลายปีนะครับ คิดว่าเกือบ 4 ปีได้นะครับ จาก TIER 3 ก่อนหน้านั้นเป็น TIER 2 แล้วก็เป็น TIER 2 Watch List ใช่ไหม แล้วกลับมาเป็นTIER 3แล้วกลับมาเป็น TIER 2 ในทีสุด กลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ แล้วพยายามไปให้ถึง TIER 1 ให้ได้ หรือไม่มี TIER ในปีนี้นะครับ เราทำได้สำเร็จมาขั้นหนึ่งแล้ว ใช้ความพยายาม 4 ปี ดูเอาแล้วกัน ปี 2559 - 2560 นี่กลับมาจาก TIER 2 Watch List มาเป็น TIER 2 ก่อนหน้านั้นก็เป็น TIER 3

เพราะฉะนั้นก็ขอขอบคุณทุกท่านนะครับ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกฝ่าย ทั้งรัฐ ข้าราชการ ภาคเอกชน นักธุรกิจที่เกี่ยวข้องนะครับ ก็คือผู้ประกอบการนั่นแหละ เจ้าหน้าที่ ช่วยกันสร้างชาติ พัฒนาประเทศของเราใช้ “กลไกประชารัฐ” ไปสู่ความสำเร็จนทุกเรืองนะครับ ทำให้ดีด้วยนะ ไม่ว่าจะ TIER ไม่ว่าจะIUU ICAO อะไรทำดีแล้ว ก็ทำต่อไป อะไรที่ยังแย่อยู่ก็ทำให้มากยิ่งขึ้น

อันนี้จะเป็นการประเมินผลงานของข้าราชการทุกคน ในทุกมิติ ในระดับผู้บังคับบัญชา ทุกคนต้องได้รับการตรวจสอบการประเมินผล ทุกคนต้องทำให้ได้ดีทุกหน้าที่ เพราะเป็นผู้บังคับบัญชาเขา มีผู้บังคับบัญชาอยู่เป็นจำนวนมากนะครับ เพราะฉะนั้นต้องทำงานร่วมกันให้ได้

ขอบคุณครับ ขอให้ “ทุกคน” รักษาสุขภาพ และ “ทุกครอบครัว” มีความสุขนะครับ สวัสดีครับ

 

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้