Last updated: 17 มี.ค. 2561 | 2391 จำนวนผู้เข้าชม |
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------
สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน
วันนี้พวกเราทุกคนก็ทราบดีว่า มีเรื่องราวข่าวสารมากมาย ปริมาณมหาศาล ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา ทั้งมาจากสื่อโซเชียล จากการพูดคุย เหล่านี้มีทั้งข้อจริงและข้อเท็จ เป็นข่าวลือและข่าวลวงอยู่บ้าง ก็เหมือน “น้ำในคลอง” เราต้องแกว่งสารส้มให้ตกตะกอนนอนก้นก่อน เราจะได้เห็นน้ำใส ๆ อยู่ข้างบน ผมก็อยากให้คนไทยทุกคนควรยึด “หัวใจนักปราชญ์” ในการใช้ชีวิตคือ “สุ จิ ปุ ลิ” แปลความหมายว่าคือ “ฟัง คิด ถาม เขียน” หมายถึง ว่าจะฟังก็ต้องฟังหูไว้หู หรือถ้าจะเป็นคนรักการอ่าน ก็ต้องมีภูมิคุ้มกัน โดยรู้เท่าทัน จากนั้นต้องคิดตามให้รอบด้าน ใช้เหตุใช้ผล หากสงสัยต้องไต่ถามผู้รู้ ผู้ที่เชื่อได้ เพื่อจะตรวจสอบความถูกต้อง ซักซ้อมความเข้าใจ แล้วฉลาดที่จะขีดเขียน จดจำ แพร่ต่อ ว่าอะไรคือสาระ อะไรคือแก่นสาร ก็ควรจะบันทึกเก็บไว้เป็นองค์ความรู้ เป็นประวัติศาสตร์ ส่วนที่เป็น “กระพี้” คือเปลือกนอกก็อย่าไปเสียเวลามากนัก บางทีก็ไม่ใช่เรื่องของเรา ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรกับสังคม กับประชาชนเลย เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความขัดแย้ง ในช่วงระยะเวลาอันสำคัญยิ่งนี้ อาทิ “วันที่ 13 มีนาคม” ของทุกปี เป็น “วันช้างไทย” สิ่งที่เป็นสาระน่าศึกษา ได้แก่ ปัจจุบัน ประชากรช้างไทยเหลือเพียง 6,000 ตัว โดยประมาณ ถึงแม้ว่าเราจะดูแลอย่างไรก็ตาม มีจำนวนจำกัด จากประชากรช้างทั่วโลก 750,000 ตัว สำหรับประวัติศาสตร์ของชาติไทยนั้น มีความผูกพันกับช้างมายาวนาน ภาษาไทยจึงมีสรรพนามสำหรับช้าง แตกต่างกัน เช่น “ช้างป่า” เราเรียกว่า “ตัว” แต่ถ้าอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เราเรียกว่า “โขลง” เมื่อช้างนำมาฝึก มาเลี้ยงไว้ใช้ในบ้าน เราเรียกว่า “เชือก” แต่ถ้าเป็น “ช้างหลวง” เราใช้สรรพนามว่า “ช้าง” สำหรับช้างตัวผู้เราเรียก “ช้างพลาย” ส่วนช้างตัวเมียเราเรียก “ช้างพัง” นั่นคือความงดงามทางภาษาของเราเป็น “ไทยนิยม” อีกอย่างหนึ่งที่คนไทย เด็กไทยควรจะเรียนรู้ รับรู้ไว้ไม่ลืมเลือนใช้ให้ถูกต้อง เพราะการใช้ภาษานั้นจะสะท้อนระดับการศึกษาของผู้พูด หากจะพูดถึงสาระที่เป็น “ความสำเร็จ” ของรัฐบาลนี้ ที่เกี่ยวข้องกับช้าง รวมทั้งการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพันธ์พืชที่ใกล้จะสูญพันธุ์หรือถูกคุกคาม ที่เรารู้จักในนามอนุสัญญา “CITES” นั้น คนไทยบางส่วนอาจจะลืมไปแล้ว แต่ประชาคมโลกก็ได้จารึกว่า รัฐบาลนี้ และ คสช. ได้ใช้ความพยายามทั้งในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และกระบวนการยุติธรรมเข้ามาแก้ไขปัญหา การค้างาช้างในประเทศไทย จนผลเป็นที่ยอมรับ ในเวทีนานาอารยะชาติ หลังจากที่เป็นปัญหาคู่สังคมไทยมาหลายสิบปี ผมอยากจะเรียกร้องให้ทุกคน ทุกฝ่าย ช่วยกันรักษาสิ่งดี ๆ ที่เราทำไว้ให้นี้ต่อไป
วันนี้อาจจะมีปัญหาเรื่องคนกับช้างอยู่บ้าง เราต้องแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้อง ไม่ให้มีผลกระทบกับคนมากนัก วันนี้เราได้มีการปิดถนนบางเส้นไป แล้วต้องไปดูแลช้าง บางทีก็มีช้างเกเรอยู่ด้วย ต้องหามาตรการว่าจะทำยังไงกับช้างเกเรเหล่านั้น ที่อยู่ที่อาศัยจะทำอย่างไร อันนี้ต้องมองหลายด้านด้วยกัน
ย้อนมาที่ “หัวใจนักปราชญ์” อีกครั้ง ผมไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องเป็นนักปราชญ์ หรือ ปราชญ์อะไรที่ว่า เดี๋ยวก็มีคำพูดบิดเบือนไปอีก เพียงแต่นักปราชญ์นั้นเป็นสัญลักษณ์ของ “ผู้ใช้สติปัญญาในการแก้ปัญหา และในการดำรงชีวิต” ดังนั้น ผมเพียงต้องการให้ทุกคน “รักการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิต” เพื่อพัฒนาตนเอง เนื่องจากจะทำให้คนไทยใน “ยุคดิจิทัล” มีลักษณะสำคัญ 2 ประการ คือ (1) รู้อะไรให้รู้จริง รู้อิงหลักวิชาการและหลักเหตุผล และ (2) ทำอะไร ทำให้ถูกกฎกติกา มารยาทสากล และกฎหมายด้วย
พี่น้องประชาชนที่รัก ครับ
สำหรับกรณีการร้องเรียนเรื่องการทุจริต ที่มีความถี่มากขึ้นและหลากหลายประเด็น ในสังคมทุกวันนี้นั้น อาจถูกบิดเบือนว่า มีการกระทำทุจริตมากขึ้น ภายใต้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลนี้ และ คสช. ผมอยากให้ตรึกตรองดูให้ดี ให้ใช้ใจมอง ใช้ปัญญากลั่นกรอง เราก็จะเห็น “มุมสว่าง” ของปัญหานี้ ก็เป็นแง่ดีในสังคมไทยปัจจุบัน อย่างที่ผมเห็นหลายประการ ตัวอย่างเช่น เราจะเห็นความจริงว่าปัญหาทุจริตนั้น มีอยู่ทุกระดับในสังคม ทั้งในอดีตและปัจจุบัน เพียงแต่ปัญหาเหล่านั้น เคยเป็นปัญหาอยู่ “ใต้พรม” แล้วก็ถูกเปิดเผยสู่สังคมด้วยบทบาทของสื่อโซเชียล บางอย่างก็กำลังอยู่ในขั้นตอนการสอบสวน การสืบสวน เหล่านี้ ซึ่งใช้เวลา แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะบทบาทที่สร้างสรรค์ของโซเชียลนี้ จะเป็นการทำหน้าที่ที่ควรส่งเสริม ทำให้เกิดความรวดเร็วขึ้น หากแต่จะต้องมีความรับผิดชอบในการตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร ก่อนนำเข้าสู่ระบบเครือข่าย ประเด็นต่อไปก็คือเรื่องระบบรับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาลนี้ ได้มีการเปิดกว้าง และเข้าถึงง่ายกว่าที่ผ่านๆ มา หลายคนก็บอกว่ารัฐบาลนี้ปิดกั้น การแสดงความคิดเห็น ผมก็ได้เปิดช่องทางหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น “สายด่วน 1111” หรือ “สายด่วน 1567 ศูนย์ดำรงธรรม” หรือ คสช. ก็มีช่องทางทั้งหมด ต้องดูสมัยก่อน ๆ นี้มีหรือไม่ เรื่องแบบนี้ ร้องเรียนที่ไหนได้บ้าง ได้มีการแก้ไขปัญหาบ้างหรือเปล่า
วันนี้แม้เด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ที่มาจากต่างจังหวัด ก็สามารถกรอกข้อความเพื่อจะร้องเรียน และเมื่อมีหลักฐาน ก็นำไปสู่กระบวนการตรวจสอบในที่สุด ตามที่เป็นข่าวในทุกวันนี้ นอกจากนี้ ยังสะท้อนได้จากสถิติ 3 ปีที่ผ่านมา มีการขอให้รัฐช่วยดำเนินการมากกว่า 3 ล้านเรื่อง ไม่ใช่น้อย ๆ 3 ล้านเรื่อง และเราก็สามารถดำเนินการไปแล้ว ได้ข้อยุตติ ร้อยละ 98 อันไหนที่ซับซ้อน ก็อยู่ใน 2 ประเด็นที่ว่า ต้องมีการสอบสวน มีการดำเนินการหลาย ๆ อย่าง มีการใช้จ่ายงบประมาณ มีการจัดทำแผนงานโครงการใหม่ หมายถึงว่าวันนี้ รัฐบาลนี้เข้าไปดูทุกเรื่อง ไม่ว่าจะปัญหาน้อยใหญ่ ย่อมถึงมือผู้รับผิดชอบทั้งสิ้น เมื่อเสนอมา ผมก็ส่งให้หน่วยงานแก้ไข และรัฐบาล คสช. ก็จะติดตาม ผลความคืบหน้าในการดำเนินการดังกล่าว ไม่ใช่ส่งมาแล้วเก็บไว้เฉย ๆ เรื่องมีมาก หลายเรื่องก็ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ
ปัญหาในเรื่องเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นความเดือดร้อน หรือการทุจริต ถ้าไม่มีช่องทางที่ผมกล่าวมา พี่น้องก็ต้องหันไปพึ่งผู้มีอิทธิพลบ้าง นักการเมืองไม่ดีบ้าง ก็จะกลายเป็น “หนี้บุญคุณ” ส่งผลต่อการเลือกตั้ง เพราะนิสัยคนไทยคือ “เกรงใจคน” และ “รู้จักบุญคุณคน” อันนี้ก็ขอให้แยกให้ออก ผมไม่ว่าถ้าจะมีความกตัญญูรู้คุณ แต่ต้องในทางที่ถูกต้อง แล้วก็รู้จักบุญคุณของประเทศชาติ รู้บุญคุณของแผ่นดิน สำคัญกว่า อีกเรื่องหนึ่งคือเมื่อเปรียบเทียบเรื่องการทุจริตแล้ว ไม่ปรากฏการทุจริตในระดับนโยบาย ที่ส่งผลกระทบที่รุนแรงและกว้างขวาง หลายเรื่องศาลก็ติดสินลงมาแล้ว บางส่วนก็ยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรม เราต้องให้ความเป็นธรรม หาหลักฐาน ทั้งพยานบุคคล วัตถุพยาน ต้องทำให้ได้ แต่ทุกเรื่องที่มีมูลความผิดจริง รัฐบาลนี้ก็ผลักดันเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทั้งหมด เนื่องจากเป็น “1 ใน 3 อำนาจอธิปไตย” ของประเทศ โดยฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ ย่อมมีเสรีภาพในส่วนของตน ไม่มีการก้าวก่าย แต่ทำงานต้องเกื้อกูลกัน บูรณาการกัน เพื่อประเทศชาติและประชาชน
สำหรับเรื่องสำคัญอีกเรื่อง คือเรื่อง “จิตสำนึก” ของคนในสังคม ผมว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด วันนี้คนไทยมีจิตสำนึกมากขึ้น กล้าแสดงออกในทางที่ถูก ที่ผิดก็มาก เพราะฉะนั้นขอให้เอาเฉพาะที่แสดงในทางที่ถูกจะดีกว่า ตระหนักถึง “ภัยเงียบ” จากการทุจริต ที่ถ่วงความเจริญของสังคมไทยมาช้านาน วันนี้เราจะไม่ยอมให้สิ่งนี้เกิดขึ้น หรือลอยนวลได้ แต่ต้องเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม
ในการนี้ ผมขอน้อมนำพระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานไว้ ให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานแก่คณะผู้พิพากษาประจำศาลยุติธรรมที่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่เป็นครั้งแรก ณ วันที่ 2 มีนาคม ที่ผ่านมา มีใจความสำคัญหลายประการ อาทิ (1) ให้ยึดมั่นในศีลธรรมจรรยาบรรณของผู้พิพากษา ไม่ออกนอกกรอบที่ผิด จากสิ่งที่ได้เรียนรู้และศึกษามาว่าอะไรผิด อะไรถูก อะไรดี อะไรไม่ดี อะไรที่จะทำให้เดือดร้อนต่อชาติบ้านเมือง ขอให้มีสติ มีปัญญา มีทัศนคติที่ถูกต้องและอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน (2) กฎหมายไม่ว่าประเทศใด มีไว้เพื่อรักษาสิทธิ รักษาความปลอดภัย รักษาความสงบ แต่กฎหมายนั้นมีความลึกซึ้ง ใช้ให้ดีก็ดี ใช้ไม่ดีหรือหาช่องโหว่ในการปฏิบัติต่าง ๆ ก็ไม่ดี เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ และ (3) การปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์นั้น หมายถึงการปฏิบัติหน้าที่ในนามของสถาบัน “ทั้ง 3 สถาบัน” คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน ซึ่งเป็นสถาบันที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาติ และเพื่อความสุข ความร่มเย็นความมั่นคงของราชอาณาจักร หรือ “บ้าน” ของเราทุกคนก็การให้ความยุติธรรม ถูกต้อง และโปร่งใส
ทั้งนี้ กระบวนการยุติธรรมจะต้องเป็นที่พึ่งให้กับคนในสังคม ซึ่งเริ่มตั้งแต่ตำรวจ อัยการ จบที่ศาล ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ซึ่งล้วนก็ต้องว่ากันด้วย “หลักฐาน” ทั้งสิ้น มีการต่อสู้คดีนะครับ อัยการ ทนาย อันนั้นเป็นขั้นตอนทางกฎหมาย ซึ่งเราละเว้นไม่ได้ ไม่เพียงแต่เท่านี้ ผมก็อยากจะฝากไปถึงข้าราชการทุกคน ที่เป็นผู้ทำงานต่างพระเนตรพระกรรณ ในบทบาทผู้บังคับใช้กฎหมาย ต้องไม่แสวงประโยชน์จากช่องว่างของกฎหมาย ไม่ตีความเพื่อประโยชน์ส่วนตน หรือพวกพ้อง เพราะท่านก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ ในการดำรงไว้ซึ่ง “ความเสมอภาค” ในสังคม เมื่อมีความเสมอภาคแล้ว ความยุติธรรมก็คงอยู่คู่สังคมของเราต่อไป
พี่น้องประชาชนที่เคารพ ครับ
เรื่องที่น่ายินดีในช่วงนี้ เป็นผล “สำเร็จ” ที่มาจากความเพียรของทุก ๆ ฝ่าย ประกอบกับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ผมอยากจะขอบคุณ และขอให้พวกเราทุกคนได้ร่วมกันภาคภูมิใจ กับผลการจัดอันดับประเทศที่ดีที่สุดประจำปี 2561 (Best countries 2018) จัดทำขึ้นโดย U.S. News & World Report ก็เป็นผลจากการศึกษาของบริษัท เอกชนร่วมกับมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ที่มีชื่อเสียงและน่าเชื่อถือแห่งหนึ่งของโลก ด้วยการตอบแบบสอบถาม ของนักธุรกิจและคนรุ่นใหม่ทั่วโลก มากกว่า 21,000 คน ถึงความเห็นต่อประเทศต่างๆ ใน 9 มิติ อาทิ คุณภาพชีวิต สิทธิพลเมืองอิทธิพลทางวัฒนธรรมมรดกทางวัฒนธรรมโอกาสการเติบโตในอนาคต โอกาสในการทำธุรกิจ ความสามารถของผู้ประกอบการ การท่องเที่ยวผจญภัยเป็นต้น เพื่อจะนำผลลัพธ์ที่ได้มา จัดอันดับรวม โดยประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของ “ประเทศที่ดีที่สุด” จาก 80 ประเทศ ถึง 3 ด้านด้วยกันได้แก่
ช่วงนี้ นอกจากงาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว” ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้แก่ปวงชนชาวไทยแล้ว โชคดีที่มีละคร “บุพเพสันนิวาส” เข้ามาเสริมอย่างลงตัว ก็ไม่ได้หมายความว่าดีที่สุด ก็เป็นละครที่ดีในเวลานี้ ก็สอดคล้องรักษา สืบสาน ต่อยอด ความเป็น “ไทยนิยม”ตามนโยบายรัฐบาล ให้ดูเข้มแข็งขึ้น หลายคนอาจมองว่าเป็น “กระแส” หรือ “ลมเพ ลมพัด” ไม่นานก็จางหาย แต่ผมมั่นใจว่า “อยู่ในสายเลือด” ของเราทุกคน ทั้งอุดมการณ์ ความรักชาติ คุณธรรม จริยธรรม อะไรก็แล้วแต่ รวมความไปถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของประเทศ เราจะต้องมีความหวงแหนในขนบธรรมเนียมประเพณี อันงดงาม มาแต่โบราณกาล ตั้งแต่การแต่งกาย ภาษา ไปจนถึงโบราณสถาน - โบราณวัตถุ เรามีสถานที่น่าสนใจทางวัฒนธรรมจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจที่บรรพบุรุษของเราได้สร้างไว้ให้ลูกหลาน วันนี้ ผมดีใจที่เห็นคนไทย ไม่ได้เคอะเขินที่จะแต่งกายย้อนยุคออกจากบ้าน ไปในสถานที่ต่าง ๆ ผมอยากเห็นบรรยากาศ หรือปรากฏการณ์เช่นนี้ เกิดขึ้นทั่วไทย ตามโอกาสต่าง ๆ หรือแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งชาวต่างชาติเอง ต่างก็เห็นคุณค่าและให้ความชื่นชมการแสดงออกลักษณะนี้แล้วเราในฐานะลูกหลาน ก็ควรได้ตระหนักและ ช่วยกันอนุรักษ์ไว้เป็นสมบัติให้กับลูกหลานของเราสืบไป
อันนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่เราควรจะทำ ในส่วนของรัฐบาลเอง วันอังคารเราแต่งชุดผ้าไทยอยู่แล้ว ผมก็ไม่ได้ห้ามถ้าใครจะแต่ชุดไทยย้อนยุคเข้ามาประชุม หรือข้าราชการจะแต่งชุดไทยย้อนยุคมาทำงานก็ได้ ผมก็อยากเห็นหลากหลาย แพร่ไป ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษา หรือสถานการทำงานของเอกชน ธุรกิจต่าง ๆ ถ้าแต่งชุดเหล่านี้มาทำงาน ก็ดูน่าสนใจดี แล้วดูทุกคนก็มีบรรยากาศที่เปลี่ยนแปลง ไม่ซึมเศร้า เหงาหงอย แต่ข้อสำคัญคืออย่าไปบังคับ แล้วถ้าทำได้ในการท่องเที่ยว มีคนมาใช้เพื่อถ่ายรูป หรือเที่ยวในพื้นที่ที่มีโบราณสถาน ก็เป็นภาพที่งดงาม ทุกคนอยากได้ทั้งนั้น ก็จะเกิดอาชีพรายได้ขึ้นมา ข้อสำคัญคืออย่าไปขึ้นราคา หรือไปหลอกลวง อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ขอให้ทำให้สุจริต แล้วการผลิตผ้าไทยต่าง ๆ ออกมาก็จะมีคนใช้มากขึ้น เพิ่มงาน เพิ่มรายได้ เขาเรียกว่าการสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาโดยวัฒนธรรม
นอกจากนี้แล้ว U.S. News and World Report ได้มีการจัดอันดับของประเทศที่ดีที่สุด ในด้านอื่น ๆ “เพิ่มเติม” อีกด้วย อาทิ ในปีนี้ ประเทศไทยถูกจัดให้เป็นประเทศที่ดีที่สุดในโลก สำหรับการเริ่มต้นธุรกิจวัดจากมุมมองด้านต้นทุนการเริ่มธุรกิจต้นทุนในการผลิตความคล่องตัวมากขึ้นของระบบราชการการเชื่อมโยงกับประเทศต่าง ๆ ทั้งด้านระบบขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการบริการทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น ทั้งนี้ การเริ่มต้นธุรกิจในประเทศไทยใช้เวลาเพียง 5 วัน อันนี้ก็เป็นผลมาจากความพยายามอย่างยิ่งยวดของภาครัฐ ในการปรับลดขั้นตอนและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ ทั้งในเรื่องเอกสาร และการขออนุญาตประกอบธุรกิจ ณ ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (OSS) เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งการได้รับอันดับที่ดีเช่นนี้ ก็สอดคล้องกับการปรับดีขึ้น อย่างมาก ของอันดับ Ease of doing business ที่ธนาคารโลกได้ประกาศออกมาเมื่อช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมา ดีขึ้นถึง 20 อันดับ
รัฐบาลยังมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในอีกหลาย ๆ ด้าน เพื่อช่วยเพิ่มการอำนวยความสะดวกของภาคธุรกิจ และตอนนี้ก็เร่งรัดภาคเอกชนด้วยในการบริการให้กับประชาชน ในเรื่องเอกสารต่าง ๆ ต้องลดให้ได้โดยเร็ว ทุกส่วนราชการต้องปฏิบัติ ในการจะลดการใช้เอกสาร ตลอดจนผมจะขอประเมินดูผลงานทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวง เราก็หวังว่า สิ่งที่เรากล่าวมาทั้งหมดนั้น จะสามารถดึงดูดธุรกิจจากประเทศต่าง ๆ ให้เข้ามาลงทุน เกิดจ้างงานในพื้นที่ ได้อย่างต่อเนื่อง ในทุกกิจกรรม เพียงแต่พี่น้องประชาชนควรแสวงหาโอกาส ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจการเหล่านั้น ในท้องถิ่นของตนให้ได้ ก็จะได้รับประโยชน์อย่างถ้วนหน้า ก็ค่อยเพิ่มไป ๆ ไม่ใช่หวือหวา แล้วบริหารจัดการไม่ดี หรือหวังกำไรแต่เพียงอย่างเดียว ก็ไปไม่รอด ระยะยาวไปไม่รอด ต้องค่อย ๆ เริ่ม ค่อยๆ เพิ่มจนทุกคนยอมรับได้ เราก็ต้องการเพิ่มรายได้ในท้องถิ่นให้มากที่สุด เป็นรายได้ของท้องถิ่นด้วย รัฐบาลก็ได้จากภาษีมา
เรื่องของความน่าลงทุนที่สุดนั้น ประเทศไทยของเราได้เป็นอันดับที่ 8 ในมุมของความมีพลวัต มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมีระบบภาษีที่เอื้อต่อการลงทุนมีความสามารถของผู้ประกอบการในการสร้างนวัตกรรม รวมถึงมีแรงงานมีฝีมือและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ที่มีความพร้อม รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมาได้พยายามสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ เร่งสร้างความปรองดอง ที่สำคัญ คือ มียุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่ชัดเจน เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนมักพิจารณา เพื่อให้การลงทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หรือยกให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต มีการใช้วัตถุดิบ หรือแรงงานในประเทศ ย่อมจะเป็นการช่วยสร้างรายได้เพิ่มเติม และยกระดับความกินดีอยู่ดีให้กับพี่น้องประชาชน ในระยะต่อ ๆ ไปด้วย
อีกด้านที่สะท้อนศักยภาพของประเทศไทยในการที่จะเพิ่มคุณภาพของบุคลากรในด้านแรงงานมีฝีมือ และผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ คือ การที่เราได้เป็นอันดับที่ 5 ของประเทศที่ดีที่สุด ในการศึกษาต่อต่างประเทศ จากมุมมองที่ไทยมีบรรยากาศที่ให้ความสนุกสนาน มีชีวิตชีวา เหมาะกับผู้ที่ต้องการเข้าศึกษาต่อ และ ใช้ชีวิตในระดับมหาวิทยาลัย รวมทั้งมีการศึกษาที่มีคุณภาพ มีวัฒนธรรมการใช้ชีวิตที่เข้าถึงได้ง่าย และ มีสถานที่น่าสนใจทางวัฒนธรรม ซึ่งสะท้อนว่าเราจะสามารถดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะในภูมิภาค เข้ามาร่วมกันส่งเสริมการขยายตัวของอุตสาหกรรม และการผลิตต่าง ๆ ของประเทศ และภูมิภาคได้ อีกทั้ง จะเป็นการสร้างเครือข่ายธุรกิจ เชื่อมกับกลุ่มที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนภาคเอกชนของประเทศต่าง ๆ ในอนาคตไว้ได้ อีกด้วย
นอกเหนือไปจากการท่องเที่ยว การทำธุรกิจ และแนวโน้มในการเติบโตที่ดีแล้ว ประเทศไทยยังได้รับอันดับค่อนข้างดีในเชิงของการใช้ชีวิตด้วย โดยเป็นอันดับที่ 20 ของประเทศที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นอาชีพ โดยพิจารณาจากมุมมองของคนรุ่นใหม่ ในเชิงของตลาดแรงงานที่ตื่นตัว เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ความสามารถของผู้ประกอบการ ความเท่าเทียมทางรายได้ นวัตกรรม ความน่าอยู่อาศัย และความก้าวหน้า ยิ่งไปกว่านั้น การใช้ชีวิตหลังเกษียณ ก็อยู่ในอันดับที่ 20 เท่ากัน จากการสำรวจจากผู้มีอายุเกิน 45 ปี ที่มีการให้คะแนนความสะดวกสบายของชีวิตหลังเกษียณ โดยจะเห็นว่ามีค่าครองชีพที่ไม่แพง มีภาษีที่เอื้อในการใช้ชีวิต ความเป็นมิตร ความน่าอยู่อาศัย สภาพอากาศที่เหมาะสม การให้สิทธิในการถือครองทรัพย์สิน และ ระบบสาธารณสุขที่ดี รวมถึงที่น่าสนใจ ได้แก่ การที่ไทยได้อันดับที่ 28 ของประเทศที่มองการณ์ไปข้างหน้า เมื่อพิจารณาจากความสามารถในการปรับตัวต่อความท้าทาย และการขับเคลื่อนธุรกิจของผู้ประกอบการ การมีนวัตกรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และระบบราชการที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจมากขึ้น
จะเห็นได้ว่า การจัดอันดับที่เราได้รับทั้งหมดนี้ ไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้เอง แต่เป็นผลจากการที่ภาครัฐให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศ ภาคเอกชนเข้มแข็ง รู้จักปรับตัว สร้างโอกาส สร้างมูลค่าเพิ่ม ประกอบกับภาคประชาชนให้ความร่วมมือ ให้การสนับสนุน และสนองตอบนโยบายต่าง ๆ เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ผมไม่ได้อยากจะแข่งกับใคร หรืออยากได้ดีกว่าประเทศอื่น แต่ผมอยากให้พวกเราแข่งกับตัวเอง มาทบทวนตัวเอง มาปรับตัวกัน มาพยายามไปร่วมกัน ที่จะรักษาภาพลักษณ์ รักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจ บรรยากาศการลงทุนของประเทศเอาไว้ ร่วมกันปรับตัวให้เข้มแข็งได้จากภายใน พึ่งตนเองได้
ขณะเดียวกัน ก็สามารถเพิ่มศักยภาพของประเทศในการแข่งขัน และเอื้อให้มีการลงทุนจากประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในเทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งทั้งหมดนี้จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการผลิตของประเทศ ให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ สู่สังคมสงบสุข เพราะทุกคนมีกินมีใช้ ไม่ใช่เพื่อรัฐบาล ไม่ใช่เพื่อรักษาอันดับเหล่านี้ แต่เพื่อความกินดีอยู่ดีของพี่น้องประชาชนและลูกหลานของพวกเราต่อไป
ผมขอร้องว่า ขณะนี้เรากำลังเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง อยากให้ทุกคนรักษาบรรยากาศ รักษามุมมองของต่างประเทศกับเราให้ดีที่สุด จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้เขาให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศ ในเรื่องของการเมือง ในเรื่องของประชาธิปไตยก็เดินไป เป็นเรื่องของโลกใบนี้ ขอให้กำลังใจกับธุรกิจ การดูแลประชาชน สิทธิมนุษยชนต่าง ๆ เหล่านี้ รัฐบาลนี้ก็ทำทุกอย่าง แน่นอนต้องมีปัญหาอยู่บ้าง
สุดท้ายนี้ เรื่องการเมืองที่ทุกฝ่าย สังคม ให้ความสนใจขอให้เป็นไปตามกระบวนการ ช่วยกันลดความสับสน วุ่นวาย บิดเบือน โจมตี ในสิ่งที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ลงให้ได้ เดินหน้าประเทศ สู่ความเป็นประชาธิปไตยที่มีคุณภาพจะเป็นอย่างไร ย้อนกลับไปดู ว่าปี 2557 ที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง เราก็น่าจะรู้ว่าเราต้องทำอะไร ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไร อะไรดี อะไรไม่ดีพูดกันมามากพอแล้ว รัฐบาลก็ไม่สามารถจะตอบโต้ได้ทุกประเด็น เราพูดบิดเบือนไม่ได้ เราต้องพูดแต่ข้อเท็จจริง เรื่องการลงโทษ เรื่องการสอบสวน เรื่องการทุจริต รัฐบาลนี้ก็ดำเนินการอยู่ทุกประเด็น
ลืมไปอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องการเตรียมการไปสู่วันหยุดยาวสงกรานต์ ผมขอเตือนให้ทุกคนได้ระมัดระวังตั้งแต่วันนี้ การบาดเจ็บสูญเสียนั้นไม่ได้มีเฉพาะวันสงกรานต์อย่างเดียว ในทุกวาระ ทั้งปีมียอดการสูญเสียจำนวนมาก แต่เราไปให้ความสนใจเฉพาะช่วงสงกรานต์ วันหยุดยาว ถ้าเราไปดูทั้งปีมีการบาดเจ็บสูญเสียมาก อาจจะมากกว่าด้วยซ้ำไป ถ้ามองในช่วงรายไตรมาส
เพราะฉะนั้นสงกรานต์นี้ผมถือว่าการสูญเสียนั้นรวมอยู่ในรายไตรมาส ทุกหน่วยงานต้องไปพิจารณา บริหารจัดการให้เหมาะสม เราต้องลดการสูญเสีย การบาดเจ็บให้ได้ ทั้งปี ขอให้ทุกหน่วย ทุกฝ่าย ได้ร่วมมือกันทำงานด้วย ขอบคุณเจ้าหน้าที่ ตำรวจ ทหาร ที่ต้องเหน็ดแหนื่อย จากการเตรียมการ หรือการดำเนินงานในช่วงวันหยุดราชการ หรือวันหยุดยาวทุกคนนะครับ
ขอบคุณครับ ขอให้ “ทุกคน ทุกครอบครัว” มีความสุข สวัสดีครับ
ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard