รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 26 มกราคม 2561

Last updated: 26 ม.ค. 2561  |  3297 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 26 มกราคม 2561

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 26 มกราคม 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------

 

 

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

        จากเหตุระเบิดภายในตลาดสดรถไฟ พิมลชัย เทศบาลนครยะลา ในช่วงที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานกำลังใจ ดอกไม้ และสิ่งของพระราชทาน แก่ครอบครัวผู้สูญเสีย และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ สร้างความปลาบปลื้มและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงห่วงใยอย่างหาที่สุดมิได้

        ในการนี้ ผมขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ และขอประณามการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมในครั้งนี้ด้วย ผมได้กำชับไปยังหน่วยที่เกี่ยวข้องให้เร่งดูแลช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ให้ฝ่ายความมั่นคง เร่งรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อนำไปใช้ในการติดตามจับกุมตัวคนร้ายมาดำเนินคดีตามกฎหมายให้ได้โดยเร็ว ทราบว่ามีความคืบหน้าโดยลำดับ กำลังสอบสวนขยายผลจากผู้ต้องสงสัยอยู่ ทั้งนี้ ผมขอให้เชื่อมั่นเจ้าหน้าที่ของเราว่าจะดำเนินการอย่างเต็มความสามารถ เพื่อรักษาความสงบสุขของพี่น้องประชาชน ให้กลับคืนมาโดยเร็ว รวมทั้งขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน ช่วยกันสอดส่องดูแล เป็นหูเป็นตา และแจ้งข้อมูลเบาะแสแก่เจ้าหน้าที่ด้วย ให้มีการตรวจสอบกล้อง CCTV ทั้งหมดให้ใช้การได้ตลอดเวลา

พี่น้องประชาชนที่รัก ครับ

        ผมขอเป็นตัวแทนพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคนในการยกย่องชื่นชมศิลปินแห่งชาติประจำปี 2560 ที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา สำหรับนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส ให้ศิลปินแห่งชาติทั้ง 17 ท่านนี้ เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานโล่เชิดชูเกียรติ และเข็มประกาศเกียรติคุณ จากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือผู้แทนพระองค์ตามที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งในวันศิลปินแห่งชาติ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่กำลังจะมาถึงนี้ หรือวันอื่นแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

        ทั้งนี้ นับเป็นรางวัลสูงสุดในชีวิต สำหรับศิลปินที่มีคุณสมบัติและผลงานเป็นที่ประจักษ์ ได้รับการยอมรับในสังคมไทย เพราะนอกจากจะเป็นผู้ที่มีความรักในอาชีพ ประพฤติตนเป็นตัวอย่างที่ดี มีความเป็นมืออาชีพแล้ว ยังเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงาน จรรโลงชาติบ้านเมือง และเผยแพร่ความรู้ ถ่ายทอดความสามารถ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ มรดกของชาติ สู่คนรุ่นใหม่ สืบสานต่อยอดสู่รุ่นต่อ ๆ มาอีกด้วย ขอให้ทุกคนได้ช่วยกันดูแลบุคคลที่มีชื่อเสียง มีความสามารถในอดีตด้วย เช่น ดารา นักแสดง ผู้อาวุโส นักกีฬา ท่านทั้งหลายเหล่านั้นอาจจะอายุมากแล้ว บางคนไม่ค่อยแข็งแรง รายได้ไม่เพียงพอ ไม่มีคนดูแล ก็ขอให้ทุกหน่วยงานเข้าไปช่วยดูแลด้วย
สำหรับงานทัศนศิลป์ อาทิ จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม ศิลปะการแสดง อาทิ คีตศิลป์ นาฏศิลป์ และงานวรรณศิลป์นั้น นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมที่สำคัญ ที่สะท้อนถึงวิวัฒนาการ ความเจริญก้าวหน้า และประวัติศาสตร์อันงดงามของชาติที่เป็นเจ้าของศิลปะเหล่านั้น เป็นสิ่งดีงามที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน อยู่คู่สังคมและประเทศชาติ ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านกาลเวลา บางครั้งถูกหล่อหลอม หลอมรวมกับอารยะธรรมสากล หรือชาติอื่น ๆ จนทำให้คนในชาติ หลงลืมกำพืด รากเหง้าของตนเอง เพราะอาจจะไม่สนใจ ใส่ใจ ศึกษาให้ครบถ้วนถึงที่มาที่ไป เหมือนอ่านหนังสือแค่ตอนจบเร่งรีบอ่าน ๆ ผ่าน ๆ ไป ไม่ประณีต ทำให้ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ ไม่เกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ ไม่รู้ว่ามีชีวิตจิตใจอย่างไร จิตวิญญาณอย่างไรในตัวหนังสือเหล่านั้น แล้วเราก็เอาบางส่วนนั้นมาปฏิบัติตามอย่างผิดเพี้ยน โดยไม่รู้จริง อาจจะรวมความไปถึงเรื่องของประชาธิปไตยเราด้วยว่า คืออะไรกันแน่

        เพราะว่าถ้าประเทศไหนจัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนประชาชน เข้าไปทำหน้าที่ออกกฎหมายและบริหารประเทศแล้ว เรียกได้ว่าเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแล้วใช่หรือไม่ เสียงส่วนใหญ่ เสียงส่วนน้อยคืออะไร เรายึดเสียงส่วนใหญ่เป็นสรณะ โดยไม่สนใจเสียงส่วนน้อยเลย จะเรียกว่าประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้หรือไม่ ที่สำคัญอีกประการ คือ หน้าที่พลเมืองและการเคารพกฎหมายก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ที่สะท้อนถึงระดับความเป็นประชาธิปไตยในสังคมนั้น ๆ ว่ามีมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะเสียงส่วนใหญ่ เสียงส่วนน้อย ก็ต้องเคารพกฎหมาย

พ่อแม่พี่น้องประชาชนที่รัก ครับ

        วันนี้อยากให้พวกเราทุกคน และสังคมโดยรวมได้ใช้สติ ทบทวน สิ่งที่ผมพูดเมื่อสักครู่ ว่าเรารู้อย่างลึกซึ้งถึงความเป็นไทยหรือไม่ พร้อมที่จะหลอมรวมกับความเป็นสากล โดยที่ไม่หลงประเด็น ประยุกต์ไม่เป็น จนเป็นเหตุให้มีแต่ความขัดแย้ง เพราะต่างก็อ้างว่าตนรู้จริง แล้วไม่ยอมฟังเหตุผลของคนอื่น บางครั้งรับแนวคิด วัฒนธรรมของคนอื่นมายึดถือปฏิบัติ แม้จะทำได้ในหลักการ แต่หากขัดกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของเรา ก็คงไม่สามารถประสบความสำเร็จเหมือนเขาได้ จึงเป็นที่มาของคำว่า ไทยนิยมของผม ที่มอบให้กับสังคมไทยในวันนี้

        “ไทยนิยมนั้น ไม่ใช่การสร้างกระแสชาตินิยมเหมือนที่บางคนไม่เข้าใจสังคมของตน ไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลก แล้วพยายามบิดเบือนความคิดของผม โดยไม่ศึกษาให้ดี เพราะชาตินิยมนั้นจะใช้ได้ดี สำหรับป้องกันภัยคุกคาม ภัยจากภายนอกประเทศ จากการทำสงคราม หรือจากการเข้ามาครอบงำทางความคิดด้วยหลักคิด ลัทธิของชาติอื่น ชาตินิยมจึงมีความจำเป็นสำหรับสถานการณ์เหล่านั้น เพื่อสร้างสำนึกความรักชาติ แต่สำหรับสถานการณ์ของประเทศในวันนี้นั้น เป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่าน เราต้องการการปฏิรูปที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นไทย โดยไม่ทิ้งหลักสากล ผมขอย้ำเราไม่ต้องไปทิ้งหลักสากล นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของไทยนิยมที่ผมกำลังพูดถึง และไทยนิยมก็ไม่ใช่ประชานิยม เพราะประชานิยมเป็นการให้ในลักษณะที่เหมือนกับยัดเยียดทุกคนได้ไป พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง อะไรก็แล้วแต่ เพราะว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่เหมาะสมกับประชาชน ด้วยการสร้างแนวคิดบริโภคนิยม ที่ผ่านมาประชาชนชอบ พอใจ กลายเป็นว่าประชาธิปไตยกินได้ เหมือนกับนโยบายของที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริง อาจจะทำเพียงเพื่อต้องการความนิยม หรือต้องการคะแนนเสียงจากการเลือกตั้ง หลาย ๆ อย่างทำไม่ได้ ออกไม่ได้ เพราะทุกคนก็ต้องการคะแนนเสียงกันทั้งหมด เลยทำให้ปัญหาต่าง ๆ พอกพูน มาถึงรัฐบาล มาถึงการใช้จ่ายของภาครัฐ งบประมาณต่าง ๆ ซึ่งนับวันจะมีปัญหามากขึ้น เราถึงต้องมีการแยกแยะให้ชัดเจนว่าใครเดือดร้อนอะไรอย่างไร มากน้อยเพียงใด เราก็ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ทั่วถึง

        เพราะฉะนั้น เราก็ต้องให้ความสำคัญให้มากว่า เราจะช่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้อย่างไร เพราะฉะนั้นคำว่า ประชานิยมนั้น แตกต่างจากไทยนิยม เพราะว่าไทยนิยมนั้น เป็นการต่อยอด ขยายผลจากประชารัฐซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการระเบิดจากข้างใน การมีส่วนร่วม การรับผิดชอบร่วม แล้วรัฐบาลจึงจะแสวงหาความร่วมมือจากภาคเอกชน ภาควิชาการ ทำให้เกิดเป็น 3 ประสาน ก็คือ ราษฎร์ รัฐ และ เอกชน ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ใคร เพราะทุกคนนั้นอยู่ในห่วงโซ่เศรษฐกิจทั้งสิ้น เพราะอยู่ในประเทศของเราเอง อาจจะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาและสร้างการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน ตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ แก้โจทย์ปัญหาที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชน ด้วยกลไกประชารัฐของตน ของแต่ละท้องถิ่น ตรงความต้องการ และเมื่อมองในภาพรวมทั้งประเทศแล้ว ไทยนิยมจึงเป็นแนวคิดในการบริหารประเทศ ที่อยู่บนพื้นฐานของความต้องการตามความนิยมของคนไทยทั้งประเทศ ต้องนิยมในสิ่งที่ถูกต้อง ที่ถูก ที่ควร นิยมในสิ่งดี ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการมีคุณธรรมจริยธรรมด้วย ไม่ใช่ว่านิยมอะไรก็ทำได้หมด คงไม่ใช่ เพราะโดยพื้นฐานแล้ว เราคนไทยเรารัก และนิยมทำในสิ่งที่ดีงาม ถูกต้อง มีคุณธรรม จริยธรรม อย่างไรก็ตาม มีบางคนที่ไม่นิยมไปทำอย่างอื่น ก่อให้เกิดความขัดแย้ง บิดเบือน ทุกอย่างเหล่านี้

        เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างสรรค์ ไทยนิยม ในสิ่งดี ๆ ให้มากยิ่งขึ้นนะครับ ถูกต้อง มีคุณธรรม จริยธรรม รักความสงบ เหมือนในเพลงชาติไทยของเรา โดยเฉพาะในช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ชาติไทย ระยะต่อจากนี้ไป มีความสำคัญมาก เพราะต่อกันมาทั้งหมด จากอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เราต้องการอนาคตอย่างไร เราก็ต้องทำปัจจุบันให้ดีที่สุด เพื่ออนาคตที่ดี ประวัติศาสตร์ที่ดี ในวันข้างหน้า เพราะฉะนั้นระยะต่อจากนี้ไปมีความสำคัญกับพวกเราทุกคน ในสถานการณ์ปัจจุบัน สำหรับลูกหลานของเราในอนาคตด้วย เราต้องการการบริหารประเทศอย่างมีวิสัยทัศน์ เพื่อจะสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ให้กับบ้านเมือง เราจะต้องน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นมรดกของชาติ มาเป็นหลักคิดสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ

        สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีพระราชดำรัสให้สืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชปณิธาน เพื่อสร้างสุขให้ปวงชนชาวไทยต่อไป สำหรับการสร้างความสามัคคีปรองดองนั้นก็จะต้องน้อมนำศาสตร์พระราชา ด้วยการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา เข้าใจถึงพื้นที่ เข้าใจถึง คน ประชาชน เพื่อจะมาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ เพื่อนำพาประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักของการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง เพื่อการพัฒนาประเทศ และสำคัญประการหนึ่งที่เราแตกต่างจากคนอื่นเขาคือกับดักการเมือง ทางการเมืองของเรามีมากกว่าประเทศอื่นเขา ต้องแก้ไขพวกนี้ให้ได้ แล้วจะต้องให้มีการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่หวือหวาชั่วครั้งชั่วคราว แล้วก็ไม่เข้มแข็ง ให้ไป ใช้ไป หมดไป

        เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าประชารัฐและไทยนิยมนั้นก็จะมีความเชื่อมโยงกันอยู่เป็นเนื้อเดียวกัน ไทยนิยมจะเป็นกรอบใหญ่ของทั้งประเทศ คล้าย ๆ กับยุทธศาสตร์ชาติที่จะเป็นกรอบใหญ่ให้กับยุทธศาสตร์จังหวัด กลุ่มจังหวัดภาคในการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกประชารัฐ ทั้งนี้ หากเราสามารถสร้างความเข้มแข็ง เน้นการพึ่งพาตนเองได้ตั้งแต่ระดับฐานรากแล้ว ก็จะนำมาสู่ความสำเร็จในภาพรวมของประเทศได้ในที่สุด ผมอยากให้คนไทยเข้าใจคำว่า ไทยนิยม ประชารัฐ ยั่งยืน 3 คำมีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันทั้งหมด

พ่อแม่พี่น้องประชาชน ครับ

        การพัฒนาประเทศในยุคดิจิทัล ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 นั้น เราจะต้องให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม ในมิติวัฒนธรรม ความเป็นไทย ตามหลักคิดไทยนิยมที่ได้กล่าวไปแล้ว และโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพของประเทศไปพร้อม ๆ กันด้วย อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ พลังงาน ชลประทาน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ประเทศของเรานั้นไม่ได้ร่ำรวยมากนัก จนสามารถเนรมิตหรือลงทุนทุกอย่างได้ ตามที่เราต้องการในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น เราจำเป็นต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ มีการพัฒนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ปัจจุบันแม้เราจะกำหนดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแล้ว (SEZ) ไว้ทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวน 10 แห่ง แต่ก็ไม่ง่ายนักที่จะเริ่มดำเนินการได้พร้อม ๆ กัน

        เนื่องจากติดขัดในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งกฎหมาย ทั้งงบประมาณ ทั้งความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ ความเข้าใจ บางท่านอาจจะไม่เข้าใจ ยังมองภาพความสำเร็จไม่ออก เพราะทุกคนก็เคยชินอยู่กับการทำวันนี้ ให้ได้พรุ่งนี้นะครับ บางทีหลายอย่างต้องใช้ระยะเวลา ก็ยังมองไม่ค่อยออกกัน เป็นหน้าที่ของรัฐบาล คสช. และทุกหน่วยงานนะครับ ในการที่จะสาธิตให้เห็นภาพอนาคต ของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ บนพื้นที่ที่มีศักยภาพเดิม คือ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพราะว่าเมื่อสามารถทำได้สำเร็จ จะไม่เพียงแค่ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเท่านั้น แต่ยุทธศาสตร์ขั้นต่อไป คือ การขยายผลในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ทั้ง 10 แห่ง ในวันข้างหน้า ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศครั้งยิ่งใหญ่ และเป็นก้าวย่างที่สำคัญของชาติ ข้ามกับดักความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และการพัฒนาที่ไม่สมดุล สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

        วันนี้ ผมจึงอยากวาดภาพอนาคต และความเป็นไปได้ให้ทุกคนได้เห็นว่ารัฐบาลจะขับเคลื่อนโครงการ EEC อย่างไร โดยแผนปฏิบัติการลงทุน แบ่งออกเป็น 3 ระยะ
ระยะที่ 1 หรือระยะเร่งด่วนนะครับ ระหว่างปี 2560 ถึง 2561 ที่ต้องดำเนินการทันที เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจภายใน EEC ให้มีการลงทุนจากในประเทศ และต่างประเทศ

ระยะที่ 2 ระหว่างปี 2562 ถึง 2564 เป็นแผนงานต่อเนื่อง เพื่อให้โครงข่ายการขนส่งสามารถรองรับกิจการทางเศรษฐกิจ ที่จะเกิดขึ้น และขยายกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

        และระยะต่อไป เริ่มตั้งแต่ปี 2565 ก็จะเป็นแผนงานเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ EEC อย่างยั่งยืน เพื่อจะเพิ่มรายได้ของประเทศ ให้กับประชาชนทุกระดับ ทุกฝ่าย รวมถึงการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเพิ่มมูลค่าอีกด้วย ทั้งนี้ จะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ และ โลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

(1) มอเตอร์เวย์ พัทยา - มาบตาพุด , แหลมฉบัง - ปราจีนบุรี และชลบุรี - อ.แกลง จ.ระยอง รวมทั้งการปรับปรุงโครงข่ายถนนสายรอง การเพิ่มโครงข่ายทางเลี่ยงเมือง
(2) รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 ท่าอากาศยาน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) รถไฟทางคู่ ช่วงแหลมฉบัง - มาบตาพุด รถไฟ ช่วงระยอง - จันทบุรี - ตราด และรถไฟเชื่อม EEC – ทวาย - กัมพูชา รวมทั้งสถานีบรรจุและยกสินค้ากล่อง จ.ฉะเชิงเทรา
(3) ท่าเรือแหลมฉบัง เฟสที่ 3 ท่าเรือมาบตาพุด เฟสที่ 3 และ อากาศยานผู้โดยสารท่าเรือ จุกเสม็ด
(4) การยกระดับท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา อาทิ การสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ทางวิ่งที่ 2 พื้นที่ขนส่งสินค้าทางอากาศ เขตปลอดอากร (Free Zone) และอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ตามลำดับ

        สำหรับการจัดหาแหล่งวงเงินลงทุนเบื้องต้นนั้นประมาณ 1 ล้านล้านบาท จากงบประมาณแผ่นดิน 30% เงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 10% รัฐและเอกชนร่วมลงทุน (PPP) 59% และกองทุนหมุนเวียนจากกองทัพเรือ 1% ผลที่คาดว่าจะได้รับ อาทิ ใน 5 ปีแรก จะเกิดฐานเทคโนโลยีใหม่ของประเทศและเกิดการพัฒนาคน ทำให้รายได้ประชาชาติขยายตัวไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนเพิ่มเติมช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้กว่า 2.1 - 3.0 ล้านล้านบาท จะมีการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนคุณภาพสูงมากขึ้น ปริมาณการเดินทาง และขนส่งสินค้าใน EEC มากขึ้น สามารถจะลดต้นทุนของรถบรรทุกได้ ประมาณ 35.6 ล้านบาทต่อวัน ลดต้นทุนรถไฟได้ ประมาณ 2.3 แสนบาทต่อวัน รวมทั้งลดระยะเวลาการเดินทางลงได้อีกด้วย นอกจากนี้ จะเป็นการสนับสนุนให้ EEC เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นประตูเศรษฐกิจเชื่อมเพื่อนบ้าน - CLMV - และอาเซียนทั้งหมดอย่างสมบูรณ์

พี่น้องประชาชนที่เคารพ ทุกท่าน ครับ

        สัปดาห์นี้ เป็นอีกครั้งที่ผมจะได้เดินทางไปร่วมการประชุมในเวทีระหว่างประเทศ คือ การประชุมสุดยอดอาเซียน - อินเดีย ในวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา และผมยังได้เข้าร่วมงานวันสถาปนาสาธารณรัฐอินเดีย ครั้งที่ 69 ในวันที่ 26 มกราคมนี้ ในฐานะแขกเกียรติยศ ร่วมกับผู้นำอาเซียน 9 ประเทศ อีกด้วย ซึ่งอินเดียไม่เคยทำมาก่อนในอดีต การเข้าร่วมครั้งนี้ จึงถือว่าเป็นการส่งสัญญาณการให้ความสำคัญแก่พันธมิตรอาเซียนของอินเดีย ในการร่วมมือด้านต่าง ๆ ที่จะแน่นแฟ้นขึ้นในอนาคตด้วย
สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน - อินเดีย ครั้งนี้ถือว่ามีความพิเศษเพราะปกติประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจามักจะจัดในภูมิภาคอาเซียน แต่เนื่องจากเป็นโอกาสครบรอบการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและอินเดีย ที่เริ่มต้นอย่างเป็นทางการ "ครบรอบ 25 ปี" อีกทั้ง อินเดียยังเป็นประเทศคู่ค้า และหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่สำคัญของอาเซียน รวมถึงเป็นหนึ่งสมาชิกของความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (หรือ RCEP) อีกด้วย จึงได้มีการจัดการประชุมสมัยพิเศษนี้ขึ้นที่อินเดีย การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสที่จะทบทวนในเรื่องยุทธศาสตร์ของอินเดียที่มีต่ออาเซียน และประเทศเอเชียแปซิฟิก ตามแนวนโยบาย "มุ่งตะวันออก" หรือ Act East ของนายกรัฐมนตรีอินเดียที่จะเพิ่มบทบาทของอินเดียในประเทศอาเซียนและเอเชียแปซิฟิกอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างสมดุลอำนาจกับประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ อีกทั้งยังสอดรับเป็นอย่างดีกับนโยบาย Look West ของไทย ในการหาลู่ทางขยายตลาดการค้า การลงทุน และ การสร้างพันธมิตรในอินเดีย ที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ ทุกคนทราบดีมีประชากรมาก และมีศักยภาพทางเทคโนโลยีสูงอีกด้วย

        สำหรับประเด็นสำคัญของกลุ่มอาเซียนคงเป็นเรื่องของการหาจุดสมดุลอำนาจระหว่างประเทศต่าง ๆ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านการเมือง และการปกครองของโลกทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน นอกจากนี้ ความร่วมมือที่แน่นแฟ้นกับอินเดีย ยังจะช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับกลุ่มประเทศอาเซียน และช่วยส่งเสริมความเชื่อมโยงทางโครงสร้างพื้นฐานระหว่างกัน ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มบทบาทของภูมิภาคอาเซียน ในการเป็นแกนกลางเชื่อมอินเดียเข้ากับประเทศต่าง ๆ รอบ ๆ มหาสมุทรแปซิฟิก จนประกอบเป็นกลุ่มประเทศที่เราเรียกกันว่า อินโด-แปซิฟิก คือ ประเทศยักษ์ใหญ่ 4 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ อินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

        สำหรับผลลัพธ์จากการประชุม ได้มีการหารือในเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ทั้งด้านการค้าและการลงทุน เพื่อจะให้เพิ่มมูลค่าการค้าได้ตามเป้าหมายภายในปี 2022 รวมทั้งเร่งใช้ประโยชน์จากความร่วมมือด้านการค้าอาเซียน - อินเดีย และผลักดันความตกลง RCEP ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว มีการร่วมกันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ MSMEs และการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ นอกจากนี้ ยังจะร่วมกันเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม เทคโนโลยี และประชาชน ระหว่างอาเซียนและอินเดียเข้าด้วยกัน ผ่านการพัฒนาชุมชนเมืองที่เป็นอัจฉริยะ ซึ่งจะมีการจัดสร้าง SMART Cities-Cultural Centres ในอนาคต อาเซียนอาจพัฒนาไปสู่ความเป็น 4.0 สอดคล้องกับนโยบาย 4.0 ของไทยด้วย

พี่น้องประชาชนที่รัก ครับ

        ผมอยากจะเน้นย้ำว่า นอกจากเราจะต้องเสริมสร้างกิจกรรมภายในให้เข้มแข็ง ยืนได้ด้วยตนเองแล้ว เราก็จะต้องขยายโอกาสไปภายนอกประเทศ เพิ่มความร่วมมือกับมิตรประเทศ เพื่อสร้างโอกาส กระจายตลาด เพิ่มรายได้ทางการค้า เพิ่มศักยภาพของประเทศผ่านการลงทุนรวมถึง ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดี ในเวทีโลก เพื่อให้กิจกรรมภายในร่วมกับแรงเกื้อหนุนจากภายนอก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปได้แบบ 2 แรงแข็งขัน แต่ถ้าวันใดภายในต้องประสบปัญหา ก็อาจจะยังมีจากภายนอกคอยพยุงไว้ได้ และหากวันใดภายนอกไม่แข็งแกร่ง แม้เราอาจได้รับผลกระทบไปด้วย แต่เราก็จะยังมีรากฐานภายในที่ดี มีความมั่นคง มีชุมชนเข้มแข็งพอจะช่วยประคองให้ประเทศเดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่อง มีความสำคัญเท่าเทียมกันทั้งภายในภายนอก

        ด้วยเหตุนี้ ผมจึงให้ความสำคัญอย่างมาก ต่อนโยบายระหว่างประเทศ ทั้งในลักษณะการเจรจาทวิภาคีและการหารือในลักษณะของการเป็นพหุภาคีกลุ่มประเทศ ที่ผ่านมานานาประเทศให้การยอมรับ ตอบรับและชื่นชม กับความตั้งใจของรัฐบาลนี้มาต่อเนื่อง สะท้อนจากการทยอยปรับดีขึ้นของฐานะประเทศไทย ในการจัดลำดับต่าง ๆ ผมได้มีโอกาสไปร่วมประชุมหารือกับกลุ่มประเทศใหม่ ๆ ที่แม้ไทยจะไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก แต่ก็ยังได้รับคำเชิญให้เข้าร่วม เช่น การประชุมของกลุ่มประเทศ BRICS ในปี 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งเหล่านี้ ได้เปิดโอกาสให้เราชี้แจงประชาสัมพันธ์ประเทศ และทิศทางนโยบายของภาครัฐ เพื่อดึงดูดการค้าและการลงทุน ทั้งยังมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความเห็น และข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อนำไปใช้พัฒนากิจกรรมในประเทศด้วย

        เมื่อสักครู่ผมได้พูดถึงบทบาทที่เศรษฐกิจนอกประเทศจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภายในให้เราอีกแรง ก็เพราะเมื่อเศรษฐกิจภายนอกดี ความต้องการจับจ่ายใช้สอยของเขาก็จะมากขึ้น ประเทศเราก็สามารถส่งออกสินค้า และบริการออกไปได้มากขึ้น ตามไปด้วยเช่นกัน ก็เป็นที่น่ายินดีว่าล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ในปีนี้ และปีหน้า ปีละ 0.2% จากเดิมที่เคยประมาณว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตได้ร้อยละ 3.7 ในปี 2561 และ 2562 ตอนนี้ก็จะปรับสูงขึ้นเป็นร้อยละ 3.9 ในขณะเดียวกัน ก็ได้ปรับเพิ่มตัวเลขการขยายตัวของการค้าและบริการทั่วโลกขึ้นจากร้อยละ 4.0 เป็นร้อยละ 4.6 ในปีนี้

        การปรับเพิ่มตัวเลขทางเศรษฐกิจในครั้งนี้มาจากการที่เศรษฐกิจในหลายประเทศขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ในช่วงก่อนหน้า ทำให้มีแรงส่งที่ดี เราต้องใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาของเราให้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งได้มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วจะขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าที่ประมาณไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2560 โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มาตรการปฏิรูประบบภาษีของประธานาธิบดีส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจ โดยในระยะสั้น คาดว่าการปรับลดภาษีนิติบุคคล จะช่วยกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนได้พอควร แต่อาจเป็นภาระในระยะยาวได้ นอกจากนี้ IMF ยังปรับเพิ่มอัตราการเติบโตของหลายประเทศในสหภาพยุโรป และญี่ปุ่นขึ้น อย่างมีนัยสำคัญ รวมถึง 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามซึ่งคาดว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นในปี 2561 นี้ จากที่เคยให้ไว้ที่ร้อยละ 5.2 เป็นร้อยละ 5.3

        สำหรับประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นประเทศขนาดเล็ก การปรับประมาณการครั้งนี้ จึงไม่ได้เปิดเผยในรายละเอียด ไม่สามารถแยกพิจารณาได้ชัดเจน แต่ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย ก็มีการปรับเพิ่มประมาณการของประเทศไทยในปี 2561 จากร้อยละ 3.8 ที่ทำไว้ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว เป็นร้อยละ 3.9 ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาด้วย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็คงให้ความสำคัญกับมาตรการการดูแลผู้มีรายได้น้อย ตามโมเดลลดความยากจนด้วย

        การปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยจะขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้เดิม ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย แต่ผลดีนั้น จะดีมากหรือน้อยแค่ไหน ก็จะขึ้นอยู่กับการปรับตัวรับโอกาสนี้ของภาคธุรกิจเอกชนไทย และการทำงานร่วมกับรัฐบาลในการขยายตลาด การเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภค โดยการจัดเวทีหารือ การจัดแสดงสินค้า การ matching ผู้ซื้อและผู้ขายโดยตรง ซึ่งต้องเร่งดำเนินการทั้งสองฝ่าย ภาคเอกชนไทยมีความสามารถ มีศักยภาพ ผมขอให้เราร่วมกันฉกฉวยโอกาสนี้ไว้ ในระยะสั้น คงต้องทำงานหนัก ต้องมีการป้องกันความเสี่ยงไว้ล่วงหน้า โดยต้องประมาณตน มีภูมิคุ้มกัน และเน้นการพึ่งพาตนเองให้มาก ต้องทำงานเชิงรุกร่วมกัน สำหรับระยะยาวภาครัฐเองก็จะเดินหน้าตามแผนปฏิรูปประเทศ รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะช่วยปรับโครงสร้างให้ประเทศในภาพรวมมีความสามารถในการแข่งขัน และการปรับเศรษฐกิจภายในให้แข็งแกร่ง รองรับความเสี่ยงต่าง ๆ ได้ดีขึ้นด้วย แน่นอนที่สุด คือ ช่วงระยะนี้ซึ่งเป็นระยะเปลี่ยนผ่านเราทุกคนต้องร่วมมือ ร่วมใจกัน ฟันฝ่าอุปสรรคไปพร้อม ๆ กัน ด้วยความเสียสละ อดทนเผื่อแผ่ แบ่งปัน ประนีประนอมตามอัตลักษณ์คนไทยด้วย

พี่น้องประชาชนที่รัก ครับ

        สำหรับการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการปฏิรูป ได้จัดทำร่างแผนปฏิรูปประเทศเสร็จเรียบร้อยในขั้นต้นแล้ว ทั้ง 11 ด้าน อันได้แก่ ด้านการเมือง ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมาย ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านเศรษฐกิจ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุข ด้านสังคม ด้านพลังงาน ด้านสื่อสารมวลชนเทคโนโลยีสารสนเทศ และด้านป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยหลักการจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ มีเป้าหมาย หรือผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน รวมทั้งมีตัวชี้วัดประเมินผลสำเร็จตามระยะเวลาได้ ทั้งนี้ ในหลายประเด็นปฏิรูปอาจต้องมีการปรับโครงสร้าง กระบวนการทำงานของส่วนราชการ ข้าราชการ ที่เกี่ยวข้องมากมายที่จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และพี่น้องประชาชนทุกคน

        สำหรับขั้นตอนต่อไปจะมีการเสนอร่างแผนปฏิรูปให้กับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณารวมถึงการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และขั้นตอนอื่น ๆ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะได้มีการประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบเป็นระยะ ๆ จากร่างแผนปฏิรูปดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เรามีปัญหามากมายในการเดินหน้าประเทศไปสู่ความยั่งยืน โดยเราจะต้องกำหนดกรอบเวลาจัดทำแผนแม่บทของแต่ละส่วนราชการให้สอดคล้องกับทั้งแผนปฏิรูป แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทุก ๆ 5 ปี ปัจจุบันแผนที่ 12 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคงมั่งคั่ง อย่างยั่งยืน ต่อ ๆ ไปของทุกรัฐบาล
สุดท้ายนี้ ข้อมูลที่ผมได้กล่าวมานั้นถือว่าเป็นความรู้สำหรับการเตรียมตัว เตรียมพร้อมเผชิญกับสิ่งท้าทายใหม่ในอนาคต ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้ หากใครศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจนเกิดปัญญา เกิดแนวคิดที่จะพัฒนาตนเองไม่ให้หลุดกรอบ ตกกระแสการพัฒนาประเทศ หรือรู้เท่าทันแล้ว ก็จะช่วยให้ปรับตัวได้ทัน และได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเปลี่ยนแปลงในยุค 4.0 และการเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยของเรา

ขอบคุณครับ ขอให้ทุกคน ทุกครอบครัว มีความสุข ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ

 

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้