รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม 2560

Last updated: 16 ธ.ค. 2560  |  12526 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม 2560

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม 2560 เวลา 20.15 น.
-------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน


เมื่อวันพุธที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมานี้ ผมได้มีโอกาสลงพื้นที่ พบปะพี่น้องประชาชนอีกครั้ง พร้อมกับคณะรัฐมนตรี เพื่อรับฟังปัญหาจากประชาชนด้วยตนเอง ครั้งนี้ไปที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เนื่องจากต้องการสร้างความเข้มแข็งให้กับพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน กาฬสินธุ์นั้นนับว่าเป็นจังหวัดที่มีรายได้อยู่ในระดับต่ำ มีสัดส่วนผู้มีรายได้น้อย กว่าร้อยละ 32 มีผู้ขึ้นทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการแห่งรัฐกว่า 3 แสนคน ทั้ง ๆ ที่กาฬสินธุ์นั้นก็มีพื้นที่เกษตรกรรม 53% มีทรัพยากรป่าไม้ 10% มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมอีกมากมาย แต่เนื่องจากขาดการลงทุนในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่มานาน เพื่อเชื่อมโยงกิจกรรมต่าง ๆ จากแหล่งผลิตสู่โรงงานแปรรูป และตลาดภายนอก รวมทั้งขาดการบริหารจัดการที่ดีอย่างเป็นระบบและบูรณาการ ทำให้ประชาชนยังพึ่งพาตนเองไม่ได้ เท่าที่ควรจะเป็น
 

ครั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้รับข้อเสนอในการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ และ โครงการพัฒนาต่าง ๆ ได้เห็นชอบให้ดำเนินการได้ ตามความเร่งด่วน ดังนี้
 

1. การก่อสร้างขยายทางหลวงหมายเลข 12 เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทางราว 8 กิโลเมตร และการก่อสร้างทางเลี่ยงเมือง ด้านทิศเหนือ ระยะทาง 32 กิโลเมตร เพื่อจะเชื่อมโยงแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกสู่ตะวันตก รวมทั้งการพัฒนาทางหลวงเส้นอื่น ๆ อีก 3 เส้นทาง ให้ได้มาตรฐาน ระยะทางรวม 65 กิโลเมตร ซึ่งมีปริมาณการใช้เส้นทางรวม 40,000 กว่าคัน เพื่อเชื่อมกาฬสินธุ์กับกลุ่มจังหวัดอีสานเหนือ
 

2. แนวทางการพัฒนาลุ่มน้ำพะยัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บและอุโมงค์ผันน้ำเดิม โดยการสร้างฝายและอาคารบังคับน้ำ รวม 7 โครงการ ให้สามารถเก็บกักน้ำได้ 2 ล้าน ลบ.ม. มีประชาชนที่จะได้รับประโยชน์ ราว 18,000 ครัวเรือน คาดว่าจะสามารถเพิ่มผลผลิต จาก 270 เป็น 550 กิโลกรัมต่อไร่ หรือมูลค่าเพิ่มขึ้น 16 ล้านบาทต่อปี
 

3. แนวทางการพัฒนาด้านอาชีพด้วยการตั้ง "ศูนย์ความเป็นเลิศด้านสิ่งทอพื้นบ้าน" ซึ่งมีเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมกว่า 800 ราย มีผู้ประกอบการผลิตผ้าไหมและแปรรูปกว่า 1,300 ราย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยกระดับ "ผ้าไหมแพรวา" ซึ่งเป็นสินค้า OTOP ออกสู่ตลาดสากล และส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย โดยให้มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาสำคัญในท้องถิ่น ได้ขับเคลื่อนเรื่องงานวิจัย ปรับปรุงพันธุ์หม่อน ศาสตร์ด้านผ้า พัฒนาเส้นใย กระบวนการย้อมและการทอ การออกแบบลวดลาย ทั้งอนุรักษ์และร่วมสมัย รวมทั้งการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรม และ แนวคิดเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมด้านสิ่งทอพื้นบ้านอย่างต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น
 

นอกจากนี้ ผมได้อนุมัติให้จัดหาเครื่องสาวไหม 5 เครื่อง และขยายศูนย์การเรียนรู้เพิ่มเติม รวมทั้งให้กระทรวงพาณิชย์จัดทำโครงการ "เส้นทางสายไหม" ในประเทศ เพื่อจะเชื่อมโยงในทุกพื้นที่อีกด้วย จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ นอกจากจะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นแล้ว ผมและคณะรัฐมนตรี มีความประทับใจอย่างมากที่ได้สัมผัสวิถีชีวิตพื้นบ้านพี่น้องชาวภูไท โดยเฉพาะการอนุรักษ์เครื่องแต่งกายด้วยผ้าไหมแพรวาที่งดงาม ขอขอบคุณทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน สถาบันการศึกษา ซึ่งผมก็หวังว่า หากเราทุกคนร่วมมือกัน ด้วยความเข้าใจแล้ว เราก็จะมีอนาคตร่วมกันที่ดี"โดยเราจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" ทั้งนี้ เป็นไปตามศาสตร์พระราชาและตามแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เคยมีพระมหากรุณาธิคุณกับชาวกาฬสินธุ์ ในช่วงที่ผ่านมาแล้ว
 

พี่น้องประชาชนที่เคารพ ครับ
 

ธนาคารโลก ได้จัดทำรายงานแนวโน้มการเติบโตแบบมีส่วนร่วมของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในระยะยาว โดยระบุว่าประเทศไทยมีพัฒนาการก้าวหน้าไปมาก กล่าวคือมีประชากรที่เริ่มหลุดพ้นจากความยากจนนะครับ และมีสัดส่วนของประชากรที่ก้าวสู่รายได้ระดับปานกลาง ในสัดส่วนที่สูงขึ้น ที่ไม่มีผู้อยู่ในความยากจนขั้นรุนแรงตามเกณฑ์ของธนาคารโลกแล้ว อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เขาวิเคราะห์มา เราก็ต้องดูในข้อเท็จจริงว่าเราจะทำให้ดีขึ้นได้อีกอย่างไร ไม่ใช่ว่าเพียงพออยู่นี้ไม่ได้
 

ธนาคารโลกได้เสนอว่า การที่จะลดระดับความยากจนและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อจะเข้าสู่การเป็นประเทศรายได้ปานกลางให้ได้อย่างยั่งยืนนั้น ควรต้องทำตามมาตรการ 3 ด้านพร้อม ๆ กันอย่างต่อเนื่อง ได้แก่
 

(1) การให้โอกาสทางเศรษฐกิจกับประชาชนผ่านการสร้างงานที่ให้รายได้สูงขึ้น และ การเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น
 

(2) การสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ผ่านการมีระบบการดูแลด้านสังคม สาธารณสุข ประกัน สังคม และการส่งเสริมการออม
 

(3) การกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง ผ่านการใช้เครื่องมือ เช่น ภาษี หรือเครื่องมือทางการเงิน เป็นต้น
 

ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวนั้นก็นับว่าสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลนี้ ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้บรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 อีกด้วย
 

จากการรายงานของธนาคารโลกดังกล่าวก็ถือว่าเป็นข้อมูลจากสายตาคนภายนอก ที่เขามองเราในมุมมองว่าดีขึ้นผมอยากให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่าสิ่งที่เรากำลังเดินหน้า แม้จะเป็นก้าวย่างที่ช้า แต่มั่นคง และ อยู่ในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว ซึ่งต้องอาศัยความเพียรและความอดทน รัฐบาลไม่ได้จะพอใจเพียงเท่านี้นะครับ เนื่องจากยังมีปัญหาที่รอการแก้ไขอีกมาก โครงสร้างเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก ในขณะที่หลายสิบปีที่ผ่านมา เราก็ไม่ค่อยจะมีการลงทุนเพื่ออนาคต อันที่จะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการผลิตของประเทศมากนักนะครับ โดยเฉพาะในภาคเกษตร ก็ส่งผลให้ทุกวันนี้การกระจายรายได้ และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจยังไปได้ไม่ทั่วถึงนัก ขณะนี้เราได้จัดทำโมเดลในการ "ลดความยากจน" ภายใน 2 ปี ระยะแรกนะครับ โดยใช้โมเดลของ "กาฬสินธุ์ แฮปปี้เนส 2019" เป็นแนวทางที่จะทำต่อไปทั้งประเทศนะครับก็จะเริ่มไปพร้อม ๆ กันนะครับ รายละเอียดตามหน้าจอ สรุปได้ดังนี้ มี 4 องค์ประกอบหลัก คือ
 

1.การค้นหาครัวเรือนยากจนโดยใช้เกณฑ์รายได้ การลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ และการคัดเลือกโดยประชาคมระดับหมู่บ้าน
 

2.กลไกการขับเคลื่อน ตั้งแต่ระดับจังหวัดลงมาถึงระดับหมู่บ้าน เช่น ชุดปฏิบัติการตำบล กรรมการหมู่บ้าน ปราชญ์ชุมชน และกลุ่มองค์กรในหมู่บ้านเป็นต้น
 

3.กิจกรรมการขับเคลื่อน อาทิ การวิเคราะห์ข้อมูลครัวเรือน เพื่อจำแนกสถานะ การส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการพัฒนาที่เหมาะสม เช่นการทำบัญชีครัวเรือน การทำแผนชีวิตการฝึกวิชาชีพ การอบรม ณ ศูนย์การเรียนรู้ เป็นต้น
 

4.การติดตามและประเมินผลจากคณะทำงานระดับต่าง ๆ เพื่อจะพิจารณาส่งเสริมต่อเนื่องหรือต่อยอด แล้วแต่กรณี ซึ่งก็จะมีการให้รางวัลเชิดชูเกียรติสำหรับครัวเรือน กลุ่มอาชีพ ชุมชน ที่ประสบความสำเร็จด้วย
 

เรื่องนี้ไม่ใช่เพียงในเรื่องของพัฒนาการทางเศรษฐกิจเท่านั้น ที่ประชาคมโลกให้การยอมรับประเทศไทยของเรา ยังมีข่าวดีในเรื่องความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ที่ล่าสุดคณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป (EU) ได้เห็นชอบที่จะปรับความสัมพันธ์ด้านการเมืองกับประเทศไทย ด้วยตระหนักถึงบทบาทความสำคัญของไทย ในฐานะ "ประเทศผู้ประสาน" การเจรจาและสนับสนุนการขยายความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศ EU-ASEAN ส่งผลการติดต่อทางการเมืองในทุกระดับระหว่างเรากับ EU จะกลับเข้าสู่ระดับปกติ ทั้งนี้ ยังได้มีการกล่าวถึงความเป็นไปได้ว่าเราอาจจะกลับมาเจรจา "ข้อตกลงเขตการค้าเสรี ระหว่างยุโรป-ไทย" อันจะเป็นอีกช่องทางหนึ่ง ในการขยายกลุ่มประเทศคู่ค้าออกไป และสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศของไทยให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นอีกด้วย
 

อย่างไรก็ตาม การที่ต่างประเทศได้ตระหนักถึงความตั้งใจนี้ ก็คงไม่เท่ากับการที่พี่น้องประชาชนจะเปิดใจรับรู้ รับฟัง รับทราบในสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ อยากให้มองเห็นในสิ่งที่ดี ๆ แล้วก็ช่วยกันเสนอแนะ ต่อยอด ชี้ปัญหา และช่องโหว่ ที่รัฐบาลจะช่วยดำเนินการได้ เพื่อจะให้การเดินหน้าต่อไปด้วยความราบรื่น เราก็ต้องอาศัยความร่วมมือกัน ช่วยกันเสนอแนะ ช่วยกัน "ติเพื่อก่อ" แสดงความเห็นอย่างสร้างสรรค์ คราวนี้เราสามารถทำกรอบใหญ่ได้มากพอสมควร โดยได้รับการยอมรับจากภายนอก เราอย่ามาทำลายความเชื่อมั่นเหล่านี้ด้วยพวกเรากันเองเลย เราจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งภายในไปพร้อม ๆ กันด้วย
 

พี่น้องประชาชนที่รักครับ
 

ในปีหน้า 2561 ก็จะเป็นปีพิเศษ เป็นปีแห่งการเปิดกว้างทางโอกาส สำหรับคนไทยและประเทศไทยที่จะกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง เห็นได้จากการประชุมเวที APEC และ ASEAN Summit เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งการพัฒนาของบ้านเมืองเรานั้นไม่เพียงแต่เชื่อมโยงกับ "อาเซียน" เท่านั้น แต่ก็ได้ขยาย "ตลาดแห่งโอกาส" ไปสู่ "อาเซียน 3 6 และ 9" โดยมีอาเซียนอยู่ตรงกลาง กรอบความร่วมมือใหม่นี้ และประเทศไทยของเรา ก็เป็น "ศูนย์กลาง" ของอาเซียนอีกชั้นหนึ่ง
 

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าเป็นต้นไป จึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่สำคัญมากสำหรับบ้านเมืองของเราและทุกคน ผมอยากจะบอกว่า "โอกาส" จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่มีความพร้อมเท่านั้น เมื่อ "ประตูแห่งโอกาส" ปิดลงแล้ว หากเราไม่ได้ทำอะไรเลย เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ที่เราจะได้รับโอกาสที่ดีลักษณะนี้อีก ก็ขอให้ทุกคนได้ช่วยกัน ร่วมมือกัน ที่ผ่านมาถ้าหากว่าเราไม่มีความพร้อมในการสร้างความเข้มแข็งให้กับคนไทยให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ แล้วก็มัวแต่ขัดแย้งกัน และมีปัญหาภายในกันเองไม่ให้ความสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ในเรื่องของการขัดแย้ง การแบ่งแยก การไม่มีเสถียรภาพ ก็ทำให้ประเทศของเรานั้นไม่ต่างอะไรจาก "คนป่วย" แล้วเราก็ไม่สามารถที่จะมีความพร้อมไปแข่งขันกับใครเขาได้ ในโลกใบนี้อีกต่อไป เมื่อไรก็ตามที่เราไม่มีความมั่นคง ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน ก็ไม่อาจสร้างความมั่งคั่งขึ้นมาได้ วันนี้เราต้องฟื้นฟู "คนป่วย" ให้เป็น "นักกีฬา" ด้วยการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ตั้งแต่ภาคการผลิต ทั้งเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ให้สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และเงินทุน ทำให้สามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ออกสู่ตลาดระดับโลก และตลาด Online หรือ e-Commerce ซึ่งต้องอาศัยพลังแห่งความร่วมมือจากกลไก "ประชารัฐ" ในทุกระดับ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน สิ่งเหล่านี้ เราไม่อาจจะรอรีได้ สำคัญกว่าอย่างอื่น เพราะทุกประเทศต่างก็พัฒนาตนเองอยู่เสมอ และต่อเนื่อง เราต้องขจัดอุปสรรคภายในให้หมดสิ้น เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ปรับปรุงกฎหมายที่ยังไม่ทันสมัย ไม่เป็นสากล และที่สำคัญที่สุด คือ การป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่ นในทุกระบบ เป็นต้น
 

พี่น้องประชาชนที่รักครับ
 

สำหรับ ดัชนีรายได้เกษตรกรปี 2560 มีทิศทางที่แจ่มใส โดยขยายตัวเพิ่มขึ้น ราวร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปี 2559 จากผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัว อาทิ ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ต่าง ๆ และกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง เป็นต้น
 

เรื่องยางพารากับเรื่องปาล์มน้ำมันก็กำลังแก้ปัญหา เนื่องจากปริมาณเรามีจำนวนมากแล้วราคาผลผลิตก็ตกต่ำ อันนี้เราก็กำลังดำเนินการอยู่ ก็ขอให้พี่น้องใจเย็น ๆ นิดหนึ่ง ผมเข้าใจความเดือดร้อนแต่การแก้ต้องหาวิธีการแก้ที่เหมาะสม สืบเนื่องมาจากการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล ในช่วงปีที่ผ่านมา เราก็ค่อย ๆ ทำมาเรื่อย ๆ ในส่วนของการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำ ได้ดำเนินการมาเป็นระยะ ๆ ตามงบประมาณที่มีอยู่ ก็สามารถทำให้ทุกภูมิภาคของประเทศ ได้สามารถทำการเพาะปลูกได้เพิ่มขึ้น และยังมีน้ำต้นทุนเหลือเพียงพอ สำหรับทำการเกษตรในฤดูแล้งในปี 2561 อย่างไรก็ตาม คงต้องใช้อย่างประหยัดในเรื่องของการทำนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำนาปรัง ส่วนหนี้สินครัวเรือนเกษตรกร ปี 2560 มีแนวโน้มใกล้เคียงกับปี 2559 แต่หากพิจารณาให้ดีแล้ว จะเห็นว่าส่วนใหญ่หรือกว่า 40% เป็นการกู้ยืมเงินระยะสั้น สำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนคือเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต ไม่ใช่การสร้างหนี้ที่เกิดจากความไร้วินัยการออม หรือฟุ่มเฟือย จากการสร้างดีมานด์เทียม แต่เป็นการดำเนินการที่มีแผนงานทั้งในการผลิตและเก็บรักษาผลผลิตเพื่อรอการจำหน่าย ทั้งนี้ หนี้สินดังกล่าวสอดคล้องกับทิศทางการขยายตัวของภาคเกษตรโดยรวม และสอดรับกับรายได้เงินสดทางการเกษตรของครัวเรือนปี 2560 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ข้อมูลภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนตุลาคม ปี 2560 ประเมินว่าเศรษฐกิจภูมิภาคของไทย จะขยายตัวต่อเนื่องในหลายภูมิภาค เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่หนี้ครัวเรือนไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
 

รัฐบาลยังมีอีกหลายมาตรการที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งให้กับพี่น้องเกษตรกร ขอเพียงรับฟัง ทำความเข้าใจ อย่าบิดเบือนนะครับ แล้วร่วมมือกับรัฐบาล ทุกอย่างก็ค่อย ๆ ดีขึ้นเอง วันนี้เป็นตัวเลขที่เขาคัดกรองมา ที่เขาพิจารณาด้วยทางวิชาการ ในส่วนของการปฏิบัติ รัฐบาลได้ติดตามข้อเท็จจริงในพื้นที่ข้างล่าง จะเห็นได้ว่าเรามีหลายแพ็คเกตออกมาในขณะนี้ เช่น
 

1. แพ็กเกจช่วยหนี้เกษตรกร เป็นการแก้ไขปัญหาหนี้สิน พร้อมกับการฟื้นฟูอาชีพการเกษตร ในรูปแบบเฉพาะเจาะจงรายบุคคล ในครัวเรือน โดยการทำแผนฟื้นฟูการประกอบการอาชีพรายบุคคลอยู่ในแผนมาตรการแก้หนี้สินเกษตรกรทุกสาขา ซึ่งจะมีทีมงานลงพื้นที่ติดตามอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนให้ฟื้นฟูหนี้สิน บรรเทาความเดือดร้อน เพื่อให้หลุดพ้นภาระหนี้เดิมทั้งหนี้นอกระบบและในระบบ ซึ่งพันกันไปพันกันมาโดยตลอด
 

2. การทำไซโล (ยุ้งฉาง) เก็บผลผลิตการเกษตร เพื่อชะลอสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดไม่ให้คับคั่ง บางทีออกมาสู่ตลาดพร้อมกัน จนราคาตกต่ำ อันนี้เรามีไซโลเก็บไว้เพื่อทยอยนำออกมาได้ คล้ายหลักการแก้มลิงที่เอาน้ำไปพักไว้ก่อนตามพระราชดำรัสในหลวง รัชกาลที่ 9 แล้วค่อย ๆ ปล่อยออกมาตามความต้องการแท้จริงของตลาดปัจจุบันรัฐบาลมีมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2560/2561 ซึ่งกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว ตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา วงเงินกว่า 87,000 ล้านบาท เรามีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคาข้าว โดยดูดซับข้าวออกจากระบบได้ราว 12.5 ล้านตันประกอบด้วย 3 โครงการ คือ โครงการสินเชื่อชะลอขายข้าวเป็นการมอบสินเชื่อแก่ชาวนาในสัดส่วนร้อยละ 90 ของราคาตลาด ผ่าน ธ.ก.ส. มีการจ่ายค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว 1,200 บาทต่อไร่ แต่ไม่เกินรายละ 10 ไร่ รวมทั้งมีค่าเก็บรักษาข้าวเปลือกในยุ้งฉาง 1,500 บาทต่อตันโครงการให้สินเชื่อกลุ่มสหกรณ์ กลุ่มสถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนสำหรับรวบรวมข้าวจากชาวนาและนำไปแปรรูป ในอัตรา 12,000 บาทต่อตัน โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ส่วนหนึ่ง และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับโรงสีข้าวในอัตราร้อยละ 3 เพื่อรวบรวมข้าวจากเกษตรกรเพื่อเก็บไว้ในสต็อก 2-6 เดือน
 

3.การส่งเสริมให้รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ เกษตรแปลงใหญ่ที่เข้มแข็ง เป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างเกษตรกรรมไทย เนื่องจากประเทศไทยมีเกษตรกรรายย่อยมาก รวมตัวกันไม่ได้ ทำให้การบริหารจัดการยาก การใช้งบประมาณจึงเป็นเบี้ยหัวแตกไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยรัฐบาลจะให้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 800 กว่าแห่ง กับอีก 10,000 เครือข่ายทั่วประเทศ เข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องใช้การรวมกลุ่มเป็นพลังขับเคลื่อน โดยนำการบริหารจัดการสมัยใหม่ และเทคโนโลยีนวัตกรรมมาประยุกต์ ตลอดห่วงโซ่อุปทานทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการผลผลิตทางการเกษตรแต่ละประเภท ทั้งการเพาะปลูก ประมง และปศุสัตว์มีประสิทธิภาพ มีการวางแผนการผลิตร่วมกันปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม มีการโซนนิ่ง จาก Agri-Map เข้ามาช่วยด้วย ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ควบคู่กับการทำเกษตรสมัยใหม่ เพื่อจะสร้างภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยง จากสภาวะของตลาดที่เปลี่ยนแปลง อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ก็หลังจากนี้ก็เป็นเรื่องของการปลูกพืชหลังทำนากับการเลี้ยงสัตว์
 

มาตรการที่ 4 การเพิ่มความเข้มแข็งให้ธุรกิจ SMEs อย่างครบวงจร
 

จากที่กล่าวมาแล้วก็จะเห็นว่ารัฐบาลติดตามปัญหาพี่น้องเกษตรทุกกลุ่ม ด้วยความเป็นห่วงอยู่เสมอ ไม่ได้นิ่งเฉย มีการปรับแผน มีการคิดหามาตรการต่าง ๆ ตลอดมาในพืชทุกชนิด ไม่ได้ทอดทิ้ง มีความห่วงใยเสมอ ผมอยากกำชับให้ทุกหน่วยงาน ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ติดตามข้อมูลข่าวสาร ความคืบหน้า และปฏิบัติงานของตนให้สมบูรณ์ ครบถ้วน ด้วยความเข้าใจ สามารถชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนได้ แก้ปัญหาได้ ให้ทันต่อสถานการณ์ ถ้าแก้ไม่ได้ก็แจ้งมา ให้หน่วยงานอื่น ๆ ได้แก้คืนมา ถ้าแก้ไม่ได้อีกรัฐบาลก็จะแก้ให้ แต่ผมคิดว่าหลาย ๆ ปัญหามันแก้ได้จากข้างล่าง ดังนั้นเราต้องทำงานเชิงรุก ทำงานด้วยข้อมูล ด้วยความรู้ทางวิชาการ ความรู้เรื่องการบริหาร ด้วยการเข้าหาประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ลงพื้นที่บ่อย ๆ ผมก็จะขอดูการเยี่ยมลงพื้นที่ของทุกกระทรวงต่อไปนี้
 

ส่วนพี่น้องเกษตรกรเอง ก็ขอให้ติดตามข่าวสารในทุกช่องทางที่เรามีอยู่ ที่ตนเองมีด้วย ทางมือถือ วิทยุ โทรทัศน์ หรือพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของรัฐได้โดยตรง เพราะอาจจะดูแลไม่ทั่วถึง ขอให้ใช้กลไกของชุมชน ท้องถิ่น ในการกระจายข่าวสาร อาทิ วิทยุชุมชน หอกระจายข่าว ให้รู้ทั่วกันด้วย สำหรับข้าราชการเวลาไปประชุม ตรวจงานต่าง ๆ ขอให้พักโรงแรมในพื้นที่ที่ค่อนข้างจะมีคนไปพักน้อย ภาคใต้ก็เหมือนกัน ขอให้ไปประชุมนอกสถานที่บ้างในพื้นที่ที่จะทำให้เกิดการสร้างรายได้ เกิดการจ้างงาน ทำให้บ้านเมืองมีขีวิตชีวาขึ้น อันนี้ก็สามารถทำได้ ผมหมายถึงว่าถ้าท่านต้องไปตรวจงานอยู่แล้ว
 

พี่น้องประชาชนที่รัก ครับ
 

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม สิ่งหนึ่งที่อยู่คู่สังคมของเรา คือ "ตลาด" ซึ่งเป็นปลายทาง ของวงจรการเกษตรกรรม "ตลาดคลองผดุง" ที่ผมริเริ่มขึ้นมาหลายปีมานี้ เป็นมากกว่าตลาดสดทั่วไป แต่จะเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนสินค้า จับคู่ธุรกิจ กิจกรรมชุมชน และแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่นไปในตัว ปัจจุบันดำเนินการมา 37 ครั้ง มียอดผู้ประกอบการกว่า 7,800 ราย ผู้เข้าชมตลาดและร่วมกิจกรรม ราว 3,800,000 คน และมียอดการจำหน่ายและสั่งซื้อสินค้า มากกว่า 1,900 ล้านบาท โดยจะ "ปิดตลาด" ลงสิ้นปีนี้ เป็นครั้งสุดท้าย ภายใต้ชื่องาน "สุดยอด SMEs ส่งสุข ส่งท้าย ส่งความประทับใจ ตลาดคลองผดุง 2560" ระหว่างวันที่ 12 - 27 ธันวาคมนี้
 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ขยายผลความสำเร็จดังกล่าว ไปสู่ "ตลาดประชารัฐ" ซึ่งได้ "เปิดตลาด" พร้อมกันทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น มากกว่า 120,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ค้าในชุมชน ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย เกษตรกร และผู้มีรายได้น้อย นำสินค้าเกษตร ผัก ผลไม้ อาหารพร้อมรับประทาน รวมทั้งสินค้า OTOP และ CPOT (สินค้าทางวัฒนธรรม) เข้าไปจำหน่าย ในตลาดประชารัฐ "คนไทยยิ้มได้" ของกรมการพัฒนาชุมชน และ ตลาดประชารัฐ "ท้องถิ่นสุขใจ" ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
 

สำหรับผลการดำเนินงานจากการเปิด "ตลาดประชารัฐ" พร้อมกัน 6,520 แห่ง ทั่วประเทศ ในช่วง 5 - 7 ธันวาคมที่ผ่านมา (เป็นเวลา 3 วัน) มียอดผู้ประกอบการ "รายใหม่" เกือบ 48,000 ราย มีประชาชนชมงาน ร่วมกิจกรรม และอุดหนุนสินค้าเกือบ 5 แสนคน รวมมูลค่าการค้าขาย และสั่งซื้อสินค้า ผลิตภัณฑ์ ราว 69 ล้านบาท อีกทั้งยังเพิ่มมูลค่าการค้าขายให้กับผู้ประกอบการรายเดิม ในตลาดนั้น ๆ ด้วย ถ้าเรามีอยู่แล้วเราก็เสริมเข้าไปให้สะดวกขึ้น มากขึ้น ประชาชน ผู้ค้าเข้าถึง ในหลายพื้นที่ก็มีการจัดระเบียบไป วันนี้เราก็เอาเขากลับมา หาที่ค้าขายให้เขา สิ่งที่น่าดีใจ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการริเริ่มตลาดนี้ คือ ผมได้รับรายงานว่ามีบางตลาดมีการขยายผล เชื่อมโยงกับแผนพัฒนาของชุมชนของตนเอง เช่น ตลาดน้ำวัดโตนด จังหวัดนนทบุรี ก่อตั้งจากเงินกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เมื่อ 6 เดือนก่อน ปัจจุบัน รวมกับโครงการตลาดประชารัฐของรัฐบาล ทำให้ร้านค้าที่มีแต่เดิม 40 ร้าน เพิ่มเป็นกว่า 100 ร้าน มีประชาชนมาเที่ยวชม และจับจ่ายใช้สอย จนทำรายได้เพิ่มจากปกติวันละ 40,000 บาทเป็น 140,000 บาท นอกจากจะทำให้ชุมชนมีรายได้แล้ว ยังช่วยเสริมสร้างความสามัคคีในชุมชนอย่างมากอีกด้วย โดยทำให้กลุ่มกรรมการวัดโตนด กลุ่มชมรมตลาดน้ำวัดโตนด กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และกลุ่มชาวสวน ได้มารวมตัวกันช่วยบริหารจัดการตลาดฯ และร่วมกันหารือ คิดค้น ริเริ่มสร้างสรรค์ ทำกิจกรรมเสริมใหม่ ๆ เป็นการต่อยอดขึ้นอีก อาทิ การตักบาตรพระริมน้ำ การแข่งเรือพาย และ การแข่งอ่านสักวา เป็นต้น ซึ่งในอนาคตต่อไปก็จะมีการนำเที่ยวล่องเรือชมคลองอ้อมนนท์ "มรดกโลกทางวิถีชีวิตดั้งเดิมริมน้ำ" อีกด้วย ขอให้ทุกพื้นที่นำแนวทางเหล่านี้ไปขยายของตัวเอง
 

สุดท้ายนี้ ผมขอแนะนำอีก 2 กิจกรรม ที่มีความสำคัญสำหรับสังคมเกษตรกรรมของเรา โดยเฉพาะชาวนา และสินค้าท้องถิ่นของไทย ได้แก่
 

1. เทศกาลข้าวไทย 2560 (Thai Rice Festival 2017) ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ช่วงวันที่ 15 - 20 ธันวาคมนี้ นอกจากสามารถซื้อหาข้าวไทยพันธุ์ต่าง ๆ จากกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศแล้ว ยังมีการแสดงวัฒนธรรมประเพณีเกี่ยวกับข้าว และภูมิปัญญาวิถีชาวนา รวมทั้ง เมนูอาหาร การใช้ประโยชน์จากข้าว และ สินค้าแปรรูปจากข้าวอีกด้วยครับ ข้าวพันธุ์หนึ่งที่ผมเคยพูดไปแล้ว คือ ข้าวพันธุ์ กข.43 ก็อยากให้ไปหาทานในท้องตลาด อาจจะหายากสักหน่อยในขณะนี้เพราะเป็นรอบแรกที่ออกมา เป็นข้าวที่เรามุ่งหวังจะให้เป็นข้าวคุณภาพ เพื่อจะช่วยผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน เพราะจะเป็นข้าวที่ลดน้ำตาลก็ขอให้ติดตามต่อไป
 

2. งาน OTOP CITY 2017 "ของขวัญจากภูมิปัญญา ประชารัฐ สร้างโอกาส สร้างอาชีพ สร้างรายได้" ระหว่าง วันที่ 17 - 25 ธันวาคมนี้ ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1 - 3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
 

ทั้ง 2 งานนี้ นอกจากจะช่วยสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมไทย รวมทั้ง ส่งเสริมการสืบสานและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาที่มากด้วยคุณภาพ จากฝีมือคนไทย จากรุ่นสู่รุ่นแล้ว ยังเป็นโอกาสให้พี่น้องประชาชน ได้เลือกสรร "ของขวัญ" ส่งท้ายปี เพื่อมอบให้กับผู้ใหญ่ที่เคารพ ญาติพี่น้อง เพื่อฝูง ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ก็ได้
 

ช่วงนี้ผมอยากให้คนไทยทุกคนเป็นคนไทย 4.0 เป็นคนไทยที่ใช้ปัญญาในการประดิษฐ์ การสร้างสรรค์ ในการที่จะคิดอะไรใหม่ ๆ ออกมาแค่นั้นก็เป็น 4.0 แล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่เป็น 4.0 คือ เรื่องอุตสาหกรรมเป็นอีกเรื่องของเครื่องไม้เครื่องมือ เรื่องของเทคโนโลยี เพราะฉะนั้นสิ่งที่ตัวเองมีกะตัวอยู่แล้วก็คือสติปัญญา 4.0 เอามาใช้ให้ได้ทุกคน จะต้องพัฒนาตนเอง จะต้องเรียนรู้สังคม เรียนรู้สิ่งแวดล้อมตัวเอง ติดตามข่าวสารของทางราชการ ถ้าเราทำตัวเป็นอิสระโดดเดี่ยว ไม่สนใจอะไรเลยมันก็ไม่ได้อะไรกลับขึ้นมา ฉะนั้นปัญญาก็ไม่ได้ใช้
 

ขอบคุณครับ ขอให้ "ทุกคน" มีความสุข ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ

 

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard


 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้