ป.ป.ช. มีมติชี้มูล พันตรี วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่ำรวยผิดปกติ

Last updated: 12 ธ.ค. 2560  |  2486 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ป.ป.ช. มีมติชี้มูล พันตรี วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่ำรวยผิดปกติ

คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูล พันตรี วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่ำรวยผิดปกติ

        วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการฯ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 632-4/2558 เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 มีมติชี้มูลความผิด นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวก ว่าทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว โดยในรายของพันตรี วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 มีมูลความผิดทางอาญา โดยได้ร่วมกระทำความผิด กับนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว กับพวก ด้วยการแบ่งหน้าที่กันทำงานโดยช่วยเหลือ มุ่งหมายและเอื้อประโยชน์ให้กับ Guangdong stationery & sporting goods imp. & exp. Corp. และ Hainan grain and oil industrial trading company ซึ่งมิได้รับมอบหมายจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนให้เข้ามาทำสัญญาซื้อขาย แต่มีสิทธิเข้าทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ โดยไม่ต้องแข่งขันราคากับผู้เสนอราคารายอื่นแล้วนำข้าวที่ซื้อได้ในราคาต่ำกว่าราคาขายในประเทศ หรือต่ำกว่าราคาที่ฝ่ายไทยเสนอ หรือต่ำกว่าราคาที่รับจำนำ นำไปขายต่อให้กับผู้ประกอบการค้าข้าวในประเทศ หรือนำไปให้บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด นำไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง ก่อให้เกิด ความเสียหายแก่กรมการค้าต่างประเทศ และประเทศชาติอย่างร้ายแรง

        ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 667-39/2558 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2558 ได้พิจารณาและมีมติว่า กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าพันตรี วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ว่าร่ำรวยผิดปกติ ตามนัยมาตรา 66 มาตรา 75 วรรคสอง และมาตรา 77 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ไต่สวน เพื่อไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว โดยมีนางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ ซึ่งต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการร่ำรวยผิดปกติของพันตรี วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ นางสาวชุฏิมา วัชรพุกกะ อดีตคู่สมรส บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ บุคคลที่เกี่ยวข้อง เป็นการชั่วคราวตามมาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 รวมมูลค่า 99,203,133.17 บาท

        คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 914-85/2560 เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 ได้พิจารณารายงานผลการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถชี้แจงแหล่งที่มาของทรัพย์สินได้จึงมีมติว่า พันตรี วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ ผู้ถูกกล่าวหา ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควรสืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ รวมมูลค่า 896,554,760.28 บาท ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้

  1. เงินฝากธนาคารพาณิชย์ ในชื่อพันตรี วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ และอดีตคู่สมรส บุตร เครือญาติ และผู้ใกล้ชิด จำนวน 53 บัญชี เป็นเงิน 567,715,461.37 บาท
  2. เงินลงทุนในชื่อพันตรี วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ และอดีตคู่สมรส บุตร เครือญาติ และผู้ใกล้ชิด จำนวน 6 แห่ง มูลค่า 260,142,651 บาท
  3. ที่ดินในชื่ออดีตคู่สมรส บุตร เครือญาติ จำนวน 12 แปลง ในท้องที่กรุงเทพมหานคร มูลค่า 57,066,828 บาท
  4. ห้องชุดในชื่อของเครือญาติ ได้แก่ห้องชุด ชื่อศาลาแดง โคโลเนต ตำบลสีลม อำเภอบางรัก กรุงเทพมหานคร จำนวน 1 ห้อง มูลค่า 6,200,000 บาท
  5. รถยนต์ จำนวน 4 คัน ในชื่อของเครือญาติ และผู้ใกล้ชิด มูลค่า 6,309,000 บาท

        ให้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินของ พันตรี วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ รวมมูลค่า 896,554,760.28 บาท ที่ได้มา โดยร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 80 (1) รวมทั้งขอให้อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อจัดให้มีวิธีคุ้มครองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 (1) และหากไม่สามารถบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ตกเป็นของแผ่นดินได้ทั้งหมดหรือได้แต่บางส่วนแล้ว ให้ขอให้บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหาได้ภายในอายุความสิบปี ตามนัยมาตรา 83 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542

 

หมายเหตุ การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้