Last updated: 12 ธ.ค. 2560 | 2170 จำนวนผู้เข้าชม |
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม 2560 เวลา 20.15 น.
-------------------------
สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน ด้วยพระปรีชาสามารถของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ที่ทรงนำทัพนักกีฬาขี่ม้าทีมชาติไทย ได้รับรางวัล “เหรียญเงิน” จากการแข่งขันขี่ม้าประเภทศิลปะบังคับม้า หรือ “เดรส-ซาจ” ในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 29 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา
ได้สร้างความปลื้มปีติให้กับคนไทย ทั้งประเทศ อีกครั้งหนึ่ง ภายหลังจากที่เคยทรงได้รับรางวัล “เหรียญทอง” จากการแข่งขันแบดมินตัน ประเภททีมหญิง ในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 23 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อ 12ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็นับว่าพระองค์ทรงเป็นแรงบันดาลใจแก่นักกีฬาไทย “ทุกคน” ให้ทำหน้าที่ และสร้างผลงานของตนให้ดีที่สุด เพื่อเกียรติประวัติของตน และเกียรติภูมิของประเทศ นำความสุขมาสู่ชาวไทย “ทั้งชาติ” อีกด้วย นะครับ
พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่านครับ, ในการลงพื้นที่พบปะกับพี่น้องประชาชน, พี่น้องเกษตรกร, ข้าราชการและผู้ประกอบการ ในพื้นที่ จังหวัดนครราชสีมา และภาคอีสานของผม และคณะรัฐมนตรี เพื่อที่จะรับฟังเสียงสะท้อนของประชาชนในเรื่องต่างๆ จากการบริหาราชการแผ่นดิน 3 ปีที่ผ่านมารวมทั้งรับฟังความต้องการของประชาชนในพื้นที่ แล้วจะนำมาพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีในภูมิภาคนั้น
เพื่อจะได้นำไปสู่การอนุมัติ แผนงานโครงการ งบประมาณ ให้สามารถดำเนินงานได้ในหลายโครงการนะครับเพื่อจะบรรเทาปัญหาและช่วยเหลือ พี่น้องประชาชนชาวอีสานและชาวโคราชซึ่งผมจะขอเล่าให้ทุกคน จากทุกภาคได้รับรู้ รับทราบ ถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาล และจะได้ตื่นตัวในการมีส่วนร่วมกับรัฐบาล โดยจะต้องเชื่อมโยงกันในระดับภาคและประเทศ ดังต่อไปนี้...
1. ปัญหาการขาดแคลนน้ำและน้ำท่วมซ้ำซากนั้นผมได้เร่งรัดแผนบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล เพื่อผันน้ำโขงเข้ามาใช้พัฒนาการบริหารจัดการน้ำในภาคอีสาน เพื่อเสริมระบบชลประทานที่สามารถกระจายน้ำสู่พื้นที่เกษตรได้ โดยใช้แรงโน้มถ่วงในสภาพภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่สูงมีระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ปากน้ำเลย อ.เชียงคาน จ.เลย ให้ไหลผ่านอุโมงค์ผันน้ำเข้าสู่พื้นที่
ซึ่งโครงการนี้ จะสามารถใช้บรรเทาอุทกภัยได้ด้วย แต่คงจะต้องใช้เวลาในการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและใช้เวลาในการก่อสร้างหลายปี ใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องเร่งดำเนินการเรื่องการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยด่วน
ในระหว่างนี้ เราคงต้องมีการดำเนินการด้านอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อจะบรรเทาปัญหา เช่น การเก็บกักน้ำตั้งแต่ต้นน้ำชี โดยเร่งรัดการดำเนินโครงการอ่างลำสะพุง จ.ชัยภูมิ ที่ยังติดเรื่องการใช้พื้นที่ ซึ่งจะได้แก้ปัญหา โดยการย้ายตำแหน่งของพื้นที่ลงมาที่เชิงเขา เพื่อให้ไม่กระทบกับพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า
นอกจากนี้จะพิจารณาการก่อสร้างประตูระบายน้ำ ตามจังหวัดชายแดนที่ติดแม่น้ำโขง เพื่อให้เก็บกักน้ำก่อนระบายลงสู่น้ำน้ำโขง ทั้งนี้จะเร่งพิจารณางบประมาณและแผนเพื่อดำเนินการต่อไปนะครับ รวมทั้งในการเร่งรัดจัดทำ EIA และออกแบบโครงการประตูระบายน้ำปากแม่น้ำสงคราม อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เป็นกรณีเร่งด่วน
สำหรับการบริหารน้ำ “นอกเขตชลประทาน” นั้น จะมีการเพิ่มระบบการกักเก็บน้ำและระบบกระจายน้ำ โดยสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็กแบบหลุมขนมครก โดยจะพิจารณาสนับสนุนเครื่อง จักรกลในการขุดเจาะบ่อบาดาลให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินการเพิ่มพื้นที่เก็บน้ำในที่นา และปรับแปลงนาตามเกษตรทฤษฎีใหม่อีกด้วย
2. การสนับสนุนการค้าการลงทุนและโครงสร้างพื้นฐานในภาคอีสาน เพื่อยกระดับศักยภาพของพื้นที่และอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวนั้น ผมได้หารือกับหน่วยงานต่างๆ โดยเห็นว่าจะต้องปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมให้สอดคล้องและรองรับกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ
อาทิ การก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ ผ่านในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา นับเป็นโครงการที่ทุกฝ่ายสนับสนุน จะต้องขจัดปัญหาการแบ่งพื้นที่ชุมชนออกเป็นสองฝั่ง ที่จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตและการค้าขายของประชาชนในพื้นที่ โดยบรรลุ “ข้อสรุป” ร่วมกันว่าจะมีปรับแบบโครงการให้เป็นทางรถไฟ “ยกระดับ”ซึ่งอาจส่งผลให้ต้องขยายระยะเวลาดำเนินงานออกไปอีก 17 เดือนสำหรับงานออกแบบโครงสร้างทางยกระดับการศึกษา EIA เพิ่มเติม และการก่อสร้าง
รวมถึงอาจทำให้มีค่าใช้ จ่ายเพิ่มขึ้น ราว 2,700 ล้านบาท แต่ก็นับว่าคุ้มค่านะครับ หากต้องแลกกับความสุขของประชาชน ที่ประเมินค่าเป็นตัวเงินไม่ได้ เพราะโครงสร้างนี้ จะอยู่คู่เมือง คู่ประเทศ ไปอีกชั่วลูกหลาน
สำหรับการสนับสนุนการค้า ผมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาขับเคลื่อนการพัฒนาด่านชายแดนให้เกิดการบูรณาการอย่างจริงจัง มีการจัดการเป็นลักษณะ One Stop Service เพื่อให้การบริการมีประสิทธิภาพ สะดวก และย่นระยะเวลา โดยอาจมีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาด่านชายแดนเพื่อให้เกิดบูรณาการการทำงานต่อไป
ทั้งนี้ ในอนาคตเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนภาคอีสาน ทั้ง 3 แห่ง คือ ใน จังหวัดหนองคาย, จังหวัดนครพนม และ จังหวัดมุกดาหาร อาจมีการต่อยอด ขยายผล ไปสู่ระดับเดียวกับ EEC ได้ เมื่อทุกอย่างมีความพร้อมนะครับ ทุกอย่างก็ต้องพร้อมในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน น้ำ ไฟ ประปา โทรศัพท์ ดิจิตอล อะไรเหล่านี้ ต้องพร้อมทั้งหมดนะครับ
ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงมูลค่า หรือผู้ที่สนใจในการลงทุนด้วยนะครับ ก็ต้องค่อยเป็นค่อยไปแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันนะครับส่วนการสนับสนุนให้โคราชเป็น “เมืองท่องเที่ยว” นั้น ต้องร่วมมือกันในรูปแบบ “ประชารัฐ” ให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โดยภาครัฐจะเข้าไปสนับสนุน
ขอให้เป็นความริเริ่มจากชุมชน เป็นการ “ระเบิดจากข้างใน”ในการยกระดับแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ในรูปแบบต่างๆ ทั้งศิลปวัฒนธรรม, ทรัพยากรธรรมชาติ, กีฬา, อาหาร, สมุนไพร รวมทั้ง “ของดี” ที่เป็นสินค้าประจำจังหวัด เช่น เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน, ผ้าไหมปักธงชัย เป็นต้นนะครับ
ก็คงต้องดูแลในเรื่องของความทรุดโทรมของสถานที่ท่องเที่ยวด้วยนะครับ ตลอดจนถนนหนทาง สร้างความเชื่อมโยง เพราะว่าแต่ละแห่งสวยงาม แต่มีระยะทางไกลนะครับ เดินทางไปมาไม่ค่อยสะดวก
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อต้นสัปดาห์ ได้มีการอนุมัติให้ดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคตะวันออก เฉียงเหนือหลายด้านด้วยกันอาทิ...
1. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา ในส่วนของการให้เอกชนมาร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือเรียกว่า PPP ซึ่งทางหลวงพิเศษนี้ จะมีระยะทางประมาณ 196 กิโลเมตร และเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองจากกรุงเทพมหานคร ถึง หนองคาย ซึ่งจะมีระยะทางรวมทั้งสิ้น 535 กิโลเมตร
ซึ่งก็จะเป็นเส้นทาง ที่เชื่อมโยงกรุงเทพมหานครกับศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านในบริเวณพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ช่วยลดต้นทุน ลดความแออัดของการจราจร และเป็นการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อีกด้วยนะครับ
2. การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น กว่า 2 พันล้านบาท เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ในพื้นที่ภาคตะวัน ออกเฉียงเหนือและภาคเหนือให้กลับสู่ปกติโดยเร็ว
3. เห็นชอบข้อเสนอแผนงานโครงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่
(1) การกำหนดพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างเป็นระบบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 8 พื้นที่ ให้ครอบคลุม 18 จังหวัด เพื่อให้มีความชัดเจนในการบูรณาการ แก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง
(2) ให้กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมทรัพยากรน้ำ เสนอโครงการที่มีความพร้อมเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2561 เพิ่มเติม รวม 348 โครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 8,800 กว่าล้านบาท จะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ราว 550,000 ไร่ คิดเป็นปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 107 ล้านลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ก็เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งอุทกภัยและภัยแล้งครอบคลุมภาคตะวันออกเฉียง เหนือใน 8 พื้นที่ดังกล่าว โดยจะมีการพิจารณา และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการและงบประมาณเพื่อจะขอรับการสนับสนุนงบประมาณ เพื่ออนุมัติต่อไป
(3) ให้รวบรวมแผนงานโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในระยะยาว ปี 2563 ถึง 2569 ตามแผนบริหารจัดการน้ำ นะครับ ของภาคตะวันออก เฉียงเหนือ จากทุกส่วนราชการที่เกี่ยว ข้อง โดยแผนงานดังกล่าวจะต้องสามารถแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่เสี่ยงรุนแรง และร้อยละ 50 ของพื้นที่ทั้งหมด
(4) ให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดแก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำ หรือกำหนดมาตรการรองรับกรณีเกิดอุทกภัย โดยต้องแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2560 นี้ ครับ
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียง “ส่วนหนึ่ง” ในมาตรการสำคัญๆ ที่ได้ดำเนินการ เพื่อบรรเทาปัญหาของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวนะครับ ยังมีอีกหลายเรื่องที่ได้มีการหยิบยกขึ้นมาหารือและร่วมกันพิจารณาแนวทางแก้ไข เช่น เรื่องการศึกษา,
การพัฒนาแรงงาน และการสาธารณสุข ซึ่งก็ได้มีการมอบหมายส่วนงานให้ไปพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนแล้วนะครับ ผมต้องขอขอบคุณพี่น้องชาวโคราช, ภาคเอกชน และข้าราชการในพื้นที่ ตลอดจนทุกจังหวัด นะครับ ในพื้นทีภาค อีสาน ที่ได้มาต้อนรับและให้ข้อมูลที่มีประโยชน์ กับผมและคณะฯ อย่างอบอุ่น และเปี่ยมด้วยมิตรไมตรีที่ดียิ่ง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย
การลงพื้นที่ครั้งนี้ ผมและคณะรัฐมนตรี รวมถึงข้าราชการจากส่วนกลาง ได้รับประโยชน์อย่างมาก เพราะได้รับข้อมูลโดยตรงจากพี่น้องประชาชน ได้ลงไปเห็นปัญหา และผลงาน รวมถึงสิ่งที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติมในระยะต่อไป ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานของภาครัฐมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผมและคณะฯ ตั้งใจไว้แล้ว ว่าจะเดินทางลงพื้นที่เช่นนี้อย่างต่อเนื่อง ไปยังภาคอื่นๆ ให้ทั่วถึงนะครับ
ขอให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบว่ารัฐบาลนี้ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภูมิภาคเป็นอย่างมาก เพราะเป็นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งผมและคณะ รัฐมนตรี พร้อมที่จะรับฟังความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่ และจะพยายามแก้ไข บรรเทาทุกข์ของท่าน อย่างเต็มกำลังความสามารถ ผมอยากให้เราเดินหน้า และปรับตัวเพื่อสู้กับปัญหาไปด้วยกันนะครับ
ในระหว่างการเดินทางลงพื้นที่ของผมในครั้งนี้ ผมได้รับรายงานการปฏิบัติหน้าที่ของ “ตำรวจ” ซึ่งน่าชื่นชม ในการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ที่เฉี่ยวชนกัน โดยให้การช่วยเหลือเบื้องต้นแล้วนำเด็กหญิงคณิศร ปันคำ ผู้ได้รับบาดเจ็บ ไปส่งโรงพยาบาลประทายและส่งต่อไปยังโรงพยาบาลมหาราชเพื่อทำการผ่าตัดได้อย่างทันท่วงที
อีกทั้งยังได้ติดตามอาการเด็กอย่างใกล้ชิดจนปลอดภัย โดยโอกาสนี้ ผมขอฝากตวามชื่นชมไปยังสิบตำรวจโทปรีชา บุญสอน, ดาบตำรวจสายยนต์ พานงูเหลือม รวมทั้งเพื่อนตำรวจอีกหลายนายในการช่วยเหลือประชาชนดังกล่าว ขอให้รักษาความดีเหล่านี้ไว้ และขอให้เป็นที่พึ่งของประชาชนได้ตลอดไป รวมทั้งขอส่งกำลังใจให้น้องคณิศรหายเจ็บในเร็ววันด้วยนะครับ
ผมขอขอบคุณทั้งเจ้าหน้าที่พลเรือนด้วยนะครับ ฝ่ายพลเรือน อาสาสมัคร ดับเพลิงป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนนะครับ ทหารในพื้นที่ทุกคน ทำหน้าที่ดีที่สุดนะครับ ก็ขอให้ดูแลประชาชน ไปด้วย พร้อมกับดูแลผม ประชาชนสำคัญที่สุดนะครับ
จะเห็นว่า ถ้าบ้านเมืองเรามี “พลเมืองดี ข้าราชการดี” คนไทยก็จะมีความสุขและมีความปลอดภัย จึงอยากให้ช่วยกันทำความดีเพื่อสังคม ให้มากๆ ทำได้ทุกวัน นะครับ
พี่น้องประชาชนที่เคารพ ครับ, เศรษฐกิจของประเทศไทยนั้น มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในอาเซียน มีสัดส่วนในเศรษฐกิจอาเซียนถึง ร้อยละ 20 หากเรายังมีการเติบโต ในอัตราเฉลี่ยระดับ 3.7% ซึ่งแม้ว่าจะดีที่สุดแล้วในปัจจุบัน แต่ผมเห็นว่ายังเป็น “กล้ามเนื้ออ่อนแรง” ยังไม่ยั่งยืน ยังไม่เข้มแข็งไปทั้งตัว นะครับ เราต้องกลับมาวิเคราะห์ตนเอง เพื่อหา “จุดอ่อน - จุดแข็ง” สำหรับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ได้ นะครับ
แม้ว่า 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจะได้เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และแก้ปัญหาเรื่องน้ำ "ในภาพรวม"ตามที่ผมได้เล่าให้ฟังอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง ในเรื่องของการปรับปรุงกฎหมาย-กติกา-ข้อบังคับ ที่ล้าสมัย ซับซ้อน ขัดแย้งกันเอง และ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ท่านทราบหรือไม่นะครับ ปัจจุบันนั้นประเทศไทยมีกฎหมายที่เป็น พระราชบัญญัติ ถึง 20,000 ฉบับ หากรวมกฎหมายอื่นๆ ก็จะมากถึง 105,000 ฉบับ
นี่เป็นตัวอย่าง ของประเด็นปัญหาของเรา ที่รอการปฏิรูป ส่วนเรื่องที่สามารถดำเนินการได้ในทันที ไม่สลับซับซ้อนจนเกินไป รัฐบาลก็จะได้เร่งดำเนินการ โดยมีทั้งมาตรการระยะสั้น - กลาง - ยาว “ควบคู่” กันไปด้วยนะครับ ตัวอย่าง การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น รัฐบาลนี้ ให้ความ สำคัญ ตั้งแต่เศรษฐกิจระดับ “ฐานราก”อาทิ มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ได้ง่าย และสะดวกขึ้น รวมทั้งเข้ามาสู่ “ห่วงโซ่การผลิต” ของประเทศ ดังนี้
1. การค้ำประกันสินเชื่อ ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) นะครับ มีวงเงินค้ำประกัน 8.1 หมื่นล้านบาท โดย บสย. จะเริ่มช่วย เหลือตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นต้นไป คาดว่าจะช่วยเหลือ SMEs ได้ราว 2.7 หมื่นราย
2. การปล่อยสินเชื่อแก่ SMEs ในธุรกิจและบริการด้านการท่องเที่ยว ราว 7,500 ล้านบาท โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) สำหรับบุคคลธรรมดา ไม่เกิน 2 ล้านบาท และ นิติบุคคลไม่เกิน 15 ล้านบาท
และ 3. กองทุนประชารัฐ 3.8 หมื่นล้านบาท ที่คาดว่าสามารถสร้างเงินหมุนเวียนภายในระบบเศรษฐกิจ ได้ถึง 5 - 6 แสนล้านบาท ในช่วงปลายปี 2560 ถึง ต้นปี 2561 และตั้งเป้าว่า จะมีผู้ยื่นขออนุมัติวงเงิน ในกองทุนประชารัฐทั้งหมด และจะพิจารณาให้เสร็จสิ้นได้ ภายในเดือนตุลาคม 2560 นี้นะครับ
อีกเรื่องหนึ่ง ที่อาจจะเป็นเรื่องใหม่ของใครบางคน แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้ พยายามผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมให้ได้ ก็คือ “ฐานข้อมูลภาครัฐ” ที่เรียกว่า Data Center สำหรับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ สามารถจะนำไปวิเคราะห์ ใช้ประโยชน์ได้ ในลักษณะ “Big Data” นะครับ
ทั้งนี้ จากผลการประชุมวิชาการ ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) หรือ “IOE Forum” ที่ผ่านมา ทำให้เกิดการบูรณาการแนวคิดของภาครัฐและภาคเอกชน ในการที่จะกำหนดนโยบาย สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ “ฐานข้อมูลขนาดใหญ่” (Big Data) ที่สำคัญมาก ต่อการยกระดับอุตสาหกรรมของไทย เพื่อจะรองรับการเข้าสู่ “อุตสาหกรรม 4.0” ตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0”
เพราะจะเป็นเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการสร้างเครือข่าย ที่ทำให้ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน สามารถจะเข้าถึงข้อมูลที่มีคุณภาพ ทันสมัย และ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมได้ อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งระบบ โดยในปี 2560 นี้ รัฐบาลได้ใช้งบประมาณ 30 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาระบบ “Big Data” ใน 3 ด้าน อันได้แก่ ...
1. การสร้างทีมบุคคลากร ด้วยการเร่งผลิต “นักวิเคราะห์ข้อมูล” โดยในระยะสั้น จำเป็นต้องจัดหาผู้เชี่ยวชาญภายนอก มาเป็นหัวหน้าทีมก่อน ระยะต่อไป ต้องพัฒนาบุคลากรภายใน สศอ.เอง
2. การบริหารจัดการข้อมูลในกรณีที่มีข้อมูลอยู่แล้ว ในแต่ละหน่วยงาน โดย สศอ.จะหารือ และจะทำบันทึกความเข้าใจร่วมกัน ในการนำข้อมูลเอามาใช้ พร้อมจัดทำข้อมูลใหม่ๆ เช่น การจัดทำระบบข้อมูลGIS เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของการพัฒนาอุตสาหกรรมในเชิงพื้นที่
และ 3. การพิจารณาระบบซอฟต์แวร์ สำหรับใช้ในการบริหารจัดการข้อมูล ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการสร้างแบบจำลอง “Data Model” ให้เหมาะสมกับประเภทข้อมูล และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์โลก
ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะได้รับ อาจจะประเมินค่าทางเศรษฐกิจเป็นตัวเลขไม่ได้ แต่จะก่อให้เกิดการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ทำให้ผู้ประกอบการมีความสามารถในการแข่งขัน และมีนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้ทันต่อการแข่งขัน ในอนาคต ซึ่งจำเป็นต้องอาศัย “พลังประชารัฐ” ที่เป็นการทำงาน ความร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการ ตั้งแต่ขั้นการกำหนดทิศทางของการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ เป็นต้นไป
ตัวอย่าง บทเรียนในอดีต ประเทศไทยใช้ศักยภาพในการผลิตเพียง 70% ของขีดความสามารถจริงได้เท่านั้น สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากไม่สามารถเข้าถึง เข้าใช้ “ข้อมูล” ได้เท่าที่ควรจะเป็น ส่งผลให้การวิเคราะห์ข้อมูล ขาดความแม่นยำ การพยากรณ์ แนวโน้มในอนาคต คลาดเคลื่อน ไม่สมบูรณ์ รวมไปถึง การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ของผู้ประกอบการ SME + Start up ทำได้ยาก เป็นอุปสรรคต่อการยกระดับเศรษฐกิจ หรือ นำในการที่ไปสู่การเป็น “ไทยแลนด์ 4.0”
ทั้งๆ ที่การใช้เทคโนโลยี Big Data จะเป็นเครื่องมือหลัก ในอนาคตอันใกล้นี้ ในการช่วยสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ทั้งในภาคการเกษตร, ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้ง ภาคการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งมีผลงานวิจัยของTDRI ระบุว่า “เศรษฐกิจในยุคใหม่” จะใช้ข้อมูลเป็นสำคัญ โดยการนำข้อมูลมาประมวลผลตามแนวทางBig Data นั้น “เพียงแค่ 1 ใน 5” ของภาคเกษตร - อุตสาหกรรม - และบริการก็จะสามารถทำให้ GDP โตขึ้น 0.82% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 84,000 ล้านบาท
ดังนั้น ความต้องการแรงงานทักษะในตลาดแรงงาน “ยุคต่อไป” หรือ อาชีพซึ่งเป็นที่ต้องการมากที่สุด ไม่ใช่เพียง “นักสถิติ นักวิเคราะห์” ธรรมดาทั่วไป แต่ต้องเป็น “นักวิเคราะห์ Big Data” ซึ่งปัจจุบัน ยังไม่มีสถาบันอุดมศึกษาใด ในประเทศไทย ที่เปิดการเรียนการสอน โดยเฉพาะนะครับ แต่เราต้องเริ่มแล้ว ตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้ทันใช้งาน ในวันข้างหน้า โดยการศึกษาที่เป็นพื้นฐานที่รัฐบาลนี้ได้ผลักดันอย่างเต็มที่แล้ว ก็คือ STEM ศึกษานั่นเอง
พี่น้องประชาชนที่รัก ครับ, วันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) มีอายุครบ “2 ขวบ” แล้วนะครับ
เป็นกองทุนที่รัฐบาลนี้ ผลักดัน และ จัดตั้งให้มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญ ที่สอดคล้องกับ “ศาสตร์พระราชา” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องการปลูกฝังพฤติกรรมการออมและ การทำบัญชีครัวเรือน แก่พสกนิกรของพระองค์ รวมทั้ง เป็นการดำเนินชีวิตที่ไม่ประมาทอีกด้วย
กลุ่มเป้าหมายของกองทุนนี้ไม่ได้จำกัดแต่เพียง “แรงงานนอกระบบ” อาทิ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ,เกษตรกร, รับจ้าง,ลูกจ้างชั่วคราว เท่านั้นนะครับ แต่ได้ขยายกรอบไปสู่ประชาชนในวงกว้าง รวมทั้งนักเรียน นักศึกษาและ ผู้ที่ไม่อยู่ในกองทุนใดๆ เพื่อให้ “คนไทยทุกคน” ทั่วประเทศรักการออม
ปัจจุบัน กอช. มีเงินในกองทุนราว 2,400 กว่าล้านบาท จากสมาชิกกว่า 530,000 ราย จากแรงงานนอกระบบ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ประมาณ 27 ล้านคน
ผมอยากให้คนไทยทุกคนมีความสุข โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นทุกปี ปีนี้ประเทศไทยมีผู้ที่มีอายุเกินกว่า 60 ปี จำนวน 10.3 ล้านคน หรือ 16% ของประชากรทั้งประเทศ และคาดว่าอีก 8 ปีข้างหน้า จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เป็น 20% โดยในจำนวนนี้ มี 3.5 ล้านคน ที่เป็นผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย “ต่ำกว่า” 30,000 บาทต่อปี ที่รัฐบาลจำเป็นต้องเข้าไปดูแล
โดยกระทรวงต่างๆ ได้เตรียมการล่วงหน้าเพื่อรองรับ “สังคมผู้สูงอายุ” เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้จัดทำแผนดูแลผู้สูงอายุ, กระทรวงสาธารณสุข จัดทำแผนสุขภาพแห่งชาติและกระทรวงแรงงาน จัดทำแผนจัดหางานให้ผู้สูงอายุ เป็นต้น
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ก็มีแนวความคิดในการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ เพื่อให้เหมาะสมต่อสภาพค่าครองชีพในปัจจุบัน โดยจะต้องมีมาตรการส่งเสริมให้มี “การสละสิทธิ์” ของผู้สูงอายุฐานะดี และประสงค์ไม่รับเบี้ยผู้สูงอายุ เพื่อให้รัฐบาลสามารถนำเงินในส่วนดังกล่าว ไปตั้งเป็น “กองทุนชราภาพ” เพื่อจะช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยได้อย่างแท้จริงตามหลักการเบื้องต้น
ทั้งนี้ จากการประเมินทราบว่า หากมีผู้สละสิทธิ์เพียง 10% ก็จะมีเงินเข้ากองทุนชราภาพ มากถึง 4,000 ล้านบาทต่อปี รัฐบาลก็จะสามารถดูแลผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง ได้ดีขึ้น กว่าในปัจจุบันนะครับ
สำหรับ “แรงงานในระบบ” แม้ว่าจะมี “กองทุนประกันสังคม” แล้ว ที่เน้นในเรื่องหลักประกันสุขภาพ เจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุเป็นต้น แต่ยังคงมีข้อจำกัด ในการดูแลพี่น้องแรงงานในระบบ “หลังเกษียณ” ให้มีความมั่นคงทางการเงิน
ดังนั้น รัฐบาลนี้ จึงพยายามจะผลักดันให้เกิด “กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.)” ที่จะมาเติมเต็ม เพื่อส่งเสริมให้แรงงานในระบบ มีการ ออมเงินผ่านกองทุนฯ ในลักษณะ “บังคับออมเพื่ออนาคต” ซึ่งขณะนี้ อยู่ในกระบวนการของกฎหมาย และ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ ในปีหน้า
โดยจะเริ่มบังคับใช้กับบริษัทขนาดใหญ่ก่อน แล้วขยายไปใช้กับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กต่อไป ซึ่งคาดว่า ภายใน 7 ปีข้างหน้า จะมีผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบกองทุน กบช.ได้ครบทั้งหมด โดยครอบคลุมแรงงานในระบบ กว่า 14 ล้านคน
ทั้งนี้ ถ้าเป็นไปตามหลักการที่ตั้งไว้ หากท่านเป็นแรงงานในระบบ ที่ส่งเงินเข้า กบช. ตั้งแต่อายุ 15-60 ปี อย่างต่อเนื่อง ท่านก็จะมีรายได้หลังเกษียณสูงถึง 40,000 กว่าบาทต่อเดือน นอกจากนี้ หากท่านส่งเงินสมทบ เข้ากองทุนประกันสังคม ตั้งแต่อายุ 20-55 ปี ท่านก็จะเงินหลังเกษียณประมาณ 7,500 บาทต่อเดือน
และ เมื่อรวมเงินทั้ง 2 ส่วนนี้แล้ว ท่านก็จะมีเงินไว้ใช้ยามชราภาพ ไม่ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือน ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อการดำรงชีพ หลังวัยเกษียณ นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่เสี่ยง ไม่ประมาทไม่เป็นภาระลูกหลาน และ ไม่ต้องพึ่งพาแต่การช่วยเหลือจากรัฐบาล สิ่งนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของการผลักภาระแต่อย่างใด
แต่เป็นมาตรการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน อันเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของประเทศ ที่เป็นหลักการสากลและ เป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินของรัฐที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการส่งเสริมการออมของประชาชน ประกอบกับการลงทุนเพื่ออนาคตของรัฐนะครับ
สุดท้ายนี้ ผมอยากให้ “คนไทย” ได้ร่วมอนุรักษ์และภาคภูมิใจว่าประเทศไทย เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์พืช และสัตว์ ในอันดับต้นๆ ของโลก โดยเรามีพืชสมุนไพร มากกว่า 10,000 ชนิด
ซึ่งรัฐบาลนี้ ได้ผลักดันโครงการพัฒนาสมุนไพร"เชิงเศรษฐกิจ" โดยเน้น 4 สมุนไพรหลักในเบื้องต้น คือกระชายดำ,ขมิ้นชัน, ไพล และบัวบกโดยดำเนินการอย่างครบวงจร ตั้งแต่การจัดทำฐานข้อมูลสมุนไพร,การเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกสมุนไพร, การพัฒนาตลาดกลางวัตถุดิบสมุนไพร, การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา และโครงสร้างพื้นฐานห้องปฏิบัติการ, การพัฒนาธุรกิจ SMEs ด้านสมุนไพร, การรับรองคุณภาพและออกใบอนุญาตในการผลิต จำหน่าย และส่งออก, การเพิ่มศักยภาพทางการตลาด และตลาด e-Commerce รวมไปถึง การพัฒนาเมืองสมุนไพร เป็นต้น
ทั้งนี้ การพัฒนาสมุนไพรไทยเชิงเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้จะเป็นอีก “ยุทธศาสตร์” สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต ที่ตอบสนองความต้องการคนทั่วโลก ที่หันมาสนใจการดูแลสุขภาพแนวธรรมชาติมากขึ้น ทุกวัน
ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้เรียนรู้ ในสรรพคุณสมุนไพรไทย และ การใช้ประโยชน์เพื่อการดูแลสุขภาพของตนเอง ผมจึงอยากเชิญชวนพี่น้องประชาชนไปร่วมใน “งานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ” ครั้งที่ 14 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ช่วงวันที่ 30 สิงหาคม - 3 กันยายน 2560 นี้ นะครับ
ขอบคุณครับ ขอให้ “ทุกคน” มีความสุข ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ
ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard