Last updated: 12 ธ.ค. 2560 | 2495 จำนวนผู้เข้าชม |
ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม จะเข้าข่ายการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องดื่มและแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 32 ในฐานความผิดร่วมกันโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องระหว่างโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เมื่อปรากฏข่าวออกมาหลายคนรีบกลับไปลบรูปในโซเชียลของตัวเองที่มีขวดเหล้าและเบียร์ปรากฏอยู่ หลายคนก่นด่าว่า บ้าไปแล้ว มีการส่งคำเตือนกันผ่านไลน์แพร่สะพัดเป็นไฟลามทุ่งว่า การโพสต์รูปที่มีขวดเหล้าเบียร์ปรากฏอยู่มีโทษที่สูงปรับถึง 5 แสนบาท สูงกว่าคนเมาแล้วขับที่มีอันตรายมากกว่าด้วยซ้ำไป กระทั่งบางฝ่ายก็เอามาขย่มความเป็นเผด็จการของรัฐบาลปัจจุบันว่าชอบเอากฎหมายมาข่มขู่คน
ในโซเชียลมีเดียจึงมีคนประชดด้วยการเอาฉลากน้ำปลามาแปะที่ขวดเหล้า หรือไม่ก็เอาขวดนมมาวางบนโต๊ะถ่ายภาพ และโพสต์ประชดประชันลงโซเชียลมีเดียเต็มไปหมด
จนกระทั่ง นพ.สุเทพ เพชรมาก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ต้องออกมาแถลงข่าวสยบความตื่นตระหนกว่า ในกรณีที่ประชาชนทั่วไปโพสต์ภาพร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโซเชียล แต่หากการกระทำดังกล่าวมิได้มีเจตนาเพื่อประโยชน์ในการค้าหรือส่งเสริมการตลาดก็ไม่มีความผิดตามมาตรา 32
แต่คนก็ยังกลัวแล้วไม่มั่นใจอยู่ดีว่า ยังไงที่ผิดหรือไม่ผิดแน่ ตำรวจคนบังคับใช้กฎหมายพูดราวกับว่าผิดทุกกรณี แต่หมอที่เป็นคนรักษาโรคบอกว่าดูที่เจตนา ซึ่งตามหลักกฎหมายคนที่พูดถูกก็คือหมอนั่นแหละ แต่ชาวบ้านก็ยังสับสนไปงานเลี้ยงสังสรรค์กับเพื่อนฝูงจะถ่ายรูปลงเฟซบุ๊กก็กลัวกันไปหมด
เอาล่ะไปดูว่าเจตนาในทางกฎหมายคืออะไรและมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.เครื่องดื่มและแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เขียนไว้อย่างไร
มาตรา 32 วรรคแรกระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่ม โดยตรงหรือโดยอ้อม
เหตุผลในการออกกฎหมายฉบับนี้ระบุไว้ว่า การประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ ครอบครัว อุบัติเหตุ และอาชญากรรม ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ สมควรกำหนดมาตรการต่างๆ ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยลดปัญหาและผลกระทบทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ ช่วยสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน โดยให้ตระหนักถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนช่วยป้องกันเด็กและเยาวชนมิให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
จะเห็นว่า จะเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายมาตรา 32 วรรคแรกนั้น มีการบรรยายองค์ประกอบที่จะเป็นความผิดไว้ด้วยว่า จะต้องเป็นการโฆษณาและมีการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่ม โดยตรงหรือโดยอ้อมด้วย ซึ่งภาษากฎหมายเรียกว่า เจตนาพิเศษ
ในมาตรา 3 ระบุว่า “โฆษณา” หมายความว่า การกระทำไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ให้ประชาชนเห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า และให้หมายความรวมถึงการสื่อสารการตลาด
คนที่โพสต์รูปไม่ว่าคนทั่วไปหรือเป็นคนสาธารณะแล้วมีเหล้าเบียร์อยู่ในรูป แต่ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเป็นไปตามนิยามของโฆษณามาตรา 3 ก็ไม่เข้าข่ายความผิด
แล้วที่บอกว่าดูที่เจตนาคืออะไร มาตรา 59 ของกฎหมายอาญาระบุว่า บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนาเว้นแต่จะได้กระทำความโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
แต่ในมาตรา 32 วรรคแรกระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่ม โดยตรงหรือโดยอ้อม คือมีเจตนาพิเศษ นั่นแสดงว่า ไม่ใช่ว่า โพสต์และมีขวดเหล้าเบียร์อยู่บนโต๊ะหรือในรูปเรากำลังยกแก้วดื่มเราผิดเลย ถ้าเราไม่ได้อวดอ้างสรรพคุณหรือชักชวนให้ผู้อื่นดื่มก็ไม่น่าจะเข้าข่ายความผิด
ทั้งนี้ผมไม่ได้หมายความถึงพวกดาราหรือศิลปินที่ใช้ความมีชื่อเสียงของตัวเองรับงานบริษัทเหล้าเบียร์มาโพสต์แอบแฝงเพื่อหวังผลในการโฆษณานะครับ เพราะถ้าอย่างนั้นก็เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 32 แน่ๆ
มุมมองที่ผมเข้าใจก็คือว่า ไม่ว่าจะเป็นคนธรรมดา ดาราหรือบุคคลสาธารณะ ถ้าไม่ได้มีเจตนาพิเศษตามที่กฎหมายระบุไว้ ก็ไม่น่าจะมีความผิด จะตีความว่า การโพสต์รูปที่มีขวดเหล้าเบียร์จะทำให้เด็กและเยาวชนเอาไปเป็นเยี่ยงอย่างก็ไม่น่าจะได้ เพราะเจตนาพิเศษจะนำเจตนาเล็งเห็นผลมาใช้ไม่ได้ ดังนั้นการจะเข้าข่ายความผิดต้องดูองค์ประกอบเป็นกรณีๆ ไปไม่ใช่ว่า ถ้าเป็นดาราศิลปินบุคคลสาธารณะแล้วโพสต์รูปมีเหล้าเบียร์จะต้องผิดแน่ๆ ทุกกรณีและคนทั่วไปก็เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ควรยึดหลักพุทธศาสนาที่ว่า สุราเมระยะ มัชชะ ประมาทัฏฐานา เวระ มณี สิกขาประทัง สมาธิ ยามิ นั่นคือ คือ เว้นจากการดื่มสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
รายการ “คลื่นชุมชนถนนปลอดภัย”
ผู้ดำเนินรายการ
ผู้ผลิตรายการ
ห้องบันทึกเสียง
ผู้ควบคุมรายการ
รูปแบบรายการ
วิธีการดำเนินงาน
งบประมาณสนับสนุน
ช่องทางการเชื่อมโยงสัญญาณถ่ายทอดเสียง
ช่องทางการส่งกระจายเสียงครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ
ฟังรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard